ลงทุน DeFi ให้ปลอดภัย มาทำความเข้าใจ DeFi แบบง่าย ๆ

ในโลกการเงินยุคใหม่ที่ไร้ตัวกลางที่ชื่อว่า DeFi หรือ Decentralized Finance ได้รับความนิยมสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ในบทความนี้ของเราจะมาแชร์ว่าในตอนนี้ขนาดของโลก DeFi เป็นเท่าไหร่แล้ว ปัจจุบันสามารถทำอะไรได้บ้าง และเราจะลงทุนอย่างไรให้มีความปลอดภัยใน DeFi

Total Value Locked คืออะไร สะท้อนอะไรในโลก DeFi

Total Value Locked หรือ TVL เป็นตัวชี้วัดมูลค่าของสินทรัพย์ที่ล็อกเอาไว้กับระบบนิเวศ DeFi หรือก็คือเม็ดเงินที่ถูกใส่เข้าไปใน Smart Contract ซึ่งมันสามารถสะท้อนการเติบโตของโลก DeFi ได้ในเบื้องต้น ปัจจุบันมีจำนวนเงินที่ล็อกเอาไว้ถึง 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 2 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2021) หากย้อนหลังไป 1 ปี Total Value Locked จะอยู่แค่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ถือว่าเติบโตขึ้นสูงมาก สะท้อนถึงความสนใจโลกของ DeFi ที่นักลงทุนทั่วโลกมีอย่างเห็นได้ชัด

ลงทุน DeFi ให้ปลอดภัย มาทำความเข้าใจ DeFi แบบง่าย ๆ

(ที่มา https://defipulse.com/)

ประโยชน์ของ DeFi ที่ทำให้นักพัฒนาและนักลงทุนสนใจกันทั่วโลก

การมาของสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น Blockchain, Smart Contract, Distributed Ledger ทำให้มีการต่อยอดแล้วสร้างคุณสมบัติของ DeFi ให้โดดเด่นและแตกต่างกับการเงินยุคเก่า ดังนี้

  1. ใช้งานและเข้าถึงได้ทั่วโลก ระบบการเงินเดิมอาจจะมีข้อจำกัดเรื่องของกฎเกณฑ์ของแต่ละที่ ทำให้แต่ละประเทศจะมีศูนย์กลางควบคุมที่ต่างกัน นโยบายต่างกัน ทำให้อาจจะไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทั้งหมด รวมทั้งอาจติดปัญหาด้านการเข้าถึงบริการทางเงินอีกด้วย แต่ DeFi นั้นใครก็สามารถเข้าถึงได้จากทั่วโลก
  2. ใช้ Smart Contract รันระบบอัตโนมัติในทุกขั้นตอน การเปลี่ยนจากการเชื่อใจคน เชื่อใจตัวกลาง มาเป็นการเชื่อใจระบบหรือ Code อัตโนมัติที่ตรวจสอบได้ แก้ไขไม่ได้ ทำให้ตัดปัญหาความผิดพลาดจากมนุษย์ (แต่ผู้ลงทุนจะต้องเข้าใจระบบอัตโนมัติและพอมีความรู้ด้านเทคโนโลยีด้วย)
  3. ต้นทุนต่ำ ผลตอบแทนสูง (ความเสี่ยงก็สูงตาม) เนื่องจากไม่มีตัวกลางของธุรกรรม จึงมีต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก อย่างกรณีที่เรานำสินทรัพย์ดิจิทัลมาปล่อยให้ผู้อื่นกู้ยืม ค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยที่ผู้กู้จ่าย ก็จะวิ่งเข้ากระเป๋าคนให้กู้
  4. เพิ่มรูปแบบทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์, Application หรืออื่น ๆ ที่ตอบโจทย์ที่แท้จริงของลูกค้าในยุคนี้ได้แบบทันท่วงที ถ้ามีเทคโนโลยีใหม่ บวกกับไอเดียใหม่ก็สามารถพัฒนา Application เพื่อมารองรับความต้องการของลูกค้าได้เลย

ปัจจุบัน DeFi ทำอะไรได้บ้าง

หากจะให้รวบรวมบริการ, ผลิตภัณฑ์, Application ที่ DeFi มีทั้งหมดคงจะต้องเหมือนทำรายงานขึ้นมาหนึ่งเลย ฉะนั้นจึงขออธิบายรวม ๆ ให้เห็นภาพกว้างของ DeFi ในตอนนี้ว่าทำอะไรได้บ้าง เกี่ยวข้องกับสิ่งใด ทำไมคนส่วนใหญ่ที่สนใจจึงมองว่า DeFi เป็นคู่แข่งของ CeFi หรือการเงินยุคปัจจุบัน

ลงทุน DeFi ให้ปลอดภัย มาทำความเข้าใจ DeFi แบบง่าย ๆ

ข้อความดังกล่าวนำมาจาก DeFi Report Q1 ปี 2021 ของ Consensys.net (https://consensys.net/reports/defi-report-q1-2021/) ที่พูดถึงบริการที่โลก DeFi ทำได้เช่น การให้กู้ การกู้ยืม การวางหลักประกัน การชำระเงิน การประกันภัย เกมส์ ตลาด NFT การซื้อขายแบบมาร์จิ้น Derivatives, Dexs (Decentralized Exchange), การสร้างสภาพคล่องให้ระบบ เยอะแยะมากมาย ซึ่งมันก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับสถาบันการเงินแบบเดิมอย่างธนาคาร บริษัทสินเชื่อ บริษัทหลักทรัพย์ เป็นต้น อีกทั้งธุรกรรมทั้งหมดยังเป็นอัตโนมัติจากรูปแบบคำสั่งตามเงื่อนไขที่ถูกำหนดเอาไว้บน Smart Contract แล้วเอาไปวางบน Blockchain ทำให้มีความปลอดภัย ตรวจสอบได้ เข้าถึงได้ พัฒนาต่อยอดได้ไม่รู้จบ

