(เงินล้าน) Pinduoduo: E-commerce ที่เกิดจากการเอา Disneyland มาผสมกับ Makro

ตอนนี้ E-commerce หรือ Shopping Online กำลังโตมากทั่วโลก และประเทศหนึ่งที่โตมากๆ ก็คือประเทศจีน แต่เรารู้กันไหมว่า E-commerce ในประเทศจีนมีอะไรกันบ้างครับ ???

Tmall / Taobao / AliExpress / JD.com

บางคนอาจจะตอบ Shopee ด้วยเพราะเป็นของ Tencent ซึ่งนั่นก็ถูกต้องทั้งหมดครับ แต่จริงๆ แล้ว E-commerce ในจีนมีจนนับไม่หวาดไม่ไหว

(เงินล้าน) Pinduoduo: E-commerce ที่เกิดจากการเอา Disneyland มาผสมกับ Makro

ที่มา: web2asia

แต่รู้ไหมครับว่าคำตอบในนี้ไม่มีชื่อของ E-commerce อันดับ 2 ของประเทศจีนเลย

อันดับ 1 คือ Taobao ของ Alibaba แล้วอันดับที่ 2 ล่ะคือใคร ???

บางคนอาจจะคิดว่าก็ JD.com อย่างไรล่ะ แต่คำตอบคือไม่ใช่ครับ

JD.com เป็นอันดับที่ 2 นั้นเป็นอดีตไปแล้ว

อันดับที่ 2 ก็คือ Pinduoduo (PDD) หรือพินตั๋วตั๋วนั่นเอง (ขออภัยถ้าผมออกสำเนียงผิด) ซึ่งทั้ง active user และ GMV (Gross Merchandise Volume) หรือมูลค่าสินค้าที่ขายได้ เกิน JD.com ไปเรียบร้อยแล้ว

GMV ของ PDD อยู่ที่ 840,000 ล้านหยวน (เกือบๆ 4 ล้านล้านบาท)ใน 4 ไตรมาสย้อนหลัง ในขณะที่ JD.com ไม่ได้ประกาศตัวเลข GMV รายไตรมาส แต่ปิดปี 2018 GMV ของ JD.com อยู่ที่ 514,000 ล้านหยวน ซึ่งด้วยการเติบโตที่มหาศาลของ PDD ทำให้คาดการณ์ว่า GMV ของ PDD น่าจะแซง JD.com ขึ้นเป็นที่ 2 ไปแล้ว

PDD มี active buyer 483 ล้านคน ในขณะที่ JD.com มี active buyer 321 ล้านคน (ข้อมูลในเดือนมิถุนายน 2019) เรียกว่า PDD ขึ้นเป็นเบอร์ 2 ของจีนอย่างสมบูรณ์แบบ

แล้ว PDD คือใครกัน ???

ทำไมถึงมาเบียดแย่งที่ 2 จากสงครามของยักษ์ใหญ่ E-commerce เหล่านี้ได้ และหุ้น PDD มีความสนใจมากน้อยแค่ไหน ผมจะมาเล่าให้ฟังครับ

ผู้ก่อตั้ง PDD คือ Colin Huang หรือหวงเจิง

หวงเจิงเกิดที่เมืองหางโจว เมืองเดียวกับ Jack Ma เสียด้วย

หวงเจิงเคยทำงานกับ Google มาก่อนและลาออกออกมาทำ Startup ของตัวเอง

(เงินล้าน) Pinduoduo: E-commerce ที่เกิดจากการเอา Disneyland มาผสมกับ Makro

Source: Biznews

PDD นั่นเพิ่งก่อตั้งในปี 2015 นี้เอง ใช้เวลาเพียง 3 ปีในการเข้าตลาดหุ้น NASDAQ ด้วยมูลค่าถึง 20,000 ล้านเหรียญ (ก็คือเป็นโคตร Unicorn ตั้งแต่ก่อนเข้าตลาดแล้ว) และใช้เวลาเพียง 5 ปีเท่านั้นในการก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ของจีน

ท่ามกลางสงครามการค้าที่ดุเดือดในกลุ่ม E-commerce หวงเจิงก็คิดว่าเราจะขายของ E-commerce อย่างไรให้แตกต่างดี

คำตอบเลยออกมาเป็น “ขายของถูกมาก  ให้คนจนมาก”

Alibaba หรือ JD.com เลือกที่จะขายของให้คนชั้นกลางหรือบน พวกเขาก็เปรียบเสมือนห้างสะดวกซื้อหรือ 7-11

PDD เลยเลือกจับตลาดคนขั้นล่าง (คนจนมาก) ซึ่งมีสัดส่วนถึง 65% ของประเทศจีน !!! ในขณะที่ตลาดที่ Alibaba แข่งกับ JD.com นั้นมีสัดส่วนเพียง 35% เท่านั้น

