“84 ล้านคน”

ประเทศอเมริกามีผู้ชมกีฬาฮ็อกกี้น้ำแข็ง (NHL: National Hockey League) อยู่ 32 ล้านคน มีผู้ชมกีฬาบาสเก็ตบอล (NBA: National Basketball Association) อยู่ 63 ล้านคน มีผู้ชมกีฬาเบสบอล (MBL: Major League Baseball) อยู่ 79 ล้านคน แต่ “84 ล้านคน” คือตัวเลขผู้ชมกีฬา Esports ในสหรัฐอเมริกาฯ เอาชนะทุกลีคกีฬา เป็นรองแค่อเมริกันฟุตบอลหรือ NFL (National Football League) เท่านั้น

เจาะลึกธุรกิจ Gaming Industry ไปกับกองทุน LHESPORT

จากตัวเลขก็คงบอกได้ว่ากระแส Esports ที่พูดถึงกันมานาน ตอนนี้มันมาแล้วแน่ ๆ Esports สามารถดึงดูดผู้คนได้เป็นจำนวนมาก เมื่อดึงดูดผู้คนมาก เม็ดเงินก็ไหลเข้ามามาก ทั้งการจับจ่ายของผู้บริโภคเอง รวมถึงเม็ดเงินจากโฆษณา เมื่อเม็ดเงินเข้ามามาก ก็มีโอกาสเติบโตมาก และเมื่อมีโอกาสเติบโตมาก นั่นก็คือ “โอกาสในการลงทุน” นั่นเอง

เมื่อก่อนถ้าจะลงทุนใน Gaming Industry ต้องไปลงใน ETF ซึ่งเลือกลงทุนเองยาก แต่ตอนนี้นักลงทุนสามารถลงทุนใน Gaming Industry ผ่านกองทุนรวมได้แล้ว โดยลงทุนผ่านกอง LHESPORT กองทุน IPO ใหม่จาก บลจ. LHFund ซึ่ง FINNOMENA Review เทปนี้เราได้ผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่าน คือ คุณณัฐพล คำวงษา นักกลยุทธ์ฝ่ายการลงทุน บลจ. LHFund และคุณพิริยพล คงวาณิช ผู้จัดการกองทุน บลจ. LHFund มาเล่าให้เราฟังแบบเจาะลึก กองทุนนี้เป็นยังไงบทความนี้จะมาสรุปให้ฟัง

1. อุตสาหกรรมนี้น่าสนใจยังไง เม็ดเงินใหญ่แค่ไหน

สมัยก่อนเล่นเกมเราต้องมีเครื่องเล่นเกม (Console) ซึ่งราคาสูง ถ้าอยากได้เกมใหม่เพิ่มก็ต้องไปซื้อเกมใหม่ ส่วนตอนนี้คนจำนวน 8,000 ล้านคนทั่วโลก 4,500 ล้านคนมีสมาร์ทโฟน (ที่เล่นเกมได้) อุตสาหกรรมเกมถูกส่งตรงเข้ามือถือ ยังไม่ได้นับคอมพิวเตอร์ที่เดี๋ยวนี้ก็มีกันแทบทุกบ้าน เปรียบเทียบให้เห็นคือโอกาสในอุตสาหกรรมมันใหญ่มาก

แถมอุตสาหกรรมเกมไม่ได้มีแค่ผู้ผลิตเกมแล้วขึ้นมาแล้วก็จบ แต่ยังสามารถต่อยอดไปยังธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

  • ผู้ผลิตอุปกรณ์เล่นเกม อย่างเช่น หน้าจอ, คีย์บอร์ด, หูฟัง, เก้าอี้นั่ง
  • สถานที่จัดอีเวนต์แข่งขันเกม
  • ช่องทางการรับชม เช่น Youtube หรือ Twitch
  • ทีมนักกีฬา Esports

นอกจากนี้ ส่วนที่มีมูลค่ามากที่สุดในอุตสาหกรรมนี้ ก็คือเม็ดเงินจากสปอนเซอร์ และแบรนด์ต่างๆ ที่เข้ามาสนับสนุนวงการนี้ ซึ่งจากทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้รายได้ของอุตสาหกรรม Esports โตขึ้นถึงปีละ 15%

