business-mankind-01

ผมเพิ่งกลับจากการท่องเที่ยวไอซ์แลนด์ ประเทศที่เป็นเกาะอยู่ตอนเหนือของยุโรปและถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มนอร์ดิก  เกาะไอซ์แลนด์นั้นต้องถือว่ามีขนาดใหญ่ เพราะมีพื้นที่ถึง 100,000 ตารางกิโลเมตรคิดเป็นครึ่งหนึ่งของเกาะอังกฤษและเป็น 1 ใน 5 ของประเทศไทยแต่มีประชากรแค่ 3 แสนกว่าคน  ดังนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจึง “ว่างเปล่า” และคนประมาณ 2 แสนคนอาศัยอยู่ในเมืองหลวง ว่ากันว่ามี  “แกะหลง” หรือแกะที่ไม่มีเจ้าของเดินหากินอยู่ตามทุ่งหญ้ามากกว่าคน อย่างไรก็ตาม  ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่เจริญแล้ว  ว่าที่จริงเจริญเป็นอันดับที่ 13 ของโลกในแง่ของการพัฒนาคน รายได้ต่อหัวของคนไอซ์แลนด์นั้นสูงกว่าคนอังกฤษโดยที่อิงอยู่กับเศรษฐกิจหลัก ๆ เพียงไม่กี่อย่าง เช่น การประมง การถลุงแร่อลูมิเนียม และที่สำคัญที่สุดที่เพิ่งจะ “แซงโค้ง”  ทุกอุตสาหกรรมก็คือ  “การท่องเที่ยว”  ธุรกิจที่ผมเห็นว่าเป็น  “ธุรกิจแห่งมวลมนุษยชาติ” เลียนแบบกีฬาโอลิมปิกที่ถูกเรียกว่าเป็นกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติที่กำลังแข่งกันอยู่ในขณะนี้ เหตุผลที่ผมเรียกแบบนั้นก็เพราะว่า การท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ทำและแข่งขันกันทุกชาติเหมือนกับกีฬาโอลิมปิก เช่นเดียวกัน การท่องเที่ยวนั้น อยู่ในยีนของมนุษย์ที่ต้องการ “แสวงหา” โลกใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเอาตัวรอดและเผยแพร่เผ่าพันธุ์เช่นเดียวกับการ “เล่น” กีฬาที่อยู่ในยีนที่ช่วยเพิ่มทักษะในการเอาตัวรอดของมนุษย์

จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศของไอซ์แลนด์นั้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตลอด

ตัวเลขล่าสุดนั้นอยู่ที่ประมาณเกือบ 2 ล้านคน และ เติบโตขึ้นปีละประมาณ 30% ในช่วงเร็ว ๆ นี้และทำรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศคิดเป็นประมาณ 30% ของทั้งหมดเปรียบเทียบกับการถลุงอลูมิเนียมและการประมงที่อยู่ที่ประมาณอุตสาหกรรมละ 20% ต้น ๆ  โดยที่ผมคิดว่าอนาคตการท่องเที่ยวจะเป็นหัวใจหลักของการเติบโตของเศรษฐกิจของไอซ์แลนด์เป็นหลัก เหตุผลก็เพราะว่าการท่องเที่ยวนั้นเป็น  “เมกาเทรนด์โลก”  ที่ดำเนินมามายาวนานและจะดำเนินต่อไปอีกนาน  และไอซ์แลนด์นั้นจะเป็น “ผู้ชนะ”  ประเทศหนึ่งเพราะมี “Durable Competitive Advantage”  หรือมี “ความได้เปรียบที่ยั่งยืน”  ในการแข่งขันแย่งชิงนักท่องเที่ยวกับประเทศอื่น ๆ  ใน Sector หรือกลุ่ม “การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ”

ความได้เปรียบของไอซ์แลนด์ก็คือ มันเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขาไฟที่ยังไม่ดับและมีความร้อนที่อยู่ใต้ดินที่ก่อให้เกิดน้ำพุร้อนพวยพุ่งออกมาเป็น “สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ” สำหรับคนในถิ่นอื่นของโลก แต่บนอากาศนั้น ไอซ์แลนด์กลับเป็นดินแดนที่หนาวเหน็บที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่แม้ในฤดูร้อนอากาศก็ยังเย็นอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเชียส  สองสิ่ง  “สุดขั้ว”  นี้  เมื่อมาพบกัน  มันจึงทำให้ไอซ์แลนด์เป็นแดนสวรรค์สำหรับคนที่  “รักธรรมชาติ” หรือแค่อยากดูสิ่งที่แปลกและหาดูที่อื่นไม่ได้ เช่น น้ำพุร้อนขนาดใหญ่ที่พุ่งขึ้นสูง 10 เมตรทุก 5 นาที  ลากูนอาบน้ำร้อนขนาดยักษ์ท่ามกลางอากาศเย็นเฉียบที่แสนจะสบาย การขับรถสโนโมบายบนยอดภูเขาไฟที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งตลอดปี หรือการท่องชมทะเลสาบที่เต็มไปด้วยก้อนน้ำแข็งขนาดยักษ์รูปร่างแปลก ๆ  ที่ลอยอยู่เต็มไปหมด  เป็นต้น

