ภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงานที่คนไทยควรรู้

สำหรับมนุษย์เงินเดือน หนึ่งในปัจจัยหลักที่จะเลือกสมัครงานกับบริษัทใดสักแห่ง แน่นอนว่าย่อมต้องมีค่าตอบแทน สวัสดิการ หรือผลประโยชน์ที่บริษัทจะมอบให้พนักงานรวมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง เงินเดือน ค่าวิชาชีพ วันลาพักร้อน หรือจะเป็นเงินบำเหน็จ บำนาญหลังเกษียณอายุ เป็นต้น

แต่ในมุมมองของกิจการ หรือบริษัทนั้น สิ่งเหล่านี้คือค่าใช้จ่ายของบริษัททั้งสิ้น แน่นอนว่าเมื่อมีค่าใช้จ่าย ย่อมต้องกระทบกับกำไรสะสม และกำไรของบริษัทในแต่ล่ะปี

โดยผลประโยชน์พนักงานนี้ อาจจะแบ่งออกเป็นผลประโยชน์ระยะสั้น ๆ ที่จะต้องจ่ายภายใน 1 ปี เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง หรือโบนัสประจำปี และผลประโยชน์ที่จะจ่ายในระยะยาว เช่น เงินชดเชยยามเกษียณอายุ หรือรางวัลจากการทำงานกับองค์กรเป็นระยะเวลานาน (ทำงานครบ 10 ปี ได้ทองคำ 1 บาท)

และเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทเกิดเหตุการณ์ในทำนองที่ว่า ไม่มีเงินจ่ายผลประโยชน์ให้พนักงาน จึงมีการกำหนดมาตรฐานทางบัญชีว่าบริษัทจะต้องรับรู้หนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และสำรองเงินไว้ให้เพียงพอ ซึ่งก็ครอบคลุมตัวผลประโยชน์พนักงานนี้ด้วยเช่นกัน

สำหรับผลประโยชน์ระยะสั้น ๆ บริษัทก็สามารถรับรู้ได้ง่าย ๆ เช่น พนักงานมีเงินเดือน 25,000 บาท แปลว่าทั้งปีนี้ ก็รู้อยู่แล้วว่าบริษัทจะเป็นหนี้พนักงานอยู่เดือนละ 25,000 บาท ก็บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายกันไป

แต่สำหรับผลประโยชน์ระยะยาวนั้นต่างออกไป เช่น หากลองสมมติดูว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จะต้องจ่ายเงินชดเชยเกษียณอายุตามกฎหมายซึ่งอ้างอิงจากเงินเดือนสุดท้าย ให้พนักงานคนหนึ่ง 1,000,000 บาท ถามว่าเราควรสำรองเงินไว้ทั้ง 1,000,000 บาทเลยหรือเปล่า และในช่วง 20 ปีนี้ เงินเดือนพนักงานคนนี้เพิ่มขึ้น แล้วผลประโยชน์ที่จะต้องจ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไร แล้วควรจะสำรองเงินไว้ตอนนี้เป็นจำนวนเท่าไรกันแน่

และคำถามนี้ คือที่มาของการประเมินภาระผูกพันของผลประโยชน์พนักงาน กล่าวคือ เป็นการประเมินว่าปัจจุบัน บริษัทควรจะตั้งเงินสำรองเท่าไร และในอนาคตควรจะเพิ่มเงินสำรองให้พนักงานปีละเท่าไร เพื่อที่จะได้มีเงินเพียงพอจ่ายให้พนักงาน ในวันที่พนักงานเกษียณอายุ

