MOVING AVERAGE เป็น INDICATOR ที่ทำความเข้าใจได้ง่าย

ในหัวข้อนี้ผมจะมาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับ Moving Average (MA) หรือภาษาไทยเรียกว่า เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ ซึ่งเป็น Indicators ที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายที่สุดและถูกนำไปใช้งานเพื่อช่วยตัดสินใจซื้อขายหุ้นอย่างแพร่หลาย ผมมั่นใจสุด ๆ ว่าแทบจะไม่มีใครเลยที่วิเคราะห์ทางเทคนิคนิคเพื่อตัดสินใจซื้อหุ้นโดยที่ไม่ใช้งานเส้น Moving Average เพื่อเป็น Indicators ช่วยประกอบการตัดสินใจ เหตุผลเพราะมันสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย และให้มุมมองที่เป็นโยชน์ในการเทรด โดยส่วนตัวผมจึงยกให้ Moving Average เป็นสุดยอด Indicators ในดวงใจลำดับที่ 1 ที่จะต้องมีไว้อยู่ในกราฟเวลาวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคตลอดเวลา

ในโปรแกรมวิเคราะห์กราฟราคาหุ้นทุกโปรแกรมจะมี Moving Average ให้เลือกใช้งานมากมายหลากหลายประเภท ยกตัวอย่างประเภท Moving Average ที่พบเห็นบ่อยๆ เช่น Simple Moving Average (SMA), Weighted Moving Average (WMA),และ Exponential Moving Average (EMA) เป็นต้น แต่ในเนื้อหาทั้งหมดของหัวข้อนี้ผมจะเจาะลึกและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ EMA (Exponential Moving Average) เป็นหลัก เพราะว่า EMA เป็นประเภทของ Moving Average ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด ในขั้นแรกผมจะให้เรารู้จักกับ Moving Average กันก่อนครับว่ามันคืออะไร มีวิธีการคำนวณอย่างไร และมีการแสดงผลเพื่อนำมาวิเคราะห์ทางเทคนิคด้วยวิธีไหน

MOVING AVERAGE มีที่มาจากการคำนวณค่าเฉลี่ย

Moving Average (MA) หรือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ เป็นการคำนวณค่าเฉลี่ย (Average) ของราคาหุ้น โดยใช้ข้อมูลของราคาหุ้นย้อนหลังตามที่ระยะเวลาที่เรากำหนด เช่น ถ้าเราสนใจค่าของ Moving Average ระยะเวลาย้อนหลัง 5 วัน เราจะใช้ราคาหุ้น 5 วันย้อนหลังนับจากวันปัจจุบัน มาคำนวณด้วยสูตรของค่าเฉลี่ยประเภทที่เราสนใจ หรือถ้าเราสนใจ Moving Average ระยะเวลาย้อนหลัง 10 วัน ก็หมายความว่าเราจะใช้ราคาหุ้น 10 วันย้อนหลังนับจากวันปัจจุบัน มาคำนวณด้วยสูตรค่าเฉลี่ยที่เราสนใจ ซึ่งข้อมูลราคาหุ้นที่นิยมนำมาใช้คำนวณค่า Moving Average คือ ราคาปิดของหุ้นของช่วงระยะเวลาที่เราสนใจ

แต่เนื่องจากค่าเฉลี่ยเพียงค่าเดียวไม่สามารถให้ข้อมูลที่เพียงพอต่อมุมมองวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค ดังนั้นวิธีการแสดงผลของ Moving Average จึงคำนวณค่าเฉลี่ยออกมาจำนนวนหลาย ๆ ค่า โดยจะคำนวณค่าเฉลี่ยของราคาหุ้นย้อนหลังค่าใหม่ เมื่อมีข้อมูลของราคาตัวใหม่เพิ่มขึ้นมา และวาด Moving Average ออกมาเป็นกราฟเส้นด้วยการเรียงข้อมูลค่าเฉลี่ยที่คำนวณได้ต่อเนื่องกัน และวาดควบคู่กันไปกับกราฟของราคา

MOVING AVERAGE มีหลายประเภท ขึ้นกับวิธีการคำนวณค่าเฉลี่ย

Moving Average มีหลายประเภท เช่น Simple Moving Average (SMA), Exponential Moving Average (EMA), Weighted Moving Average (WMA) และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่ง Moving Average ทุกประเภทจะใช้หลักการเดียวกัน คือ การหาค่าเฉลี่ยของราคา แล้วนำมาวาดเป็นกราฟเส้น แต่ สิ่งที่แตกต่างกันของ Moving Average แต่ละประเภ คือ การให้น้ำหนักของข้อมูลแต่ละตัวที่แตกต่างกันก่อนนำมาคำนวณค่าเฉลี่ย

หากใครสนใจรายละเอียดการคำนวณ Moving Average แต่ละประเภท <<คลิก>>

รูปตัวอย่างแสดงกราฟเส้น EMA คำนวณจากระยะเวลาเวลาย้อนหลัง 25 วัน โดยคำนวณค่าเฉลี่ยด้วยสูตรของ EMA ออกมาหลายๆ ค่ามาเรียงกันอย่างต่อเนื่อง และวาดเป็นกราฟเส้นควบคู่กับกราฟแท่งเทียนของราคาหุ้น (ที่มา : Aspen Mobile)

6 ลักษณะสำคัญของเส้น MOVING AVERAGE

เมื่อเราคำนวณค่าเฉลี่ยของราคาหุ้นออกมาหลาย ๆ ค่า หลังจากนั้นเอาค่าเฉลี่ยเหล่านั้นมาเรียงต่อกันและวาดออกมาเป็นกราฟเส้น Moving Average (MA) หรือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ควบคู่กับกราฟของราคาหุ้น จะมีลักษณะสำคัญของเส้น MA ที่เป็นข้อสังเกตที่ควรรู้ คือ

1) เวลาที่วาดเส้น MA ควบคู่กันไปกับกราฟของราคาหุ้น จะเห็นได้ว่ากราฟของเส้น MA จะดูเรียบง่าย (Smooth) กว่ากราฟของราคาหุ้นที่มีลักษณะผันผวน ยึกยัก ขึ้นลง มากกว่า การวาดกราฟเส้นของ MA เลยเปรียบเหมือนกับการจำลองกราฟการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นโดยตัดความผันผวนของราคาออกไปบางส่วน ทำให้มองเห็นการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นในรูปแบบที่ง่ายขึ้น

รูปแสดงตัวอย่างเมื่อวาดกราฟเส้น MA ควบคู่กับกราฟราคาหุ้นจะพบว่า กราฟเส้น MA จะทำให้มองเห็นการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นได้ง่ายขึ้นกว่าดูกราฟราคาหุ้น

2) เวลาที่เส้น MA ถูกวาดควบคู่กันไปกับกราฟของราคาหุ้น กราฟเส้นของ MA จะเคลื่อนที่ติดตามกราฟการเคลื่อนที่ของราคาหุ้น และมีทิศทางเดียวกันกับทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้น แต่จะเคลื่อนที่ขึ้นหรือลงช้ากว่ากราฟของราคา จากคุณสมบัติข้อนี้ของเส้น MA จึงทำให้นักเทคนิคใช้เส้น MA เพื่อระบุว่าทิศทางแนวโน้มการเคลื่อนที่ของราคาหุ้น ณ ปัจจุบันอยู่ในทิศทางขาขึ้นหรือขาลง ทำให้เส้น MA ถูกเรียกว่าเป็น Indicators ประเภท Trend Following Indicator (คอยติดตามแนวโน้มการเคลื่อนที่ของราคาหุ้น)