เจาะลึกธุรกิจ Gaming Industry ไปกับกองทุน LHESPORT

2. ปัจจัยหนุนให้เติบโตไปข้างหน้า

  • หลังจาก COVID-19 ทำให้คนดาวน์โหลดเกมมาเล่นเยอะขึ้น คุ้นเคยกับแพลตฟอร์มออนไลน์ พฤติกรรมผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางนี้
  • Revenue Model ของอุตสาหกรรมเกมมีความหลากหลายมากขึ้น เมื่อก่อนต้องขายเกมให้ได้อย่างเดียว แต่ ณ ตอนนี้มีเปิดให้เล่นเกมฟรี  แล้วใช้วิธีให้ไปเติมเงินเพื่อซื้อของในเกมแทน หรือโมเดลรายได้แบบ Subscription ซึ่ง Reed Hastings, CEO ของ ทางNetflix ถึงกับบอกว่า ทางเขาไม่ได้มอง HBO เป็นคู่แข่ง แต่มองว่า Fornite (เกมออนไลน์ที่โด่งดังมากในอเมริกา) นี่แหละคือคู่แข่ง  เนื่องด้วยระบบ Subscription แล้วให้สิทธิพิเศษ ทำให้คนเล่นติดงอมแงมเล่นได้ทั้งวันยิ่งกว่าติดดูซีรีส์เสียอีก
  • ณ ตอนนี้เกมในโทรศัพท์ ถือว่ามาแรงมาก และเทคโนโลยีในโทรศัพท์ก็พัฒนามากขึ้น จนมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ PC  นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตในอุตสาหกรรมนี้
    เจาะลึกธุรกิจ Gaming Industry ไปกับกองทุน LHESPORT

3. ปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุน

  • การเลือกตั้งของประเทศสหรัฐฯ ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2020 นี้  เนื่องจากหุ้นที่เกี่ยวกับ Esports ส่วนใหญ่เป็นหุ้นสหรัฐฯ ดังนั้นอาจจะเกิดความผันผวนได้
  • เศรษฐกิจที่ชะลอตัวจาก COVID-19 อาจจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคลดลง สปอนเซอร์รัดเข็มขัดมากขึ้น ซึ่งการฟื้นตัวอาจกินเวลานาน

4. กองทุน LHESPORT ลงทุนในอะไร

พูดถึงตัวอุตสาหกรรมไปเยอะ เรามามาเจาะลึกกันที่ตัวกองทุนที่เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมนี้กันบ้างกันครับ  กองทุน LHESPORT เป็น Feeder Fund ที่เข้าไปลงทุนใน ETF ตัวหนึ่ง ชื่อ VanEck Vectors Video Gaming and eSports ETF (ESPO) ซึ่ง ETF ตัวนี้ลงทุนอ้างอิงกับดัชนี MVIS® Global Video Gaming and eSports Index (MVESPOTR)ไม่ต้องจำชื่อครับ รู้แค่ว่าดัชนีนี้มีหลักเกณฑ์ในการคัดสรรหุ้น คือ ต้องเป็นหุ้นที่มีรายได้มากกว่า 50% มาจากเกมหรือ Esports และหุ้นต้องมีมูลค่าตลาดมากกว่า 150 ล้าน USD

เจาะลึกธุรกิจ Gaming Industry ไปกับกองทุน LHESPORT

โดยสรุป พูดได้เลยว่ากองทุน LHESPORT เข้าไปลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ Gaming Industry โดยเฉพาะ เน้นเจาะเข้าไปลงทุนในเซกเตอร์เลย ก่อนที่จะไปดูว่าแต่ละบริษัทที่กองทุนนี้ ถือทำธุรกิจอะไร  ทางเราจะขอแวะไปดูผลการดำเนินการก่อนว่า การลงทุนเจาะรายเซกเตอร์แบบนี้ให้ผลตอบแทนอย่างไรบ้าง

5. ผลตอบแทนย้อนหลัง

เจาะลึกธุรกิจ Gaming Industry ไปกับกองทุน LHESPORT

ดูผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปี 2020 ของ ESPO จะเห็นว่าเป็นขาขึ้นมาเรื่อย ๆ มีย่อตัวนิดหน่อยตอนเดือนมีนาคมช่วง COVID-19 ระบาดหนัก แต่เมื่อเทียบกับดัชนี S&P 500 ถือว่าย่อตัวไม่มากเพราะเป็นเซกเตอร์ที่ได้รับผลกระทบน้อย และเมื่อผ่านวิกฤตไปได้ก็สามารถเติบโตต่อแซงหน้าดัชนี S&P 500 ไปไกล ตรงนี้หมายความว่าหุ้นอุตสาหกรรมเกมเป็นผู้ชนะในวิกฤตนี้อย่างแท้จริง และเป็นส่วนนึงที่ดันตัวดัชนีหลักขึ้นมาด้วย

