คุยคริปโต Podcast Ep.1 : พ้นจากวิกฤติหนี้ท่วมโลกและเศรษฐกิจฝืดเคือง ด้วย Money Velocity

เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมาซึ่งดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แล้วยังโชคร้ายคือเกิดการระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะลากยาวไปถึงสิ้นปี ทำให้มีการหยุดชะงักในทุกปัจจัยของการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 1 จากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ออกมาจะค้านสายตาประชาชนไปพอสมควร คือติดลบเพียง 1.8 % เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เพราะนักวิชาการและนักวิเคราะห์ รวมไปถึงนักธุรกิจส่วนใหญ่ คิดว่าตัวเลขน่าจะออกมาติดลบมากกว่านี้ แต่ในความเป็นจริงไตรมาสที่ 1/2563 นี้ Cover ผลกระทบของพิษเศรษฐกิจจาก COVID-19 เพียงแค่ครึ่งเดียวของช่วงเวลาเท่านั้นเพราะว่าช่วงเดือนมกราคม 2563 ไล่ไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทุกภาคส่วนยังสามารถดำเนินกิจกรรมของตัวเองได้อย่างปกติ แต่ตัวเลขไตรมาส 2/2563 นี่สิของจริง ซึ่งทุกท่านไม่ต้องกังวลไปครับเพราะกระทรวงการคลังนั้นประกาศออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่าจะงดการแถลงตัวเลข GDP ไตรมาส 1-2 ชั่วคราว เพื่อลดความแตกตื่นและวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้น หลายท่านที่ลงทุนมานานจะทราบดีว่ากองทุนขนาดใหญ่สาย Macroeconomic มีหลักการในการวิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจมากมายเพื่อเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาเข้าถือครองหรือขายออกของสินทรัพย์ในประเทศนั้น ๆ หลักการเบื้องต้นข้อหนึ่งก็คือหาก GDP ลบ 2 ไตรมาสติดกันเท่ากับเศรษฐกิจที่ประเทศนั้นเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นที่เรียบร้อย ทำให้อาจจะมีการลดน้ำหนักการลงทุนเกิดขึ้นครับ แต่เราไม่ประกาศ เลยรอดตัวไป…

ในขณะเดียวกันประเทศมหาอำนาจ 2 แห่งอย่างจีนและสหรัฐฯ ก็เหมือนกับว่ากำลังแข่งกันทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเงินสกุลดิจิทัล จนประชาชนที่เดือดร้อนเริ่มเรียกร้องถึงการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจแก้ไขปัญหาปากท้องมากกว่าที่จะไปแข่งกันเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี ก่อนหน้านี้ที่ทาง Facebook พยายามจะสร้างเหรียญ “Libra” ขึ้นมาเพื่อเป็น Global Digital Assets หรือสกุลเงินที่ใช้ร่วมกันทั่วโลก เพื่อทำลายข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศและลดค่าธรรมเนียมจากการแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น แต่หลังจากที่คุณ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ได้นำเรื่องนี้เข้าแถลงต่อสภาคองเกรสเพราะต้องการให้สหรัฐฯ ยอมรับเรื่องนี้อย่างทั่วถึงกัน แต่แน่นอนว่า Libra นั้นถูกสับเละไม่มีชิ้นดีเลย อีกด้านหนึ่งก็คือมหาอำนาจอย่างจีนที่ประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่สนับสนุน Crypto Digital Assets แต่ก็ซุ่มทำวิจัยอะไรบางอย่างเป็นเวลานาน จนได้ฤกษ์เปิดตัวสิ่งที่เรียกกันว่า ดิจิทัลหยวน หรือ Digital Assets Electronic Payment (DCEP) ซึ่งสร้างความฮือฮาไปทั่วโลก จนทำให้ทางสหรัฐฯ ทนไม่ไหวหยิบ Libra ขึ้นมาปัดฝุ่นเขียน Whitepaper ใหม่ที่เรียกว่า Libra 2.0

คำถามที่สำคัญก็คือทำไมแต่ละประเทศถึงได้ให้ความสนใจในการสร้าง Central Bank Digital Assets (CBDA) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ในวันนี้ ZIPMEX จะมาเล่าให้ฟังครับ

GDP คืออะไรและทำไมจึงมีความสำคัญ

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) หมายถึง มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ โดยไม่คำนึงว่าผลผลิตนั้นจะผลิตขึ้นมาด้วยทรัพยากรของชาติใด ซึ่งมีสูตรการคำนวณดังนี้

GDP = C + I + G + (X-M)

C = Consumption คือ การบริโภคของภาคเอกชนและประชาชน

I = Investment คือ การลงทุนของภาคเอกชน

G = Government Spending คือ การใช้จ่ายของรัฐบาล หรือ การลงทุนภาครัฐ

X = Export คือ การส่งออก

M = Import คือ การนำเข้า

แต่มีการคำนวณ GDP ในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเราเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ธนาคารกลางหลายแห่งกำลังโฟกัสเรื่องนี้อยู่นั่นก็คือสูตรนี้ครับ

