1. สร้างความโดดเด่นให้สินค้า (Differentiation) แล้วจำกัดจำนวนสินค้า (Supply Restriction)

ไม่ว่าจะเป็นตำราเศรษฐศาสตร์หรือคู่มือเรื่องความสัมพันธ์ ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่ากฎที่สำคัญคือเราจะต้อง “เล่นตัว” (จำกัดอุปทาน) เพื่อเพิ่มมูลค่าของเรา เราจะต้องเป็นของ “แพง” เพราะไม่มีใครอยากได้คนที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้หรอก ทุกคนอยากรู้สึกพิเศษกับความสัมพันธ์นั้นๆ และเป็นคนสำคัญของอีกคนทั้งนั้นแหละ แต่ช้าก่อน! อย่าเพิ่งเล่นตัวเร็วเกินไป เพราะอีกฝ่ายอาจจะยังไม่รู้สึกว่าเรามีค่าพอให้เขาอยากเข้ามาข้องเกี่ยวด้วย ดังนั้น เราจะต้องมั่นใจว่าเราแตกต่างจากคนอื่นเสียก่อน

2. กล้าที่จะรอ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณเอาจริง (Type-Revealing Cost)

หนึ่งปัญหาที่คนดีหลายคนต้องเผชิญคือพวกเขาเผลอแสดงท่าทางหรือพูดจาไม่ต่างจากพวกจีบเล่นๆ แม้ว่าคนดีเหล่านี้จะจริงใจและจริงจังก็ตาม ดังนั้น คนที่จริงจังจะต้องทำตัวให้แตกต่างจากคนอื่น (ย้อนกลับไปกฎข้อที่ 1) เขาจะต้องทำในสิ่งที่พวกจีบเล่นๆ ไม่ทำ นั่นก็คือการกล้าที่จะ “รอ” เนื่องจากว่าพวกจีบเล่นๆ จะลดทอนคุณค่าของผลตอบแทนในอนาคต (Future Pay-Off Discount) เยอะกว่าคนที่จริงจัง คนที่จีบเล่นๆ จะหวังผลเร็ว แต่ถ้าเราจริงจังละก็ แสดงให้อีกฝ่ายเห็นสิว่าเราสามารถรอนานกว่านั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ไปทานข้าวเที่ยงแบบสบายๆ ด้วยกัน แทนที่จะไปดินเนอร์ใต้แสงเทียนแล้วจบลงที่… เป็นต้น

3. อย่าไปสนสิ่งที่เสียไปแล้ว (Sunk Cost) สนถึงค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ดีกว่า

อาจจะฟังดูโหดร้ายไปสักหน่อย แต่อย่ามัวแต่เสียดายช่วงเวลาอันแสนสุขที่เคยใช้ร่วมกับคนนั้นๆ เลย ช่วงเวลาเหล่านั้นไม่ได้สูญเปล่าหรอก ในทางตรงกันข้าม เราควรจะไตร่ตรองถึงโอกาสดีๆ ที่กำลังจะมาในอนาคตมากกว่า เพราะถ้ามัวแต่จมอยู่กับรักเก่า เราจะเสียโอกาสดีๆ ไปอีกมากมาย

4. ของดีๆ มักอยู่ได้ไม่นาน

เคยเจอคนที่ดีพร้อมไปทุกอย่าง – หน้าตาดี นิสัยดี ฉลาด ตลก โสด – เข้ามาคุยแล้วชวนไปดินเนอร์ไหม? เป็นไปได้ว่าเหตุการณ์นี้อาจไม่เคยเกิดขึ้นกับเราเลย เพราะคนอื่นคงเอาชนะเรา แย่งชิงคนแสนดีคนนั้นไปแล้ว เราต้องเข้าใจว่าใน “ตลาด” ของความสัมพันธ์นั้น ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลของ “สินทรัพย์” ในตลาดด้วยกันทั้งนั้น (Information Symmetry) ของดีๆ จึงมักอยู่ได้ไม่นาน ต้องมีคนรีบชิงไปก่อน ดังนั้น ถ้าใครบางคนยังโสดอยู่ ก็คงมีเหตุผลอะไรบางอย่างอยู่เบื้องหลังความโสดนั้น

