5-things-to-fail-for-invest

หนทางสู่ความสำเร็จมักจะไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่หลายคนที่เข้าสู่เส้นทางการลงทุนก็อาจจะถามว่า ทำไมมันโรยด้วยขวากหนามเยอะแยะเกินไปหมด?

บทความนี้จะพาทุกท่านที่ไม่ว่ากำลังจะเริ่มต้นลงทุน หรือ ลงทุนมาแล้วซักระยะ  กลับมาย้อนตรวจสอบ และเตือนตัวเองกันอีกครั้งว่า อุปสรรคข้างหน้า ที่มันจะมาทดสอบเราแน่ๆนเส้นทางการลงทุนนั้นมีอะไรบ้าง และวิธีรับมือกับอุปสรรคเหล่านั้นต้องทำยังไง

1.) ลงทุน เพราะ เชื่อตามคนอื่น

ซักครั้งหนึ่งในชีวิต ที่เราทุกคนต้องซื้อหุ้นหรือกองทุน เพียงเพราะ มีเพื่อนซักคน ที่พูดจาดูดีน่าเชื่อถือ มากระซิบข้างๆแล้วบอกอเราว่า “หุ้นตัวนี้น่าเก็บ ราคามันจะไปถึง xx บาทนะ” แล้วเราก็ไม่รอช้า เคาะขวาด้วยจิตวิญญาณของนักล่าผลตอบแทนทันที … ถ้าโชคดีได้กำไร ก็ยิ้มไป แต่ส่วนใหญ่มันจะเจ็บตัวนี่สิครับเหตุผลเบื้องหลังลึกๆ ที่การลงทุนโดยเชื่อตามคนอื่น ทำให้คุณถอยหลัง ก็เพราะ ถึงแม้คุณจะกำไรจากมัน แต่บทเรียนที่คุณได้ก็คือ “เพื่อนคุณแม่นจุงเบย” มันไม่ได้ทำให้เราพัฒนาองค์ความรู้ใดที่จำเป็นต่อการไปถึงอิสระภาพการเงินเลย และถ้าการลงทุนนั้นมันทำให้คุณติดดอย สิ่งที่คุณเรียนรู้ ก็แค่เพียง เพื่อนคุณไม่ได้แม่นอย่างที่คิด เผลอๆ จะผิดใจไปคบกันต่อในอนาคตอีกต่างหาก

2.) ซื้อขายบ่อยครั้งเกินไป

มีอาชีพหนึ่งที่ใครหลายคนใฝ่ฝันอยากจะเป็น นั่นก็คือ “นักลงทุนอิสระ” และสายหนึ่งที่สามารถทำเงินได้ดี และเป็นที่ต้องการก็คือ Daytrader หรือ นักลงทุนแบบเก็งกำไรระยะสั้น ซื้อขายรายวัน แน่นอนว่า มีคนประสบความสำเร็จ และยึดถือแนวทางเดย์เทรด เป็นอาชีพหลักในการสร้างเงินเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว แต่ไม่ใช่ว่า ทุกคนจะทำเช่นนนั้นได้ เปรียบไปก็เหมือน เราเห็นนักกีฬาอาชีพ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แถมยังได้รายได้ปีละหลักสิบล้าน เราก็ต้องอิจฉา และมีความฝันว่าเป็นไปได้ เรา (หรือลามไปถึงลูกของเรา) จะสามารถเป็นนักกีฬาคนนั้นได้ไหมนะ? ประเด็นที่คุณอาจลืมคิดไปก็คือ เทรดเดอร์ก็เหมือนนักกีฬาอาชีพ ที่ความสำคัญ ไม่ได้อยู่แค่ช่วงเวลาที่ลงสนาม หากแต่เป็นการฝึกซ้อมระหว่างทางที่ยาวนาน สม่ำเสมอ และมีระเบียบวินัย โดยใส่ความจริงจังกับมันในทุกๆช่วงของชีวิต

ในเกมส์เดย์เทรดนั้น คุณต้องลงไปสู้กับนักกีฬาอาชีพทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโบรกเกอร์ต่างชาติ บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ (ที่เรียกกันว่าป๊อบเทรด) หรือแม้กระทั่ง เจ้ามือปั่นหุ้นผู้กุมเงินส่วนใหญ่ ผู้เล่นเหล่านี้ มีข้อได้เปรียบมากกว่าเราหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลในมือ อำนาจเงิน และค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ถูกกว่าเรา ดังนั้น ถามตัวเองหลายๆครั้ง ก่อนคิดจะนั่งเดย์เทรดว่า เรามีจุดแข็งอะไร และข้อได้เปรียบอะไรที่จะลงไปสู้ในสนามเหล่านั้น

3.) พยายามไล่ตามหาผลตอบแทน

ในบางช่วงที่พอร์ตการลงทุนของคุณไม่เป็นใจ แล้วในยามนั้น เราเห็นหุ้นที่เพื่อนเราถืออยู่วิ่งเอาๆ สิ่งที่คุณจะทำคือ?

