4 ปัจจัย ทำไมเงินหยวนจีนจะมีบทบาทสำคัญกับโลก

แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศแรกของโลกที่เผชิญกับการระบาดของ COVID – 19 และต้องเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นประเทศแรกของโลกอีกเช่นกันที่พ้นจากการระบาดได้สำเร็จ และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2020

หลังจากพ้นวิกฤตแล้ว จีนก็เข้าสู่การฟื้นฟูประเทศหลังเหตุการณ์ Pandemic อย่างต่อเนื่อง การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2020 เป็นไปในทิศทางบวก และสามารถยืนหยัดต่อสู้ท่ามกลางการหดตัวของเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก

จีนสามารถรักษาสภาพทางเศรษฐกิจไว้ได้จากการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจในระดับที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ลดการก่อหนี้สาธารณะและจำกัดนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวด ประกอบกับมีมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ได้อย่างเด็ดขาดและสัมฤทธิ์ผล

ปัจจัยเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้จีนเป็นประเทศแถวหน้าในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่อาจทำให้จีนก้าวเข้าสู่ตำแหน่งประเทศที่มีการรวมอำนาจทางเศรษฐกิจในอีกช่วงสิบปีข้างหน้า และการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศจีนจะมีนัยสำคัญกับนักลงทุนทั่วโลก

ในบทความนี้ จะมุ่งเน้นไปที่แนวโน้มค่าเงินหยวนของประเทศจีน (RMB) สืบเนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการประเมินค่าสกุลเงินในไตรมาสนี้ (มิถุนายน –สิงหาคม) เช่นเดียวกับปัจจัยเชิงโครงสร้างระยะยาว ที่คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินหยวนมากขึ้นในปีหน้า

“ เงินหยวนจะมีความสำคัญมากขึ้น เป็นสกุลเงินที่แข็งค่า มีเสถียรภาพ มีความน่าดึงดูดยิ่งขึ้น และจะใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” – Ray Dalio ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารกองทุน Bridgewater Associates หนึ่งในกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

4 ปัจจัย ทำไมเงินหยวนจีนจะมีบทบาทสำคัญกับโลก

โดยพื้นฐานแล้ว ความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจคือกุญแจหลักของการเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ของโลก แม้ว่าระบบโลจิสติกส์จะเกิดการหยุดชะงักทั่วโลกเนื่องจากเกิดการระบาดครั้งใหญ่ของ COVID – 19 แต่ประเทศจีนสามารถรักษาสภาพเศรษฐกิจเอาไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีรายจ่ายขาดดุล ทั้งระดับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจนแตะเพดานใหม่ รวมถึงนโยบายทางการเงินที่ผ่อนปรนจนสุดขั้ว

สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น ยังคงมีบทบาทอย่างต่อเนื่องในปี 2021 ประเทศจีนยังคงเป็นแนวหน้าของโลกสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ Pandemic ในขณะที่ทั่วโลกก็มีการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจากการระบาดครั้งใหญ่เช่นกัน แต่ยังคงล่าช้ากว่าประเทศจีน ประกอบกับยุโรปชะลอแผนการส่งมอบวัคซีนให้กับสหรัฐอเมริกาและ   สหราชอาณาจักร จึงทำให้เกิดภาวะไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021 ในหลาย ๆ ประเทศ ส่งผลให้จีนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแซงหน้าประเทศอื่น ๆ

นอกจากนี้ จีนยังมีอัตราการบริโภคสินค้าภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น การจับจ่ายภาคครัวเรือนภายในประเทศกลายเป็นสิ่งขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมให้ดีขึ้น ก่อให้เกิดความมั่นคงในตลาดการเงินอย่างต่อเนื่อง มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมากขึ้น มีมาตรการจัดการการขาดดุลทางการคลังที่มีประสิทธิภาพซึ่งส่งผลให้มีการก่อหนี้สาธารณะในระดับต่ำ (ประมาณ 60% ของ GDP) มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ จะส่งผลให้เงินหยวนอาจมีการแข็งค่ามากขึ้นในระยะยาว

ประเทศจีนยังมีการตั้งเป้าเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจด้วยการปรับสมดุล แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 14 ของจีน (ปี ค.ศ. 2021 – 2025) กำหนดไว้ว่า ประเทศจีนจะเน้นในเรื่องของ “การหมุนเวียนทางการค้า” อันประกอบด้วย การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายคือ การปรับสมดุลทางเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และรักษาตำแหน่งฐานผู้ผลิตในตลาดโลก

มีการคาดการณ์ว่า จีนไม่เพียงแต่จะมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้นในระดับโลก แต่อาจดำรงตำแหน่ง “ศูนย์กลางการค้าของตลาดโลก” การปรับสมดุลทางเศรษฐกิจภายในประเทศจะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งของการทำสงครามทางการค้ากับสหรัฐ ฯ นอกจากนี้ จีนจำเป็นต้องผลักดันการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับความท้าทายด้านประชากรศาสตร์ด้วยเช่นกัน

แรงกดดันจากสหรัฐ ฯ และจากพันธมิตรภาคส่วนเทคโนโลยีของประเทศ ก็อาจเป็นตัวกระตุ้นให้รัฐบาลจีนมีความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และก้าวเข้าสู่การเป็น Value Chain (ห่วงโซ่คุณค่าในการตลาด) ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ภายในประเทศที่มุ่งการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน จะดึงดูดให้มีการลงทุนในภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและผลักดันการจัดสรรเงินทุนให้ไหลเข้าในประเทศมากตามไปด้วย