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่ากราฟเส้นของ MA จะเคลื่อนที่ติดตามกราฟของราคาหุ้น แต่เคลื่อนที่ช้ากว่ากราฟราคาหุ้น

รูปแสดงลักษณะสำคัญของ EMA คือ 1) เรียบง่าย (Smooth)กว่ากราฟของราคาหุ้น 2) ทิศทางการเคลื่อนที่ของ EMA จะมีทิศทางเดียวกัน และติดตามการเคลื่อนที่ของกราฟราคาหุ้น (Trend Following Indicator) แต่จะเคลื่อนที่ช้ากว่า (ที่มา : Aspen Mobile)

3) เส้น MA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลังสั้นกว่า จะเคลื่อนที่ติดตามกราฟราคาหุ้นได้ใกล้ชิดและเร็วกว่าเส้น MA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลังนานกว่า เช่น เส้น EMA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาหุ้นย้อนหลัง 10 วันจะติดตามการเคลื่อนที่ของกราฟราคาหุ้นได้เร็วกว่า เส้น EMA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาหุ้นย้อนหลัง 25 วัน เป็นต้น

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าเส้น EMA ที่คำนวณด้วยจำนวนวันย้อนหลัง 10 วัน (สีขาว), 25 วัน (สีฟ้า) และ 75วัน (สีม่วง) และวาดควบคู่ไปกับกราฟของราคาหุ้นพร้อมๆ กัน จะเห็นได้ว่า เส้น EMA 10 วัน (สีขาว) ซึ่งคำนวณจากรยะเวลาย้อนหลังสั้นที่สุดจะติดตามกราฟราคาหุ้นได้ใกล้ชิดและเร็วที่สุด และเส้น EMA 75 วัน (สีม่วง) ซึ่งคำนวณจากรยะเวลาย้อนหลังยาวที่สุดจะติดตามกราฟราคาหุ้นได้ช้าที่สุดในบรรดาเส้น EMA ทั้ง 3 ตัว (ที่มา : Aspen Mobile)

4) ในช่วงที่ราคาหุ้นมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้น กราฟของราคาหุ้นมักจะอยู่เหนือเส้น MA และ เส้น MA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลังที่สั้นกว่าจะอยู่เหนือเส้น MA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลังยาวกว่า

รูปตัวอย่างแสดงลักษณะของเส้น MA ขณะที่กราฟของราคาหุ้นมีทิศทางแนวโน้มเป็นขาขึ้น (ที่มา : Aspen Mobile)

5) ในทางกลับกันในช่วงที่ราคาหุ้นมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาลง กราฟของราคาหุ้นมักจะอยู่ใต้เส้น MA และ เส้น MA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลังที่น้อยกว่าจะอยู่ใต้เส้น MA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลังยาวกว่า

รูปตัวอย่างแสดงลักษณะของเส้น MA ขณะที่กราฟของราคาหุ้นมีทิศทางแนวโน้มเป็นขาลง (ที่มา : Aspen Mobile)

6) แต่ถ้าราคาหุ้นอยู่ในช่วงที่ไม่มีทิศทางของแนวโน้ม หรือแนวโน้มไม่ขึ้นไม่ลงอย่างชัดเจน (Sideways) ราคาหุ้นบางทีก็อยู่เหนือเส้น MA บางทีก็อยู่ใต้เส้น MA สลับไปมาหรือถ้าสังเกตจะเห็นว่าเส้น MA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลังที่สั้นกว่า ก็จะตัดเส้น MA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลังยาวกว่า ขึ้นๆลงๆ สลับไปมา

ตัวอย่างแสดงลักษณะของเส้น MA ขณะที่กราฟของราคาหุ้นมีทิศทางแนวโน้มเป็น Sideways (ที่มา : Aspen Mobile)

MOVING AVERAGE ประเภทไหนแม่นที่สุด

คำถามนี้เป็นยอดฮิตที่ใคร ๆ ก็สงสัยครับ แถมยังมีการพยายามทำการทดลองมากมายเพื่อตอบคำถามว่า MA ชนิดไหนจะใช้งานได้ดีกว่ากัน แต่คำตอบที่ได้ก็คือ SMA WMA และ EMA คุณจะเลือกใช้งาน MA ชนิดไหนก็ได้ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ว่าตัวไหนดีที่สุดหรือบอกว่าตัวไหนที่ดีกว่าตัวอื่น ๆ

แต่ถ้าจะให้จัดลำดับความนิยมของ MA ทั้ง 3 ประเภท EMA จะเป็นประเภทของ MA ที่มีคนนิยมใช้งานกันมากที่สุด รองลงมาคือ SMA และ MA ที่มีคนนิยมใช้น้อยที่สุด คือ WMA ดังนั้นเมื่อมีใครถามผมว่าควรจะใช้งาน MA ประเภทไหนดี ผมจะแนะนำให้ใช้ EMA ด้วยเหตุผลว่ามีคนนิยมใช้งานมากที่สุดนั่นเอง แต่ว่าใครจะชอบใช้ SMA หรือ WMA ก็ไม่มีอะไรเสียหายครับ สามารถเลือกใช้งานได้ตามความชอบส่วนบุคคล

รูปแสดงกราฟ SMA, WMA, และ EMA ที่คำนวณจากข้อมูลของราคาหุ้นระยะเวลาย้อนหลัง 25 วันเท่ากัน สาเหตุที่ทำให้เส้น MA ทั้ง 3 ประเภทถูกวาดออกมาแตกต่างกัน เนื่องจากสูตรการคำนวณของ MA แต่ละประเภทให้น้ำหนักของข้อมูลในอดีตที่ไม่เท่ากัน (ที่มา : Aspen Mobile)

มีข้อสังเกตจากรูปตัวอย่างที่มีการวาดเส้น SMA, WMA, และ EMA ควบคู่ไปกับกราฟราคาหุ้นพร้อมๆ กัน คือ สูตรคำนวณ EMA จะคำนวณโดยให้น้ำหนักของข้อมูลใหม่มากกว่า SMA ซึ่ง SMA นั้นให้น้ำหนักของข้อมูลทุกตัวเท่าๆกัน จึงเห็นได้ว่าเส้น EMA จะติดตามการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นได้ใกล้ชิดกว่าเส้น SMA ที่คำนวณจากข้อมูลย้อนหลังเท่ากัน ส่วนเส้น WMA ไม่ค่อยถูกนำมาเปรียบเทียบและไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนักเนื่องจากมีคนใช้งานน้อย

หมายเหตุ : การที่เส้น EMA ติดตามการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นได้ดีกว่าเส้น SMA นั้น ไม่ได้แปลว่า EMA จะนำไปใช้งานเพื่อตัดสินใจซื้อขายแล้วจะได้กำไรมากกว่าหรือมีความถูกต้องบ่อยกว่า ข้อสังเกตนี้เป็นเพียงต้องการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเส้น MA ทั้งสองประเภทเท่านั้น

เลิก “ตัดขึ้นซื้อ ตัดลงขาย” กันเถอะ

เนื้อหาส่วนนี้จะให้ข้อมูลการนำ EMA ไปใช้งาน ที่ไม่ถูกต้อง แต่กลับเป็นวิธีที่ถูกแนะนำให้ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย และถ้าใครนำวิธีนี้ไปใช้ตัดสินใจซื้อขายหุ้นผมมั่นใจครับว่าคุณจะไม่ประสบความสำเร็จในการเทรดอย่างแน่นอน

