ในไตรมาสที่ผ่านมา… บริษัท Snap Inc. ซึ่งเป็นเจ้าของแอพยอดฮิตของวัยรุ่นอย่าง Snapchat เผชิญกับสภาวะขาดทุนถึง 443 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขาดทุนต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนๆ ซึ่งไตรมาสแรกติดลบไปกว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ยอดผู้ใช้รายวันยังคงชะลอตัว โดยเพิ่มขึ้นเพียง 2% หรือประมาณ 16% เมื่อเทียบปีต่อปี

มูลค่าหุ้นร่วงลงไปกว่า 20% เมื่อนักลงทุนตัดสินใจทิ้งหุ้นหลังเห็นแนวโน้มที่เป็นลบ ไหนจะถูกนักวิเคราะห์ปรับลดระดับความน่าสนใจของหุ้นอีก

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์น่าเศร้าของ Snapchat ในปีนี้ นับจากช่วงต้นปีที่บริษัทตัดสินใจเข้าตลาดหุ้นด้วยราคา 24.48 ดอลลาร์สหรัฐฯ และร่วงลงมาเรื่อยๆ หลังจากนั้น จนตอนนี้ราคาหุ้นของ Snapchat เหลือเพียง 12 ดอลลาร์สหรัฐฯ กว่าๆ

สภาวะกระอักอ่วนของ Snapchat ช่วงไตรมาสแรกเกิดขึ้นเพราะการแจกหุ้นให้พนักงานเป็นมูลค่าจำนวน 2 พันล้านดอลลาร์หลังเข้าตลาดหุ้น (…แล้วราคาหุ้นก็ตก)

ส่วนในไตรมาสล่าสุดนั้นส่วนหนึ่งมาจากสินค้าใหม่อย่างแว่นตาถ่ายวิดิโอ Spectacles ซึ่งทำยอดขายได้ไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ โดยคิดเปอร์เซ็นต์ขาดทุนเป็น 9% ของยอดขาดทุนทั้งหมด 

นอกจากนี้สิ่งที่น่ากังวลยังเป็นอนาคตฐานผู้ใช้งานของ Snapchat ที่ไม่สดใสนัก หลังจากที่นวัตกรรมของตนถูกยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ลอกเลียนแบบไปใช้ในแอพของตัวเอง

Snapchat กับฟังก์ชั่นที่น่าใช้น่าก๊อป

Snapchat ซึ่งถือกำเนิดเมื่อปี 2011 นั้นเป็นแอพ Social Media ที่มีความโดดเด่นมาก เพราะมีลักษณะการใช้งานที่ไม่เหมือนใคร เนื่องจากแอพนี้มีเสน่ห์ความเป็น Real-Time สูง ไม่ว่าจะเป็นการที่รูปภาพหายวับไปหลังจากทำการส่งไปให้อีกฝ่ายเห็น และต่อมาก็มีการแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเองผ่านฟังก์ชั่น Stories ซึ่งจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง ไหนจะมีฟังก์ชั่นแปลกใหม่ที่พัฒนามาเรื่อยๆ ให้ผู้เล่นได้สนุกอยู่เสมอ (Filter แปะหน้าก็มาจาก Snapchat นี่แหละ)

ฟังก์ชั่นเหล่านี้โดนใจหมู่วัยรุ่นที่ชอบลองอะไรใหม่ๆ และต้องการความเป็นส่วนตัวแยกจากผู้ใหญ่ (ซึ่งเริ่มเข้ามาบุกแพลตฟอร์มอย่าง Facebook) ฉะนั้นในแง่ความมีเอกลักษณ์จึงเรียกได้ว่า Snapchat ไม่เป็นรองใคร เพราะสามารถสร้างฐานผู้ใช้ได้ด้วยตัวเอง เห็นได้จากช่วงแรกที่จำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นมากถึง 100,000 รายในปี 2012 (ปีเดียวหลังจากเปิดตัวเท่านั้น!)

