“ลงทุนแล้วน่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่?” เป็นคำถามที่เรียกได้ว่านักลงทุนเกือบทุกคนอยากรู้ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนทุกผลิตภัณฑ์การเงิน รวมถึงการลงทุนใน “กองทุนรวม” ด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว นอกจากเรื่องของ “ผลตอบแทน” ที่ต้องโฟกัส ยังมีเรื่องที่นักลงทุนไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง หากต้องการลงทุนให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย

สไตล์บริหารกองทุน

การเลือกซื้อกองทุนรวมให้เหมาะสมกับสไตล์ของแต่ละคนนั้น นอกจากจะดูประเภทของสินทรัพย์ (Asset Class) ที่กองทุนนั้นเข้าไปลงทุนว่าเป็นประเภทใด เช่น ตราสารหนี้ หุ้น หรือ กองทุนผสมระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ ก็ยังต้องดูสไตล์การบริหารกองทุนของผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) อีกด้วย

โดยสไตล์การบริหารกองทุน แบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

การบริหารกองทุนแบบล้อไปกับดัชนีอ้างอิง (Passive Fund) ซึ่ง ผู้จัดการกองทุนจะบริหารกองทุนให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี ไม่ว่าดัชนีจะขึ้นหรือลง ผลตอบแทนของกองทุนก็จะใกล้เคียงกับดัชนีที่อ้างอิง ซึ่งข้อดี ของกองทุนประเภท Passive Fund คือ ค่าธรรมเนียมที่ต่ำ

ส่วนการบริหารกองทุนอีกสไตล์ คือ การบริหารกองทุนแบบเชิงรุก (Active Fund) ซึ่งกองทุนประเภทนี้ผู้จัดการกองทุนจะพยายามหาผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Alpha) ให้สูงขึ้นจากดัชนีอ้างอิง ซึ่งโดยปกติแล้วกองทุนประเภทนี้จะมีอัตราส่วนการเปลี่ยนหุ้นในพอร์ต (Turnover Ratio) ที่สูง เพราะต้องการหาผลตอบแทนจากหุ้นที่มีแนวโน้มการปรับตัวขึ้นที่ดี ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้จะสร้างโอกาสในการหาผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีได้

ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้ว Turnover Ratio จะมีค่าตั้งแต่ 0–100% (ถ้าเกิน 100% บ่งบอกให้เห็นถึงความ Active ของผู้จัดการกองทุนที่สูงขึ้น) หาก Turnover Ratio มีค่า 100%หมายความว่า ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ผู้จัดการกองทุนมีการสับเปลี่ยนหุ้นใหม่ในพอร์ตทั้งหมด ซึ่งกองทุนประเภท Active Fund จะมีค่า Turnover ที่สูงกว่า Passive Fund แต่ทั้งนี้กอง Active Fund ที่ลงทุนด้วยการคัดเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว (Value Style) ก็สามารถมีค่า Turnover Ratio ที่ต่ำหรือใกล้เคียงกับกองทุนประเภทPassive Fundก็ได้

เจาะลึกค่าธรรมเนียม

อีกสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนควรจะต้องติดตาม คือ ค่าธรรมเนียมในการซื้อ /ขาย/ สับเปลี่ยน และ ค่าธรรมเนียมในการจัดการ (Management Fee) ซึ่งโดยปกติแล้วกองทุนประเภท Active Fund มักจะเก็บค่าธรรมเนียมที่แพงกว่า Passive Fund

เข้าใจความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

หากกองทุนรวมที่นักลงทุนซื้อมีนโยบายลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ก็ควรจะต้องติดตาม “นโยบายการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน” ซึ่งปกติแล้ว กองทุนต่างประเทศจะแบ่งออกเป็น

  • ไม่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน
  • ป้องกันความเสี่ยงบางส่วน
  • ป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
  • ป้องกันความเสี่ยงทั้งหมด/เกือบทั้งหมด

ทั้งนี้หากกองทุนไม่มีการทำประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ นักลงทุนจะต้องรับความผันผวนของค่าเงินด้วย จึงควรต้องศึกษาเรื่องนี้ให้เข้าใจ