วิธีที่ไม่ถูกต้องในการนำเส้น EMA ไปใช้งาน คือ ลงมือซื้อหรือขายหุ้นโดยใช้เงื่อนไขของการตัดกันระหว่างกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA หรือ การตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้นที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังไม่เท่ากัน เช่น

1) ลงมือซื้อหุ้นเมื่อเห็นว่ากราฟของราคาหุ้นตัดเส้น EMA ขึ้นไป

2) ลงมือขายหุ้นเมื่อเห็นว่ากราฟของราคาหุ้นตัดเส้น EMA ลงมา

รูปแสดงตัวอย่างการลงมือซื้อหรือขายหุ้นที่ไม่ถูกต้องจากการตัดกันระหว่างกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA

รูปตัวอย่างแสดงวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ในการนำ MA ไปใช้งาน โดยลงมือขายหุ้นเมื่อกราฟของราคาหุ้นตัดเส้น EMA ลงมา และซื้อหุ้นเมื่อกราฟของราคาตัดเส้น EMA ขึ้นไป (ที่มา : Aspen Mobile)

3) ลงมือซื้อหุ้นเมื่อเส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังสั้นกว่า ตัดเส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังยาวกว่าขึ้นไป

รูปแสดงตัวอย่างการลงมือซื้อหุ้นที่ไม่ถูกต้องโดยใช้เงื่อนไขที่เส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังสั้นกว่า ตัดเส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังยาวกว่าขึ้นไป

4) ลงมือขายหุ้นเมื่อเส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังสั้นกว่า ตัดเส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังยาวกว่าลงมา

รูปแสดงตัวอย่างการลงมือขายหุ้นที่ไม่ถูกต้องโดยใช้เงื่อนไขที่เส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังสั้นกว่า ตัดเส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังยาวกว่าลงมา

รูปตัวอย่างแสดงวิธีการที่ไม่ถูกต้องในการนำใช้งานเส้น EMA 2 เส้น โดยลงมือขายหุ้นเมื่อเส้น EMA ระยะเวลาสั้นกว่า ตัดเส้น EMA ระยะเวลายาวกว่าลงมา และซื้อหุ้นเมื่อเส้น EMA ระยะเวลาสั้นกว่า ตัดเส้น EMA ระยะเวลายาวกว่าขึ้นไป (ที่มา : Aspen Mobile)

ระวังภาพลวงตา

ข้อสังเกตเกี่ยวกับราคาที่ลงมือซื้อหรือขายหุ้นจากการตัดกันของเส้น EMA 2 เส้นที่หลายคนมักจะเข้าใจผิด คือ เวลาที่ดูกราฟหุ้นพร้อมกับเส้น EMA 2 เส้นมักจะเข้าใจว่าราคาที่จะซื้อหรือขายหุ้นได้จะเป็นราคา ณ จุดที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน แต่ความจริงแล้วเราไม่สามารถซื้อหรือขายหุ้นได้ที่ราคาที่เป็นจุดตัดของเส้น EMA ทั้ง 2 เส้น

จากรูปตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าราคาที่จะซื้อหรือขายหุ้นได้จะไม่ใช่ราคา ณ จุดที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน แต่จะเป็นราคาหุ้นที่มีซื้อขายในวันนั้นๆ ซึ่งในวันที่เส้น EMA ระยะสั้นตัดเส้น EMA ระยะยาวลงมา แล้วเราต้องการขายหุ้น ราคาที่ซื้อขายกันในวันนั้นมักจะอยู่ต่ำกว่าราคาที่จุดตัดของเส้น EMA 2 เส้น ดังนั้นเราจึงมักจะขายหุ้นได้ในราคาที่ถูกกกว่าราคาที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน และในวันที่เส้น EMA ระยะสั้นตัดเส้น EMA ระยะยาวขึ้นไป แล้วเราต้องการซื้อหุ้น ราคาที่ซื้อขายกันในวันนั้นก็มักจะอยู่สูงกว่าราคาที่จุดตัดของเส้น EMA 2 เส้น ดังน้้นเราจึงมักจะซื้อหุ้นได้ในราคาที่แพงกว่าราคาที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าราคาที่ลงมือขายหุ้นได้จะต่ำกว่าราคา ณ จุดที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน และราคาที่จะลงมือซื้อหุ้นได้จะอยู่สูงกว่าราคา ณ จุดที่ที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน (ที่มา : Aspen Mobile)

ตัดขึ้นซื้อ ตัดลงขาย ถ้ามี TREND ก็กำไร ถ้า SIDEWAYS ก็ขาดทุน

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้งานเส้น EMA ที่เราควรทราบ คือ การที่จะลงมือซื้อหรือขายหุ้นด้วยโดยใช้เงื่อนไขการตัดกันของกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA หรือการตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้น เพียงเงื่อนไขเดียวแล้วจะได้กำไรหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าทิศทางของแนวโน้มการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นหลังจากการตัดกันระหว่างกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA หรือการตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้น เป็นอย่างไร และแนวโน้มของราคาหุ้นจะมีความชัดเจนต่อเนื่องขนาดไหน

ถ้าการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นมีทิศทางที่ชัดเจนและต่อเนื่องหลังจากที่กราฟราคาหุ้นตัดเส้น EMA หรือหลังจากที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน ไม่ว่าจะเป็นทิศทางแนวโน้มขาขึ้นหรือแนวโน้มขาลงก็ได้ วิธีการนี้จะสามารถนำไปใช้ซื้อขายหุ้นแล้วได้กำไรเป็นอย่างดี

แต่ถ้าทิศทางแนวโน้มการเคลื่อนที่ราคาของหุ้นไม่ชัดเจน คือ ไม่ขึ้นไม่ลง หรือที่เราเรียกว่า Sideways โดยเคลื่อนที่สลับขึ้นๆ ลงๆ เป็นฟันปลา วิธีใช้งานเส้น EMA แบบนี้จะเกิดสัญญาณหลอกให้ซื้อๆ ขายๆ บ่อยครั้งแต่ไม่ได้กำไร หรืออาจทำให้ขาดทุนได้

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าเมื่อแนวโน้มราคามีแนวโน้มเป็นขาลงอย่างต่อเนื่องและชัดเจน การที่เส้น EMA ระยะสั้น ตัดเส้น EMA ระยะยาวลงมา ช่วยให้เราตัดสินใจไม่ซื้อหุ้นในขณะที่ราคาหุ้นมีทิศทางแนวโน้มเป็นขาลง (ที่มา : Aspen Mobile)

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าเมื่อแนวโน้มราคามีแนวโน้มเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่องและชัดเจน การที่เส้น EMA ระยะสั้น ตัดเส้น EMA ระยะยาวขึ้นไป ช่วยให้เราตัดสินใจซื้อหุ้นและถือหุ้นโดยไม่ขายได้ยาวนาน โดยไม่ขายหมูระหว่างทาง (ที่มา : Aspen Mobile)

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าเมื่อทิศทางแนวโน้มราคาไม่ขึ้นไม่ลง(Sideways) การซื้อขายตามสัญญาณการตัดขึ้นลงของเส้น EMA จะทำให้ซื้อๆ ขายๆ หุ้นบ่อยครั้ง แต่ไม่ได้กำไร (ที่มา : Aspen Mobile)