GDP = M * V

M = Money Supply (M1 หรือ M2)

V = Velocity of Money (การหมุนของเงิน)

ผมขออธิบายง่าย ๆ แบบนี้ครับเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้น สมมติว่าผมเปิดร้านกาแฟสักหนึ่งร้านโดยมีโต๊ะให้ลูกค้านั่ง 10 โต๊ะ นั่งโต๊ะละหนึ่งคนแล้วกันเพราะช่วงนี้ต้อง Social Distancing โดยที่ผมขายกาแฟแก้วละ 100 บาท ถ้าในวันนั้นลูกค้านั่งครบ 10 คน สั่งกาแฟคนละ 1 แก้วแล้วนั่งแช่ไปทั้งวันจนร้านปิด นั่นเท่ากับว่าวันนั้นผมมีรายได้ 1,000 บาทยังไม่หักค่าใช้จ่าย แต่ในทางกลับกัน ลูกค้ามาซื้อกาแฟที่ร้านนั่งเพียง 10 นาทีแล้วออก ๆ แบบนี้จนร้านปิด สมมติขายได้ 100 แก้ว เท่ากับว่าวันนั้นผมมีรายได้ 10,000 บาทยังไม่หักค่าใช้จ่าย สังเกตหรือไม่ครับ ขนาดร้านเท่าเดิม โต๊ะเท่าเดิม แต่อัตราการหมุนหรือ Velocity มีมากกว่า รายได้ของร้านก็มีมากกว่า

มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ

หากกลับมาที่ประเด็นของเศรษฐกิจโลก นับตั้งแต่เกิดวิกฤติทางการเงินในปี 2551 ธนาคารกลางในแต่ละประเทศก็ได้ทำการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน (เพิ่ม M) เพื่อพยุงเศรษฐกิจและเร่งการเติบโตให้คงอยู่ต่อไปอย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว (ดังรูปภาพประกอบ)

พ้นจากวิกฤติหนี้ท่วมโลกและเศรษฐกิจฝืดเคือง ด้วย Money Velocity

(ที่มา https://tradingeconomics.com/ )

ปัญหาของการเพิ่มเงินในมาตรการดังกล่าวนั้นได้ก่อให้เกิดปัญหาใหม่คือหนี้ขนาดใหญ่ที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน เช่น หนี้ของภาครัฐ ภาคเอกชน ลงมาถึงภาคครัวเรือน แต่ทุกคนก็ยังคงเฉย ๆ ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับปัญหาหนี้ครั้งนี้หรือ (Big Debt Crisis) เพราะ 2 สาเหตุหลักก็คือ

  1. ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากสภาพคล่องที่ล้นระบบ ไม่ว่าหุ้น ทองคำ ที่ดิน สินทรัพย์ดิจิทัล ฯลฯ
  2. ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ไม่น่ากลัว ซึ่งสิ่งนี้ขัดกับการคาดการณ์ของหลายคนเป็นอย่างมาก เพราะการพิมพ์เงินออกอย่างต่อเนื่องทั่วโลก แต่เงินเฟ้อกลับพุ่งขึ้นนิดเดียว นั่นก็เพราะ การหมุนของเงิน (Velocity of Money) มันต่ำนั่นเอง ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับต่ำด้วย

ในช่วง 10 ปีของการอัดฉีดเงินจากธนาคารกลางทั่วโลก จำนวนเงินที่ใส่เข้ามานั้นเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว แต่กลับส่งผลทำให้การเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สำหรับสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2551 ตัวเลขโดยเฉลี่ยของ Money Velocity อยู่ที่ 1 รอบโดยประมาณ จีนเองก็มี Money Velocity เพียง 0.5 รอบโดยเฉลี่ย แม้ทางธนาคารกลางจะทราบดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ก็คอนโทรล Velocity ได้ยากมาก จึงมาเล่นกับตัวแปรอย่าง M หรือ Money Supply ง่ายกว่า ยกตัวอย่างเช่น หากรัฐบาลแจกเงินประชาชนเพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากประชาชนเลือกที่จะเก็บเงินไว้ในกระเป๋าบางส่วน ใช้จ่ายบางส่วนก็แปลว่าประสิทธิผลที่ได้ไม่ 100 % ตามที่คาดหวัง แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

Central Bank Digital Assets (CBDA) แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่

