สินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นสินทรัพย์ลงทุนชนิดใหม่ที่นักลงทุนทั้งสถาบันและนักลงทุนรายบุคคลให้การยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมองว่ามีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นได้ในอนาคตแต่สิ่งที่หลายคนยังกังวลจนทำให้ไม่กล้าหันเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์นี้ นั่นก็เป็นเพราะความผันผวนของราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผันผวนเหลือเกิน ทำให้คนที่เข้ามาลงทุนรวมถึงเข้ามาเก็งกำไรจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “จุดตัดขาดทุน” ในบทความนี้ของเราจะทดสอบให้ทุกคนดูว่าหากเรากำหนดจุดตัดขาดทุนเพื่อกำหนดความเสี่ยง ไม่ให้พอร์ตการลงทุนของเราเสียหายมากเกินไป เราควรจะวางจุดตัดขาดทุนในเบื้องต้นไว้ที่กี่ % ถึงจะเหมาะสม แล้วแบบไหนที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด รวมถึงประเด็นที่หลายคนมองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลให้ผลตอบแทนที่ดีแต่ความผันผวนยังคงสูง จึงมีคำแนะนำในลักษณะของการ Diversification เงินในพอร์ตมาลงทุนแค่บางส่วน เราจึงจะทดสอบเบื้องต้นให้ดูว่า การกระจายเงินลงทุนแบบ Fix % กับการปรับขนาดการลงทุนตามความผันผวนของสินทรัพย์ในขณะนั้น รูปแบบใดให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ผมเชื่อว่าหลายคนคงเริ่มอยากจะรู้กันแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาจากการชักแม่น้ำทั้งห้าของผม เราไปดูผลการทดสอบกันครับ

เราตั้งสมมติฐานการทดสอบดังนี้

  1. เงินลงทุนตั้งต้น 1 ล้านบาท
  2. สินทรัพย์ที่ใช้ในการทดสอบคือ Bitcoin
  3. ช่วงเวลาในการทดสอบคือ 1/01/2015 – 1/08/2020
  4. ค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย: ไม่เสียค่าธรรมเนียม

กลยุทธ์ที่เรานำมาใช้ในการทดสอบคือ เข้าซื้อเมื่อราคา Bitcoin ทะลุจุดสูงสุดในรอบ 20 วัน โดยที่จะเข้าซื้อเต็มจำนวนคือ 100 % ของเงินทุนทั้งหมดที่มี แต่เนื่องจากเราอยากจะเกาะแนวโน้มใหญ่ของราคา Bitcoin จึงใช้สัญญาณขายออกเมื่อราคา Bitcoin ทะลุจุดต่ำสุดในรอบ 100 วัน หรือประมาส 1 ไตรมาสนั่นเองครับ หลังจากนั้นก็ใส่สมมติฐานในเรื่องของการวางจุดตัดขาดทุนเพิ่มเข้าไป โดยทำการทดสอบ 6 ครั้ง คือ ไม่มีการตัดขาดทุน ตั้งจุดตัดขาดทุน 5 % จากราคาที่เราเข้าซื้อ และก็ขยับเป็น 10 % 15 % 20 % 30 % ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็อยู่ในตารางด้านล่างนี้ครับ

