Club Fund Day – Ep 7 : ทยอยลงทุน กองทุนรวม ทุกๆเดือน เริ่มยังไงดี?
ติดตาม FINNOMENA PODCAST


สำหรับมือใหม่หัดลงทุนในกองทุนรวม คุณอาจจะรู้สึกว่า เอ๊ะ?? เราควรเริ่มต้นออมยังไงดี จะเลือกกองทุนไหนในการทยอยลงทุนต่อเนื่องดีน้อ?

ผมขออาสา พาไปดูวิธีคิดและหลักการของตัวเอง ที่ทุกท่านสามารถเอาไปใช้ได้ตามนี้เลยครับ

ขั้นตอนที่ 1

เข้าใจหลักการทยอยลงทุน – เพราะหลักการ Dollar Cost Average (DCA) หรือ ทยอยลงทุนต่อเนื่องนั้น ก็เพื่อขจัดปัญหาการจับจังหวะตลาด และเหมาะสำหรับผู้ที่มีความเชื่อว่า “การลงทุนในระยะยาวชนะทุกสิ่ง” ดังนั้น ถ้าใครยังพยายามถามว่า แล้วควรทยอยแบบไหน? วันไหนดี? เศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ ยังจะทยอยลงทุนดีหรือเปล่า? ขอบอกเลยว่า มันเป็นความเชื่อคนละอย่างกับการทยอยลงทุนเลยครับ หัวใจสำคัญที่จะทำให้การลงทุนแบบ DCA ประสบความสำเร็จคือ “อึด” และ “ถึก” 

ขั้นตอนที่ 2

ต้องคุยกับตัวเองให้ชัด – ต่อจากขั้นตอนที่ 1 นะครับ สิ่งที่ผมเห็นนักลงทุนพลาดจากการใช้ DCA มีอยู่ 2 เรื่องหลักๆ
ข้อแรก คือ กลัวความผันผวนของตลาดมากเกินไป พอตลาดหุ้นตกหนักๆซักไตรมาส จะเริ่มมีความคิดด้านมือต่อสู้กับด้านสว่างในหัวทันทีว่า เฮ้ย เราจะถัวเฉลี่ยมันไปเรื่อยๆแบบนี้จริงๆหรอ(ว่ะ)? ซึ่งเวลาตลาดมันลงขนาดนั้น มันก็จะมีข่าวร้ายออกมาเรื่อยๆ เศรษฐกิจก็ดูจะไม่ค่อยดี มีเหตุผลให้ตลาดหุ้นลงต่ออีกมากมายก่ายกอง มันทำเรา ‘กลัว’ ได้ง่ายๆเลย ประเด็นคือ เราไม่รู้หรอกครับ จุดต่ำสุดของตลาดมันอยู่ตรงไหน ข่าวร้ายยังไม่หมดไป แต่หุ้นเด้งได้ไกลๆ ผมก็เห็นมาตั้งบ่อย
ข้อสอง คือ ถอนการลงทุนออกมาก่อนเวลาอันควร อันนี้ เกิดจากเรื่องเดียวเลยครับคือ “ขาดวินัย” โทษใครไม่ได้ วิธีแก้คือ คุยกับตัวเอง ตั้งเป้าหมายให้ชัด ตั้งกฎให้คัวเองเดินตาม ก็ต้องทำตามและรักษาสัจจะกับตัวเอง

ขั้นตอนที่ 3

เลือกกองทุนต้องดูที่ผลตอบแทนระยะยาว – ลองกลับไปย้อนดูไกลๆเลยครับ ว่ากองทุนไหนให้ผลตอบแทนระยะยาวดีที่สุด 3 ปี 5 ปี หรือจะยาวเกิน 10 ปีเลยยิ่งดี นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ส่วนตัว ผมไม่ค่อยนิยมลงทุนในกองทุนเปิดใหม่ เพราะไม่มี Track Record ให้เห็นผลการดำเนินงานในอดีต 

ขั้นตอนที่ 4

เข้าไปดูนโยบายการลงทุน – เนื่องจากเรากำลังจะฝากชีวิตในอนาคตของเราไว้กับกองทุนนี้ ดังนั้น การทำความรู้จักให้มากขึ้น ก็เป็นสิ่งจำเป็น และรากฐานของผลการดำเนินงานที่ดี มันก็มาจากนโยบายการลงทุนที่ถูกต้อง ดังนั้น ลองเข้าไปดูครับ เขาเลือกหุ้นด้วยวิธีอะไร เปลี่ยนหุ้นที่อยู่ในกองทุนบ่อยแค่ไหน หุ้นที่ถือ คือหุ้นที่เราเห็นพ้องกับเค้าว่าเป็นหุ้นที่ดีจริงหรือเปล่า? ดูให้หมดเลยนะ

มาถึงตรงนี้ เราอาจเลือกกองทุนที่มีนโยบายที่แตกต่างกันมาเพื่อเปรียบเทียบกันอีกทีก็ได้ เพราะบ่อยครั้งเหลือเกินที่กองทุนที่เราชอบนโยบาย บางทีมันอาจจะไม่เหมาะกับเราก็ได้ เป้าหมายการเลือกกองทุนของเรามี 2 อย่างคือ ทำให้เงินมันงอกเงย และอีกอย่างคือ มันต้องเป็นกองทุนที่เรากล้าจะอยู่กับเขาไปจนถึงเป้าหมาย

ขั้นตอนที่ 5

Back Test สิครับ – การดูผลตอบแทนย้อนหลังอย่างเดียว มันบอกเราแค่ว่า ช่วงเวลาหนึ่งๆ กองทุนนั้นให้ผลตอบแทนเป็นยังไง แต่การทยอยลงทุน (DCA) มันลงทุนต่อเนื่อง ดังนั้นวิธีที่ดีกว่าก็คือ สมมติไปเลยครับว่า เราจะลงทุนในกองที่เราเลือกมานั้นทุกๆเดือน แล้วดูว่า ของจริงมันออกมาน่าพอใจขนาดไหน?

