Yield curve กับการถดถอยของหุ้นสหรัฐฯ

กราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve) ระยะยาว 10 ปี กับระยะสั้น 2 ปี กลับทิศชั่วคราว (แสดงถึงผลตอบแทนพันธบัตร 2 ปี สูงกว่าพันธบัตร 10 ปี) ซึ่งการกลับทิศ (inverted yield curve) มักจะส่งสัญญาณเชิงลบต่อสินทรัพย์เสี่ยง และเศรษฐกิจในภาพกว้าง อย่างไรก็ดี เรามองว่าการตีความดังกล่าวยังต้องอาศัยข้อมูลอื่น ๆ ประกอบ ซึ่งในบทความนี้ เราสรุปความเห็นของเรา และประเมินความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะถดถอย แนวโน้มการเติบโตในอนาคต และผลตอบแทนของหุ้น ดังนี้

Yield curve กับการถดถอยของหุ้นสหรัฐฯ

เกิดอะไรขึ้นกับ yield curve

Yield curve พันธบัตร 10 ปี และ 2 ปี กลับทิศชั่วคราวในวันที่ 31 มีนาคม 2022 แต่ถ้าเราพิจารณาในเชิงลึก และเจาะจงพันธบัตรระยะสั้นกว่าเดิม จะเห็นว่า yield curve พันธบัตร 2 ปี และ 3 เดือน ยังอยู่ในระดับปกติ (ชันขึ้น และไม่กลับทิศ) โดยเรามองว่าพันธบัตร 3 เดือน 2 ปี และ 10 ปี ส่งสัญญาณต่าง ๆ กัน โดย

  • Yield curve พันธบัตร 3 เดือน ส่งสัญญาณถึงความคาดหวังต่อนโยบายการเงินในระยะสั้น
  • Yield curve พันธบัตร 2 ปี ส่งสัญญาณถึงความคาดหวังอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และวัฏจักรเศรษฐกิจใน 2 ปี
  • Yield curve พันธบัตร 10 ปี ส่งสัญญาณถึงการคาดการณ์นโยบายการเงินใน 10 ปี และเนื่องจากกินระยะเวลานานกว่า yield curve ระยะอื่น ๆ วัฏจักรเศรษฐกิจในระยะสั้น จึงถูกลดความสำคัญลง

ซึ่งโดยปกติ yield curve จะมีความชันเพิ่มขึ้นในพันธบัตรที่มีระยะเวลาถือครองนานกว่า (คล้ายกับว่าการถือครองพันธบัตรระยะยาว ย่อมได้ผลตอบแทนมากกว่าพันธบัตรระยะสั้น)

อย่างไรก็ดี เมื่อ yield curve พันธบัตร 3 เดือน อยู่ในระดับสูงกว่า yield curve พันธบัตร 2 ปี แสดงให้เห็นว่า ตลาดคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายใน 2 ปี ซึ่งมักส่งสัญญาณถึงเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และถ้า yield curve พันธบัตร 2 ปี อยู่ในระดับสูงกว่า yield curve พันธบัตร 10 ปี มักจะแสดงว่านโยบายการเงินระยะสั้นจะค่อนข้างเข้มงวด และตึงตัว โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงกว่าอัตราที่ควรจะเป็น (long-term equilibrium) ชั่วคราว

Yield curve กับการถดถอยของหุ้นสหรัฐฯ

Figure 1 กราฟแสดงตัวอย่าง yield curve สำหรับพันธบัตรที่มีช่วงเวลาถือครองต่าง ๆปัจจุบัน ความชันของ yield curve พันธบัตร 3 เดือน และพันธบัตร 2 ปี ส่งสัญญาณว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วง 2 ปีนี้ และ inverted yield curve แสดงให้เห็นว่า FED จะแตะเบรกการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อให้กลับมาอยู่ที่ระดับ 2% ซึ่งเป็นระดับเป้าหมาย

Yield curve กับการถดถอยของหุ้นสหรัฐฯ

Figure 2 กราฟแสดงให้เห็นว่า yield curve ของพันธบัตร 3 เดือน และพันธบัตร 2 ปี ยังชันอยู่
แต่ว่า yield curve พันธบัตร 2 ปี และพันธบัตร 10 ปี เริ่มกลับทิศให้เห็นแล้ว

Inverted yield curve ของพันธบัตร 10 ปี และพันธบัตร 2 ปี บอกอะไรเราได้บ้าง

จากสถิติที่ผ่านมา inverted yield curve ของพันธบัตร 10 ปี และพันธบัตร 2 ปี มักเป็นเครื่องมือในการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเบื้องต้นเท่านั้น (too early) โดยเรามองว่า inverted yield curve ของพันธบัตร 2 ปี และพันธบัตร 3 เดือนน่าจะส่งสัญญาณที่เที่ยงตรงกว่า โดยถ้าเกิด inverted yield curve ของพันธบัตร 10 ปี และพันธบัตร 2 ปีเพียงอย่างเดียว ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาของ FED ที่จะพุ่งเป้าไปที่ inverted yield curve ของพันธบัตรระยะสั้นมากกว่า และเนื่องจากยังไม่เกิด inverted yield curve ที่พันธบัตรระยะสั้น เราจึงมองว่ายังไม่น่าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ และปีหน้า แม้ว่าจะมีความเสี่ยงมากขึ้น