เมื่อเราซื้อ Bitcoin แล้วไม่มีการวางจุดตัดขาดทุน ไม่มีการขายออกที่ Target แต่ใช้ Technical Analysis เป็นสัญญาณในการซื้อขาย ให้ผลลัพธ์ที่ดีทีเดียวครับ จากเงินตั้งต้น 1 ล้านบาท ขยับขึ้นเป็น 25 ล้านบาทภายในระยะเวลาเกือบ 6 ปี ถือว่าผลตอบแทนสูงกว่าสินทรัพย์เสี่ยงชนิดอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่หากลองดูอีกสองสถิติที่น่าสนใจคือการขาดทุนโดยเฉลี่ยต่อครั้งที่สูงถึง -24.18% และการขาดทุนที่สูงที่สุดคือ -35.41% เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีใครสามารถทนการขาดทุนแบบนี้ได้เลยในชีวิตจริง คงทุกข์ทรมานกินไม่ได้นอนไม่หลับไปหลายเดือน แต่พอเรามีการวางจุดตัดขาดทุนเป็น % เอาไว้ เมื่อเวลาที่ราคาไม่เป็นไปตามที่คิด เช่นปรับตัวลงมา 5% จากราคาต้นทุนที่เราซื้อ เราก็ตัดสินใจขายออกเลยทันที โดยเราจะสังเกตุได้ว่าการตั้งจุดตัดขายทุนเอาไว้ในใจเปลี่ยนผลลัพธ์การลงทุนให้ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งการตั้งจุดตัดขาดทุนที่ 10% ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าข้ออื่น ๆ คือพอร์ตขยับเป็น 50.8 ล้านบาท และมีการขาดทุนเฉลี่ยต่อครั้งกับการขาดทุนสูงสุด 10% สาเหตุเพราะราคา Bitcoin เป็นขาขึ้นต่อเนื่องแต่ระหว่างทางก็สวิงผันผวนเหลือเกิน การควบคุมความเสี่ยงที่ 10% ทำให้หลายครั้งเรารอดจากการขาดทุนแรง ๆ ไปได้นั่นเองครับ ฉะนั้นการหาจุดตัดขาดทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจึงมีความสำคัญมากไม่ว่าสินทรัพย์นั้นจะเป็นอะไรนะครับ อย่าปล่อยให้การขาดทุนของเราลึกและยาวนานเหมือนที่ใครหลายคนเป็น เพราะมันทรมานมากเลยครับบอกเลย

กลยุทธ์การลงทุนในตำนาน Turtle Trading System กับสินทรัพย์ดิจิทัล

ย้อนไปเมื่อ 50 ปีก่อน คือช่วงปี 1970 มีกลุ่มนักเก็งกำไรชื่อดังที่กลายเป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้ หลายคนในกลุ่มตอนนี้ก็บริหารกองทุนขนาดใหญ่ และ Hedge Fund ระดับโลกอยู่หลายคน กลุ่มนี้ใช้วิธีการลงทุนอย่างเป็นระบบที่ทำการพัฒนาขึ้นมาจากผู้เชี่ยวชาญเพียง 2 คน และตั้งชื่อระบบการลงทุนนั้นว่า Turtle Trading System ซึ่งเงื่อนไขมีมากพอสมควรซึ่งเราจะไม่ลงรายละเอียดทั้งหมดในวันนี้ แต่เราตั้งสมมติฐานว่าระบบการลงทุนที่ได้รับการเปิดเผยไปทั่วโลกตั้งแต่ 50 ปีก่อน จะสามารถเอามาใช้ในการลงทุนกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้หรือไม่ ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร เราจึงหยิบบางส่วนของระบบคือสัญญาณซื้อและขาย (Entry and Exit) มาทดสอบให้ทุกคนดูครับ โดยกฎการซื้อขายที่หยิบมาใช้มีอยู่ว่า เราจะซื้อเมื่อราคาทะลุจุดสูงสุดในรอบ 20 วันที่ผ่านมาและขายออกเมื่อราคาทะลุจุดต่ำสุดในรอบ 10 วันที่ผ่านมา ผลลัพธ์เป็นเช่นไรดูตามตารางด้านล่างนี้เลยครับ

กลยุทธ์การลงทุนง่าย ๆ ที่ได้รับการเปิดเผยเมื่อ 50 ปีก่อน ก็ยังสามารถนำมาปรับใช้กับสินทรัพย์ดิจิทัลได้เป็นอย่างดี หากลองเปรียบเทียบกับการไม่ใช้ Stop Loss และการ Stop Loss ที่ 10% ถือว่าผลตอบแทนต่อความเสี่ยงสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด ดูแบบนี้แล้วก็น่าจะมีไอเดียกันบ้างแล้วนะครับว่าเราจะออกแบบกลยุทธ์การลงทุนในไอเดียอื่น ๆ ได้อย่างไรกันบ้าง แต่อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่าหลายคนมองสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอีกหนึ่ง Asset Class ที่สามารถแบ่งเงินบางส่วนเข้ามาลงทุนได้เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนและอาจจะลด Correlation ของพอร์ตคุณได้ด้วย เราจึงขอทดสอบอีกหนึ่งไอเดีย (วันนี้ทดสอบกัน 3 เรื่องแล้วนะเนี่ย) คือ หากเรามองสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นทางเลือกในการกระจายลงทุน ระหว่างการ Fix % ของเงินทุนเช่น 10% กับการวางน้ำหนักการลงทุนตามความผันผวน เช่น ช่วงไหนผันผวนน้อยลงเงินเยอะ ช่วงไหนผันผวนเยอะลงเงินน้อย แบบไหนจะดีกว่ากัน