นับตั้งแต่ปี 2551 ที่มีการถือกำเนิดสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมาตัวแรกนั่นก็คือ Bitcoin อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีอีกมากมายที่เกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น Blockchain , Smart Contract ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้ทุกคนตื่นตัวเป็นอย่างมาก ไม่ว่าภาครัฐหรือภาคเอกชน แต่อีกหนึ่งไอเดียที่บางกลุ่มมองเป็นเรื่องดี บางกลุ่มก็มีความกังวล คือแนวคิดการกระจายอำนาจของส่วนกลางหรือตัวกลาง (Decentralization) อย่างจีนเองมีการกีดกันสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมากตั้งแต่แรก อาจจะเป็นเพราะระบบการปกครองของจีนที่เน้นการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางซึ่งขัดกับแนวคิด Decentralization อย่างสิ้นเชิง แต่จีนนั้นเล็งเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่มาคู่กับ Crypto Digital Assets และที่สำคัญคือเล็งเห็นหนทางในการเร่ง Velocity of Money เพื่อที่จะสามารถเร่งการเติบโตของขนาดเศรษฐกิจขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลกแทนสหรัฐฯ เพราะหลังจากนี้การจะพิมพ์เงินตรง ๆ เข้าระบบเริ่มจะไปต่อไม่ไหวแล้ว แต่หากเราเปลี่ยนจากเงินกระดาษอย่างเช่นทุกวันนี้เป็นเงินดิจิทัล จีนเชื่อมั่นว่าการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ยกตัวอย่างในช่วงที่ผ่านมาก็ได้ครับ เราคิดว่าการทำงานที่บ้าน (Work From Home) จะทำให้เราประหยัดขึ้นใช่หรือไม่…เปล่าเลยครับ เราเสียเงินกับการ Shop Online การสั่งอาหาร Online เยอะกว่าไปทำงานที่ออฟฟิศด้วยซ้ำ

ดิจิทัลหยวน ไม่ใช่ Crypto Digital Assets

ดิจิทัลหยวนของจีนนั้นไม่ใช่ Crypto Digital Assets อย่าง Bitcoin หรือเหรียญอื่น ๆ เพราะในความเป็นจริง ดิจิทัลหยวนคือเงินหยวนธรรมดานั่นเอง แต่มาในรูปแบบดิจิทัล มีลักษณะเป็น Stablecoin ที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ต่างจาก Tether หรือ Rupiah Token ที่ดำเนินการโดยเอกชน โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) มีการสำรองเงินหนุนค่าเงินเหมือนเงินหยวนปกติทั่วไป ด้วยการผูกค่าดิจิทัลหยวนกับ RMB แบบ 1: 1 และใช้ระบบ Blockchain คลุมทั้งหมด การใช้งานเงินดิจิทัลหยวนจะถูกทดลองใช้ใน 4 เมืองแรกของจีน คือ เซินเจิ้น ซูโจว สงอัน และเฉิงตู โดยการทดลองใช้งานนี้จะมีระยะเวลา 6-12 เดือน ซึ่งร้านค้าหลาย ๆ ราย เช่น McDonald’s, Starbucks และ Subway ก็อยู่ในระหว่างการพิจารณาการร่วมทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลนี้ รวมถึงยังมีการนำเข้าไปใช้ในระบบของภาครัฐโดยเงินเดือนพนักงานของรัฐจะถูกจ่ายผ่านทางดิจิทัลหยวน เริ่มในเดือนพฤษภาคมนี้ ลองดู Prototype System ของดิจิทัลหยวนได้ตามรูปภาพด้านล่างนี้ครับ

พ้นจากวิกฤติหนี้ท่วมโลกและเศรษฐกิจฝืดเคือง ด้วย Money Velocity

โครงการอินทนนท์

โครงการอินทนนท์เป็นหนึ่งในโครงการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มขึ้น ร่วมกับสถาบันการเงินอีก 8 แห่ง และบริษัท R3 (ผู้พัฒนา DLT ใน Corda Platform) ในการทดสอบความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้ DLT กับระบบการชำระเงินของประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินมีความเข้าใจเทคโนโลยี โดยผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสถาบันการเงินและธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันออกแบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน โดยใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) รวมทั้งยังให้นักพัฒนาระบบ (System Developer) จากสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการร่วมกันพัฒนาระบบการชำระเงินต้นแบบเพื่อเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาระบบการเงินของไทยในอนาคตนั่นเอง ซึ่งขอบเขตของโครงการอินทนนท์จะแบ่งเป็น 3 ระยะ ตามรูปภาพประกอบด้านล่างนี้ครับ

พ้นจากวิกฤติหนี้ท่วมโลกและเศรษฐกิจฝืดเคือง ด้วย Money Velocity

ที่มา (https://www.bot.or.th/broadcast/BOTMagazine/2562/BOT3_62/mobile/index.html#p=9)

ทุกวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นบนโลกนั้นให้ผลดีกับเราเสมอครับ ไม่ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสกุลเงินดิจิทัลต่อจากนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดก็ตาม ตัวเราเองในฐานะของสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการและมีการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด มีหน้าที่ปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์ ทันต่อการเปลี่ยนแปลง หมดยุคของปลาใหญ่กินปลาเล็ก หรือยุคปลาเร็วกินปลาช้าอีกต่อไป แต่เป็นยุคของปลาที่ใช่เท่านั้น ใช่สำหรับลูกค้าและตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้ทันท่วงทีหรือไม่ ฉะนั้น ปลาที่ใช่ต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีนะครับ

Zipmex

ที่มาบทความ : https://zipmex.co.th/2020/06/01/add-money-velocity-using-digital-currency/


ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี

App Spotify
https://finno.me/spotify

App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast

Apple podcast
https://finno.me/applepodcast

App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud

Podbean
https://finno.me/podbean

Youtube
https://finno.me/youtubepodcast

iran-israel-war