เช็คผลตอบแทนแบบนักลงทุนมืออาชีพ

สำหรับตัวเลขผลตอบจากการลงทุนในกองทุนรวมแบบย้อนหลังนั้น เป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตามเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ก็ควรจะต้องทำความเข้าใจอย่างละเอียด ด้วยการศึกษาข้อมูล ทั้งระยะสั้น และระยะยาว เช่น ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันล่าสุด(Year -To -Date: YTD) ,ย้อนหลัง 6 เดือน, ย้อนหลัง 1 ปีจนไปถึงย้อนหลัง 10 ปี และ ตั้งแต่จัดตั้งกองทุน (Since Inception :SI) เพื่อดูความสม่ำเสมอในการสร้างผลตอบแทนของผู้จัดการกองทุน

อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ค่าความผันผวน (Standard Deviation :SD) ที่บอกว่า กองทุนที่ลงทุนนั้น ขึ้น-ลง แรงเท่าใดเมื่อเทียบกับกองทุนอื่น (นิยมใช้ในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน) หากกองทุนมีผลตอบแทนใกล้เคียงกัน นักลงทุนควรจะเลือกค่าความผันผวนที่มีค่าต่ำกว่า

จากประเด็นเรื่องผลตอบแทนและความเสี่ยงนั้นนำไปสู่อัตราส่วนที่เป็นยอดนิยมสำหรับนักลงทุนกันอย่าง Sharpe Ratio ซึ่งก็ คือ “ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยง” โดยวิธีการพิจารณานั้น นักลงทุนจะต้องดูว่า Sharpe Ratio มีค่าสูงหรือไม่ หากค่า Sharpe Ratio สูงกว่า “1” จะยิ่งดี นั่นก็เป็นเพราะตัวเลข Sharpe Ratioนี้ บ่งชี้ให้เห็นว่า “กองทุนมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าความเสี่ยง” ดังนั้นยิ่งกองทุนมี Sharpe Ratio สูง จึงยิ่งบ่งบอกว่า กองทุนนั้นมีการบริหารจัดการที่ดี มีผลตอบแทนคุ้มค่าความเสี่ยง

อีกตัวเลขหนึ่งที่ต้องติตตาม คือ ข้อมูลเปรียบเทียบผลการดำเนินงานแบบ Peer Percentile ซึ่งจะทำการเปรียบเทียบกับกองทุนในหมวดที่กำหนด เช่น กองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทย ว่าผลตอบแทนที่กองทุนที่นักลงทุนกำลังติดตามอยู่ทำได้นั้น อยู่ใน Percentile ที่เท่าไรเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยชั้นของ Percentile จะแบ่งออกเป็นหลายแบบ ยกตัวอย่างเช่น 5th Percentile คือ สมมติหากกองทุนที่ลงทุนในหมวดหุ้นไทยมีทั้งหมด 200 กองทุน กองทุนนี้จะมีผลตอบแทนที่ดีติด 1 ใน 10 อันดับแรก (200×5%=10) จากนั้นจะไล่เรียงไปตามลำดับ 25th Percentile ,50th Percentile,75th Percentile และ 95th Percentile ซึ่งเป็นที่อยู่ของกองทุนที่มีผลตอบแทนน้อยสุดเมื่อเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกัน หากผลตอบแทนที่กองทุนเรานั้นตก 5th -25h Percentile จะถือว่ากองทุนนั้นอยู่ในอันดับต้นๆของอุตสาหกรรม

แม้ “ผลตอบแทน” จะเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องการมากที่สุด แต่การจะคัดกรองกองทุนที่มีคุณภาพ ก็ควรจะต้องมีการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ทั้งในแง่ตัวเลขและข้อมูลอื่นๆด้วย ซึ่งจะทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ดียิ่งขึ้นว่า ได้นำเงินไปลงทุนในกองทุนที่ต้องการอย่างแท้จริง

โดย TISCO Wealth Advisory

ที่มาบทความ : https://www.facebook.com/tiscomastery/