หลักการวางแผนเกษียณ สำหรับเด็กจบใหม่ (ภาคทฤษฎี)

สังคมไทยในปัจจุบัน เราประสบปัญหาอย่างมากเกี่ยวกับการไม่มีเงินสำรองเพื่อใช้ในยามเกษียณ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ มีทั้งปัจจัยภายนอก เช่น ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว, สวัสดิการรัฐที่ไม่เพียงพอ

แต่ก็ยังมีปัจจัยภายในหลายประการ เช่น การเก็บเงินเกษียณไว้ผิดที่, การไม่วางแผนทางการเงิน หรือการไม่ประเมินค่าใช่จ่ายในอนาคตอย่างรัดกุม

ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว เพราะถึงแม้ใกล้เกษียณจะมีรายได้ต่อเดือนให้ลงทุนมาก แต่ก็ไม่สามารถลงทุนถึงเป้าหมายได้เนื่องจากระยะเวลาการลงไม่เพียงพอ วันนี้จึงอยากขอมาแนะนำหลักการวางแผนเกษียณที่ดีสำหรับเด็กจบใหม่ มีอะไรบ้างมาดูกัน

1. เวลาในการเริ่มลงทุนที่ดีที่สุด คือ “วันนี้”

ความมหัศจรรย์ของการลงทุนประการหนึ่งคือ ระยะเวลาการลงทุนที่มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการ “ทบต้น” ของผลตอบแทนไปเรื่อยๆ ทำให้จำนวนเงินที่ต้องลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายลดลงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ ยกตัวอย่างคือ สมมติว่าคุณต้องการมีเงิน 10 ล้านบาทในวัย 60 ปี ซึ่งจะลงทุนเท่าๆกันเป็นเวลา 10 ปี โดยทางเลือกที่หนึ่ง คือ ลงทุนตอนอายุ 22-32 ปี และทางเลือกที่สอง คือ ลงทุนตอนอายุ 50-60 ปี โดยผลตอบแทนต่อปีคงที่ที่ 10% ทางเลือกแรกจะต้องใช้เงินลงทุนปีละประมาณ 40,000 บาท ต่อปี คิดเป็นเงินทุนที่ 400,000 บาท ในทางกลับกัน ทางเลือกที่สอง ต้องใช้เงินลงทุนถึง 560,000 บาทต่อปี ย้ำ ห้าแสนหกหมื่นบาท!! ซึ่งแตกต่างกันถึง 14 เท่า จะเห็นว่าระยะเวลานั้นมีต่อการลงทุนอย่างยิ่ง

2. มองความผันผวนเป็นเพื่อนร่วมทาง

เมื่อเรามีเวลามากและไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุน  จึงไม่ควรขายทิ้งเมื่อราคาสินทรัพย์ตก โดยเฉพาะหุ้น เนื่องจากในระบบทุนนิยม ธุรกิจที่ดีควรจะดิ้นรนเพื่อทำให้กำไรของตนมีแนวโน้มมากขึ้นกว่าปีก่อนเสมอ ซึ่งทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในระยะยาว ดังนั้น ถ้าหุ้นมีราคาตกลง จึงเป็นโอกาสที่ควรซื้ออย่างยิ่ง เพราะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยต่ำลง

3. มีวินัยในการลงทุน

กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ต้องการมีเงินเท่าไร เมื่ออายุเท่าไร จากนั้นจึงคำนวณเงินที่ต้องแบ่งมาลงทุนต่อเดือน (หรือไตรมาส) และปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ อย่าพยายามเก็งภาวะตลาด เพราะเมื่อเก็งผิดทางจะทำให้คุณ “หัวร้อน” และมักจะทำสิ่งที่ผิดพลาดต่อมา เช่น เมื่อคุณคิดว่าหุ้นมีราคาแพงแล้ว คุณจึงขายมันออกมา เพื่อรอซื้อเมื่อราคาย่อตัว แต่มันกลับขึ้นไปต่อ คุณจึงไม่กล้าซื้อกลับเพราะรู้สึกว่าคุณขาดทุนกำไร ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าทั้งชีวิต มันจะไม่ลงมาในจุดเดิม ทำให้คุณไม่กล้าซื้อมันอีกเลย

4. ไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง

ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยในด้านการลงทุนโดยไม่ต้องไปวิเคราะห์เอง คือ กองทุนรวม ซึ่งทำผลตอบแทนได้อย่างน่าพอใจ และมีให้เลือกหลากหลายสินทรัพย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  จะสังเกตว่าในปัจจุบัน ระบบสังคมจะแบ่งงานกันอย่างชัดเจนมากขึ้น คือ เราจะทำงานที่เราถนัดตามอาชีพของเรา ส่วนงานอื่นๆ เช่น ทำอาหาร ซักรีดผ้า ทำความสะอาดบ้าน รวมถึงการวางแผนการเงิน เราจะจ้างคนอื่นให้ทำให้ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการทำให้ระบบงานโดยรวมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

5. เมื่อมีระยะเวลาในการลงทุนมาก ก็ทำให้เราสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงได้

แลกด้วยผลตอบแทนที่มากกว่า เช่น ถ้าคุณต้องการเกษียณตอนอายุ 60 ปี คุณอาจจะลงทุนในหุ้นทั้ง 100% ตอนอายุ 22-45 ปีเลยก็ได้ จากนั้นก็ค่อยๆลดสัดส่วนหุ้นลง แทนด้วยตราสารหนี้เพื่อลดความผันผวนในช่วงใกล้เกษียณ ทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินแน่นอน

6. กระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม

คุณไม่จำเป็นต้องลงหุ้นไทยทั้ง 100% ของเงินลงทุน ยังมีอีกหลายประเทศที่มีความน่าสนใจมากกว่าประเทศไทย เช่น ประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังมีบทบาทสำคัญต่อโลก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และกลุ่มเทคโนโลยี เป็นต้น และการลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งนั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างอันตราย โดยส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมในประเทศหนึ่งๆคือ 10-25% ถึงแม้ว่าคุณจะอยู่ประเทศนั้นก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าวันหนึ่งที่ประเทศไทยมีสงคราม หรือเกิดน้ำท่วมใหญ่จนประเทศไทยหายไปจากแผนที่โลก เงินลงทุนของคุณที่ลงในสินทรัพย์ประเทศไทยอาจมีมูลค่าเป็น “ศูนย์” ทันที

7. คอยติดตามและปรับแผนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

การปรับสัดส่วนของสินทรัพย์ในพอร์ตให้กลับมาเท่ากับตอนเริ่มต้น (Rebalance) เพื่อนำกำไรจากกองทุนที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น มาซื้อกองทุนที่ราคาปรับตัวขึ้นน้อยกว่า เรียกว่าการ ขายแพง ซื้อถูก จะทำให้ผลตอบแทนและความเสี่ยงที่คาดหวังกลับมาในจุดเดิม หรือแม้แต่การประเมินคุณภาพสินทรัพย์ในอนาคตว่าดีดังเดิมหรือไม่ ถ้ามองเห็นว่าไม่ดีในระยะยาว ก็ควรพิจารณาปรับออก เป็นต้น

ในตอนต่อไปจะกล่าวถึง การวางแผนเกษียณที่ดีสำหรับเด็กจบใหม่ในภาคปฏิบัติ เช่น จะประเมินค่าใช้จ่ายอย่างไร, จะลงทุนอย่างไร และระหว่างทางการลงทุนต้องทำอะไรบ้าง แล้วพบกันใหม่ครับ