ตัวอย่างกรณี ตัดขึ้นซื้อ ตัดลงขาย แล้วขาดทุน

จากรูปด้านบนผมได้ทดลองขยายภาพในส่วนกรอบสี่เหลี่ยม เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นภาพว่าเราไม่ได้ซื้อหรือขายหุ้นได้ในราคาที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน และถ้าลงมือซื้อขายด้วยเงื่อนไขนี้จะทำให้เกิดผลขาดทุน ถ้ากราฟของราคาหลังจากนั้นไม่ได้มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นหรือขาลงโดยชัดเจน

รูปตัวอย่างขยายให้เห็นราคาที่ซื้อหุ้นและราคาที่ขายหุ้นได้โดยใช้เงื่อนไขการตัดกันของเส้น EMA 2 เส้นเพื่อลงมือซื้อขาย ในภาวะตลาด Sideways จะทำให้เกิดผลขาดทุน และราคาที่ซื้อหุ้นได้จะเป็นราคาที่สูงกว่าราคาที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน ส่วนราคาที่ขายหุ้นได้จะต่ำกว่าราคาที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน (ที่มา : Aspen Mobile)

จากภาพตัวอย่าง ผมสมมุติว่าเราลงมือซื้อหุ้นที่ราคาปิดของวันที่เส้น EMA ระยะเวลาย้อนหลัง 10 วัน ตัดเส้น EMA ระยะเวลา 30 วันขึ้นไป และลงมือขายหุ้นที่ราคาปิดของวันที่เส้น EMA ระยะเวลา 10 วันตัดเส้น EMA ระยะเวลา 30 วันลงมา จะเห็นได้ว่าในครั้งแรกที่เส้น EMA ระยะเวลา 10 วันตัดเส้น EMA ระยะเวลา 30 วันขึ้นไป ถ้าเราซื้อหุ้นที่ราคาปิดของวัน (กราฟเส้นสีเหลืองแสดงกราฟราคาปิดของหุ้นในวันนั้นๆ) เราจะซื้อหุ้นที่ราคา 42.5 บาท และถ้าเราลงมือขายเมื่อเส้น EMA ระยะเวลา 10 วันตัดเส้น EMA 30 วันลงมา เราจะขายหุ้นไปในราคาปิดของวันนั้นที่ราคา 40.75 บาท ทำให้ขาดทุน -1.75 บาท ในรอบการซื้อขายหุ้นรอบถัดมาเราจะซื้อหุ้นที่ราคา 42.0 บาท และขายหุ้นในราคา 40.75 บาท ทำให้ขาดทุน -1.25 บาท

เหตุผลที่ ตัดขึ้นซื้อ ตัดลงขาย มักไม่ได้ผล

จากข้อสังเกตที่ข้างต้นจะเห็นได้ว่าถ้าแนวโน้มโน้มของราคาหุ้นมีความชัดเจนและต่อเนื่องหลังจากที่กราฟหุ้นตัดกับเส้น EMA หรือการตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้นจะใช้งานได้ดีก็ตาม แต่ยังมีเหตุผลเพิ่มเติมอีก 2 ข้อที่ผมไม่อยากจะแนะนำให้ซื้อขายหุ้นด้วยเงื่อนไขนี้เนื่องจาก

1) เมื่อเกิดการตัดกันระหว่างกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA หรือการตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้น ปัญหาสำคัญ คือ ณ ขณะนั้น เราไม่รู้ว่าในอนาคตแนวโน้มของราคาหุ้นหลังจากนี้จะมีทิศทางที่ชัดเจนและต่อเนื่องหรือไม่ ดังนั้นถ้าเราลงมือซื้อหรือขายหุ้นทันทีหลังจากที่มีการตัดกันระหว่างราคาหุ้นกับเส้น EMA หรือการตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้นแล้ว แต่ราคาหุ้นต่อจากนั้นไม่มีทิศทางที่ชัดเจนและต่อเนื่องจะทำให้เราซื้อและขายหุ้นไม่ได้กำไรหรือบางครั้งก็ขาดทุน

2) เมื่อกราฟราคาหุ้นตัดเส้น EMA ขึ้นไป หรือเมื่อเส้น EMA ระยะสั้นตัดเส้น EMA ระยะยาวขึ้นไป จะเห็นได้ว่า ราคาหุ้นมักจะเพิ่มสูงขึ้นในระดับหนึ่งไปแล้ว จึงมักจะตามมาด้วยการปรับตัวลดลงชั่วคราวของราคาหุ้นในอนาคตอันใกล้ (ทำให้เมื่อเราลงมือซื้อหุ้นทันทีเมื่อราคาหุ้นตัดเส้น EMA ขึ้นไป หรือเมื่อเส้น EMA ระยะสั้นตัดเส้น EMA ระยะยาวขึ้นไป แล้วหลังจากนั้นราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลง มักจะทำให้เกิดผลขาดทุนจากการซื้อหุ้นและรู้สึกอึดไม่อยากถือหุ้นต่อ

หมายเหตุ : เหตุการณ์ที่ราคาหุ้นมีการปรับตัวลงดลงชั่วคราวหลังจากที่กราฟราคาหุ้นตัดเส้น EMA ขึ้นไป หรือเมื่อเส้น EMA ระยะสั้นตัดเส้น EMA ระยะยาวขึ้นไป ศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกเหตุการณ์ลักษณะนี้ว่า Throw Back (บางคนอาจจะเรียกว่า Pull Back ก็ได้) ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้พบเจอได้บ่อยมากเวลาที่วิเคราะห์กราฟหุ้นทางเทคนิค แต่อย่างไรเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นทุกครั้งเสมอไป)

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าวันที่เส้น EMA ระยะสั้น ตัดเส้น EMA ระยะยาวขึ้นไป ราคามักจะขึ้นไปสูงมากและบ่อยครั้งจะตามด้วยราคาปรับตัวลดลงในอนาคตอันใกล้ (Throw Back) ซึ่งทำให้เกิดผลขาดทุนและอึดอัดจนไม่อยากถือหุ้นต่อไป (ที่มา : Aspen Mobile)

3) เมื่อกราฟราคาหุ้นตัดเส้น EMA ลงมา หรือเมื่อเส้น EMA ระยะสั้นตัดเส้น EMA ระยะยาวลงมา จะเห็นได้ว่า ราคาหุ้นมักลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้ถ้าเรารอตัดสินใจลงมือขายหุ้นหลังจากที่ราคาหุ้นตัดเส้น EMA ลงมา หรือเมื่อเส้น EMA ระยะสั้นตัดเส้น EMA ระยะยาวลงมา บ่อยครั้งจะเป็นจังหวะขายหุ้นที่ไม่ดีเพราะช้าเกินไป ทำให้กำไรหดหายไปค่อนข้างมาก ในการขายหุ้นเพื่อทำกำไรจึงนิยมใช้วิธีอื่น หรือหากจะใช้การตัดกันของราคากับเส้น EMA หรือ การตัดกันของเส้น EMA 2 เส้นเพื่อการขายทำกำไร แนะนำใช้ควบคู่กับกลยุทธ์แบ่งขายหลายๆ ส่วน (Multiple Units) โดยใช้สัญญาณของเส้น EMA ในการขายทำกำไรบางส่วน และใช้สัญญาณทางเทคนิคแบบอื่นๆ ขายทำกำไรบางส่วน

ควรใช้งาน MOVING AVERAGE อย่างไร?