Yield curve กับการถดถอยของหุ้นสหรัฐฯ

Figure 3 Yield curve พันธบัตรระยะสั้นเหมาะกับการคาดการณ์ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจมากกว่าพันธบัตรระยะยาว

Inverted yield curve ส่งสัญญาณเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไร

เศรษฐกิจมักจะชะลอตัวหลังจากเกิด Inverted yield curve พันธบัตร 10 ปี และพันธบัตร 2 ปี โดยเราสังเกตจากดัชนีคำสั่งผลิตใหม่ (manufacturing new orders) ที่มักจะปรับตัวลงหลังเกิด inverted yield curve และจะปรับตัวลงต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน เราเชื่อว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจะกลับมาอยู่ในแนวโน้มเดิมก่อนเกิด COVID-19 โดยตัวเลขล่าสุดของดัชนีดังกล่าวอยู่ที่ 53.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2020 ซึ่งหากตัวเลขต่ำกว่า 50 จะแสดงถึงการหดตัวของเศรษฐกิจ โดยเรามองว่ามีความเสี่ยงที่ตัวเลขดังกล่าวจะออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตที่จะเริ่มชะลอตัวลง

Yield curve กับการถดถอยของหุ้นสหรัฐฯ

Figure 4 ตารางแสดงการหดตัวของดัชนีคำสั่งผลิตใหม่ ซึ่งหลังจากเกิด inverted yield curve เราพบว่าเศรษฐกิจในปีถัดไปมักจะชะลอตัวลง

Inverted yield curve ส่งสัญญาณเรื่องผลตอบแทนของหุ้นอย่างไร

Inverted yield curve พันธบัตร 10 ปี และพันธบัตร 2 ปี ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าผลตอบแทนของหุ้นจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะใน 35 ปีล่าสุด บางครั้งการเกิด inverted yield curve ตลาดหุ้นก็ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวก ยกเว้น ในช่วงปี 1965-1982 ที่ดอกเบี้ยพุ่งขึ้นไปถึง 15% ในปี 1980 และกดดันผลตอบแทนของหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน เราเชื่อว่ายังค่อนข้างมีความเปราะบาง และมูลค่าหุ้นอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนแท้จริง (real yield) ของพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้หุ้นยังเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า TINA (There is No Alternative) หมายความว่า นักลงทุนยังไม่เห็นทางเลือกอื่นนอกจากการลงทุนในหุ้นเท่าไรนัก ทำให้ความสนใจในตลาดหุ้นยังคงมีอยู่

Yield curve กับการถดถอยของหุ้นสหรัฐฯ

Figure 5 Inverted yield curve ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าผลตอบแทนของหุ้นจะเป็นอย่างไร

Yield curve กับการถดถอยของหุ้นสหรัฐฯ

Figure 6 Inverted yield curve หากเกิดคู่กับภาวะเงินเฟ้อสูงอาจกดดันผลตอบแทนจากหุ้นได้

สรุปมุมมองของเราจาก inverted yield curve

เรามองว่า inverted yield curve ยังไม่ได้ส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยชัดเจน แต่ก็สร้างความกังวลให้เราเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี อีก 12 เดือนข้างหน้า เรายังเชื่อว่าสหรัฐฯ จะไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้เรายังไม่ได้วางแผนการลงทุนแบบตั้งรับ (defensive) ทั้งนี้ เราลดระดับความชอบในการลงทุนหุ้นลงมาอยู่ในระดับเดียวกับการลงทุนในตราสารหนี้ โดยขอให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นในระยะถัดไป ดังนี้

  1. ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย มีความเสี่ยงมากขึ้น แต่โดยรวมยังคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น
  2. การเติบโตของเศรษฐกิจ มีแนวโน้มชะลอตัวลง
  3. ผลตอบแทนของหุ้น จะถูกกดดัน และให้ผลตอบแทนจำกัดจากภาวะเงินเฟ้อสูงเป็นสำคัญ โดยเราได้ปรับลดระดับความน่าสนใจของหุ้นลง ให้เท่ากับตราสารหนี้

ข้อสงวนสิทธิ์

  1. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ให้บริการการให้คำแนะนำทั่วไปแก่ FINNOMENA ในการออกแบบพอร์ตการลงทุน (Asset Allocations)
  2. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ไม่รับผิดใด ๆ ต่อบุคคลภายนอก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการ เว็บไซต์ หรือเนื้อหาใด ๆ ที่ได้จัดทำหรือปรากฏในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอกนั้น อีกทั้ง Franklin Templeton ไม่ได้ให้คำรับรอง รับประกัน หรือเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายในเนื้อหาหรือความถูกต้องของข้อมูลในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอก และไม่รับผิดต่อสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น
  3. ในกรณีที่มีความแตกต่างกันระหว่างเอกสารภาษาอังกฤษกับการแปลเป็นภาษาไทย ให้ยึดถือตามเอกสารภาษาอังกฤษ

แหล่งข้อมูล

https://www.franklintempleton.com/articles/blogs/peering-around-the-yield-curve