Bluebik กับ OR เกี่ยวกันอย่างไร?

เป็นอีกหนึ่งสัปดาห์ที่เกิดดีลที่ผู้คนต่างให้ความสนใจกันอีกครั้งกับ Bluebik ผู้ให้บริการให้คำปรึกษาพัฒนาธุรกิจผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่งได้มีการเปิด IPO เพิ่มทุนกันไป ในบทความนี้ผมขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Bluebik และมาสำรวจข้อมูลที่น่าสนใจกันว่ามีความข้องเกี่ยวกับหุ้น OR มากแค่ไหน

ดูหุ้นทั้งทีเรามาเริ่มกันที่การสำรวจธุรกิจต่าง ๆ ของ Bluebik กันก่อนดีกว่า ซึ่งหลัก ๆ แล้ว Bluebik ให้บริการทั้งหมด 5 รูปแบบ ดังนี้

  • การให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการ
  • การบริหารโครงการเชิงยุทธศาสตร์
  • การพัฒนาระบบดิจิทัลและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี
  • การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลชั้นสูงด้วยปัญญาประดิษฐ์
  • การจัดหาและบริหารบุคคลากรชั่วคราว ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

การให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการ

อันนี้หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นกันอยู่แล้วในสำหรับหน้าที่ของบริษัท Consult ที่จะเข้ามาช่วยบริษัทในการวางแผนและกลยุทธ์ แนวโน้ม จุดแข็ง จุดอ่อนของบริษัทซึ่งอาจจะยกตัวอย่างได้เป็นการทำ SWOT Analysis นั่นเอง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เป้าหมายขององค์กรมีภาพที่ชัดขึ้น มองเห็นจุดเด่นของตนเองและโอกาสในการทำธุรกิจ ซึ่งบริษัทที่กำลังเผชิญปัญหา เจอทางตันหรือเริ่มที่จะโตช้า พอได้รับบริการเหล่านี้แล้วก็อาจจะสร้างโอกาสเติบโตได้มากขึ้น

การบริหารโครงการเชิงยุทธศาสตร์

ในส่วนนี้หลัก ๆ แล้วจะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบที่ใช้กันบ่อย ๆ ซึ่งก็คือ การบริหารภาพรวมในระดับองค์กร ระดับสายงาน และระดับโครงการ ซึ่งทั้งหมดนี้หลัก ๆ จะเน้นไปที่การช่วยจัดการเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งต่าง ๆ จะดำเนินไปอย่างเรียบร้อยและสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ดั่งใจ โดยทาง Bluebik จะเน้นไปที่การบริหารในระดับโครงการซึ่งก็มีข้อดีตรงที่มีความยุ่บยั่บน้อยกว่าและบริหารให้จบ ๆ เป็น Case by case กันไป

การพัฒนาระบบดิจิทัลและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี

ส่วนนี้น่าจะเป็นส่วนชูโรงของบริษัทที่จะมุ่งเน้นการมอบการให้คำปรึกษาที่ผสมผสานเทคโนโลยีให้กับลูกค้า โดยจะเน้นไปที่การวิเคราะห์และออกแบบระบบ IT ขององค์กรให้ตอบโจทย์ พัฒนาจนเสร็จ ติดตั้ง ทดสอบจนพร้อมใช้และส่งมอบระบบให้กับลูกค้าที่เข้ามารับบริการ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือมีความคล่องตัวที่มากขึ้น ซึ่ง Segment นี้นี่แหละที่เป็นส่วนที่ Bluebik มีความเกี่ยวข้องกับ OR ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้นผมขอเก็บไว้ก่อนและอธิบายในส่วนถัดไป

การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลชั้นสูงด้วยปัญญาประดิษฐ์

ส่วนนี้เป็นส่วนของการจัดการกับ Big Data ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนหรือการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ เช่น นำข้อมูลที่มีมาหาว่าลูกค้าคนนี้มีความเป็นไปได้มากแค่ไหนที่จะซื้อสินค้าของเรา เพื่อทำให้องค์กรเข้าถึงลูกค้าและมอบสินค้าและบริการได้ตรงกับกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่ว่าก็ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาช่วย และ Bluebik ก็เป็นผู้มอบบริการดังกล่าวนั่นเอง

