"เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต" โอกาสการลงทุนที่ไม่ควรมองข้ามในอาเซียน

COVID-19 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ทั้งผลกระทบด้านการถดถอยทางเศรษฐกิจ การปิดเมืองเป็นเวลานาน และสภาวะการว่างงาน อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาพร้อมกับ COVID-19 คือการยอมรับและการนำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างรวดเร็ว ซึ่งแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้คล้ายกับตอนที่จีนผลักดันตัวเองให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ในช่วงที่โรค SARS ระบาดเมื่อ 10 ปีก่อน

"เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต" โอกาสการลงทุนที่ไม่ควรมองข้ามในอาเซียน

เมื่อพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ของกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งด้านอายุของประชากรที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว การใช้โทรศัพท์มือถือ และความก้าวหน้าของเครือข่ายระบบโทรคมนาคม จะพบว่าปัจจัยเหล่านี้พร้อมที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจอินเตอร์เน็ต (Internet economy) เติบโตในภูมิภาคนี้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเรามองว่าอุตสาหกรรม 3 ประเภท ได้แก่ (1) Ecommerce (2) เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และ (3) เกม (Gaming) จะเป็นการลงทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้นักลงทุนในอนาคต โดยเฉพาะนักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในกลุ่มประเทศเอเชียเหนือ (เช่น จีน) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. องค์ประกอบทางเศรษฐกิจและปัจจัยต่าง ๆ พร้อมผลักดันเศรษฐกิจอินเตอร์เน็ตของอาเซียน

ในความเป็นจริง เศรษฐกิจอินเตอร์เน็ตของอาเซียนเติบโตมาได้สักพักหนึ่งแล้ว หรือจะเรียกได้ว่าอยู่ที่จุดเปลี่ยนผ่าน (inflection point) ก็ว่าได้ ซึ่ง COVID-19 ได้เข้ามาเร่งการปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอินเตอร์เน็ตดังกล่าวขึ้นอีก โดยเราพบว่าในปี 2020 ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในกลุ่มประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 11% จากปี 2019 และเมื่อสอบถามกลุ่มผู้ที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นครั้งแรก พบว่า 94% จะใช้งานต่อแม้ว่า COVID-19 จะหมดไป สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชากรอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถูกขับเคลื่อนอีกนัยหนึ่ง ผ่านการขยายขอบเขตโครงข่ายการให้บริการอินเตอร์เน็ต และการใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มวัยทำงาน ตลอดจนการขยายตัวของ GDP และกำลังการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากคนชั้นกลาง ซึ่งน่าจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจอินเตอร์เน็ตในระยะถัดไป (รายละเอียดตามตารางด้านล่าง)

"เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต" โอกาสการลงทุนที่ไม่ควรมองข้ามในอาเซียน

Figure 1 ตารางแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศกลุ่มอาเซียน และโอกาสในการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

2. อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเติบโตได้รวดเร็วภายใต้เศรษฐกิจอินเตอร์เน็ตของอาเซียน ได้แก่ (1) e-commerce (2) FinTech และ (3) เกม

2.1 ecommerce โดย e-commerce ในอาเซียนถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันรุนแรงมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งเราคาดว่าตลาด e-commerce จะเติบโตได้อีก 3 เท่าภายในปี 2025 อย่างไรก็ดี แม้ว่าการแข่งขันจะอยู่ในระดับสูง เราพบว่ากลุ่มคนที่เข้าถึง e-commerce ในภูมิภาคอาเซียนยังมีค่อนข้างน้อย กล่าวคือประมาณ 6% เท่านั้น (เมื่อเทียบกับจีนที่ 20%) แสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสที่ e-commerce จะขยายตัวในภูมิภาคอาเซียนได้อีกมาก

การเติบโตของ ecommerce ดังกล่าวทำให้รูปแบบอุตสาหกรรมการค้าปลีกในภูมิภาคเปลี่ยนไป และกระตุ้นการแข่งขันจากผู้เล่นอื่น ๆ ทั้งในลักษณะประเภทของผู้เล่น และแนวทางการส่งเสริมการขาย อาทิ ห้างสรรพสินค้าแบบดั้งเดิมที่เริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับคู่แข่งออนไลน์ และแบรนด์ต่างประเทศที่เผชิญกับความท้าทายจากกลุ่มผู้ขายในท้องถิ่น (Local brands) ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้น เราพบว่าการซื้อขายเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยส่งเสริมการขาย และกระตุ้นยอดขายให้สูงขึ้น เช่น การขายสินค้าผ่านช่องทางโซเชียล และ Livestreaming รวมถึงการผสมผสานระหว่างการใช้ช่องทางดิจิทัล และช่องทางแบบดั้งเดิม และการให้บริการเสริมต่อยอดจากการซื้อขายปกติ เช่น E-commerce ในอินโดนีเซียร่วมกับร้านค้าแบบดั้งเดิมในการให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ และการจ่ายบิลต่าง ๆ (Bill payments)

"เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต" โอกาสการลงทุนที่ไม่ควรมองข้ามในอาเซียน

Figure 2 กราฟแสดงให้เห็นโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรม e-commerce ในกลุ่มประเทศอาเซียน

2.2 FinTech โดยอาเซียนถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีประชากรที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unbanked) ค่อนข้างมาก (ประมาณ 290 ล้านคน) ซึ่ง FinTech จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้ประชาชนกลุ่มนี้เข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกขึ้น และจะเป็นตัวกระตุ้นการแข่งขันจากผู้ให้บริการทางการเงินแบบดั้งเดิม ให้เข้ามาให้บริการภายใต้บริบทใหม่ ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ ทั้งในลักษณะของ e-wallet การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต และการให้สินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล โดยเราเชื่อว่าภายในปี 2025 การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และการให้สินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลจะเติบโตขึ้นเท่าตัว และ 4 เท่าตัวตามลำดับ

