ธนาคารกลางกับแนวทาง การงัดข้อเงินเฟ้อ

ธนาคารกลางทั่วโลกมีท่าทีเข้มงวดต่อนโยบายการเงินมากขึ้น โดยทุกธนาคารกลายภายใต้การวิเคราะห์ของเรา ยกเว้น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางจีน (PBOC) ล้วนแล้วแต่มีมุมมองที่ต้องการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในระยะต่อไป เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น ตลาดแรงงานที่ตึงตัว จากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นความท้าทายสำคัญ

ธนาคารกลางกับแนวทาง การงัดข้อเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เป็นธนาคารที่เราเห็นว่ามีมุมมองที่เข้มงวด (hawkish) มากที่สุด ในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ตามมาด้วยธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และธนาคารกลางแคนาคา (BOC) และเราพบว่า ธนาคารกลางสวีเดน (Riksbank) ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) มีมุมองที่เปลี่ยนเป็นโทน hawkish มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมุมมองของธนาคารกลางที่สำคัญ สรุปได้ ดังนี้

ธนาคารกลางกับแนวทาง การงัดข้อเงินเฟ้อ

Figure 1 กราฟแสดงมุมมอง hawkish ของธนาคารกลาง โดย FED มีมุมมอง hawkish มากที่สุด รองลงมาเป็น BOC และ RBNZ

มุมมองของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)

การปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนมิถุนายน 2022 ส่งสัญญาณชัดเจนว่า FED ต้องการที่จะกดอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำลงกว่าที่เป็นอยู่ โดยล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงินมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม ณ สิ้นปี 2022 ควรอยู่ที่ระดับ 3.375% ซึ่งหมายถึง การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1.75% ในช่วงเวลาที่เหลือของปี แม้ว่านายเจอโรม พาวเวลล์ ประธาน FED ระบุว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนกรกฎาคม อาจอยู่ที่ระดับ 0.50% หรือ 0.75% แต่เราเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสเป็น 0.75% มากกว่า และค่อยๆ ทยอยลดอัตราการขึ้นดอกเบี้ยเป็น 0.50% 0.25% และ 0.25% ในอีก 3 ครั้งถัดไปตามลำดับ ทั้งนี้ หาก FED ขึ้นดอกเบี้ยเพียงแค่ 0.50% เรามองว่าตลาดน่าจะกังวลว่า FED อาจไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้

มุมมองของธนาคารกลางยุโรป (ECB)

ECB จะเริ่มดำเนินนโยบายแบบตึงตัวในเดือนกรกฎาคม 2022 เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับธนาคารกลางอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินประกาศว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนกรกฎาคม 2022 เมื่อโปรแกรมการเข้าซื้อสินทรัพย์จบลง นอกจากนี้ ECB คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกันยายน ในระดับที่มากขึ้นอีก หากสถานการณ์เงินเฟ้อยังไม่ชะลอลง โดยเราคาดว่า ECB จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายด้วยอัตรา 0.50% ในเดือนกันยายน 2022 และอย่างน้อยอีก 0.50% ระหว่างเดือนตุลาคม และธันวาคม 2022 ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (deposit rate) ที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ณ ปลายปี 2022 น่าจะอยู่ที่ระดับอย่างน้อย 0.75%

มุมมองของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)

BOE ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 5 ในเดือนมิถุนายน 2022 โดยปรับขึ้น 0.25% (มีคณะกรรมการนโยบายการเงินถึง 3 ท่านมองว่าควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50%) เข้าสู่ระดับ 1.25% จากระดับ 0.1% ในเดือนธันวาคม 2021 เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อ ทำให้เรามองว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนสิงหาคม 2022 ที่ระดับ 0.50% มีความเป็นไปได้ ถ้าอัตราเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดการคาดการณ์เงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2022 อยู่ที่ระดับสูงกว่า 11% ท่ามกลางการจ้างงานที่ตึงตัว และค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เราเชื่อว่า ECB น่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% และค่อยๆ ปรับลงเป็น 0.25% ใน 2 ครั้งถัดไป

มุมมองของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

BOJ เป็นธนาคารกลางเพียงแห่งเดียวในกลุ่ม G10 ที่ยังไม่ปรับมุมมองต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยยังคงดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลาย แม้ว่าเงินเยนจะอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญ จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำทำให้กดดันเงินไหลออก ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งล่าสุด BOJ ได้ส่งสัญญาณว่าจะจับตาดูการอ่อนค่าของค่าเงินเยนอย่างใกล้ชิด และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังไม่น่ากังวลมากนัก แม้ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเดียวกัน และเมื่อเทียบกับระดับเงินเฟ้อทั่วไป ที่มักจะเกิดขึ้นจากปัญหาราคาต้นทุน ทำให้ BOJ ยังดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ ทำให้เราเชื่อว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นน่าจะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณเงินเฟ้อที่เริ่มพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเรามองว่ายังไม่ได้มีสัญญาณนั้น ๆ ปรากฎชัดเจน

มุมมองของธนาคารกลางจีน (PBOC)

แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญในเดือนเมษายน 2022 จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการล็อกดาวน์ ตลอดจนการค่อย ๆ ฟื้นตัวในเดือนพฤษภาคม 2022 PBOC ก็ยังค่อนข้างที่จะระมัดระวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทยอยทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป กล่าวคือ ลดอัตราการกันสำรอง (reserve requirement ratio: RRR) ของธนาคารพาณิชย์ลง 0.25% และลดอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืม (loan prime rate: LPR) ลง 0.15% ในเดือนพฤษภาคม 2022

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวที่ค่อยเป็นค่อยไปน่าจะมาจากความกังวลของ PBOC ที่กลัวว่าการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายมากเกินไปจะกดดันค่าเงินหยวนให้อ่อนตัวลง และอาจไม่มีช่องว่างในการทำนโยบายเพิ่มเติม (policy space) อีก หากเศรษฐกิจชะลอตัว หรือมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี ข้อดีของเศรษฐกิจจีน คือ ณ ปัจจุบันยังไม่ต้องกังวลกับอัตราเงินเฟ้อ ทำให้เราคาดการณ์ว่า PBOC น่าจะคงการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลาย และจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกไม่เกิน 0.20% ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยจะทำผ่านการลด RRR และส่งเสริมการให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาการด้านความยั่งยืน (green loan) และสินเชื่อเพื่ออุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs)

ธนาคารกลางกับแนวทาง การงัดข้อเงินเฟ้อ

Figure 2 ตารางสรุปการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตของธนาคารกลางต่าง ๆ โดย BOJ และ PBOC มีทิศทางในการดำเนินนโยบายต่างจากธนาคารกลางอื่น ๆ

ข้อสงวนสิทธิ์

  1. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ให้บริการการให้คำแนะนำทั่วไปแก่ FINNOMENA ในการออกแบบพอร์ตการลงทุน (Asset Allocations)
  2. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ไม่รับผิดใด ๆ ต่อบุคคลภายนอก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการ เว็บไซต์ หรือเนื้อหาใด ๆ ที่ได้จัดทำหรือปรากฏในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอกนั้น อีกทั้ง Franklin Templeton ไม่ได้ให้คำรับรอง รับประกัน หรือเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายในเนื้อหาหรือความถูกต้องของข้อมูลในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอก และไม่รับผิดต่อสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น
  3. ในกรณีที่มีความแตกต่างกันระหว่างเอกสารภาษาอังกฤษกับการแปลเป็นภาษาไทย ให้ยึดถือตามเอกสารภาษาอังกฤษ

แหล่งข้อมูล

https://www.franklintempleton.com/articles/fixed-income/central-bank-watch