อสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์โต้คลื่น พิชิตความเสี่ยงเงินเฟ้อ

ในช่วงที่แนวคิดเรื่องการลงทุนเพื่อความยั่งยืนกำลังเป็นที่กล่าวถึงมากมาย และเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐาน มีคำถามเกิดขึ้นเสมอ ๆ ว่า แล้วเราควรลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด ในบทความนี้ เรามีไอเดียมาแชร์ให้กับนักลงทุนทุกท่าน โดยเราเชื่อว่า ในไตรมาสนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ประเภท อสังหาริมทรัพย์ และ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านความยั่งยืน น่าจะเป็นสองทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น

อสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์โต้คลื่น พิชิตความเสี่ยงเงินเฟ้อ

ทำไมอสังหาริมทรัพย์ถึงการเป็นการลงทุนที่ดีในช่วงเศรษฐกิจฟื้นและอัตราเงินเฟ้อเร่งตัว

เหตุผลแรก: เศรษฐกิจฟื้นตัวทำให้มีความต้องการ (demand) อสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ความพยายามในการฉีดวัคซีน และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในภูมิภาคต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คือ อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ โดยการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการสถานที่ประกอบการ โรงงาน รวมถึงโกดังสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเรียกค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นได้

เหตุผลที่สอง: การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตลอดจนการกระตุ้นทั้งภาคการเงินและภาคการคลังทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียกเก็บค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ก็สามารถขึ้นราคาค่าเช่าได้ตามสภาพเศรษฐกิจ ในบางกรณี สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์จะมีเงื่อนไขในการปรับค่าเช่าขึ้นอัตโนมัติตามอัตราเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งจากสถิติย้อนหลังชี้ให้เห็นว่า ผลตอบแทนหรือรายได้ที่มาจากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อตั้งแต่ปี 19922021 โดยมีค่าสัมประสิทธิความสัมพันธ์ (correlation) ถึงประมาณ 0.96 (หมายความว่าถ้าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1% ผลตอบแทนหรือรายได้ที่มาจากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.96%)

อสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์โต้คลื่น พิชิตความเสี่ยงเงินเฟ้อ

เหตุผลที่สาม: เงินเฟ้อที่เร่งตัวทำให้ต้นทุนในการสร้างอสังหาริมทรัพย์ใหม่สูงขึ้น ผลักดันให้อุปทาน (supply) อสังหาริมทรัพย์ตึงตัว โดยเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ดีทำให้ราคาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น ไม้ เหล็ก และอลูมิเนียม ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ใหม่สูงขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้อสังหาริมทรัพย์ใหม่มีจำนวนลดลง เมื่อไม่มีคู่แข่งเข้ามาเพิ่ม จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผลตอบแทนของอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่แล้วเพิ่มมากขึ้นอีก

จากที่กล่าวมา เราจึงมองว่าพอร์ตโฟลิโอในปี 2021 จึงควรมีสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ เป็นหนึ่งในสินทรัพย์หลัก จากรายได้ที่เข้ามาค่อนข้างแน่นอน และการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ เรามองว่ารอบของอุตสาหกรรมตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังเริ่มขึ้น ซึ่งการจัดพอร์ตโฟลิโอให้เหมาะสมจะช่วยในการบริหารความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนได้ดียิ่งขึ้น

ทำไมการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทโครงสร้างพื้นฐานจะมีบทบาทสำคัญภายใต้แนวคิดความยั่งยืน (ESG)

เหตุผลแรก: แนวคิดความยั่งยืนเป็นหลักการพัฒนาสำคัญของนานาชาติ ถ้ามองจากภาพใหญ่ที่สุด องค์การสหประชาชาติได้จัดทำเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน เรียกว่า SDGs โดยย่อมาจาก “Sustainable Development Goal” โดยถ้าพิจารณาเป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมายแล้ว พบว่ามีอย่างน้อย 3 เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐาน และภูมิอากาศของโลก เช่น เป้าหมายที่ 7 กล่าวถึงพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ เป้าหมายที่ 9 กล่าวถึง โครงสร้างพื้นฐาน และเป้าหมายที่ 13 กล่าวถึง การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อเราค่อย ๆ ซูมลงมายังภาพของแต่ละประเทศ ปัจจุบันแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้แทรกซึมเข้าไปในแนวคิดการพัฒนาในภาพรวมของเกือบทุกประเทศในโลก ซึ่งหากเราสามารถเกาะกระแสความยั่งยืน ผนวกกับการเลือกการลงทุนที่เหมาะสมน่าจะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ โดยจุดเด่นของสินทรัพย์ประเภทโครงสร้างพื้นฐาน คือกระแสเงินสดในอนาคตที่ค่อนข้างมีความแน่นอน ความต้องการที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ และมักไม่อ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจและการเงินที่ผันผวน