อีกประเด็นหนึ่งคือ เงินหยวนดิจิทัล ก็มีบทบาทสำคัญในการแข็งค่าของเงินหยวนด้วยเช่นกัน ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังศึกษาเทคโนโลยีด้านสกุลเงินดิจิทัลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีความมั่นใจในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสกุลเงินดิจิทัล

สกุลเงินดิจิทัลจะมุ่งเน้นไปที่เสถียรภาพของมูลค่าสกุลเงินซึ่งออกโดยธนาคารกลาง สามารถรักษามูลค่า และเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ สามารถซื้อขายได้ง่ายขึ้น และมีความถูกต้องมากกว่าการใช้เงินสด ในทางทฤษฎีนั้น CBDC (Central Bank Digital Currency) จะช่วยเพิ่มความสามารถของรัฐบาลในการป้องกันและตรวจสอบการฉ้อโกงและอาชญากรรมทางการเงิน และสามารถใช้งานในระหว่างประเทศได้ทันที ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน เป็นการเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมทางการเงินมากขึ้น และส่งเสริมการระดมทุนจากภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น สำหรับในประเทศจีน การยอมรับ CBDC ในการใช้งานทั้งในและต่างประเทศจะทำให้ลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) และลดบทบาทการกำกับดูแลจากสถาบันการเงินต่างประเทศ

ประเทศจีนมีการนำเงินหยวนดิจิทัลมาใช้จริงตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2020 ปักกิ่งได้มีการนำร่องใช้เงินดิจิทัลในสี่ หัวเมืองหลัก เพื่อให้ธนาคารทำการทดสอบคุณภาพของระบบ และขยายไปยัง 28 เมืองใหญ่ในเดือนสิงหาคม                 ปี 2020 และจะทำการทดสอบเพิ่มในปี 2021 ที่ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้

จีนตั้งเป้าว่าจะมีการใช้เงินดิจิทัลอย่างแพร่หลายในประเทศช่วงปี 2022 หากจีนสามารถตีตลาดสกุลเงินดิจิทัลและตอบสนองต่อความต้องการในการใช้เงินดิจิทัลเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ และเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเจ้าแรก ๆ ของโลก ความน่าดึงดูดของสกุลเงินดิจิทัล CBDC อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อค่าเงินหยวนที่เพิ่มมากขึ้น และขยับเข้าใกล้การเป็นสกุลเงินสำรองทั่วโลก

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ จีนเปิดตัวขายพันธบัตรที่มีมูลค่ารวม 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับนักลงทุนต่างชาติในช่วงปี 2020 ก็เป็นฐานสำคัญสำหรับการเพิ่มบทบาทของเงินหยวนในตลาดทุนทั่วโลก ประกอบกับ การมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้จีนมีการกำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวในตลาดมากขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องความมั่นคงปลอดภัยและสถานการณ์ทางการเมืองยังเป็นแรงจูงใจในการถือครองเงินหยวนเพิ่มขึ้นในประเทศที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินผ่านโครงการ BRI ของจีน ดังนั้น สกุลเงินหยวนจึงกลายเป็นสินทรัพย์สำคัญในการถือครองท่ามกลางการขยายตัวของจีนไปทั่วโลก

การก้าวกระโดดของจีนอย่างต่อเนื่องอาจเป็นเหตุการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในยุคศตวรรษที่ 21 และท้าทายการเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมืองในระดับสากล หากเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ก็จะเกิดความต้องการสินค้าจากจีนอีกเป็นจำนวนมาก

จะเห็นว่าประเทศจีนส่งเสริมการใช้เงินหยวนในวงกว้าง ทั้งการเปิดตลาดตราสารหนี้ในประเทศสำหรับนักลงทุนต่างชาติ การออกใบกำกับสินค้าโดยใช้สกุลเงินหยวน การทำธุรกรรมทางการเงินและทำการค้าโดยใช้เงินหยวน เพื่อเป็นการเพิ่มการใช้สกุลเงินของประเทศทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มแรก ๆ ที่มีการแปลงสกุลเงินในประเทศให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล และด้วยขนาดของเศรษฐกิจและการทำการค้าของจีน ทำให้ปริมาณการใช้สกุลเงินหยวนในระบบเศรษฐกิจระดับสากลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นไปโดยปริยาย มีการคาดการณ์ไว้ว่า ค่าเงินหยวนจะมีมูลค่ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจกลายมาเป็นสกุลเงินสำรองชั้นนำของโลกเร็วกว่าที่คาดไว้ ก็คงจะไม่ใช่การกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด

เนื้อหาต้นฉบับโดย  Templeton Global Macro

เรียบเรียงโดย FINNOMENA Admin

ข้อสงวนสิทธิ์

  1. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ให้บริการการให้คำแนะนำทั่วไปแก่ FINNOMENA ในการออกแบบพอร์ตการลงทุน (Asset Allocations)
  2. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ไม่รับผิดใด ๆ ต่อบุคคลภายนอก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการ เว็บไซต์ หรือเนื้อหาใด ๆ ที่ได้จัดทำหรือปรากฏในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอกนั้น อีกทั้ง Franklin Templeton ไม่ได้ให้คำรับรอง รับประกัน หรือเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายในเนื้อหาหรือความถูกต้องของข้อมูลในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอก และไม่รับผิดต่อสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น
  3. ในกรณีที่มีความแตกต่างกันระหว่างเอกสารภาษาอังกฤษกับการแปลเป็นภาษาไทย ให้ยึดถือตามเอกสารภาษาอังกฤษ

แหล่งข้อมูล

https://www.franklintempleton.com/content-ftthinks/common/fixed-income/china-calling-the-rise-of-chinese-bond-markets/ftfim-0621-u.pdf