Range : ต้องหลากหลาย...แล้วค่อยลุ่มลึก

ในวันตรุษจีนของทุกปี ผมจะทำการรีวิวหนังสือที่ผมชื่นชอบในปีนั้นๆ โดยปี 2020 จะขอเลือกหนังสือที่ชื่อ Range ผลงานของ “เดวิด เอปสตีน”

ด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่อลองได้อ่านไปเพียงไม่กี่หน้า ก็ไม่อยากจะวางหนังสือเล่มนี้ลง โดยสามารถที่จะอ่านได้รวดเดียวจนเกือบจบเล่มได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

สำหรับตัวอย่างต่างๆ ที่ยกมาสนับสนุนความเชื่อของ เอปสตีน” ที่ว่าในโลกที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญในสายงานต่างๆ นั้น Generalist หรือผู้ที่รู้หลายๆ เรื่องจะสามารถทำผลงานได้ดีกว่าผู้ที่ชำนาญเพียงเรื่องหรือสาขาเดียวนั้น เขาได้เลือกสรรมาอย่างพิถีพิถันและสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือของประเด็นที่เขาต้องการให้ผู้อ่านคล้อยตามได้เป็นอย่างดี

จริงๆ แล้ว นี่ไม่ใช่หนังสือเล่มแรกที่ทำให้ผมรู้จักเดวิส เอปสตีน เขาเคยมีผลงานหนังสือที่ชื่อว่า Sports Gene เมื่อหลายปีก่อนซึ่งผมชื่นชอบในระดับหนึ่ง โดยปัจจุบันเขาเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสาร Sports Illustrated จึงมีความชำนาญเรื่องเกี่ยวกับกีฬาเป็นอย่างดี

หากท่านผู้อ่านชื่อชอบหนังสือแนวของมัลคอม แกลดเวลอย่าง Outliers หรือของแฟรค์ พาร์ตนอย อย่าง Wait : The Art and Science of Delay ที่เขียนถึง “โนวัค โจโควิช” ว่าช็อตการตีเทนนิสของเขามีการชะลอการเหวี่ยงแร็คเกตให้กระทบโดนลูกให้ช้าลงไปครึ่งจังหวะ ทำให้ได้เปรียบน่าจะชอบ Range ค่อนข้างแน่

ก่อนที่จะลงไปถึงเนื้อหาของ Range ผมขอเล่าถึงแนวคิดหลักของหนังสือเล่มนี้ที่ว่า การเลือกที่จะหาสายงานหรือสาขาที่เชี่ยวชาญตั้งแต่เด็กโดยไม่ไปทดลองทำงานในสาขาอื่นๆ สักพักหนึ่งก่อนแล้วจึงเลือกสิ่งที่ต้องการมุ่งไปนั้น เอปสตีน เชื่อว่าท้ายสุดแล้วจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี

ถ้าจะยกตัวอย่างคำถามที่เหมือนกับสิ่งที่หนังสือเล่มนี้ชวนให้คิดเห็นจะเป็นเมื่อสมัย 20 กว่าปีที่แล้ว ผมจำได้ว่าปรัชญาการสอนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จะมาแนวเดียวกับที่เอปสตีนเชื่อ คือให้ผู้เรียนศึกษาแบบกว้างๆ ทุกสาขาแล้ว จึงเลือกสาขาเฉพาะจริงๆ ในปี 4 ในขณะที่คณะวิศวกรรมศาสตร์พระจอมเกล้าลาดกระบัง จะเลือกโฟกัสไปในสาขาที่เฉพาะเจาะจง ตั้งแต่ปี 1 ซึ่งท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูว่าแบบไหนดีกว่ากันเอาเอง

มาถึงเนื้อหาของ Range เริ่มต้นที่การเปรียบเทียบระหว่าง ไทเกอร์ วู้ดส์ กับ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ว่าวู้ดส์หัดตีกอลฟ์ตั้งแต่ยังเดินไม่ได้และได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ให้เล่นกอลฟ์อย่างเดียวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในขณะที่เฟเดอเรอร์กว่าจะเล่นเทนนิสอย่างจริงจังก็เมื่อเขาเป็นวัยรุ่นแล้ว โดยก่อนหน้านั้นเฟดเดกซ์เล่นกีฬามาเกือบทุกชนิด ทำให้เมื่อเข้าใกล้วัยที่ทั้งคู่เข้าสู่จุดสูงสุดของอาชีพ เฟดเดอร์เรอร์ยืนระยะในการเล่นได้ดีกว่าด้วยความสมบูรณ์แบบของกล้ามเนื้อที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสไตล์การเล่นเมื่ออายุมากขึ้น ในขณะที่วู้ดส์เข้าสู่จุดสูงสุดของกีฬากอลฟ์เมื่ออายุไม่ถึง 30 ปีเสียด้วยซ้ำ

