หนึ่งในศัตรูตัวฉกาจของความพยายามใช้เงินตามแผนที่วางไว้ในแต่ละเดือน คือความไม่คาดฝันต่างๆ

ความไม่คาดฝันนั้นอาจแบ่งได้เป็นสองประเภท คือ 1) ไม่คาดฝันแบบฉุกเฉิน 2) ไม่คาดฝันแบบไม่ฉุกเฉิน

ประเภทแรกคงหนีไม่พ้นอะไรก็ตามที่เสี่ยงต่อชีวิตเรา เช่น อุบัติเหตุ อาการป่วย คนที่รักเสียชีวิต

แน่นอนว่าหลายคนอาจจะมองความไม่คาดฝันว่ามีอยู่แค่นี้แหละ และจะเตรียมพร้อมไว้อย่างดีแล้ว

ทว่าหลายคนมักจะลืมว่ามีความไม่คาดฝันอีกประเภทที่ดูไม่ร้ายแรงเท่า แต่พร้อมจะสูบเงินเราแบบไม่ทันให้ตั้งตัวได้เหมือนกัน นั่นก็คือความไม่คาดฝันแบบไม่ฉุกเฉิน

ไม่ว่าจะเป็นค่าซ่อมรถไม่คาดฝัน ปาร์ตี้ไม่คาดฝัน หรือแม้กระทั่งเจอป้าย SALE! โดยไม่คาดฝัน

สิ่งเหล่านี้คือกับดักรายจ่ายไม่คาดฝันนี่เอง เพราะเราไม่ได้มองว่ามันฉุกเฉิน ไม่ถึงเป็นถึงตาย

หลายๆ ครั้งเราจึงโยนความผิดให้ความไม่คาดฝันแบบไม่ฉุกเฉินเหล่านั้น โดยคิดว่าเป็นอะไรที่ควบคุมไม่ได้ มันเข้ามาเอง เราเลยไม่คิดจะวางแผนล่วงหน้า

มันไม่ใช่ค่าหอ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ที่ค่อนข้างจะสม่ำเสมอในทุกเดือน สามารถเห็นได้ชัดๆ ล่วงหน้าว่าจะต้องจ่ายเท่าไร

เราไม่ได้รู้เลยว่าความไม่คาดฝันเหล่านี้นี่แหละที่เป็นหนึ่งในตัวการบ่อนทำลายพฤติกรรมการใช้เงินของเรา! เพราะรายจ่ายไม่คาดฝันหลายๆ อย่างเมื่อรวมกันแล้วก็อาจทำให้เราเผลอใช้เงินมากกว่าที่วางแผนไว้

ในบทความนี้เราเลยอยากมานำเสนอวิธีรับมือกับเซอร์ไพรส์เรียกเงินแบบไม่ฉุกเฉิน ทำอย่างไรถึงจะสามารถต่อกรกับความไม่แน่นอนเหล่านี้ได้ หรือแท้จริงแล้วความไม่แน่นอนเหล่านี้คือความแน่นอนกันนะ?

ใช่แล้ว! ค่าใช้จ่ายไม่คาดฝันทั้งหลาย แท้จริงแล้วสามารถคาดการณ์ได้

หลายๆ คนอาจจะคิดว่าเราไม่สามารถคาดเดาได้หรอกว่าเดือนนั้นๆ จะมีเซอร์ไพรส์เรียกตังค์อะไรบ้าง รู้ตัวอีกที เอ้า ปาร์ตี้นัดรวมพล! เปลี่ยนยางรถ! รองเท้าพัง! สารพัดความไม่แน่นอนผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด นอกจากเราจะโทษมันว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้แล้ว

ที่สาหัสคือสิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยให้หลายๆ คนมองว่าการวางแผนการเงินนั้นไม่จำเป็นสักหน่อย! เพราะเราจะไปรู้ได้ยังไงว่าแต่ละเดือนเราจะต้องพบเจอรายจ่ายอะไรบ้าง