ผมเลือก 2 กองที่เป็น Active Management Portfolio ในตำนานของนักลงทุนกองทุนไทย และอีกหนึ่งกองทุน Passive Management Portfolio ซึ่งทั้ง 3 กองทุน เปิดบริหารมาอย่างยาวนานนะครับ ตามตารางด้านล่าง

DCA TH EQ

รูปที่ 1 : ผลการดำเนินงานกองทุนรวมหุ้นไทย 3 กอง
ที่มา : www.morningstarthailand.com

เสร็จแล้ว เราก็มาทำ Back Test กัน โดยมีเงื่อนไขตามนี้ครับ

  1. ทยอยลงทุนทุกวันทำการแรกของเดือน
  2. ใส่เงินเข้าไปงวดละ 5,000 บาท
  3. เริ่มต้นลงทุนครั้งแรก เดือน ม.ค. 2549
  4. จนถึงเดือน ธ.ค. 2558 (รวมระยะเวลา 10 ปี)

ได้ผลตอบแทนตามนี้จ้า

DCA 3 THEQ

รูปที่ 2 : ผลตอบแทนย้อนหลังจากการทยอยลงทุนทุกเดือน
ที่มา : www.thaimutualfund.com

ด้วยเงินต้น เดือนละ 5,000 บาท ทั้งหมด 120 เดือน เท่ากับมีต้นทุนอยู่ 600,000 บาท ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2558 จะมีเงินลงทุนทั้งสิ้น

อันดับที่ 1 : ABSM 1,382,192 บาท (คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นต่อปี อยู่ที่ 8.78%)

อันดับที่ 2 : BTP 1,322,952 บาท (คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นต่อปี อยู่ที่ 8.30%)

อันดับที่ 3 : TMB50 1,015,897 บาท  (คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นต่อปี อยู่ที่ 5.45%)

อันดับผลตอบแทนนี้ มีข้อสังเกตหลายข้อนะครับ

  1. จะเห็นว่า ABSM และ BTP ให้ผลตอบแทนต่างกันไม่มากนะครับ ทั้งๆที่นโยบายการลงทุนต่างกันพอสมควร โดย BTP หรือ บัวหลวงทศพล ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ในไทย ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ ไม่เกิน 10 ตัว เรียกได้ว่า เป็นพอร์ตกองทุนรวมที่กระจายการลงทุนน้อย เสี่ยงสูง แต่ ABSM ตอนเริ่มตั้งกอง ลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ประมาณ 30 ตัว ลงทุนแบบถือยาวๆ (Buy & Hold)
  2. ผลการดำเนินงาน ใช้ NAV จริง ที่หักค่าธรรมเนียมต่างๆหมดแล้ว ซึ่ง ABSM มีค่าธรรมเนียมขาเข้า (Front End Fee) อยู่ที่ 1% นะครับ แสดงว่า ขนาดเก็บค่าธรรมเนียมแพงแล้ว ผลการดำเนินงานก็ยังดีกว่า
  3. ถ้าสมมติผมหยุดลงทุนช่วงปี 2556 จากกราฟจะเห็นว่า กองทุน BTP ให้ผลตอบแทนชนะ ABSM นั่นแสดงให้เห็นว่า ภาวะตลาด ณ เวลาหนึ่งๆ มีผลกับผลการดำเนินงานของกองทุนที่แตกต่างกันด้วย
  4. จะเห็นว่า ถึงแม้ทยอยลงทุนมาแล้ว 4 ปี (นับตั้งแต่ 2549 ถึง 2552) ก็ยังมีโอกาสขาดทุน หากเจอวิกฤตหนักๆ ซึ่งช่วงนั้นก็คือ Subprime Crisis แต่ถ้าทนทยอยลงทุนต่อ ก็กลับมาผลตอบแทนเป็นบวกได้
  5. ผลตอบแทนเฉลี่ยหุ้นไทย 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 9.42% แต่จะเห็นว่า วิธีการทยอยลงทุน ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำกว่า SET สาเหตุเพราะ เงินลงทุนตั้งต้น ค่อยๆสะสมมาเรื่อยๆ ไม่ได้ใช้เงินก้อนเข้าลงทุนครั้งเดียว ซึ่งถ้าดูผลการดำเนินงานย้อนหลัง 10 ปีของ ABSM อยู่ที่ 10.52%ต่อปี (มากกว่า SET Index นะคับ)
  6. การลงทุนในกองทุนหุ้นไทยแบบ Passive Management Portfolio จากข้อมูลในอดีต จะเห็นว่า ให้ผลตอบแทนน้อยกว่า สาเหตุอาจเป็นเพราะ ความไม่มีประสิทธิภาพของตลาด การเข้าถึงข้อมูลการลงทุนในอดีตนั้นไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ผู้จัดการกองทุนหรือนักลงทุน สามารถหาผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้ (ซึ่งส่วนตัว ก็ยังเชื่อว่า ในอนาคตก็ยังคงเป็นแบบนี้อยู่)

เอาละ ผมลองทำให้ดูกันแล้ว อยู่ที่คุณแล้ว ว่าจะเริ่มหรือยัง?


ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี

App Spotify
https://finno.me/spotify

App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast

Apple podcast
https://finno.me/applepodcast

App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud

Podbean
https://finno.me/podbean

Youtube
https://finno.me/youtubepodcast