การจัดหาและบริหารบุคลากรชั่วคราว ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

ส่วนนี้เป็นส่วนที่เสริมขึ้นมาจากความเชี่ยวชาญของบริษัทเกี่ยวกับด้าน IT อยู่แล้ว โดยบริษัทจะช่วยจัดหาคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางต่าง ๆ เช่น โปรแกรมเมอร์ หรือซอฟต์แวร์ดีเวลลอปเปอร์ เป็นต้น ซึ่งหนึ่งในข้อดีสำหรับการจ้างบุคคลภายนอกก็คือเรื่องการประหยัดต้นทุน เช่น พวกข้าวของเครื่องใช้ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า จิปาถะ สำหรับการจ้างพนักงานประจำ อีกทั้งยังมีความคล่องตัวกว่าเนื่องจากจ้างและก็จบกันไปเป็น Case by case

หลัก ๆ แล้ว เราอาจจะสรุปได้ว่างานที่ Bluebik ทำนั้นเป็นแนว Project-based ซะส่วนใหญ่ ซึ่งถ้า Rubik ได้รับความไว้วางใจและได้รับข้อเสนอจากบริษัทใหญ่ ๆ ก็น่าจะทำให้ Bluebik มีโอกาสในการสร้างรายได้ได้ค่อนข้างมาก ดังนั้นเราจึงอาจจะต้องจับตามองโอกาสในมุมนี้ให้ดี

โครงสร้างบริษัทและสัดส่วนรายได้ที่น่าสนใจคร่าว ๆ

หลังทุกคนหายสงสัยกันเรื่องธุรกิจที่ Bluebik ทำไปแล้ว เรามาดูกันต่อในเรื่องของโครงสร้างบริษัทคร่าว ๆ กันดีกว่า หลัก ๆ แล้ว Bluebik จะมีบริษัทย่อยอีก 2 บริษัท ซึ่งก็คือ บริษัท อินเนจิโอ จำกัด ที่จะเข้ามาช่วยดูแลในส่วนของ Big data และ AI ร่วมกันกับ Bluebik และบริษัท แอดเดนด้า จำกัด ที่จะเข้ามาทำในเรื่องของการจัดหาและบริหารบุคลากรชั่วคราว ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

มาถึงส่วนสุดท้ายที่คิดว่าทุกคนน่าจะสนใจก็คือส่วนที่ Bluebik เข้าไปร่วมกันจัดตั้งบริษัทอย่าง ออร์บิท ดิจิทัล จำกัด ร่วมกันกับบริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด ของ OR โดยดีลนี้ Bluebik จะมีความเป็นเจ้าของที่ 60% ในขณะที่ทางฝั่งบริษัทย่อยของ OR จะมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของที่ 40%

นอกจากนั้นดีลดังกล่าวอาจสะท้อนให้เห็นถึงความไว้วางใจจากบริษัทในเครือ ของบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ได้ให้ Bluebik เข้ามาช่วยวางแผนและพัฒนาระบบต่าง ๆ ของบริษัทในเครือ OR

หากจะยกตัวอย่างง่าย ๆ ในอนาคตเราอาจได้เห็นการสแกน QR Code ใน Cafe Amazon ที่ไม่ต้องพยายามเอามือบังแสงสะท้อนเพื่อให้สแกนติด หรืออาจได้ใช้เทคโนโลยีระบบใหม่ ๆ ที่น่าสนใจขึ้นก็เป็นได้ และการมาของ Bluebik อาจไปเข้า Gap กับแผนการขยายสถานีชาร์จรถยนต์ EV ของ OR ได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นหาก OR ยังมีสตอรี่ที่น่าสนใจและเติบโตได้ Bluebik ก็น่าจะมีส่วนของรายได้ที่โตไปพร้อม ๆ กันได้เช่นเดียวกัน

และหากมาดูที่สัดส่วนรายได้ส่วนของการพัฒนาระบบดิจิทัลและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี (ส่วนที่มี OR) Bluebik ก็ถือได้ว่ามีสัดส่วนเป็นหลักถึง 64.08% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 สะท้อนให้เห็นถึงจุดเด่นของการให้บริการในส่วนนี้จนเป็นสัดส่วนรายได้หลัก นอกจากนั้นบริษัทยังมีรายได้เติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2018-2020 ถึง 22.9% และมีกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ยในช่วง 2018-2020 อีก 55.8% สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตต่อเนื่องที่ดีในช่วงที่ผ่านมา

Bluebik กับ OR เกี่ยวกันอย่างไร?