หารู้ไม่ว่าอันที่จริงแล้วหากเราสังเกตพฤติกรรมการใช้เงินในแต่ละเดือนของตัวเอง เราจะสามารถคาดการณ์อนาคตได้ว่าอาจเกิดอะไรขึ้นบ้างในเดือนนั้นๆ เพราะการที่เรารู้จักพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเอง มันจะทำให้เราเข้าใจว่าเราเสียเงินไปกับอะไรซ้ำๆ และค่าใช้จ่ายแบบไหนที่ควรต้องระวังเอาไว้

รับมือกับเซอร์ไพรส์เงินหายยังไงดี

เรามีวิธีง่ายๆ ให้ลองเริ่มนำไปใช้กัน

  • หากใครได้บันทึกรายรับรายจ่ายของตัวเองไว้ หรือมีสลิปเครดิตการ์ดให้ย้อนกลับไปดู เราแนะนำว่าให้ลองนำบันทึกรายจ่ายในอดีตนั้นมาศึกษา ดูว่าที่ผ่านมาเราต้องเสียเงินไปกับเซอร์ไพรส์ถี่แค่ไหน เสียเงินไปประมาณไหน หากได้ตัวเลขตรงนี้เราก็พอจะกะคร่าวๆ ได้ว่าเรามีค่าเซอร์ไพรส์ที่ต้องเสียไปในแต่ละเดือนเยอะเท่าไร
  • ความไม่คาดฝันทั้งหลายมักมาจากสิ่งรอบๆ ตัวเรานั่นแหละ ลองนึกดูว่าเราข้องเกี่ยวกับอะไรบ้าง เช่น หากมีรถ ก็มีความเสี่ยงที่ว่าจะต้องนำเข้าอู่ หรือถ้ามีลูก ก็อาจจะต้องมีการซื้อของเพื่อกิจกรรมของลูกเป็นครั้งคราว ลองดูว่าความถี่ของการเสียเงินให้สิ่งเหล่านี้เป็นยังไงบ้าง แล้วกันเงินเผื่อเอาไว้
  • ใช่แล้ว การกันเงินเผื่อไว้ยังไงก็ดีกว่า! เราควรมองว่าเซอร์ไพรส์เงินหายเหล่านี้ไม่ใช่เซอร์ไพรส์หรอก แต่เป็นรายจ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นเราควรวางแผนกันเงินเผื่อไว้ส่วนนึง อาจจะเรียกมันว่า ‘สำหรับค่าใช้จ่ายไม่คาดฝันก็ได้’ นั่นหมายความว่าเราจะไม่แตะส่วนนี้เลยหากไม่มีเรื่องเซอร์ไพรส์จริงๆ (อย่าขี้โกงโดยการหยิบมาใช้เพราะเห็นว่าเรากันเงินไว้ละ) โดย Ramit Sethi ผู้เขียนหนังสือ “I Will Teach You To Be Rich” ได้ให้คำแนะนำว่าเบื้องต้นลองเพิ่มเงิน 15% จากค่าใช้จ่ายคงที่ที่เราคาดการณ์ไว้ เผื่อล่วงหน้าสำหรับเซอร์ไพรส์ต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นเรื่องฉุกเฉิน และหากเราทบเงิน 15% นี้ไปเรื่อยๆ ทุกเดือน เราก็จะมีเงินตุนไว้เยอะขึ้นสำหรับเซอร์ไพรส์ไม่คาดฝัน ใครอยากนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนที่ดีก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ก็ต้องดูความเสี่ยงให้ดีๆ นะ

หลายคนอาจจะขี้เกียจกันเงินส่วนนึงเผื่อไว้สำหรับรายจ่ายที่อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่เชื่อเถอะว่ามันจะเกิดขึ้นแน่ๆ และเซอร์ไพรส์เงินหายเหล่านี้มาแต่ละทีก็ไม่ได้มาเล่นๆ แต่จะสูบเงินเราไปเยอะทีเดียว

อ้างอิงบางส่วนจาก:

http://www.businessinsider.com/how-to-afford-unexpected-expenses-2015-7