  1. ขายหุ้นของตัวเอง ไปซื้อตัวเดียวกับเพื่อน
  2. อดทน และพยายามทำความเข้าใจว่า เดี๋ยวหุ้นเราก็ขึ้นด้วย

หรือในบางช่วง ที่เริ่มลงทุนในกองทุนรวมแรกๆ น้ำหนักที่เราจะให้ความสำคัญก็คือ ผลตอบแทนในอดีต ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าผลตอบแทนในอดีต ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว และระยะไกล มันดีจริง มันมี 2 เหตุผลที่เป็นไปได้ ก็คือ 1. ผู้จัดการกองทุนเก่ง 2. กองทุนนั้นวิ่งมาไกลไปแล้ว

จาก 2 ตัวอย่างข้างบน ความคล้ายกันก็คือ เราพยายามเปรียบเทียบการลงทุนที่เรามีอยู่ ด้วยผลตอบแทนที่มันเกิดขึ้นไปแล้วในอดีต โดยโดนภาพลวงตาหลอกเราว่า ถ้าฉันไม่ตัดสินใจอะไรในตอนนี้ จะมีโอกาสพลาดรถไฟขบวนที่อยู่ตรงหน้า … ภาวะแบบนี้ มันทำให้เราตัดสินใจที่จะเข้าลงทุนตาม ซึ่งถือว่า เป็นการตัดสินใจที่คิดไม่รอบด้าน และเสี่ยงที่จะขาดทุน

4.) ให้ความสำคัญกับข่าว หรือ สถานการณ์ปัจจุบัน มากเกินไป

มีบทวิจัยจากสหรัฐฯอันหนึ่ง สรุปว่า การติดตามข่าว และสถานการณ์ปัจจุบัน แทบไม่มีผลต่อการบรรลุเป้าหมายในการลงทุนเลย หากคุณเอาแต่พยายามติดตาม อยากรู้ให้เร็ว อยากรู้ให้ทันเหตุการณ์ เพียงแค่นั้น เหตุผลที่พอจะอธิบายสิ่งนี้ได้ก็คือ ความรวดเร็วของการเสพข่าวของแต่ละคนไม่เท่ากัน ที่คุณคิดว่าคุณเร็วที่สุด คุณมั่นใจได้อย่างไร? และคุณต้องพยายามมากแค่ไหนที่จะนั่งเฝ้าข่าวตลอดเวลา ไหนจะต้องมาประมวลผล มาตรวจสอบว่า ข่าวนี้จริงเท็จแค่ไหนอีก จะเห็นว่า มันใช้พลังชีวิตเยอะมากเลยนะครับ ในการจะเปลี่ยนข้อมูลข่าวเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่สร้างกำไรได้อย่างยั่งยืน

แต่การจับประเด็นสำคัญของข่าว และตีความอย่างเข้าใจถึงผลกระทบในระยะยาวต่างหาก ที่ทำให้การลงทุนของคุณแตกต่างจากนักลงทุนทั่วไป ดังนั้น เพื่อให้ไม่ก้าวเดินพลาด ถอยห่างออกจากหน้าจอทีวี ข่าวสารทางช่องทาง Line เอย, Facebook Group เอย บ้าง รักษาระยะห่าง และเตือนตัวเองไว้เสมอว่า รู้ข่าวเยอะ ไม่ได้แปลว่า ชนะในสงครามการลงทุน ไม่งั้น นักลงทุนกลุ่มแรกที่จะประสบความสำเร็จ เราคงเห็นรายชื่อผู้ประกาศข่าวไม่มากก็น้อยแล้วละครับ

5.) ลืมไปแล้วว่า ตัวเองลงทุนไปเพื่ออะไร

ถ้าเป้าหมายของเราไม่ชัด แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า ตอนนี้ เราอยู่ตรงไหน และใกล้เป้าหมายมากขึ้นหรือเปล่า? หลายคนเปิดพอร์ตหุ้น พอร์ตกองทุน เพราะหนีเงินฝากที่ดอกเบี้ยต่ำ แต่คุณรู้ไหมว่า แค่นั้นมันยังไม่พอครับ

เป้าหมายที่ดี ต้องระบุว่า ทำไปเพื่ออะไร? ถึงเมื่อไหร่? อย่างไร?

เช่น กำหนดให้ชัดไปเลยครับว่า ฉันจะลงทุนเพื่อใช้ตอนเกษียณ ตอนอายุ 60 ปี โดยจะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10%

เมื่อกำหนดเป้าหมายชัด เราก็จะสามารถวางกรอบการลงทุนของเราได้ว่า ควรเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ด้วยเงินลงทุนจำนวนเท่าไหร่ และทำให้อยู่ในร่องในรอบที่จะเดินไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

ผมชอบ Quote หนึ่งที่เขียนว่า “Ask youself  if what you’re doing today is getting you closer to where you to be tommorrow.” แปลเป็นไทยก็คือ ให้ถามตัวเองดูว่า สิ่งที่คุณทำอยู่ในวันนี้ มันจะพาคุณให้ใกล้เป้าหมายขึ้นในพรุ่งนี้หรือเปล่า

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนระยะสั้น หรือ VI หรือจะใช้ DCA ในการลงทุน ไม่ว่าคุณจะรับความเสี่ยงได้ต่ำ หรือเสี่ยงได้สูง ความรู้จะมากหรือจะน้อย สิ่งที่เป็นตัวกำหนดโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า 50% ก็คือ เป้าหมายที่ชัดเจน นี่ละครับ

ครบ 5 ข้อแล้ว ลองกลับมาทบทวนทุกครั้งในระหว่างทางที่เราลงทุนนะครับ ผมไม่ได้บอกว่าทวนแล้วอุปสรรคเหล่านี้จะหมดไป ยังไงมันก็มีอุปสรรคใหม่ๆเกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ยิ่งเราแก้ และสู้กับมันมากขึ้น เราก็จะเก่งในการแก้ปัญหา และเขยิบเข้ามาใกล้เป้าหมายมากขึ้นทุกที


สนใจให้ NTER ช่วยแนะนำสร้างเป้าหมายแผนการเงินของคุณ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่

regular2x