บทสรุป Playbook การคว้า "โอกาส" ยาม "วิกฤติ" The Recession Playbook 2022 | Predict ⬝ Prepare ⬝ Perform

จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในดัชนีที่ชี้วัดปัจจัยมหภาคล่วงหน้า (leading indicators) และการศึกษาลักษณะของวิกฤติในอดีต FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่า “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” อาจอยู่ใกล้เรากว่าที่คิดและอาจเกิดขึ้นได้

แต่ “ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ” FINNOMENA Investment Team จึงได้เตรียม Playbook คู่มือในการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ภายใต้กลยุทธ์ Predict (คาดการณ์) Prepare (เตรียมพร้อม) และ Perform (ทำผลงาน) ซึ่งมาพร้อมกับความมุ่งมั่นในการช่วยนักลงทุนพลิกพอร์ตจากโอกาสยามวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้

อ่านบทความฉบับเต็มได้ ที่นี่

บทสรุป Playbook การคว้า "โอกาส" ยาม "วิกฤติ" The Recession Playbook 2022 | Predict ⬝ Prepare ⬝ Perform

Playbook หน้าที่ 1: Predict

ก่อนอื่นมาเริ่มที่ปัจจัยจากดัชนีประเภท Leading indicators หรือดัชนีที่มักส่งสัญญาณล่วงหน้าก่อนเหตุการณ์เลวร้ายจะเกิดขึ้นกันก่อน ว่ามีปัจจัยอะไรที่อาจบ่งบอกถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในอนาคตได้บ้าง?

สถิติชี้ 10 จาก 13 ครั้ง การขึ้นดอกเบี้ยแตะเบรคชะลอเงินเฟ้อของ Fed ก่อให้เกิดการถดถอย

บทสรุป Playbook การคว้า "โอกาส" ยาม "วิกฤติ" The Recession Playbook 2022 | Predict ⬝ Prepare ⬝ Perform

สถิติย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 1954 จนถึงปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่าหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อ 10 จาก 13 ครั้งจะเกิดภาวะเศรษฐกิตถดถอย (recession)

ดัชนีชี้วัดแบบส่งสัญญาณล่วงหน้า (leading indicator) ราคาโภคภัณฑ์ และดัชนีชี้วัดความตึงตัวด้านการเงินของสหรัฐฯ อาจบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ดัชนียอดคำสั่งซื้อใหม่ภาคการผลิต (Philadelphia FED New Orders) ที่มักเคลื่อนไหวในทิศทางคล้ายกันกับดัชนีชี้วัดภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) ปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับประมาณ 65 จุด มายังระดับราว ๆ -15 จุด ในขณะที่ดัชนี ISM Manufacturing PMI ยังปรับตัวลงเพียงเล็กน้อย จึงอาจสื่อเป็นนัยได้ว่าภาคการผลิตอาจหดตัวตาม leading indicator ดังกล่าว (Business Outlook Survey)

นอกจากนั้นยังมี Leading indicators อื่น ๆ อาทิ University of Michigan Consumer Sentiment (ดัชนีชี้วัดแนวโน้มผู้บริโภค) กับ Unemployment rate (อัตราการว่างงาน) ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน (U.S. mortgage rates) กับ อัตราการเติบโตของราคาบ้าน (house price growth) อัตราดอกเบี้ยนโยบายและดัชนีวัดความตึงตัวด้านการเงินของสหรัฐฯ (Chicago Fed Adjusted Financial Conditions Index) ที่มีความสัมพันธ์ในแบบตรงกันข้ามและสอดคล้อง เริ่มส่งสัญญาณชี้นำเช่นเดียวกัน

ทางด้านราคาโภคภัณฑ์ทั้งพลังงาน สินค้าเกษตรและเนื้อสัตว์ โลหะอุตสาหกรรม เริ่มมีการปรับตัวลงมาในช่วงล่าสุดเช่นเดียวกัน สะท้อนความต้องการ (demand) ที่ลดลงและอาจชี้นำภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต

ทางด้านการประมาณการกำไรของนักวิเคราะห์จาก Bloomberg (มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับดัชนีตลาดหุ้น) ได้มีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แต่การประมาณการดังกล่าวมักปรับลงหลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังได้รับผลกระทบจากปัจจัยมหภาคที่ชะลอตัวซึ่งเริ่มส่งสัญญาณตามดัชนีต่าง ๆ ก่อนหน้า

สัญญาณการยอมแพ้ของนักลงทุนยังไม่ชัดเจน

สัญญาณการยกธงขาวยอมแพ้ (capitulation) ของนักลงทุนยังไม่ชัดเจน อาจเริ่มเห็นการยอมแพ้ในกลุ่มของสัญญาณ Sentiment เช่น ดัชนี CNN Fear & Greed Index ซึ่งใช้วัดอารมณ์ของนักลงทุนในตลาดได้เคลื่อนไหวในระดับกลัวสุดขีด (extreme fear) อย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกันหลายสัญญาณยังบ่งชี้ว่านักลงทุนในบางกลุ่มยังไม่ได้ยอมจำนนต่อตลาด ทั้งเม็ดเงินลงทุนไหลออกจากกองทุนหุ้นเทียบกับขนาดทรัพย์สิน (total equity outflow to AUM) ของนักลงทุนสถาบันปรับตัวขึ้นมาที่ระดับราว 0.5% ซึ่งยังต่ำมากเมื่อเทียบกับขนาดของเงินไหลออกในช่วงวิกฤติการเงินปี 2008 ที่ระดับราวเกือบ 7% และวิกฤติโควิด-19 ที่ระดับราว 2.5%

รวมถึงระดับการถือครองหุ้นของนักลงทุนรายย่อยที่ยังอยู่สูงเมื่อเทียบกับระดับในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในอดีต และกิจกรรมการใช้ตลาด option เพื่อป้องกันความเสี่ยงขาลงที่ยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

จากปัจจัยชี้นำในเชิงมหภาคต่าง ๆ ข้างต้น จึงอาจสะท้อนได้ว่าเราอาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย (GDP ติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส) ในอนาคต ในขณะที่นักลงทุนอาจจะยังไม่ได้ปรับพอร์ตเตรียมพร้อมวิกฤติจากสัญญาณยอมจำนนดังกล่าว FINNOMENA จึงได้วิเคราะห์กลยุทธ์สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือ (prepare) ภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ดังกล่าว

บทสรุป Playbook การคว้า "โอกาส" ยาม "วิกฤติ" The Recession Playbook 2022 | Predict ⬝ Prepare ⬝ Perform

Playbook หน้าที่ 2: Prepare

สถิติจากการประมาณการกำไรชี้ ดัชนี S&P 500 อาจปรับตัวลงได้อีก

หลังจากที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้าถึงเรื่องประมาณการกำไรที่ยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง แต่อาจปรับตัวลงได้หลังปัจจัยมหภาคเริ่มสั่นคลอน FINNOMENA จึงได้ทำการประมาณการระดับราคาของดัชนี S&P500 ที่อาจปรับตัวลงได้ จากค่าเฉลี่ยของการปรับตัวลงในช่วงวิกฤติ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือดัชนี S&P500 อาจปรับตัวลงได้อีกราว ๆ 25% จากสมมติฐานประมาณการกำไรที่ปรับตัวลดลง -20% และค่า PE ที่ลดลงสู่ระดับ -1 S.D. คิดเป็นที่ระดับ 14.6 เท่า 

ธนาคารกลางเริ่มเก็บของ… “ทองคำ” สินทรัพย์โดดเด่นกลางวิกฤติ 

ทองคำยังถือเป็นสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากภาวะวิกฤติ โดยสถิติย้อนหลังบ่งชี้ว่าในช่วงวิกฤติ ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ปรับตัวลงน้อยกว่าหุ้นและอาจสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ในบางช่วง

โดยผลสำรวจชี้ว่า 61% ของธนาคารกลางที่ตอบแบบสำรวจเชื่อว่าธนาคารกลางอื่น ๆ ทั้งโลกน่าจะสะสมทองคำเพิ่มขึ้นใน 12 เดือนข้างหน้า สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณเตรียมการเชิงรับของธนาคารกลางทั่วโลก