แล้วมันโตได้เฉพาะตอนคนอยู่บ้านช่วงกักตัวหรือเปล่า?  อันนี้จะต้องย้อนไปดูในช่วงก่อนเกิดวิกฤตกันครับ

เจาะลึกธุรกิจ Gaming Industry ไปกับกองทุน LHESPORT

ย้อนมาดูช่วงปี 2019 ตัว ESPO ก็ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง พิสูจน์ให้เห็นว่าคนไม่ได้สนใจเกมแค่ช่วงกักตัวเท่านั้น  แต่สนใจเกมกันมาตั้งนานแล้ว  ถ้าเราเริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2019 ไปจนถึงเดือนตุลาคมปี 2020 ผลตอบแทนที่เราจะได้ จะสูงถึง 100% เลยทีเดียวครับ

6. เจาะไส้ในกองทุน LHESPORT

เจาะลึกธุรกิจ Gaming Industry ไปกับกองทุน LHESPORT

ภาพด้านบนคือ รายชื่อบริษัท Top 10 ที่กองทุนนี้ลงทุนในสัดส่วนมากที่สุด สำหรับสายเกมจะคุ้นเคยกันดีกับโลโก้พวกนี้  แต่สำหรับท่านที่ไม่ใช่สายเกม บริษัทเหล่านี้ทำอะไรบ้าง? เรามาลองดูรายละเอียดแต่ละบริษัทกันเลยดีกว่า

  1. Tencent
    บริษัทเทคโนโลยีชื่อดังของจีน ถ้า Facebook ใหญ่แค่ไหน Tencent ก็ถือว่าตีคู่กันมาเลย บางคนอาจจะรู้จัก Tencent ในฐานะเจ้าของ WeChat แต่รายได้หลักเกินครึ่ง จริงๆ แล้วมาจากเกมทั้งนั้น ทั้ง League of Legends, PlayerUnknown’s Battlegrounds, Arena of Valor รวมถึง Fornite ด้วย ซึ่ง Tencent เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Epic Games ผู้ผลิตเกม Fortnite อีกที
  2. AMD
    1 ใน 2 ผู้ผลิตกราฟิกการ์ด หรือ “การ์ดจอ” รายใหญ่ที่ผูกขาดตลาดโลกอยู่ในตอนนี้ คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องต้องใช้การ์ดจอ และยิ่งเกมที่ต้องการภาพสวยๆ ยิ่งต้องใช้การ์ดจอที่แพงขึ้น นอกจากเกมแล้วพวก Machine Learning หรือการขุด Bitcoin ก็ต้องใช้การ์ดจอในการประมวลผลด้วยเช่นกัน
  3. NVIDIA
    อีกหนึ่งผู้ผลิตการ์ดจอที่ผูกขาดตลาดนอกจาก AMD ลักษณะธุรกิจเหมือนกันคือผลิตการ์ดจอขาย ถ้าพูดถึงการ์ดจอแล้วยังไงก็หนีไม่พ้น 2 ยี่ห้อนี้แน่นอน ไม่ NVIDIA ก็ AMD ซึ่งกองทุน LHESPORT ลงทุนอยู่ทั้ง 2 ตัว
  4. Nintendo
    บริษัทผู้ผลิตเกมอันดับ 1 ในญี่ปุ่น ผลิตเครื่องเล่นเกมมากมายที่หลายคนคุ้นเคยกันดีในทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ GameBoy, เครื่อง Wii, Nintendo 3DS, Nintendo Switch และเป็นผู้ผลิตเกมในมือถือด้วย โดยรายได้หลักของบริษัทตอนนี้มาจากเครื่อง Nintendo Switch ที่ยอดขายโตขึ้นเร็วมากในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา
  5. Activision Blizzard
    อีกหนึ่งผู้ผลิตเกมชื่อดัง เจ้าของซีรีส์เกม Call of Duty, Guitar Hero, เครือ Warcraft และ Star Craft, Hearthstone, Overwatch และ Candy Crush หลายเกมมีการนำไปจัดแข่งขันเป็นลีคใหญ่ ทำให้ความนิยมของเกมเหล่านี้นิยมขึ้นอีก
  6. Electronic Arts (EA)
    คงไม่มีใครไม่เคยเล่นเกม The Sims ใช่มั้ยครับ EA Games นี่แหละที่เป็นเจ้าของเกม The Sims ทุกภาค ถึงตอนนี้จะไม่นิยมเท่าไรแล้ว แต่ EA ก็มีเกมดังๆ ที่ขายดีอีกมายมาย ทั้ง FIFA, Battlefields, Need for Speed ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ต้องไปซื้อแผ่นมาลง แค่จ่ายเงินซื้อออนไลน์ก็สามารถดาวน์โหลดเกมมาเล่นได้ทันที
  7. SEA
    บริษัทสิงคโปร์ที่สามารถเข้าไปจดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯ ได้ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้คนไทยคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ได้แก่ Shopee, Airpay, Garena ซึ่ง Garena เป็นผู้ให้บริการเกมดัง เช่น FreeFire และ ROV (จริงๆ เป็นของ Tencent แต่ Garena เป็นผู้นำเข้าและทำการตลาด) เป็นบริษัทที่กำลังโตอย่างรวดเร็วและจะสามารถเทียบชั้นบริษัทอื่นได้ในอนาคต
  8. Bilibili
    แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดิโอ เรียกได้ว่าเป็น Youtube ของแดนมังกร ในประเทศจีนมีคนใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นจำนวนมาก นอกจากเป็นเว็บไซต์สำหรับดูคลิปวิดิโอต่างๆ ก็มีการผลิตเกมบนมือถือด้วย ล่าสุดบริษัท Sony ก็เข้าไปลงทุนเป็นจำนวนเงิน 400 ล้านเหรียญด้วย
  9. NetEase
    คนไทยอาจจะไม่คุ้นชื่อเท่าไร แต่ NetEase ผู้ให้บริการเกมรายใหญ่อีกรายหนึ่งในจีน และเป็นพาร์ตเนอร์กับ Blizzard Entertainment ด้วย
  10. Take-two Interactive
    บริษัทผู้ผลิตเกมในสหรัฐอเมริกาฯ เจ้าของเกมซีรีส์ Civilization และ GTA เกมยอดฮิตตลอดกาล

