9 ข้อสังเกต “Crypto Scam”

ในปี 2562 ที่ผ่านมาผู้คนให้ความสนใจในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นก็จริง แต่ก็เป็นปีที่ผู้คนเสียหายจากการถูกหลอกลวงมากขึ้นด้วยเช่นกัน นักลงทุนเหล่านี้ถูกหลอกล่อด้วยความโลภและสุดท้ายก็ต้องสูญเสียเงินทุนทั้งหมดให้กับมิจฉาชีพหรือเหรียญ Scam ทั้งหลาย

จากรายงานของ CipherTrace กล่าวว่า ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหลายแห่งถูกโจมตีจากมิจฉาชีพโดยรวมแล้วสูญเงินไปกว่า 4.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ อีกข่าวหนึ่งที่โด่งดังก็คือ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากญี่ปุ่นที่ถูกผลกระทบจากเหรียญ Scam ทำให้สูญเงินไปกว่า 28 ล้านเหรียญสหรัฐด้วยเช่นกัน ทำให้พวกเขาจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับลูกค้ากว่า 50,000 ราย

เหรียญที่ถูกขโมยก็มักจะเป็นเหรียญที่เป็นที่นิยม เช่น Bitcoin, Litecoin, XRP และ Ethereum ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีชื่อว่า Binance รายงานว่าลำพังแค่ Bitcoin ก็มีการขโมยไปกว่า 7,000 BTC รวมเป็นมูลค่ากว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว

จากราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความผันผวนสูง และในปัจจุบันมีผู้ให้ความสนใจลงทุนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมารองรับความต้องการเป็นจำนวนมากเช่นกัน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือศูนย์ซื้อขายส่วนใหญ่ไม่ได้มีการประกันความเสี่ยงที่อาจจะสูญเสียเหรียญเหล่านั้นจากการถูกขโมย ดังนั้นก่อนที่นักลงทุนทุกท่านจะตัดสินใจเลือกใช้บริการจากใคร ควรศึกษาและทำการบ้านให้ละเอียดก่อนว่าปลอดภัยแค่ไหนรวมถึงมีการประกันความเสียหายเอาไว้รึเปล่า ในวันนี้เราจึงอยากจะแชร์ไอเดียเกี่ยวกับข้อสังเกต 9 ข้อ ที่จะทำให้เราปลอดภัยตลอดการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลครับ

9 ข้อสังเกต “Crypto Scam”

ICOs จากมิจฉาชีพและการปลอมแปลงหนังสือชี้ชวน (Whitepaper)

การเสนอขายเหรียญในระยะเริ่มต้น หรือ ICO (Initial Coin Offering) มันคือการระดมทุนและลงทุนเพื่อที่จะเปิดตัวโปรเจคโครงการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทสตาร์ทอัพ โดยมีการออกเหรียญดิจิทัลออกมา โดยในปีที่แล้วมีการมากกว่า 1,000 ICOs ที่เกิดขึ้น

ICO หลายแห่งนั้นถูกกฎหมายและน่าเชื่อถือ แต่ด้วยความที่เป็นสินทรัพย์ชนิดใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ทำให้ผู้ที่สนใจขาดประสบการณ์ในการแยกแยะว่าอันไหนของจริง อันไหนของปลอม ซึ่งของปลอมก็มีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวทั้งยังสร้างความเสียหายให้ผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์จำนวนมาก บางครั้งมีการตั้งใจปลอมแปลง Whitepaper กันเลยทีเดียว โดยการคัดลอกเพียงบางส่วนออกมาเพื่อให้หลายคนเข้าใจผิดและตกเป็นเหยื่อ ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจที่จะลงทุนในเหรียญหรือโครงการใดก็ตาม โปรดศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรวมถึงความน่าเชื่อของผู้ออกเหรียญนั้น ๆ ด้วย

เงื่อนไขที่ซับซ้อนในการขอถอนเงินลงทุน

หากมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนในการขอถอนเงินลงทุนในยามที่ท่านต้องการ ก็ให้พยายามตั้งข้อสังเกตเอาไว้เป็นพิเศษ รวมถึงการเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นในจำนวนเงินที่สูง การรับประกันผลตอบแทนหรือโปรโมชั่นที่สูงผิดปกติ ก็ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ดังนั้นเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีท่านควรศึกษาให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้

Wallets ปลอม

Crypto Wallets มีหลายประเภทมาก บ้างก็ถูกกฎหมาย บ้างก็ผิดกฎหมาย บ้างก็ตั้งใจทำมาเพื่อหลอกลวงนักลงทุน หากท่านฝากหรือโอนเหรียญเข้าไปใน Wallets ที่ขาดความน่าเชื่อถือเหล่านั้น เงินของท่านอาจจะกลายเป็นศูนย์ไปได้ในพริบตา ฉะนั้นพยายามใช้ Wallets ที่น่าเชื่อถือ ถูกกฎหมายแม้จะมีค่าธรรมเนียมบ้างแต่ก็ปลอดภัยกว่าเป็นไหน ๆ เลยครับ 

