มุมมองตลาดปัจจุบัน

ตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง โดยมีสาเหตุหลักจากการที่ฟิทช์ เรตติงส์ประกาศลดอันดับเครดิตสหรัฐ ท่ามกลางความกังวลว่าเฟดและธนาคารกลางยุโรปจะยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ และปัญหาวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้น สวนทางกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลก เนื่องจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองคลี่คลายลงหลังมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลให้นักลงทุนคาดหวังว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป

ทั้งนี้ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าที่คาด และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐยังคงบ่งชี้ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ในขณะที่จีดีพีไตรมาส 2/66 ของไทยออกมาต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากการส่งออกหดตัว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด และการใช้จ่ายภาครัฐลดลงจากผลของฐานในปีที่แล้วสูง แต่การบริโภคภาคเอกชนของไทยยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง  นอกจากนี้ ประธานเฟดส่งสัญญาณว่าตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินในครั้งถัดไปจะเป็นไปอย่างระมัดระวัง และ ธปท. ระบุว่าการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเงินเฟ้อ

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ทางเรามีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากความเสี่ยงจากการขึ้นดอกเบี้ยมีอยู่จำกัด และตลาดอาจเริ่มมองไปถึงแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงในปีหน้า ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯที่ไม่ได้ส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างที่หลายฝ่ายกังวล อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ และความคาดหวังที่สูงเกินไปต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนอาจเป็นแรงกดดันต่อตลาดการลงทุน

พอร์ตการลงทุน

ที่มา: เอกสารอัปเดตพอร์ต Krungsri The Masterpiece วันที่: 1 กันยายน 2023

  

ที่มา: เอกสารอัปเดตพอร์ต Krungsri The Masterpiece วันที่: 1 กันยายน 2023

กองทุนแนะนำสำหรับการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์/ภูมิภาค

กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ

KFAFIX-A:

  • กองทุนกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาวมีแนวโน้มยังคงต้องเผชิญกับความผันผวนในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่งในช่วงที่เหลือของปี 2566 ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ โดยแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปี 2566 ยังคงมีความไม่แน่นอนของจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 1 ครั้งสู่ระดับ 5.50 – 5.75% อย่างไรก็ดีในปีถัดไปมีแนวโน้มที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง สำหรับมุมมองเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายใกล้ถึงจุดสิ้นสุดสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งในช่วงสิ้นปี 2566 มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้ง สู่ระดับ 2.50% ดังนั้นผู้จัดการกองทุนจึงทยอยเพิ่มการลงทุนในตราสารอายุยาวขึ้นอย่างระมัดระวัง โดยกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนในระดับสูงยังคงสามารถช่วยลดความผันผวนของตลาดลงได้ โดยคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนกลุ่มนี้มีความน่าสนใจสำหรับเงินลงทุนระยะยาวที่ไม่ต้องการสภาพคล่องในระยะสั้นอาทิเช่น กองทุน KFAFIX (ขั้นต่ำ 1 ปี ขึ้นไป) ปัจจุบันกรอบ Duration เฉลี่ยของกองทุน KFAFIX = 1.6 – 2.4 ปี

กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ

KF-SINCOME/ KF-CSINCOM:

  • ผู้จัดการกองทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อตราสารหนี้สหรัฐฯมากขึ้น โดยมีการเพิ่มอายุเฉลี่ยของกองทุน โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามผู้จัดการกองทุนมีมุมมองเชิงระมัดระวังมากขึ้นต่อตราสารหนี้กลุ่มอื่นๆ โดยเน้นเลือกลงทุนในตราสารหนี้ Investment Grade ภาคเอกชนที่มีอายุสั้นๆมากขึ้น รวมไปถึงการลดสัดส่วนของตราสารหนี้ High Yield และตราสารหนี้ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ลง

กองทุนตราสารทุนในประเทศ

KFDYNAMIC:

  • กองทุนที่เน้นการเฟ้นหาหุ้นที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละสภาวะตลาด มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดีในระยะกลางถึงยาวตามผลการดำเนินงานของบริษัทฯที่กองทุนคัดเลือกลงทุน

กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ Developed Market Equity

KFUSINDX :

  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยผู้จัดการกองทุนมีมุมมองว่าตลาดอาจเผชิญกับแรงขายทำกำไร หลังจากที่หุ้นกลุ่มเติบโตสูงอย่างกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ(Fed) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% พร้อมส่งสัญญาณว่ามีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก หากว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดหุ้นในกลุ่มเติบโตสูง

 

KFJPINDX :

  • ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีทิศทางชะลอตัวลงเนื่องด้วยแรงเทขายทำกำไร ประกอบกับความกังวลเรื่องการเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) หลังจากที่มีการประกาศขยับกรอบนโยบาย yield curve control ให้สามารถเคลื่อนไหวได้ในช่วง – 1% ถึง 1% นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เพิ่มความกังวลให้กับตลาดเพิ่มเติม

กองทุนที่ลงทุนทั่วโลก

KFGBRAND-A/KFGBRAND-D:

  • กองทุนมีการลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพสูง, รายได้ และกำไรเติบโตได้สม่ำเสมอโดยมีลักษณะเป็นหุ้นที่มีความทนทานและมีคุณภาพ (Defensive Quality) ซึ่งเป็นการลงทุนที่เหมาะกับภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว และตลาดที่ยังคงมีความผันผวน

กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศตลาดกำลังพัฒนา

KF-INDIA:

  • ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอตัวลง อีกทั้งเศรษฐกิจของอินเดียเริ่มทยอยฟื้นตัว ประกอบกับแรงกดดันทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่น้อยกว่าจีน ทำให้ตลาดอินเดียปรับตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังต้องระวังเรื่องระดับราคาตลาดที่อยู่ในระดับสูง

 

KFACHINA-A:

  • ภาพรวมตลาดหุ้นจีนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ทางรัฐบาลประกาศมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ ซึ่งยังคงมีมาตรการช่วยเหลือในภาคอสังหาฯ และการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยเริ่มจากการสนับสนุนการใช้จ่ายในสินค้าขนาดใหญ่ อาทิเช่น รถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังต้องการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวลง

ที่มา: เอกสารอัปเดตพอร์ต Krungsri The Masterpiece วันที่: 1 กันยายน 2023

คำเตือน  ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน อาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน  ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้   กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน อาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น   กองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้  (non-investment grade) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ผู้ลงทุนจึงอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้รับชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย  เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูลแต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด โทร  0 2657 5757 | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299