ลงทุน DeFi ให้ปลอดภัย มาทำความเข้าใจ DeFi แบบง่าย ๆ

ลงทุน DeFi อย่างไรให้ปลอดภัยมากขึ้น

“ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลโปรดการตัดสินใจลงทุน” คำเตือนที่พูดกันจนติดหูแต่มีความหมายที่ลึกซึ้ง เพราะการลงทุนทุกชนิดมีโอกาสที่เราจะผิดพลาด ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ทำให้การมีความรู้ที่มากขึ้น มีความรู้ที่เหนือกว่า จะสามารถลดความผิดพลาด ลดโอกาสที่จะเสียหายจากความไม่รู้ของตนเองได้ เราจึงขอยกมาสัก 3 ข้อที่น่าจะทำให้ความเสี่ยงการลงทุนใน DeFi ลดลง

1. ศึกษาเงื่อนไขของสัญญาใน Smart Contract

ข้อนี้ในทางปฏิบัติจริงไม่ง่าย เพราะเงื่อนไขดังกล่าวไม่ใช่ตัวอักษร แต่จะเป็นชุด Code คำสั่งที่มีเงื่อนไข ทำให้หลายคนมองข้ามเรื่องนี้เลย แต่ความเป็นจริงกลับสำคัญที่สุด เพราะมันจะทำให้เรารู้ว่าโปรเจค DeFi ตัวนี้น่าเชื่อถือแค่ไหน เงื่อนไขเป็นอย่างไร การจ่ายผลตอบแทนรูปแบบคืออะไร เพราะทุกอย่างเป็นอัตโนมัติโอกาสที่จะโกงกันระหว่างทางเป็นไปได้ยาก จะมีก็แต่ตั้งใจโกงแต่แรกอย่าง DeFi 100 ที่เป็นข่าวดังในช่วงที่ผ่านมา แต่หากใครอ่าน Code ไม่เป็นก็พอจะดูองค์ประกอบอื่นได้เช่น การตรวจสอบจากฝ่าย Audit ที่ถูกจ้างมาตรวจสอบ Smart Contract ของโปรเจคนั้น อีกองค์ประกอบหนึ่งคือจำนวนเงินหรือจำนวนเงินในระบบที่ใช้บริการ DeFi ตัวนั้นอยู่ ถ้ามีผู้ใช้งานมากก็อาจจะตีความได้ว่าน่าเชื่อถือระดับหนึ่ง

2. โฟกัสที่ Core Value ของโปรเจค

การบอกแบบปากต่อปากว่า DeFi สร้างผลตอบแทนได้สูง ทำให้คนแห่เข้าสนามนี้กันเยอะในปี 2021 นี้ แต่ผลตอบแทนทั้งหมดนั้นเป็นผลตอบแทนรวมที่มาจากหลายปัจจัย เช่น โปรเจคที่มีการปล่อยกู้ ฝ่ายให้กู้ก็นำสินทรัพย์มาวาง ฝ่ายยืมก็จะยืมไปทำธุรกรรมบางอย่างแล้วต้องจ่ายดอกเบี้ยคืนมา ระหว่างทางโปรเจคต้องการผู้ใช้งานมากขึ้นก็อาจจะออกเหรียญของโปรเจคนั้นขึ้นมาแล้วแจกจ่ายให้กับสมาชิก สมาชิกจะนำไปขายต่อหรือถือไว้เพื่อ Utility บางอย่างที่โปรเจคกำหนดไว้ เช่น การโหวตภายในโปรเจคหรือ Governance tokens ก็ได้ พอแพลตฟอร์มนั้นมีผู้ใช้งานมากขึ้น ราคาเหรียญก็อาจจะสูงขึ้น ผลตอบแทนจากเหรียญนี้เมื่อนำมารวมกับส่วนแบ่งจากดอกเบี้ยจึงดูเยอะมาก ๆ แต่หากลองมองที่ Core Value ของมัน การได้รับกระแสเงินสดต่างหากคือสิ่งที่วัดได้ ประเมินได้ ไม่หวือหวา

3. เริ่มต้นด้วย Stable Coin และเริ่มต้นด้วยเงินเพียงเล็กน้อย

ในโลกของ DeFi เราสามารถทำธุรกรรมด้วยเหรียญที่หลากหลาย แต่อย่าลืมว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง เมื่อเราทำธุรกรรมกับสินทรัพย์ที่ผันผวน เวลาเกิดการลดลงของมูลค่าอย่าง Ethereum หลักประกันต่าง ๆ ที่วางไว้ก็อาจจะเสียหายได้ เพราะฉะนั้นการเริ่มจากแนวคิดง่าย ๆ อย่างการฝากเงิน กู้เงิน วางสินทรัพย์เพื่อให้ยืมใน Stable Coin ที่มูลค่าจะใกล้เคียงกับเงินดอลลาร์ก่อนก็ได้ รวมทั้งการแบ่งเงินแค่ส่วนน้อย ส่วนที่คิดว่าเสียหายได้มาลองศึกษา หรือหาโอกาสใหม่ ๆ ในโลกการเงินรูปแบบใหม่ก็จะเป็นวิธีการปลอดภัยกว่าแน่นอน

Zipmex

iran-israel-war