เหตุผลที่สอง: การส่งเสริมจากภาครัฐ และนโยบายของการส่งเสริมความยั่งยืนทำให้มีเม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านความยั่งยืน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนนี้ มักได้รับการสนับสนุนจากเงินลงทุน หรือเงินอุดหนุน (subsidy) ตามนโยบายภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทางเลือก แทนที่จะเป็นพลังงานถ่านหิน และโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เช่น โครงการรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนแทนที่รถยนต์สันดาป หลายครั้งรัฐบาลได้ให้แรงจูงใจกับการส่งเสริมพัฒนาการด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนด้วยการให้สิทธิประโยชน์ และผลตอบแทนในการลงทุนที่มากกว่า ซึ่งเราคิดว่าแรงจูงใจจากภาครัฐนี้ เมื่อรวมกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญจะเป็นปัจจัยผลักดันให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านความยั่งยืนให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ

เหตุผลที่สาม: การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านความยั่งยืนยังมีต่อเนื่องในอนาคต โดยหลายประเทศเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความยั่งยืนเหล่านี้ อย่างไรก็ดี ยังต้องใช้เม็ดเงินอีกจำนวนมาก เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนตามที่แต่ละประเทศตั้งเป้าหมาย รวมถึงเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์ ทำให้เราเชื่อว่าแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ น่าจะให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว

อสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์โต้คลื่น พิชิตความเสี่ยงเงินเฟ้อ

ในทางกลับกัน ความพยายามในการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านความยั่งยืนจะทำให้อนาคตของอุตสาหกรรมที่ไม่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนค่อยๆ ชะลอตัวลง และให้ผลตอบแทนน้อยลง อาทิ การชะลอตัวของอุตสาหกรรมท่อส่งน้ำมัน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลตอบแทนเป็นลบในที่สุด ในทางกลับกัน การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาดคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง หรือเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ก็จะพลอยได้รับผลดีตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น การใช้บริการทางด่วนที่เพิ่มสูงขึ้น สืบเนื่องมาจากปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น

สุดท้ายนี้ เราเชื่อว่า โครงสร้างพื้นฐานทางราง (railroads) จะเป็นอีกหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่ให้ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ จากความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ แต่ละประเทศจะมีนโยบายในการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน แต่โดยรวมเราค่อนข้างมีมุมมองที่เป็นบวกอย่างมากในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานด้านความยั่งยืน

เนื้อหาต้นฉบับโดย  Stephen Dover, CFA

Chief Market Strategist, Franklin Templeton Investment Institute

เรียบเรียงโดย FINNOMENA Admin

ข้อสงวนสิทธิ์

  1. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ให้บริการการให้คำแนะนำทั่วไปแก่ FINNOMENA ในการออกแบบพอร์ตการลงทุน (Asset Allocations)
  2. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ไม่รับผิดใด ๆ ต่อบุคคลภายนอก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการ เว็บไซต์ หรือเนื้อหาใด ๆ ที่ได้จัดทำหรือปรากฏในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอกนั้น อีกทั้ง Franklin Templeton ไม่ได้ให้คำรับรอง รับประกัน หรือเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายในเนื้อหาหรือความถูกต้องของข้อมูลในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอก และไม่รับผิดต่อสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น
  3. ในกรณีที่มีความแตกต่างกันระหว่างเอกสารภาษาอังกฤษกับการแปลเป็นภาษาไทย ให้ยึดถือตามเอกสารภาษาอังกฤษ

แหล่งข้อมูล

https://www.franklintempleton.com/content-ftthinks/common/gio/midyear-outlook-guarding-for-inflation-and-searching-for-quality/midyear-outlook-guarding-for-inflation-and-searching-for-quality-0721-us.pdf