การใช้งาน Indicators ทุกประเภทรวมทั้ง Moving Average อย่างถูกต้องนั้น ไม่ควรตัดสินใจลงมือซื้อหรือขายจากด้วยสัญญาณจาก Indicators แต่ให้ใช้ Indicators เป็นตัวส่งสัญญาณเตือน หรือสนับสนุนการตัดสินใจจากการวิเคราะห์กราฟราคา ดังนั้นการวิเคราะห์ Moving Average จะไห้ข้อมูลในการระบุทิศทางของแนวโน้มของกราฟราคาในปัจจุบัน เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าควรจะ 1) หาจังหวะซื้อหุ้น 2) ห้ามซื้อหุ้น 3) หาจังหวะ Short หุ้น 4) ห้าม Short หุ้น หรือ 5) อยู่เฉยๆไม่ทำอะไร

หมายเหตุ : การ Short หุ้น เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในกรณีที่เราคาดว่าราคาหุ้นน่าจะลดต่ำลงในอนาคต วิธีการ Short หุ้นสามารถทำได้โดยการยืมหุ้นจากผู้ให้ยืมหุ้น (ธุรกรรม SBL) แล้วนำมาขายในตลาดที่ราคาสูง และถ้าราคาหุ้นในอนาคตปรับตัวลดลงจริง ก็ค่อยซื้อหุ้นคืนจำนวนเท่าเดิมโดยใช้เงินที่น้อยลง และนำหุ้นจำนวนเท่าเดิมที่ยืมมาก่อนหน้ามาคืนให้แก่ผู้ให้ยืมหุ้น กำไรที่ได้รับจะเกิดจากส่วนต่างของราคาที่ขายหุ้นได้ในตอนแรกกับราคาที่ซื้อหุ้นคืนในตอนหลัง

ลำดับแรกใช้เส้น EMA เพื่อระบุว่าตอนนี้ทิศทางของแนวโน้มเป็นอย่างไร?

การใช้เส้น EMA เพื่อระบุทิศทางของแนวโน้มของราคาหุ้น เป็นวิธีการนำเส้น EMA ไปใช้วิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคที่ทำความง่ายที่สุดและได้รับความนิยมที่สุด เนื่องจากมีข้อสังเกตของความสัมพันธ์ระหว่างกราฟราคาหุ้นและเส้น EMAในช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางแนวโน้มในแบบต่างๆ ดังนี้

ทิศทางหุ้นเป็น “ขาขึ้น”

รูปตัวอย่างลักษณะ 3 อย่างของเส้น EMA เมื่อแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาขึ้น (ที่มา : Aspen Mobile)

ถ้าทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน จะพบลักษณะของเส้น EMA ดังนี้

  1. เมื่อเปรียบเทียบตำแหน่งของกราฟราคาหุ้นกับตำแหน่งของเส้น EMA ส่วนใหญ่กราฟราคาหุ้นจะอยู่เหนือเส้น EMA
  2. เมื่อพิจารณาความชันของเส้น EMA จะพบว่า เส้น EMA มีความชันที่เฉียงขึ้น
  3. เมื่อเปรียบเทีบ ตำแหน่งของเส้น EMA ระยะสั้นจะอยู่เหนือเส้น EMA ระยะยาว

และเมื่อเราพบกราฟราคาหุ้นและ EMA ที่มีลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมา เราจะสรุปว่าทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นมีโอกาสสูงที่จะมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้น

ทิศทางหุ้นเป็น “ขาลง”

รูปตัวอย่างลักษณะ 3 อย่างของเส้น EMA เมื่อแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาลง (ที่มา : Aspen Mobile)

ถ้าทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาลงอย่างชัดเจน จะพบลักษณะของเส้น EMA ดังนี้

  1. เมื่อเปรียบเทียบตำแหน่งของกราฟราคาหุ้นกับตำแหน่งของเส้น EMA ส่วนใหญ่กราฟราคาหุ้นจะอยู่ใต้เส้น EMA
  2. เมื่อพิจารณาความชันของเส้น EMA จะพบว่า เส้น EMA มีความชันที่เฉียงลง
  3. เมื่อเปรียบเทียบ ตำแหน่งของเส้น EMA ที่คำนวณจากระยะเวลาย้อนหลังที่สั้นกว่าจะอยู่ใต้เส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังที่นานกว่า ใช้คำสรุปว่า เส้น EMA ระยะสั้นอยู่ใต้เส้น EMA ระยะยาว

และเมื่อเราพบกราฟราคาหุ้นและ EMA ที่มีลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาก็จะสรุปว่าทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นมีโอกาสสูงที่จะมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาลง

ตรรกการแปลความหมาย MOVING AVERAGE

สาเหตุที่ผมใช้คำว่า ”มีโอกาสสูง” จะขออธิบายด้วยความรู้ทางด้านตรรกศาสตร์ (Logic) ซึ่งในทางตรรกศาสตร์มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเชื่อมประโยค 2 ประโยคด้วยคำว่า “ถ้า..แล้ว” โดยมีข้อสรุปว่า

ถ้า (เหตุการณ์ที่ 1) เกิดขึ้น แล้วสรุปว่า (เหตุการณ์ที่ 2) เป็นข้อความที่เป็นจริง

เราไม่สามารถสรุปว่า

ถ้า (เหตุการณ์ที่ 2) เกิดขึ้น แล้วสรุปว่า (เหตุการณ์ที่ 1) จะเป็นข้อความที่เป็นจริงด้วยเสมอไป

ยกตัวอย่างประโยคเข่น

ถ้า ทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นเป็นทิศทางขาขึ้น (เหตุการณ์ที่ 1) แล้ว เส้น EMA ระยะสั้นจะอยู่เหนือเส้น EMA ระยะยาว (เหตุการณ์ที่ 2)

แต่เราไม่สามารถสรุปได้ว่าข้อความด้านล่างนี้จะเป็นจริงเสมอไป

ถ้า เส้น EMA ระยะสั้นจะอยู่เหนือเส้น EMA ระยะยาว (เหตุการณ์ที่ 2) แล้ว ทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นเป็นทิศทางขาขึ้น (เหตุการณ์ที่ 1)

เวลาที่เราวิเคราะห์กราฟราคาหุ้นไปพร้อมๆ กับเส้น EMA ลักษณะของกราฟที่เราจะเห็น คือ เหตุการณ์ที่ 2 คือ

  • เส้น EMA ระยะสั้นอยู่เหนือเส้น EMA ระยะยาว
  • เส้น EMA ระยะสั้นอยู่ใต้เส้น EMA ระยะยาว

ลักษณะของกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA ที่เห็น ไม่สามารถสรุปทิศทางของแนวโน้มของราคาได้ถูกต้อง 100% เพียงแต่ว่ามีโอกาสสูงที่ทิศทางแนวโน้มของราคาจะเป็นทิศทางนั้น เนื่องจากในช่วงที่ทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นเป็นแบบไม่ขึ้นไม่ลงอย่างชัดเจน หรือที่เราเรียกว่าช่วง Sideways บางเวลากราฟราคาหุ้นก็อยู่เหนือเส้น EMA และบางเวลากราฟราคาหุ้นก็อยู่ใต้เส้น EMA สลับไปมา หรือบางเวลาเส้น EMA ที่คำนวณจากระยะเวลาย้อนหลังสั้นกว่าก็อยู่เหนือเส้น EMA ที่คำนวณจากระยะเวลาย้อนหลังนานกว่า และบางเวลาเส้น EMA ที่คำนวณจากระยะเวลาย้อนหลังที่สั้นกว่าก็อยู่ใต้เส้น EMA ที่คำนวณจากระยะเวลาย้อนหลังนานกว่า สลับกันไปมา แต่จะมีข้อสังเกตที่ดูค่อนข้างง่ายในช่วงที่ทิศทางแนวโน้มของราคาเป็นแบบ Sideways คือให้ดูที่ความชันของเส้น EMA ถ้าหากเส้น EMA มีความชันไม่มากหรือเป็นเส้นในแนวราบ ก็หมายความว่าทิศทางแนวโน้มของราคาขณะนั้นอาจจะเป็น Sideways

รูปตัวอย่างลักษณะของเส้น EMA เมื่อแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็น Sideways (ที่มา : Aspen Mobile)

ใช้ระบุทิศทางของแนวโน้มแล้ว ต้องทำอะไรต่อ?