แต่นอกจากไอเดียขายของให้ถูกแล้วอีกกลยุทธ์นึงของ PDD ก็คือขายของให้สนุกด้วย หวงเจิงบอกว่า PDD ของเค้านั้นเปรียบเสมือน Costco + Disney (Costco คือร้านในสะดวกซื้อในอเมริกาที่ขายของถูกมาก  ก็คือเหมือน Makro บ้านเรานั่นเอง)

ทีนี้ถามว่าขายของให้ถูกและสนุกทำอย่างไร หวงเจิงบอกแบบนี้ครับ

1. Group Buy

จะซื้อของให้ถูกก็ต้องขายแบบ Group Buy หรือขายส่งครับ ก็คือซื้อเป็น pack ถูกกว่านั่นเอง โดยกลยุทธ์ของ PDD คือถ้าชวนเพื่อนมาซื้อของรวมกันได้ ก็จะได้ของในราคาที่ถูกลง

(เงินล้าน) Pinduoduo: E-commerce ที่เกิดจากการเอา Disneyland มาผสมกับ Makro

ที่มา: chinaskinny

อย่างในรูปคือถ้าซื้อคนเดียวจะได้ราคา 89 หยวน ในขณะที่ถ้าซื้อแบบ Group Buy จะได้ราคา 68 หยวน ประหยัดไปถึง 24% เลยทีเดียว ซึ่งราคาเฉลี่ยของสินค้าของ PDD อยู่ที่ราวๆ 30-50 หยวน ในขณะที่ราคาสินค้าเฉลี่ยของ Alibaba อยู่ที่ 214 หยวน ส่วน JD.com อยู่ที่ 417 หบวน

2. เป็น Social E-commerce อย่างแท้จริง

PDD ถูก back up โดย tencent (บริษัทใหญ่ๆ ในจีนถ้าไม่ back up โดย tencent ก็มักจะต้อง back up โดย Alibaba) ทำให้ PDD สามารถใช้งานร่วมกับ wechat หรือ QQ ได้ เมื่อ PDD ไปอยู่ใน platform ที่ใหญ่ ก็ทำให้เกิดเป็น social E-commerce ที่ทรงประสิทธิภาพได้

3. ความสนุก

อย่างที่หวงเจิงบอกว่า PDD คือ Costco กับ Disneyland รวมกัน ดังนั้นความสนุกจึงเป็นลักษณะอีกอย่างนึงที่ Alibaba และ JD.com ไม่ได้ใส่เข้ามา PDD ใส่เกมเข้ามา เพื่อให้ผู้เล่นเล่นเพื่อเอาคูปอง, free gift หรือสุ่มกาชา (เกลือกันมั่งไหมหว่า) แบบในรูปที่

(เงินล้าน) Pinduoduo: E-commerce ที่เกิดจากการเอา Disneyland มาผสมกับ Makro

ที่มา: chinaskinny

ทีนี้มาลองดูงบ PDD กันบ้าง

งบปี 2016 : มีรายได้เพียง 504 ล้านหยวน ขาดทุนไป 297 ล้านหยวน

งบปี 2017 : มีรายได้ 1,744 ล้านหยวน ขาดทุนไป 525 ล้านหยวน

งบปี 2018 : มีรายได้ถึง 13,119 ล้านหยวน (รายได้โตจากปีที่แล้วถึง 7.5 เท่า !!!) แต่ก็ขาดทุนไป 10,297 ล้านหยวน

งบ 9 เดือนปี 2019 : มีรายได้ 19,349 ล้านหยวน ขาดทุนไป 5,215 ล้านหยวน

แม้ว่า PDD มีรายได้เติบโตสูงมหาศาล แต่ก็ยังขาดทุนมหาศาลตามฉบับ Startup เช่นกัน ถึงอย่างนั้นราคาหุ้นก็พุ่งจากตอน IPO ที่ 19 USD มาอยู่ที่ 39 USD หรือเพิ่มมาเท่าหนึ่งในเวลา 2 ปีกว่าๆ แม้ช่วงหลังๆ ราคาจะไม่ค่อยขึ้นมาเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้

(เงินล้าน) Pinduoduo: E-commerce ที่เกิดจากการเอา Disneyland มาผสมกับ Makro

ที่มา: Google

แต่การขายของถูกมาก ให้คนจนมาก ก็ย่อมมีปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้า ซึ่งก็นั่นก็เป็นปัญหาที่ PDD ต้องตามแก้กันต่อไป นี่แหละครับ แม้ในสงคราม e-commerce ที่ดุเดือด ก็ยังช่องว่างให้ PDD เข้าไป น่าสนใจดีนะครับ ว่าธุรกิจโมเดลแบบนี้จะมีประเทศไหนลองเอาไปใช้อีกบ้างไหม

13055

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.chinaskinny.com/blog/pinduoduo/
https://www.scmp.com/tech/e-commerce/article/3033965/pinduoduo-founder-huang-says-e-commerce-player-has-surpassed-jdcom
http://investor.pinduoduo.com/financial-information/quarterly-results