Snapchat โกยรายได้จากแบรนด์ต่างๆ ที่แห่เข้ามาใช้แพลตฟอร์มในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเองกับกลุ่มวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อพื้นที่สำหรับฉายวิดิโอโฆษณา หรือสร้าง Filter มาโปรโมตแบรนด์ตัวเอง

ยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook เห็นอย่างนี้ก็ไม่รอช้า ออกฟังก์ชั่น Poke ในปีเดียวกัน สิ่งนี้มีคุณสมบัติคล้ายๆ กับฟังก์ชั่นของ Snapchat แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรเพราะ Snapchat กำลังอยู่ในช่วงรุ่งเรือง ผู้คนกำลัง ‘เห่อ’ แอพนี้จึงเห็นว่าฟังก์ชั่นแบบนี้ต้องเป็น Snapchat เท่านั้น

เมื่อสู้ไม่ได้ Mark Zuckerberg แห่งอาณาจักร Facebook จึงเสนอซื้อ Snapchat ด้วยราคา  3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2013 เพราะเห็นว่า Snapchat จะสามารถเพิ่มฐานลูกค้าให้ตนได้ หลังจากที่ซื้อ Instagram มาด้วยราคา 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นได้อยู่หมัด

แต่ Snapchat ก็ปฏิเสธข้อเสนอนั้น เพราะเห็นว่าแอพของตนนั้นมีศักยภาพในการเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง หากเทียบจากมูลค่าบริษัทก็เรียกได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูก เพราะในปี 2014 นั้นมูลค่าบริษัทได้ขึ้นมาอยู่ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมากกว่ามูลค่าที่ Facebook เคยเสนอให้หลายเท่า

ทว่าเรื่องราวไม่ได้จบสวยอย่างนั้น…

พิษร้ายของการเลียนแบบ

ในเมื่อ Snapchat ไม่ยอมเป็นส่วนหนึ่งของ Facebook รายหลังจึงจัดหนักด้วยการไม่หยุดก๊อปปี้ฟังก์ชั่นของ Snapchat ซึ่งรอบนี้ไม่ได้ปรากฎแค่บน Facebook เท่านั้น

Facebook มี Stories – Messenger มี My Day – Instagram มี Stories – Whatsapp มี My Status

มากันถึง 4 แอพเลยทีเดียว เมื่อรวมกันแล้วฐานผู้ใช้จึงมหาศาล

แต่แอพที่ประสบความสำเร็จกับการก๊อปปี้มากที่สุดคงหนีไม่พ้น Instagram กับฟังก์ชั่น Stories อาจเพราะฐานผู้ใช้มีความคล้ายคลึงกับ Snapchat จึงทำให้วัยรุ่นหันมาใช้ Stories กันมากขึ้น

ความน่าเจ็บใจเกิดขึ้นเมื่อผลตอบรับของคู่แข่งดันดีกว่า! เห็นได้จากอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้ที่ถดถอยลงนับตั้งแต่ Instagram ติดตั้ง Stories

โดยเมื่อกลางปีนี้ Instagram Stories มีผู้ใช้ต่อวันมากกว่า 250 ล้านคน มากกว่าเจ้าของดั้งเดิมอย่าง Snapchat ซึ่งมีอยู่ประมาณ 170 กว่าล้านคนเสียอีก

เรียกได้ว่าการก๊อปปี้ในรอบนี้ให้ผลที่น่าประทับใจกับ Facebook แม้จะต้องถูกครหาว่า ‘ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง’ ก็ตาม

เราคงต้องต้องติดตามกันต่อไปว่า Snapchat จะมีกลยุทธ์อะไรมาโต้ตอบกับการเจอคู่แข่งตัวเบ้งอย่าง Facebook ที่มีฐานผู้ใช้มากกว่า แถมยังมีแอพในเครือเยอะแยะไปหมด แม้ Snapchat จะมีฟังก์ชั่นโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์มากแค่ไหน แต่การที่แอพ Social Media จะอยู่รอดได้นั้น จำนวนผู้ใช้เป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งฝ่ายที่เลียนแบบดันเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีข้อได้เปรียบตรงผู้ใช้งานที่เยอะกว่าด้วยแล้ว ยักษ์ใหญ่จึงได้ประโยชน์จากการก๊อปปี้ไปเต็มๆ

เพราะอย่างไรเสีย การมีแอพเดียวที่ทำได้ทุกอย่าง ติดต่อได้ทุกคนที่รู้จัก ก็สะดวกกว่าเป็นไหนๆ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่:

http://time.com/money/5015335/snapchat-evan-spiegel-stock-losses/

https://www.marketwatch.com/story/snap-shares-fall-as-much-as-21-after-third-quarter-revenue-miss-2017-11-07

https://hbr.org/2017/05/can-snapchat-survive-if-facebook-copies-all-its-best-features

https://www.bloomberg.com/gadfly/articles/2016-10-07/snapchat-ipo-5-charts-explaining-why-it-s-worth-25-billion

https://www.dreamgrow.com/top-15-most-popular-social-networking-sites/

http://fortune.com/2017/11/07/snapchat-thought-people-would-want-to-wear-its-sunglasses-it-was-wrong/