การที่จะวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคให้ประสบความสำเร็จควรจะเริ่มต้นที่กราฟราคาหุ้นซึ่งมีความสำคัญที่สุด เช่น ถ้าแนวโน้มของกราฟราคาหุ้นปัจจุบันเป็นขาขึ้น แล้วค่อยดูว่าเส้น EMA ซึ่งเป็น Indicators ว่าให้ข้อมูลที่สนับสนุนหรือขัดแย้งกับกราฟของราคาหุ้น ไม่มีนักวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคเก่งๆ คนไหน จะแนะนำว่าเส้น EMA หรือ Indicators จะให้ข้อมูลในการซื้อขายหุ้นได้ดีกว่ากราฟหุ้น หรือแนะนำให้ซื้อขายหุ้นโดยดูจากเส้น EMA หรือIndicators อย่างเดียว เพราะเส้น EMA หรือ Indicators เกิดจากการนำข้อมูลราคาหุ้นมาคำนวณด้วยสูตรออกมาเป็นค่าใหม่ จึงสู้กราฟราคาหุ้นซึ่งวาดการเคลื่อนที่ของราคาจริงๆ ไม่ได้

ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดในการวิเคราะห์กราฟราคาหุ้นร่วมกับเส้น EMAมีวัตถุประสงค์เพื่อหาคำตอบว่าปัจจุบันแนวโน้มของราคาหุ้นน่าจะมีโอกาสสูงที่จะมีทิศทางเป็นอย่างไร เพราะเมื่อระบุเราระบุทิศทางแนวโน้มการเคลื่อนที่ของราคาได้แล้ว เราก็จะได้คำตอบครับว่าเราควรจะเลือกทำอะไรและไม่ควรทำอะไร เพื่อที่จะทำให้เรามีโอกาสได้กำไรมากกว่าโอกาสที่จะขาดทุน

พื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับการซื้อขายหุ้นด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิคแนว “ซื้อขายหุ้นตามแนวโน้ม (Trend Following)” แนะนำว่า

1) ในช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาขึ้น สิ่งที่เราควรจะทำมากที่สุด คือ ควรหาจังหวะในการซื้อหุ้น และห้าม Short หุ้นโดยเด็ดขาด เพราะ การเลือกหาจังหวะที่เหมาะสมในการซื้อหุ้นในช่วงกราฟราคาหุ้นมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาขึ้น เราจะได้โอกาสโด้กำไรมากกว่าโอกาสที่จะขาดทุน แต่การ Short หุ้น ในช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาขึ้นจะมีโอกาสที่ขาดทุนมากกว่าโอกาสที่จะกำไร

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่ากราฟราคาหุ้นมีทิศทางแนวโน้มเป็นขาขึ้น สิ่งที่ควรทำคือการหาจังหวะซื้อหุ้น และห้ามShort หุ้นเด็ดขาด (ที่มา : Aspen Mobile)

จากรูปตัวอย่างที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาขึ้น ราคาหุ้นไม่ได้ปรับตัวขึ้นเป็นเส้นตรงแต่ราคาหุ้นจะขยับขึ้นๆ ลงๆ สลับกัน แต่จะเห็นว่าเวลาหุ้นปรับตัวลงดลงจะเป็นการปรับตัวลดลงเล็กน้อยและชั่วคราว จากนั้นราคาหุ้นจะมีการปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ขึ้นไปเรื่อยๆ จึงทำให้เห็นภาพกราฟราคาหุ้นเป็นแนวโน้มขาขึ้น

ดังน้ันตลอดช่วงเวลาที่หุ้นยังเป็นทิศทางขาขึ้น ถ้าเราเลือกอยู่ฝั่งที่จะซื้อหุ้น ถึงแม้ว่าเราจะซื้อหุ้นผิดจังหวะ หลังจากที่ซื้อหุ้นแล้วราคาหุ้นปรับตัวลดลง แต่ก็จะเป็นการปรับตัวลดลงชั่วคราวและสุดท้ายราคาก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นและทำให้เราได้กำไร แต่ถ้าเรา Short หุ้น ในช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาขึ้น เราจะต้องซื้อหุ้นคืนในจังหวะที่ดีจริงๆ ตอนที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงชั่วคราว ไม่เช่นนั้นพอราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอีกครั้งจะทำให้เราต้องซื้อหุ้นคืนในราคาที่แพงขึ้นและเกิดผลขาดทุน

2) แต่ในช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางที่เป็นแนวโน้มขาลง สิ่งที่ควรจะทำคือ ห้ามซื้อหุ้น หรือควรหาจังหวะ Short หุ้น เพราะการซื้อหุ้นในช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาลง จะมีโอกาสขาดทุนมากกว่าโอกาสได้กำไร แต่การ Short หุ้นในช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาลงจะมีโอกาสกำไรมากกว่าโอกาสขาดทุน

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่ากราฟราคาหุ้นมีทิศทางแนวโน้มเป็นขาลง สิ่งที่ควรทำคือห้ามซื้อหุ้น หรือควรหาจังหวะในการ Short หุ้นถ้ามีช่องทางที่สามารถจะทำได้ (ที่มา : Aspen Mobile)

จากรูปตัวอย่างที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาลง ราคาหุ้นไม่ได้ปรับตัวลงเป็นเส้นตรง แต่ราคาหุ้นจะขยับขึ้นๆ ลงๆ สลับกัน แต่จะเห็นว่าเวลาหุ้นปรับตัวขึ้นจะเป็นการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและชั่วคราว จากนั้นราคาหุ้นจะมีการปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดใหม่ลงไปเรื่อยๆ จึงทำให้เห็นภาพกราฟราคาหุ้นเป็นแนวโน้มขาลง

ดังน้ันตลอดช่วงเวลาที่หุ้นยังเป็นทิศทางขาลง ถ้าเราเลือกที่จะซื้อหุ้นเราจะต้องขายหุ้นได้ในจังหวะที่ดีจริงๆ ตอนที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นชั่วคราวถึงจะได้กำไร และผลกำไรที่ได้ก็จะเป็นกำไรที่ไม่มาก ถ้าขายหุ้นไม่ได้ในจังหวะที่ดี พอราคาหุ้นกลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้งจะทำให้เราเกิดผลขาดทุนในที่สุด แต่ถ้าเราเลือกอยู่ฝั่ง Short หุ้น ถึงแม้ว่าเราจะ Short หุ้นผิดจังหวะ หลังจากที่ Short หุ้นไปแล้วราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็จะเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นชั่วคราว แต่สุดท้ายราคาก็จะปรับตัวลดลงต่อและทำให้เราสามารถซื้อหุ้นคืนในราคาที่ต่ำลงเพื่อทำกำไรได้