การคำนวณน้ำหนักการลงทุนแบบไหนดีกว่ากัน ระหว่าง Fix % กับการใช้ Historical Volatility

การกระจายเงินลงทุนแบบ Fix %

เราจะเริ่มที่อะไรง่าย ๆ โดยการใช้วิธี Fix% เพื่อลงทุนใน Bitcoin กันครับ สมมติว่าเรามีเงินลงทุน 1 ล้านบาท แต่ไม่อยากใส่ไข่ในตะกร้าใบเดียวจึงกระจายเงินลงทุนในหลายสินทรัพย์ เช่น หุ้น กองทุน ทองคำ พันธบัตร และสินทรัพย์ดิจิทัล โดยที่เราแบ่งเงินเพียง 10% ของเงินทั้งหมดที่มีคือ 1 แสนบาทและใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ Turtle Trading System ที่ทดสอบมาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งเราจะ Compare ให้ดูระหว่างการแบ่งเงิน 10% ลงใน Bitcoin กับลงทุนตามดัชนี Set Index(เปรียบเสมือนการลงทุนในกองทุนดัชนีแบบ Buy and Hold)

ทุกคนจะสังเกตุได้ว่าผลตอบแทนของการ “แบ่งเงินแค่ 10%” ลงทุนใน Bitcoin นั้นมีผลตอบแทนโดยรวมที่มากกว่าการลงทุนในหุ้น 100 % ซะอีก (กราฟสีเขียวด้านบนคือกราฟเงินทุนของ Fix 10% ส่วนสีดำคือลงทุน 100% ในหุ้น) เพราะจากเงินทุน 1 ล้านนั้นกลายเป็น 1.8 ล้านบาท โดยที่ใช้พลังงานของแค่ 10% เท่านั้นเอง ในด้านของความเสี่ยง เช่น Max DD% ก็น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ปี พอร์ตติดลบสูงสุดไปเพียง 11.46% เองครับ และจากตารางด้านล่างยิ่งน่าสนใจเพราะผลตอบแทนรายเดือนของพอร์ตนี้ผันผวนน้อยมากครับ คนทั่วไปสามารถทนรับความผันผวนแบบนี้ไหวแน่นอน

(ผลตอบแทนรายเดือนของการใช้ Turtle Trading System และ Fix 10%)

การปรับขนาดการลงทุนตามความผันผวนของสินทรัพย์

หากลองใช้วิธีการที่ซับซ้อนมากขึ้นอีกหน่อยโดยใช้ค่าความผันผวนของราคาในอดีตมาคำนวณน้ำหนักการลงทุนในแต่ละครั้ง ว่าควรลงทุนในไม้นั้นด้วยเงินเท่าไหร่ของพอร์ตทั้งหมด ในที่นี้จะใช้เครื่องมือชื่อ Average True Range หรือ ATR มาแทน Historical Volatility ของราคา Bitcoin ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ดียิ่งขึ้นไปอีก

ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเงินที่เติบโต CAGR , Max DD% , Mar Ratio ล้วนแต่ดีขึ้นทั้งสิ้น เพราะการใช้วิธีการปรับขนาดการลงทุนตามความผันผวนของสินทรัพย์นี้จะทำให้คุณมีขนาดการลงทุนที่เหมาะสมตามช่วงเวลานั้น ๆ ของสินทรัพย์ เมื่อราคา Bitcoin ผันผวนเยอะแล้วมีสัญญาณเข้าซื้อเราจะซื้อเป็นจำนวนนิดเดียวเช่น 5% หรือ 7% ของพอร์ต แต่เมื่อ Bitcoin ผันผวนน้อย เราจะซื้อในสัดส่วนที่มากขึ้น เช่น 12% หรือ 15% เป็นต้น
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับบทความนี้ของเรา อัดแน่นด้วยข้อมูลและ Insight มากมายที่นักลงทุนทุกท่านจะสามารถนำไอเดียต่าง ๆ ที่เรานำเสนอไปพิจารณาและปรับใช้กับตัวเองได้ครับ แล้วการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของเราจะสนุกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นครับ

Zipmex