ซึ่งทางเอปสตีนพยายามจะสื่อว่าการเลือกที่จะฝึกฝนจนชำนาญในกีฬากอลฟ์ตั้งแต่วัยเด็กมากๆ ส่งผลที่ดีน้อยกว่าเฟดเดกซ์ ที่ลองผิดลองถูกจนกระทั่งเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ตรงนี้ผมมองว่าน่าจะเป็นเพราะวู้ดส์มีพฤติกรรมที่มีวินัยในการซ้อมและชีวิตส่วนตัวที่น้อยกว่าเฟดเดอเรอร์เมื่อเป็นผู้ใหญ่ด้วย จึงทำให้เฟดเดกซ์ยืนระยะได้นานกว่าวู้ดส์ สำหรับแนวคิดในหนังสือเล่มนี้ที่ถือว่าใหม่และน่าสนใจได้แก่

1. Cognitive Entrenchment 

หรือยิ่งคุณชำนาญด้านไหนไปแบบสุดๆ แล้วจะปรับตัวต่อสิ่งใหม่ๆ ได้ยาก หรือช้ากว่าผู้ที่ยังใหม่ในสาขาดังกล่าว

ยกตัวอย่างนักบัญชีที่เชี่ยวชาญในมาตรฐานบัญชีเดิมมานานกว่า 30 ปี เมื่อมาตรฐานบัญชีใหม่ที่แตกต่างจากเดิมเริ่มต้นขึ้น ผู้ที่เพิ่งจบด้านบัญชีจะสามารถเรียนรู้มาตรฐานบัญชีใหม่ดังกล่าวได้เร็วกว่านักบัญชีที่ทำงานมานาน

รวมถึงการที่พบว่านักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ส่วนใหญ่จะมีงานอดิเรกที่แตกต่างจากสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์ที่ทำวิจัยอยู่ไปแบบสุดขั้ว ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วไปมักจะมีงานอดิเรกที่ใกล้เคียงกับงานที่ตนเองทำอยู่

นอกจากนี้ สตีฟ จ็อบส์ ยังกล่าวว่าตนเองไม่มีทางที่จะสร้างคอมพิวเตอร์แมคอินทอชขึ้นมาได้เลย หากไม่ได้เรียนวิชาด้านการสร้างอักษรอย่าง Calligraphy รวมถึง คลาวน์ แชนนอน สามารถสร้างทฤษฎีที่เป็นต้นกำเนิดของคอมพิวเตอร์จากการผสมระบบดิจิทัลของจอร์จ บูลล์ หรือ Boolean System กับระบบโทรศัพท์ของ AT&T

2. Desirable Difficulty 

หรือแนวคิดที่ว่าหากคุณเรียนวิชาพื้นฐานอะไรก็ตามที่ซับซ้อนและหลากหลาย แม้คุณจะทำคะแนนในการสอบได้ไม่ดี ทว่าเมื่อคุณไปเรียนวิชาดังกล่าวในระดับสูงขึ้นคุณจะสามารถเข้าใจวิชาดังกล่าวได้ดีและทำคะแนนได้ดีกว่าผู้ที่เรียนวิชาพื้นฐานในแบบง่ายๆ และทำคะแนนได้ดี

ตรงจุดนี้เอปสตีนยกตัวอย่างวิชาแคลคูลัส 1 ว่าหากเรียนแบบยากๆ จะดีกว่าเรียนแบบง่ายๆ เมื่อต้องเรียนวิชาในระดับที่สูงขึ้น หรือในยุคหนึ่งที่วิชา MBA เฟื่องฟู ผู้ที่จบปริญญาตรีด้านแพทย์หรือวิศวกรรมศาสตร์มักจะมีผลการเรียนที่ดีกว่าผู้ที่จบมาทางด้านสังคมศาสตร์

3. Match Quality 

หรือการที่ค่อยๆ เรียนรู้จากการทำงานเพื่อค้นหาตัวตนของตัวเอง น่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีเป็นส่วนใหญ่ อย่างไมเคิล คลินช์ตัน ที่เขียนหนังสือ Jurassic Park จบด้านการแพทย์มาหรือแพทริคโรทฟัส ผู้เขียนหนังสือที่ซีรีส์ดัง Game of Thrones นำมาดัดแปลงให้เป็นบทในซีรีส์ดังทางทีวีสตรีมมิง จริงๆ แล้วเขาจบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์เคมี

นอกจากนี้ ตัวตนของคุณเองเปลี่ยนไปจากเดิมแบบที่คุณคาดไม่ถึง หรือ End of History illusion โดยหากมีคนถามว่าคุณจะไปดูคอนเสิร์ตศิลปินที่ชื่นชอบเมื่อ 10 ปีก่อน จากการสำรวจของนักจิตวิทยาแดน กิลเบอร์ต พบว่ายอมจ่ายตั๋วเพียง 80 ดอลลาร์ในขณะที่ยอมจ่ายตั๋ว 129 ดอลลาร์ในรอบการแสดงในอีก 10 ปีข้างหน้าเพื่อไปดูศิลปินที่ตนชื่นชอบในวันนี้

ดังนั้น ไม่น่าแปลกว่างานที่คุณเคยทำแล้วโดนใจเมื่อในอดีตส่วนใหญ่คุณจะไม่ชื่นชอบแล้วในวันนี้

โดย Range แม้ว่าจะเป็นหนังสือที่ไม่ได้ดีที่สุดในปีที่แล้ว แต่อ่านแล้วสนุกที่สุดสำหรับผมครับ

MacroView

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/649464