ปัจจุบันเราเห็นการเข้ามาของ FinTech ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น บริษัท Start-up จนถึงบริษัทด้านโทรคมนาคมขนาดใหญ่ที่ต้องการเข้ามาจับธุรกิจทางการเงิน ตลอดจนธนาคารพาณิชย์ที่พยายามพัฒนาตัวเอง เพื่อไม่ให้สุญเสียส่วนแบ่งตลาด โดยล่าสุดในไทย เราเห็นความร่วมมือกันระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ในการร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ บริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด (AISCB)  เพื่อให้บริการการสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Lending) และสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกมากยิ่งขึ้น ผ่านฐานลูกค้าทั้งผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ และลูกค้าธนาคาร ซึ่งเราเชื่อว่า FinTech จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียนในอนาคตที่สำคัญ

2.3 เกม โดยอาเซียนถือว่าเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีการเติบโตด้านอุตสาหกรรมเกมอย่างรวดเร็ว ซึ่ง COVID-19 ได้เข้ามาเป็นตัวเร่งการเติบโตจากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องอยู่ที่บ้านในช่วงล็อกดาวน์ เราคาดว่าตลาดอุตสาหกรรมเกมจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าภายในปี 2025

การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมเกมในภูมิภาคนี้เอง ทำให้บริษัทเกมในอาเซียนได้เริ่มขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ อาทิ SEA Group (SEA) ของสิงคโปร์ที่เป็นเจ้าของ Garena ได้ขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย อเมริกา และตะวันออกกลาง และเกม Free Fire (Garena) ของ SEA ก็เป็นเกมที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดในปี 2019 และ 2020 ทั้งนี้ บริษัทเกมหลายแห่งได้พยายามดึงดูดผู้เล่นด้วยการเพิ่มฟังก์ชั่นต่าง ๆ ให้ผู้เล่นสนุกและใช้เวลาเล่นเกมนานขึ้น เช่น การคุยกับเพื่อนร่วมทีมในเกม หรือการสื่อสารกับผู้เล่นอื่น ๆ ในเกมเดียวกัน ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมเกมยังเติบโตได้ต่อไป

3. เศรษฐกิจอินเตอร์เน็ตอาเซียนจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการลงทุน

ในช่วงที่ผ่านมา มีบริษัท unicorn ด้านอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นมากมาย และมีมากกว่า 10 บริษัทที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เช่น Grab (super app ของสิงคโปร์) Bukalapak (e-commerce ของอินโดนีเซีย) และ GoTo (super app ของอินโดนีเซียที่เกิดจากการรวมกันของ GoJek และ Tokopedia ในช่วงกลางปี 2021) ซึ่งเราคิดว่าการลงทุนภายใต้ธีมเศรษฐกิจอินเตอร์เน็ตในอาเซียนเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนจากกลุ่มเทคโนโลยีจีน ซึ่งได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลจีนที่เข้ามาจัดระเบียบอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งกดดันมูลค่าหุ้นในระยะหลัง

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับจีน เรามองว่าพัฒนาการของบริษัทอินเตอร์เน็ตเหล่านี้ในภูมิภาคอาเซียนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังไม่มีปัจจัยด้านการผูกขาดเข้ามาเกี่ยวข้องเท่าไรนัก กอปรกับรัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียนน่าจะยังต้องโฟกัสไปการทำนโยบายด้านอื่น ๆ ก่อน ด้วยเหตุนี้ โอกาสที่รัฐบาลของกลุ่มประเทศอาเซียนจะเข้ามากำกับดูแลบริษัทอินเตอร์เน็ตในระยะสั้น และระยะกลางน่าจะมีน้อย กอปรกับปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น ตลอดจนความพร้อมด้านในกลุ่มประเทศอาเซียนต่าง ๆ เราจึงเห็นว่าการลงทุนในบริษัทในกลุ่มเศรษฐกิจอินเตอร์เน็ตเหล่านี้น่าจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงในระยะยาว

เนื้อหาต้นฉบับโดย  Yi Ping Liao

Senior Research Analyst/ Assistant Portfolio Manager, Franklin Templeton Emerging Markets Equity

Claus Born

Institutional Product Specialist, Franklin Templeton Emerging Markets Equity

ข้อสงวนสิทธิ์

  1. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ให้บริการการให้คำแนะนำทั่วไปแก่ FINNOMENA ในการออกแบบพอร์ตการลงทุน (Asset Allocations)
  2. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ไม่รับผิดใด ๆ ต่อบุคคลภายนอก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการ เว็บไซต์ หรือเนื้อหาใด ๆ ที่ได้จัดทำหรือปรากฏในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอกนั้น อีกทั้ง Franklin Templeton ไม่ได้ให้คำรับรอง รับประกัน หรือเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายในเนื้อหาหรือความถูกต้องของข้อมูลในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอก และไม่รับผิดต่อสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น
  3. ในกรณีที่มีความแตกต่างกันระหว่างเอกสารภาษาอังกฤษกับการแปลเป็นภาษาไทย ให้ยึดถือตามเอกสารภาษาอังกฤษ

แหล่งข้อมูล

https://www.franklintempletonglobal.com/content-ftthinks/common/emerging-markets/southeast-asias-internet-economy-on-a-fast-track/trin-0821-a.pdf