นอกจาก Top 10 แล้วกองทุน LHESPORT ยังกระจายการลงทุนในหุ้นเกมอีก 15 ตัว รวมเป็น 25 ตัว อยู่ในภูมิภาคหลักคือ อเมริกา จีน และญี่ปุ่น

หลายคนอาจสงสัยว่า  แล้วไม่มี PlayStation กับ Xbox เลยเหรอ?

สาเหตุที่ไม่มีการลงทุนในเครื่อง Console ชื่อดังสองเครื่องนี้เป็นเพราะว่า ทั้งบริษัท Sony ที่เป็นเจ้าของเครื่อง PlayStation และบริษัท Microsoft ที่เป็นเจ้าของเครื่อง Xbox รายได้หลักของบริษัทไม่ได้มาจากอุตสาหกรรมเกม ซึ่งผิดเงื่อนไขในการลงทุนของกองทุน ที่ต้องการเลือกเฉพาะบริษัทที่รายได้เกินกว่า 50% มาจากเกมเท่านั้น เพื่อจำกัดการลงทุนอยู่ในอุตสาหกรรมเกม เลยไม่มีการลงทุนในเครื่อง Console เหล่านี้ครับ

สำหรับนักลงทุนที่สนใจกองทุน LHESPORT

กองทุน LHESPORT กำลังจะเปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) ในวันที่ 20-28 ตุลาคม 2563 สำหรับนักลงทุนที่เห็นโอกาสใน Gaming Industry และต้องการลงทุน สามารถดาวน์โหลดหนังสือชี้ชวนสรุปข้อมูลสำคัญเพื่อศึกษาดูก่อนได้ โดหากต้องการซื้อสามารถติดต่อได้ที่ บลจ. LHFund โทร 02 286 3484 หรือติดต่อเข้ามาที่ FINNOMENA โทร 02 026 5100

พิเศษ! นอกจากกองทุน LHESPORT-A (คลาส A ชนิดสะสมมูลค่า) และ LHESPORT-D (คลาส D ชนิดจ่ายปันผล) ทาง บลจ. LHFund ยังเปิดขายกอง LHESPORT-E (คลาส E) ด้วย สำหรับนักลงทุนที่ติดต่อซื้อกองทุนเข้ามาโดยตรงโดยไม่ผ่านผู้แนะนำ โดยคลาส E จะละเว้นค่าธรรมเนียม Front-End ให้กับนักลงทุน เหมาะกับนักลงทุนอิสระที่เลือกลงทุนด้วยตนเองครับ

เจาะลึกธุรกิจ Gaming Industry ไปกับกองทุน LHESPORT