3) และช่วงเวลาที่กราฟราคาหุ้นเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงแบบแนวโน้มไม่ชัดเจน หรือ Sideways การเลือกที่จะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร หรือหันไปเลือกซื้อหุ้นตัวอื่นที่มีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้นชัดเจนก็จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

สรุปแนวทางในการใช้งานเส้น MOVING AVERAGE

แนวทางการใช้งานเส้น EMA ขั้นตอนแรกให้เลือก Parameter ของเส้น EMA โดยกำหนดค่าในการคำนวณเส้น EMA จากราคาหุ้นย้อนหลังมากหรือน้อยให้เหมาะกับสไตล์การเทรดและระยะเวลาในการถือหุ้น เช่น แต่ถ้าสไตล์การเทรดของเราเป็นการเทรดแบบเก็งกำไรระยะสั้นก็ให้เลือกระยะเวลาที่นำราคามาคำนวนย้อนหลังสั้น ๆ แต่ถ้าสไตล์การเทรดเป็นการเก็งกำไรระยะกลางหรือระยะยาวก็ให้เลือกระยะเวลาที่นำราคาคำนวณย้อนหลังที่นานขึ้นตามลำดับ

ขั้นตอนต่อมาคือการพิจารณาว่าลักษณะที่เกิดขึ้นของกราฟราคาหุ้น และเส้น EMA มีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร

ถ้าเราเห็นว่า 1) กราฟราคาหุ้นอยู่เหนือเส้น EMA หรือ 2) เส้น EMA ระยะสั้นอยู่เหนือเส้น EMA ระยะยาว หรือ 3) เส้น EMA มีความชันเฉลียงขึ้น แปลความหมายได้ว่า มีโอกาสสูงที่ราคาหุ้นกำลังอยู่ในแนวโน้มทิศทางขาขึ้น สิ่งที่ควรทำคือ “หาจังหวะซื้อหุ้น” และ “ห้าม Short หุ้น”

แต่ถ้าเราเห็นว่า 1) กราฟราคาหุ้นอยู่ใต้เส้น EMA หรือ 2) เส้น EMA ระยะสั้นอยู่ใต้เส้น EMA ระยะยาว หรือ 3) เส้น EMA มีความขันที่เฉียงลง แปลว่าแนวโน้มทิศทางของราคาแต่ถ้าทิศทางของแนวโน้มราคาหุ้นในปัจจุบันเป็นขาลง เราก็จะไม่ซื้อหุ้นหรือพยายามหาจังหวะ Short หุ้น

แต่ !!!! ผมไม่ได้หมายความว่าเมื่อกราฟราคาหุ้นและเส้น EMA มีลักษณะดังกล่าว ให้เราลงมือซื้อหุ้นขายหุ้นได้ทันที หรือเราสามารถจะซื้อขายหุ้นเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์เส้น EMA จะเป็นข้อมูลให้ตัดสินใจว่าเราควรจะเลือกอยู่ฝั่งที่เป็นฝั่งซื้อหุ้น หรือฝั่งขายหุ้น เพื่อให้ได้โอกาสกำไรมากกว่าโอกาสขาดทุนเท่านั้น จากนั้นเราต้องหาจังหวะลงมือซื้อหุ้นที่ดีจากการวิเคราะห์เครื่องมือทางเทคนิคประเภทอื่นต่อไป เช่น การวิเคราะห์แนวรับแนวต้าน หรือการวิเคราะห์กราฟแท่งเทียน เป็นต้น

การตั้งค่า MOVING AVERAGE แบบ DADDYTRADER

เทคนิคส่วนตัวเวลาที่ผมซื้อขายหุ้น ผมจะเลือกใช้งานเส้น EMA 2 พร้อมๆ กัน ได้แก่ เส้น EMA 10 วัน และ เส้น EMA 50 วัน (เส้น EMA 10 วัน (2สัปดาห์) และ เส้น EMA 50 วัน (2 เดือน) เป็นเส้นที่เหมาะกับสไตล์การซื้อขายหุ้นส่วนตัวและระยะเวลาในการถือหุ้นที่ผมสบายใจ จึงเป็นเส้น EMA ที่ผมคุ้นเคยและใช้หาจังหวะซื้อขายหุ้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่ผมมักจะมีระยะเวลาการถือหุ้นก่อนขายทำกำไรประมาณ 2-3 เดือนขึ้นไป โดยผมจะวาดเส้น EMAควบคู่ไปกับกราฟของราคาหุ้น เพื่อเป็น Indicators ที่ช่วยเสริมความมั่นใจในการซื้อหุ้น หรือเป็น Indicators ที่ใช้ห้ามไม่ให้ลงมือซื้อหุ้น

ถ้าผมกำลังสนใจซื้อหุ้นตัวหนึ่งและคิดว่าเป็นจังหวะที่ดีที่จะลงมือซื้อหุ้นตัวนี้แล้ว ผมจะตรวจสอบว่า ณ ขณะนั้น เส้น EMA 10 อยู่เหนือเส้น EMA 50 หรือไม่ ถ้าเส้น EMA 10 อยู่เหนือเส้น EMA 50 ก็ถือว่าเส้น EMA สนับสนุนการลงมือซื้อหุ้น ผมก็จะลงมือซื้อหุ้นในครั้งนี้ แต่ถ้าเส้น EMA 10 อยู่ต่ำกว่าเส้น EMA 50 ผมก็จะถือว่าเส้น EMA ไม่สนับสนุนการลงมือซื้อหุ้นครั้งนี้ ผมก็จะไม่ซื้อหุ้น

ตัวอย่างรูปแสดงให้เห็น ณ ขณะที่ตัดสินใจกำลังจะซื้อหุ้น และเส้น EMA 10 อยู่เหนือเส้น EMA 50 เป็นการสนับสนุนการตัดสินใจให้ลงมือซื้อหุ้น (ที่มา : Aspen Mobile)

ตัวอย่างรูปแสดงให้เห็น ณ ขณะที่ตัดสินใจกำลังจะซื้อหุ้น และเส้น EMA 10 อยู่ใต้เส้น EMA 50 ไม่รสนับสนุนการตัดสินใจให้ลงมือซื้อหุ้น จึงไม่ซื้อหุ้น (ที่มา : Aspen Mobile)

จากเทคนิคส่วนตัวขอผม ผมจะใช้เส้นงานเส้น EMA 2 เส้น คือ EMA 10 และ EMA 50 ควบคู่กับกราฟของราคาเพื่อดูว่าเส้น EMA สนับสนุนให้ลงมือซื้อหุ้นในครั้งนั้นๆ หรือไม่ อย่างไรก็ตามผมไม่แนะนำให้ทุกคนใช้ เส้น EMA 10 และเส้น EMA 50 คู่นี้ ในการวิเคราะห์กราฟราคาหุ้น เนื่องจากเส้น EMA คู่นี้ไม่ได้เป็นเส้น EMA คู่ที่เหมาะกับทุกคน เพราะแต่ละคนควรจะทดลองหาเส้น EMA ซึ่งเป็นคู่ที่เหมาะสมกับตัวเอง