รูปด้านบนนี้ คือรูปตัวอย่างแสดงการผลการคาดการณ์ว่าในอนาคตแต่ละปี บริษัทจะจ่ายเงินชดเชยปีล่ะประมาณเท่าไร ซึ่งจะเห็นว่ามีการผันผวนอย่างมากในแต่ละปี และในกรณีที่ไม่มีการตั้งเงินสำรองเอาไว้ก่อน ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ จะกระทบกับผลกำไรของบริษัททันที และอาจทำให้บริษัทขาดทุน หรือยิ่งไปกว่านั้น อาจทำให้บริษัทล้มละลายได้เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น เมืองดีทรอยต์ (Detroit) ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกว่าล้มละลาย กล่าวคือไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายเงินเดือน สวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่พนักงานของภาครัฐ และรวมถึงเงินชดเชยเกษียณอายุด้วย

ซึ่งหนึ่งในสาเหตุคือการตั้งเงินสำรองสำหรับหนี้สินผลประโยชน์พนักงานน้อยเกินไป โดยสำรองไว้ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งที่ความจริงแล้วควรสำรองไว้ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนั่นหมายความว่า เมืองดีทรอยต์รับรู้หนี้สินน้อยกว่าที่ควรจะเป็นถึงเกือบ ๆ 6 เท่า

ดังนั้นจึงจะเห็นว่าการตั้งเงินสำรองนั้นมีความสำคัญอย่างมากกับทุกธุรกิจ เพราะทุกบริษัทจะมีภาระผูกพันจากผลประโยชน์พนักงานระยะยาวที่ต้องจ่ายในอนาคตกันทั้งนั้น

นอกจากนี้ หากใครพอจะจำได้ ธุรกิจฟิตเนสที่เป็นข่าวโด่งดังว่าล้มละลายเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ก็จัดอยู่ในกลุ่มได้เงินมาก่อน แล้วต้นทุนเกิดขึ้นทีหลังเช่นกัน เพราะรับค่าสมาชิกแบบตลอดชีพจากลูกค้า แล้วต้นทุนอย่างพวก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าสถานที่ ค่าบำรุงซ่อมแซมอุปกรณ์ รวมถึงเงินเดือนของพนักงาน จะเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกใช้บริการของฟิตเนส

แน่นอนว่าธุรกิจในลักษณะนี้จะต้องประมาณหนี้สิน และตั้งเงินสำรองให้เพียงพอ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดผลกระทบกิจการ และพนักงานในอนาคต

ทั้งนี้การประเมินหนี้สินผลประโยชน์พนักงานของบริษัททั่วไปตามหลักสากลแล้วจะใช้วิธีการแบบคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งประกอบด้วยหลักสถิติ เช่น โอกาสที่พนักงานจะลาออกจากงาน หรือเสียชีวิตก่อนเกษียณอายุ และหลักคณิตศาสตร์การเงิน เช่น ทฤษฎีดอกเบี้ย หรือคำนวณดูว่าเงินเดือนสุดท้ายของพนักงานจะเป็นเท่าไร

แต่สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันแล้วจะมีความพิเศษตรงที่ บริษัทที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทในต่างประเทศเลย (กล่าวง่าย ๆ คือ SMEs ทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้มีบริษัทสากลมาถือหุ้น หรือไม่ได้ไปถือหุ้นบริษัทสากล) จะได้รับการยกเว้นให้ประมาณการโดยไม่ต้องใช้หลักคณิตศาสตร์ประกันภัยก็ได้ แต่เมื่อไรที่เริ่มมาข้องแวะกับบริษัทที่ต้องใช้หลักมาตรฐานสากล หรือต้องเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อไร ก็ค่อยหันมาคำนวณกันจริงจังอีกที

สรุปคือ การคำนวณผลประโยชน์พนักงาน คือการประเมินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจ่ายผลประโยชน์พนักงานของบริษัทเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้มีเงินเพียงพอสำหรับการจ่ายผลประโยชน์ และเพื่อไม่ให้กระทบกับกำไรขาดทุนของบริษัท ในวันที่มีการจ่ายผลประโยชน์ออกไปจริงๆ

โดย ทอมมี่ แอคชัวรี นักคณิตศาสตร์ประกันภัย