5. คิดถึงความเสี่ยง (Risk Preference) ที่เรารับได้ ก่อนเริ่มลงทุน

ความสัมพันธ์แต่ละแบบมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน ถ้าเป็นความสัมพันธ์ระยะยาว สิ่งที่เป็นจุดขายก็คือ “ความมั่นคง” เพราะเรารู้ชัดเจนว่าคนที่เราจะอยู่ด้วยนั้นเป็นใคร คนที่เราสามารถปรึกษาเวลาไม่สบายใจนั้นเป็นใคร ความสัมพันธ์แบบนี้ก็เหมือนการเอาเงินไปฝากในธนาคารนั่นแหละ – เรียบง่าย มั่นคง แต่ไม่หวือหวาเท่าไร ดังนั้นถ้าใครยังต้องการความตื่นเต้นในชีวิต ก็อาจจะยังไม่ใช่เวลาที่ควรลงหลักปักฐานกับใครสักคน

6. กระจายความเสี่ยงในพอร์ต (Diversification)

แนวคิดนี้สะท้อนมุมมองของเหล่าเพลย์บอย เพลย์เกิร์ลได้ดี พวกเขากระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในสินทรัพย์หลายๆ อย่าง แบ่งระดับความเสี่ยงไปตามความสัมพันธ์กับแต่ละคน กับคนหนึ่งอาจจะเป็นแนวหวือหวา มาเร็วไปเร็ว ถ้าเจ็บจากคนนี้ก็ยังมีอีกคนหนึ่งที่เน้นเป็นความเสี่ยงต่ำ แต่มั่นคงกับเรามากกว่า

7. ได้ผลตอบแทนดีขึ้นแน่ ถ้ายอมเสียสภาพคล่อง (Liquidity) บางส่วน

คนส่วนใหญ่ชอบให้เงินตัวเองมีสภาพคล่องสูงๆ เช่น ฝากไว้ในธนาคาร แต่หารู้ไม่ว่าวิธีนี้ทำให้เราพลาดโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดียิ่งกว่า ความสัมพันธ์ก็เหมือนกัน ถ้าอยากลงหลักปักฐานและประสบความสำเร็จกับชีวิตคู่จริงๆ เราก็ต้องยอมเสียอิสรภาพบางส่วนไป

8. การถ่อมตน (Self-Deprication) เป็นการส่งสัญญาณบอกว่าคุณมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

เมื่อเรากล้าที่จะถ่อมตน มันเหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณว่าแท้จริงแล้วเรามีคุณค่าอื่นๆ กักตุนไว้ ไม่อวดโอ้ออกไป ในทางตรงกันข้าม คนที่หยิ่งยโสคือคนที่ไม่มีความสามารถอื่นๆ กักตุนไว้มากพอ พวกเขาเลยไม่สามารถถ่อมตนได้ เพราะมีน้อยเลยต้องอวดให้ถึงที่สุด

9. ทำตารางให้ยุ่งเข้าไว้ เพื่อที่จะได้เพิ่มพลังการต่อรอง (Bargaining Power)

เมื่อเรามีตัวเลือกมากมาย เรามักจะได้ในสิ่งที่ต้องการ ตัวอย่างเช่นเวลาไปช้อปปิ้งนั่นไง ถ้ามีร้านมากมายให้เลือก ก็มีสิทธิ์ที่เราจะได้สินค้าดีๆ ในราคาดีๆ ที่เราหวังไว้ ความสัมพันธ์ก็คล้ายๆ กัน ถ้าเรารู้สึกว่าไม่เจอตัวเลือกถูกใจเลย ลองทำตัวให้ยุ่งๆ เข้าไว้ ถ้าสามารถโชว์ให้คนอื่นเห็นได้ว่าเรามีความสุขแม้จะไม่มีพวกเขา เราก็จะมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นแล้วละ

10. หาสินทรัพย์ที่ราคายังต่ำกว่ามูลค่า

ถ้าไล่ตามคนหน้าตาดีๆ เท่าไรก็ไม่สมหวังสักที ลองเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นการตามหาคนที่ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจดีไหม? ลองมองคนที่บุคลิกนิสัยแทนที่จะเป็นหน้าตา – มูลค่าของหน้าตาจะลดทอนไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา (Depreciation) และมักจะถูกให้ราคาสูงเกินไปในช่วงแรกๆ (Overvalued) ในทางกลับกัน มูลค่าของจิตใจที่ดีจะวิ่งสวนทางกับหน้าตาเลย

ข้อมูลอ้างอิง: http://time.com/7391/10-lessons-from-an-economist-on-love/