ภาพแสดงสัดส่วนรายได้ ที่มา: sec วันที่: 3 กันยายน 2021

Bluebik กับ OR เกี่ยวกันอย่างไร?

ภาพแสดงการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ ที่มา: Bluebik Group Facebook Page วันที่: 3 กันยายน 2021

Bluebik จะถูกจัดอยู่ในหมวดเซ็กเตอร์กลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นเหมือนแรงผลักดันสำคัญของประเทศดังที่เราเห็นผ่านประเทศผู้นำต่าง ๆ อีกทั้งยังมีเป้าอย่างการสเกลไปต่างประเทศและแข่งกับบริษัทชั้นนำอีกด้วย ดังนั้น Bluebik น่าจะเป็นหุ้นเทคโนโลยีไทยโดยคนรุ่นใหม่อีกตัวหนึ่งที่น่าจับตามองและเอาใจช่วยกันต่อไปครับ

อย่างไรก็ตามขอปิดท้ายไว้ว่าการ IPO ของ Bluebik นั้นไม่ได้มีการขายให้กับนักลงทุนรายย่อยธรรมดาในรอบนี้ สำหรับคนที่สนใจคงต้องเอาไว้ลงทุนตอนเข้าตลาดแล้วหรือจับตาดูการประกาศต่อไปของบริษัทละกันครับ

ปิดท้ายด้วยการเสริมมุมมองหุ้นเอเชียจาก Franklin Templeton

  • ในเดือนสิงหาคม หุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นหลังการสื่อสารเรื่องการปรับลด QE ของ Fed ทำให้นักลงทุนลดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อการเติบโต
  • หุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นในเดือนสิงหาคม โดยเฉพาะในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมในไทย ฟิลลิปปินส์ และอินโดนิเซีย
  • หุ้นอินเดียปรับตัวขึ้นจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและนโยบายที่ผ่อนคลาย
  • หุ้นจีนทำผลตอบแทนได้ไม่มากหลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ครั้งใหม่ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าคาด และความกังวลเกี่ยวกับมาตรการควบคุมในกลุ่มอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตและอื่น ๆ

Bluebik กับ OR เกี่ยวกันอย่างไร?

ภาพแสดงผลตอบแทนของประเทศในดัชนี MSCI Emerging Market Index โดยประเทศไทยถือได้ว่าทำผลตอบแทนได้ดีเป็นอันดับ 2 ในเดือน สิงหาคม

ขอให้ทุกคนโชคดีครับ

Mr. Serotonin

References

https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=336748

https://www.set.or.th/en/company/ipo/upcoming_ipo_mai.html?printable=true

https://bit.ly/3BG29Xq

เนื้อหาส่วนหนึ่งโดย Franklin Templeton Academy

เรียบเรียงและจัดทำโดย Mr. Serotonin

รายละเอียดเพิ่มเติม ความร่วมมือระหว่าง FINNOMENA x Franklin Templeton

FINNOMENA x Franklin Templeton : https://finno.me/ftxfinnomena​

FINNOMENA x Franklin Templeton Investor Base : https://finno.me/investorbase​


ข้อสงวนสิทธิ์

แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ไม่รับผิดใด ๆ ต่อบุคคลภายนอก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการ เว็บไซต์ หรือเนื้อหาใด ๆ ที่ได้จัดทำหรือปรากฏในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอกนั้น อีกทั้ง Franklin Templeton ไม่ได้ให้คำรับรอง รับประกัน หรือเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายในเนื้อหาหรือความถูกต้องของข้อมูลในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอก และไม่รับผิดต่อสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น

ในกรณีที่มีความแตกต่างกันระหว่างเอกสารภาษาอังกฤษกับการแปลเป็นภาษาไทย ให้ยึดถือตามเอกสารภาษาอังกฤษ


คำเตือน

ผู้ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด | ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้