ซื้อขาย Bitcoin ตามกระแสและแรงเชียร์

แม้ Bitcoin จะเป็นผู้นำในเหรียญดิจิทัลทั้งหลาย แต่การจะทำกำไรจากมันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ศูนย์ซื้อขายหลายแห่งให้บริการซื้อขาย Bitcoin และพยายามชักชวนให้เราซื้อ ๆ ขาย ๆ เพื่อหวังค่าธรรมเนียม ด้วยความผันผวนของราคาที่สูง แปลว่าเงินทุนที่ท่านนำเข้ามาอาจไม่สามารถรักษาไว้ได้ พูดง่าย ๆ ว่าขาดทุนจากการซื้อ ๆ ขาย ๆโดยขาดความรู้ที่ดีนั่นแหละครับ ดังนั้นหากท่านชอบการเก็งกำไร ควรศึกษาสภาพตลาดให้ดีก่อนเข้าลงทุนนะครับ

การฉกข้อมูลส่วนบุคคลและแอบอ้างในการทำธุรกรรม

Phishing นั้นเป็นอุบายเก่าแก่ของพวกมิจฉาชีพเลยก็ว่าได้ พูดง่าย ๆ คือ พวกเขาจะพยายามทำทุกทางเพื่อให้ได้รับรู้รับทราบข้อมูลจากคนคนหนึ่งหลังจากได้ข้อมูลแล้ว พวกเขาจะปลอมแปลงเป็นตัวท่านและนำข้อมูลนั้น ๆ ไปทำธุรกรรมแทนท่านในทันที การ Phishing นั้นอาจมาในการแบบของ Email แกล้งให้ใส่ข้อมูลต่าง ๆ เช่น Username Password และอื่น ๆ หรืออาจมาในรูปแบบของ Cold Calling คือแกล้งโทรมาเพื่อขอข้อมูลโดยตรง คุณต้องพยายามติดตามข่าวและระมัดระวังทุกครั้งเวลาจะให้ข้อมูลกับใคร 

สื่อสังคมออนไลน์ที่ขาดความน่าเชื่อถือ

โซเชียลมีเดียเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่เปิดกว้าง ใครก็เข้าถึงได้ ซึ่งทำให้เหล่ามิจฉาชีพตัวแสบก็ชอบที่จะแฝงตัวเข้ามาอยู่ในนี้ตลอดเวลา หลาย ๆ ครั้งก็ใช้โซเชียลมีเดียในการหาเหยื่อและหลอกให้เหยื่อสูญเสียทรัพย์ทุกวิถีทาง ดังนั้น โปรดพิจารณาก่อนจะไว้ใจใคร ทำธุรกรรมกับใคร หรือแม้กระทั่งเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มใด ๆ ที่ไม่น่าเชื่อถือ

Email ปลอม

คุณไม่ควรที่จะคลิกเข้าไปในลิงก์ใด ๆ ก็ตามที่คุณไม่รู้จักที่มา ข้อนี้มีความเกี่ยวข้องกับข้อ Phishing คนส่วนใหญ่อาจไม่ทราบว่ามีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นมากมาย เคยมีแม้กระทั่งการปล่อยไวรัสเข้าไปในบริษัทผู้เสียหาย แล้วขู่กรรโชกเรียกร้องเงินแลกกับข้อมูลทั้งหมดที่บริษัทมี เพียงเพราะการคลิกลิงก์ของพนักงานบางคนแค่ครั้งเดียว

การปั่นราคาเหรียญ

ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับการหากินกับความไม่รู้ พฤติกรรมเหล่านี้อาจไม่ได้มาจากมิจฉาชีพเท่านั้น แต่อาจมาจากผู้ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดหุ้นหรือตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เป็นอย่างดี คนกลุ่มนี้จะมองหาเหรียญที่มีความเป็นไปได้ของ Story ที่ดีในอนาคต เก็บสะสมเหรียญในราคาที่ต่ำ หลังจากนั้นก็อาจจะใช้โซเชียลมีเดีย เช่น Facebook Telegram Twitter ในการปลุกกระแสและไล่ราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเหล่าแมงเม่าบินเข้ากองไฟ พวกเขาก็เทขายเหรียญทั้งหมดออกมาในราคาที่สูงมาก

โบรกเกอร์เถื่อน

สำหรับสินทรัพย์ใหม่ชนิดนี้ แน่นอนว่าหลายคนยังไม่เข้าใจ เราจึงอยากได้ใครสักคนเป็นที่ปรึกษา เป็นตัวกลาง ซึ่งนั่นก็คือโบรกเกอร์ โบรกเกอร์มีทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย คือไม่ได้รับอนุญาตในการประกอบกิจการอย่างถูกต้อง ซึ่งทำให้ความปลอดภัยของแพลตฟอร์มพวกเขาอาจจะไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น นั่นจึงเป็นที่มาของการถูกขโมยเหรียญต่าง ๆ ไปอย่างต่อเนื่อง มีคำกล่าวเท่ ๆ ว่า การไม่ลงทุนคือความเสี่ยงเพราะเงินเฟ้อจะกัดกินอำนาจซื้อของคุณแต่ในความเป็นจริงการรีบลงทุนโดยขาดความรู้นั้นมีความเสี่ยงยิ่งกว่าครับ

จากข้อสังเกต 9 อย่างที่เราให้ไว้ เชื่อว่าคงเป็นประโยชน์กับทุกท่านไม่มากก็น้อยครับ สุดท้าย อย่าให้ใครมาหลอกลวงเราด้วยความโลภและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่วนเราก็อย่าหลอกตัวเองว่ารู้ทุกอย่างแล้ว จนทำให้ไม่ยอมศึกษาอะไรเพิ่มเติมเลยครับ

Zipmex