ตัวเลขนักท่องเที่ยว 2 ล้านคนของไอซ์แลนด์อาจจะดูว่าไม่มากเทียบกับของไทยที่ 30 ล้านคน แต่ถ้าเปรียบเทียบว่าประชากรของไอซ์แลนด์นั้นมีเพียง 3-4 แสนคนก็เท่ากับว่ามีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศต่อปีคิดเป็น 6 เท่าของประชากรนั้นก็จะเห็นว่ามันมากมหาศาลเทียบกับไทยที่มีนักท่องเทียวต่อปีเพียงครึ่งเดียวของคนไทยทั้งหมดที่กว่า 65 ล้านคน เปรียบไปแล้ว รายได้ต่อหัวจากการท่องเที่ยวของไทยนั้นน่าจะน้อยกว่าของไอซ์แลนด์มาก นี่ยังไม่คิดถึงว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ไปไอซ์แลนด์น่าจะสูงกว่าไทยไม่น้อย  ผมเองได้ซื้อ  “อากาศภูเขาอัดกระป๋อง”  ที่เป็นของที่ระลึกมาด้วยราคาประมาณ 500 บาทต่อใบ  ผมคิดคร่าว ๆ  ว่าต้นทุนในการผลิตที่เป็น “อากาศ” นั้นคงเท่ากับศูนย์และต้นทุนกระป๋องอลูมิเนียมใบเล็ก ๆ เท่ากระป๋องโค๊กกับฉลากปิดกระป๋องนั้นไม่น่าจะเกิน 10 บาท รายได้หรือกำไรที่จะได้จากนักท่องเที่ยวจึงน่าจะดีมาก และถ้าจะมองต่อไปในอนาคตผมก็คิดว่าไอซ์แลนด์น่าจะเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้โดยเน้นที่การท่องเที่ยวเป็นหลัก หน้าที่ของรัฐบาลไอซ์แลนด์ก็คือ “รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่บริสุทธิ์” นี้ไว้ตลอดไป ซึ่งเขาก็ได้ทำมาเป็นอย่างดี ว่าที่จริงก็เป็นเรื่องไม่ยาก เพราะไอซ์แลนด์นั้นสามารถผลิตพลังงานจากความร้อนใต้ดินและน้ำได้พอใช้ร้อยเปอร์เซ็นต์และเหลือพอเอาไปถลุงอลูมิเนียมอีกมหาศาล  อากาศของไอซ์แลนด์จึงสะอาดมาก  เช่นเดียวกับน้ำที่มาจากภูเขา

บทเรียนจากไอซ์แลนด์

ผมคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ระเทศไทยควรจะเดินตาม เพราะผมคิดว่าไทยเองก็มี Competitive Advantage ในธุรกิจท่องเที่ยวพอสมควรนั่นก็คือ  เรามีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางด้านวัฒนธรรม  ธรรมชาติ   และความบันเทิงในรูปแบบต่าง ๆ  ที่หาได้ยากในประเทศอื่นแม้ว่าเราจะไม่ดีที่สุดในแต่ละด้าน  ในด้านของวัฒนธรรมนั้น  เรามีวัดวาอารามที่มี “เอกลักษณ์” แตกต่างจากอารยะธรรมอื่น  ในด้านของธรรมชาตินั้นเราก็มีชายหาดที่มีน้ำที่อบอุ่นตลอดทั้งปีสำหรับนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มักอยู่ในประเทศที่มีอากาศหนาวและไม่มีชายหาดให้เล่นน้ำได้มากนัก  ส่วนในด้านของความบันเทิงนั้น  เราเป็นประเทศที่  “ไม่เข้มงวด”  ในเรื่องของการใช้ชีวิตของคนทั่วไปนัก  ดังนั้น  เรามีสถานที่ที่เปิดให้ทุกคนหาความสุขได้ค่อนข้างจะไม่จำกัดถ้ามีเงินที่จะจ่าย

ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ทำให้การท่องเที่ยวของเราจะเป็นธุรกิจที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือรักษาระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจไว้ได้ก็คือ  ตำแหน่งของประเทศที่อยู่ใกล้กับประเทศที่มีคนมากที่สุดในโลก 2 ประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตเร็วมากและจะมีนักท่องเที่ยวที่เติบโตเร็วยิ่งกว่านั่นก็คือ จีนกับอินเดีย ความที่อยู่ใกล้ทำให้ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวไม่แพงและจะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากสองประเทศที่มีประชากรรวมกันกว่า 2 พันล้านคนมาเที่ยวได้ไม่ยาก ว่าที่จริงขณะนี้เราก็ได้เห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากจีน ที่ “หลั่งไหล” เข้ามาเที่ยวตามเมืองท่องเที่ยวของไทยทุกแห่งคิดเป็นน่าจะเกือบ 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดแล้วและผมคิดว่าอาจจะเพิ่มขึ้นไปอีกในอนาคตถ้าเรายังบริหารจัดการให้ “ปัจจัยในการแข่งขัน” ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ “ได้เปรียบ” ของไทยเอาไว้ได้

ผมเองได้ยิน “เทคโนแครต” หรือผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายพูดถึงเรื่องการยกระดับของอุตสาหกรรมไทยเป็นแบบ “4.0”  เพื่อที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าขึ้นและจะเป็นการเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเพื่อจะได้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว  ผมเองก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าเราจะทำสำเร็จได้อย่างไร  เพราะเมื่อพิจารณาถึง “ปัจจัยแห่งการแข่งขัน”  แล้วก็เห็นว่าเรามีน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ  อีกหลาย ๆ  ประเทศในหลาย ๆ  อุตสาหกรรมที่กำหนดไว้  ผมเองก็ไม่ได้ขัดแย้งเพราะ  “ทำดีกว่าไม่ทำ”  แต่คิดว่าถ้าประเทศจะพัฒนาต่อไปได้นั้น  มันคงมาจากการท่องเที่ยวหรือธุรกิจบริการมากกว่ามาจากอุตสาหกรรม “ไฮเท็ค”  การลงทุนอะไรของผมในประเทศไทยเองนั้น  ผมจะอิงอยู่กับความคิดนี้  ผมคิดว่าในอดีตที่ผ่านมาเราอาจจะเริ่มและเติบโตมาจากการเป็นแหล่งผลิตต้นทุนต่ำให้กับบริษัทโดยเฉพาะที่เป็นบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ แต่ขณะนี้มีประเทศอื่นที่อาจจะทำได้ดีกว่า แต่เรากลับไม่สามารถที่จะยกระดับตัวเองให้ขึ้นไปผลิตในระดับสูงขึ้นไปเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ได้

สิ่งที่เราสามารถแข่งขันกับประเทศพัฒนาแล้วได้นั้นอยู่ที่การท่องเที่ยวและบริการที่เรามีปัจจัยหรือความสามารถในการแข่งขันสูงโดยเฉพาะจากการที่เรามีวัฒนธรรมที่น่าสนใจและมีภูมิประเทศที่ได้เปรียบเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอื่นที่มีศักยภาพในระดับเดียวกัน  หน้าที่ของรัฐบาลหรือคนไทยก็คือ  รักษาและปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ  เพื่อให้ไทยยังคงเป็นเป้าหมายปลายทางของการท่องเที่ยวของลูกค้าเป้าหมายโดยเฉพาะจีนและอินเดีย    ส่วนตัวผมเองคิดว่าเรายังทำไม่พอ  ดูเหมือนว่าการที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวจริง ๆ  จัง ๆ  ยังไม่เกิดขึ้น  มันอาจจะเป็นเรื่องพื้น ๆ  เกินกว่าที่  “กูรู”  จะสนใจพูดหรือทำ  แต่ถึงอย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่าถ้ารัฐไม่ทำอะไรที่อาจจะ  “ทำลาย”  ปัจจัยการท่องเที่ยวของไทยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์แล้ว  ผมก็ยังคิดว่าการท่องเที่ยวของไทยก็น่าจะยังไปต่อได้อีกไม่น้อยทั้ง ๆ  ที่รัฐอาจจะไม่ได้ทำอะไรที่จะสนับสนุนเลย

ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/ธุรกิจแห่งมวลมนุษยชาติ