มีข้อแนะนำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนวันที่ใช้คำนวณเส้น EMA กับสไตล์การเล่นหุ้นหรือระยะเวลาในการถือหุ้น คือ จำนวนวันที่ใช้ในการคำนวณเส้น EMA จะแปรผันตรงกับระยะเวลาที่เราถือหุ้นนั้น ๆ เช่น ถ้าเราซื้อขายหุ้นเร็วหรือถือหุ้นระยะสั้นๆ ก็ให้เลือกใช้จำนวนวันย้อนหลังที่ใช้คำนวณ EMA ที่น้อย แต่ถ้าเราซื้อขายหุ้นที่ไม่บ่อย หรือถือหุ้นระยะเวลานาน ๆ ก็ให้เลือใช้จำนวนวันย้อนหลังที่คำนวณเส้น EMA ที่มากขึ้น

ถ้าใครสนใจจะใช้งานเส้น EMA มากกว่า 2 เส้นพร้อมๆ กันก็สามารถที่จะทำได้ครับ แต่ผมแนะนำให้ใช้แนวทางเดียวกันกับที่ผมใช้งานอยู่ในการตัดสินใจลงมือซื้อหรือขายหุ้น เช่น ใช้งานเส้น EMA 3 เส้นพร้อมกัน เช่น EMA 5 วัน, EMA 10 วัน และ EMA 25 วัน และจะลงมือซื้อขายหุ้น ก็ต่อเมื่อเส้น EMA 5 วัน อยู่เหนือเส้น EMA 10 วัน และเส้น EMA 10 วันต้องอยู่เหนือเส้น EMA 25 วันตามลำดับ แล้วเท่านั้นเป็นต้น

เลือกใช้จำนวนวันย้อนหลังที่คำนวณ MOVING AVERAGE กี่วันดี

คำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิตที่ถูกถามตลอดเวลาครับ คำตอบก็คือ ไม่มีเส้น EMA เส้นไหนที่ดีที่สุด หรือจะดีกว่าเส้นอื่นๆ มีแต่เส้น EMA ที่เหมาะสมกับสไตล์การซื้อขายและระยะเวลาการถือหุ้นของแต่ละบุคคล ดังนั้นผมจึงไม่สามารถบอกได้ว่าเส้น EMA เส้นไหนจะดีที่สุด หน้าที่ของแต่ละคน คือ ต้องทดลองใช้และลองปรับจำนวนวันให้เหมาะสมไสตล์ของเราเอง เมื่อเราได้ทดลองใช้งานเส้น EMA ไปสักพักเราจะค่อย ๆ คุ้นเคยและรู้เองครับว่าเส้น EMA เส้นไหนที่เหมาะสมกับเรา ข้อแนะนำที่อยากจะฝากไว้ คือ เลือกใช้เส้น EMA ตามคนอื่นนั้นมักจะไม่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการซื้อขายหุ้น เพราะอาจจะไม่เหมาะกับสไตล์ของเราก็ได้

ผมมีข้อแนะนำเพิ่มเติมให้สำหรับมือใหม่ที่อยากจะหาเส้น EMA ที่เหมาะสมกับตัวเองแต่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกจำนวนวันย้อนหลังเท่าไหร่ดี ให้ลองเริ่มต้นด้วยจำนวนวันของเส้น EMA ที่ได้รับความนิยมและใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ 5 วัน, 10 วัน, 20 วัน, 25 วัน, 40 วัน, 50 วัน, 75 วัน, 200 วัน ซึ่งมีข้อสังเกตคือ จำนวนวันดังกล่าวจะเป็นจำนวนทำการในรอบสัปดาห์ หรือ เดือน หรือไตรมาส ยกตัวอย่างเช่น

  • เส้น EMA 5 วัน เปรียบเสมือนการคิดเฉลี่ยย้อนหลัง 5 วันทำการ หรือ 1 สัปดาห์
  • เส้น EMA 10 วัน เปรียบเสมือนการคิดเฉลี่ยย้อนหลัง 10 วันทำการ หรือ 2 สัปดาห์ หรือ ประมาณครึ่งเดือน
  • เส้น EMA 20 วัน เปรียบเสมือนการคิดเฉลี่ยย้อนหลัง 20 วันทำการ หรือ 4 สัปดาห์ หรือ เกือบๆ 1 เดือน
  • เส้น EMA 25 วัน เปรียบเสมือนการคิดเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วันทำการ หรือ ประมาณ 1 เดือน
  • เส้น EMA 40 วัน เปรียบเสมือนการคิดเฉลี่ยย้อนหลัง 40 วันทำการ หรือ 8 สัปดาห์ หรือ เกือบๆ 2 เดือน
  • เส้น EMA 50 วัน เปรียบเสมือนการคิดเฉลี่ยย้อนหลัง 50 วันทำการ หรือ ประมาณ 2 เดือน
  • เส้น EMA 75 วัน เปรียบเสมือนการคิดเฉลี่ยย้อนหลัง 75 วันทำการ หรือ ประมาณ 3 เดือน หรือ 1 ไตรมาส
  • เส้น EMA 200 วัน คือตัวเลขกลมๆของจำนวนวันประมาณ 3 ไตรมาส

มีข้อสังเกตที่ผมจะให้ไว้เป็นข้อมูลสำหรับเปรียบเทียบว่าจะเริ่มทดลองด้วยเส้นระยะเวลากี่วันดี คือ เส้น EMA ที่ผมใช้งานอยู่พร้อมๆกัน คือ เส้น EMA 10 และเส้น EMA 50 ซึ่งผมจะมีระยะเวลาในการซื้อหุ้นแล้วถือไปประมาณ 2-3 เดือนหรือมากกว่านั้น ดังนั้นถ้าใครต้องการถือหุ้นระยะสั้นกว่าผม ก็อาจจะทดลองใช้งานเส้น EMA 2 เส้นพร้อมกันที่เส้นหนึ่งระยะสั้นกว่าเส้น EMA 10 และอีกเส้นหนึ่งระยะสั้นกว่าเส้น EMA 50 เช่นเส้น EMA 5 พร้อมหกับเส้น EMA 25 เป็นต้น สำหรับใครที่ถือห้นระยะยาวมากๆ ก็ให้ลองเลือกเส้น EMA ที่ระยะยาวขึ้น

สรุป

“Moving Average เหมาะที่จะใช้เป็น Filter ไม่เหมาะสำหรับใช้เป็น Trigger”

Moving Average เหมาะที่จะใช้เพื่อเป็นตัวกรองสัญญาณการซื้อขายหรือสนับสนุนสร้างความมั่นใจมากขึ้นในการลงมือซื้อขายการวิเคราะห์กราฟของราคา แต่ไม่เหมาะที่จะใช้สัญญาณการตัดกันระหว่างกราฟราคาหุ้นกับเส้น Moving Average หรือการตัดกันของเส้น Moving Average เพื่อเป็นสัญญาณสำหรับลงมือซื้อขายหุ้น โดยการกำหนดค่า Parameter ในการวาดเส้น Moving Average ควรเลือกให้เหมาะสมกับสไตล์การเทรดและระยะเวลาในการถือหุ้น ซึ่งเป้นค่าเฉพาะของแต่ละบุคคล

อ่านบทความ : อ่านกราฟแท่งเทียน ไม่ต้องใช้ความจำ ทำอย่างไร?

โดย DaddyTrader
ที่มา : http://daddytrader.guru/ma/