ตราสารหนี้ อีกสินทรัพย์ปะทะขาลงหุ้น

หากนับย้อนไปตั้งแต่ปี 1900 ตราสารหนี้จะสร้างผลตอบแทนเป็นบวกหากดัชนีหุ้น S&P 500 ปรับตัวลง โดยตราสารหนี้โลกจะมีความผันผวนมากกว่าตราสารหนี้ไทย แต่ให้ผลตอบแทนในระดับที่สูงกว่า

อีกทั้งในช่วงล่าสุดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและตราสารหนี้ปรับสูงขึ้นค่อนข้างมากหากเทียบกับช่วงปีที่แล้ว ตราสารหนี้จึงอาจเป็นอีกสินทรัพย์ที่น่าสนใจในยามวิกฤติ โดยทาง FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าตราสารหนี้คุณภาพสูงอาจมีความน่าสนใจ

บทสรุป Playbook การคว้า "โอกาส" ยาม "วิกฤติ" The Recession Playbook 2022 | Predict ⬝ Prepare ⬝ Perform

Playbook หน้าที่ 3: Perform

เข้าใจอดีตเพื่อมองอนาคต

จากการศึกษาของ FINNOMENA Investment Team มีมุมมองต่อวิกฤติครั้งนี้ว่าอาจมีความคล้ายคลึงกับวิกฤติเงินเฟ้อปี 1970 ในยุคของ Paul Volcker วิกฤติฟองสบู่ดอทคอมปี 2000 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 จึงมีการนำค่าสถิติจาก 3 วิกฤติดังกล่าวมาประกอบการคาดการณ์จังหวะลงทุน 

จังหวะลงทุนจากการศึกษาอดีต

จากสถิติ หากภาคอสังหาฯ หดตัว เช่นในปี 2008 จังหวะที่ดีในการเข้าลงทุนคือช่วง 3-4 เดือนหลังจากตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market) แต่หากเกิดการปรับฐานที่ลงลึก เช่น วิกฤติดอทคอม จังหวะที่ดีในการเข้าลงทุนคือช่วงที่ดัชนี S&P500 ปรับตัวลง 30-40% จากจุดสูงสุด

Playbook กลับเข้าลงทุน ดูอะไร? ถึงกลับเข้าสังเวียนอีกครั้ง!

หากเศรษฐกิจชะลอตัวแบบ Soft-Landing (ไม่เกิด recession) จะกลับเข้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงโดยพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้

  • อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างมีนัยโดยไม่มีสัญญาณ recession
  • Leading Economic Indicators กลับมาส่งสัญญาณฟื้นตัว
  • สงคราม Russia-Ukraine สิ้นสุด

คาดว่าจะมีระยะกลับเข้าลงทุนประมาณ 3-6 เดือนนับจากปัจจุบัน หากเศรษฐกิจชะลอตัวแบบ Recession จะกลับเข้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงโดยพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้

  • สัญญาณยกธงขาวจากตลาดการลงทุน
  • การกลับตัวด้านนโยบายการเงินจาก Policy makers เช่น การลดดอกเบี้ย การกลับมาทำ QE

คาดว่าจุดเข้าลงทุนจะอยู่ในช่วงระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือนหลังจากนี้หรือถ้าตลาดปรับฐานลงต่ออีก 10-20%

บทสรุป The Recession Playbook: Predict, Prepare, and Perform คาดการณ์ เตรียมพร้อมและทำผลงาน

จากการศึกษาสัญญาณของดัชนีชี้วัดต่าง ๆ ที่มักจะส่งสัญญาณล่วงหน้าก่อนภาวะถดถอยจะเกิดขึ้น FINNOMENA Investment Team จึงมีมุมมองว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจเกิดขึ้นได้ในวันข้างหน้า และอาจส่งผลต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดการปรับฐานของหุ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีทาง FINNOMENA Investment Team ได้มีการศึกษาอดีตและพิจารณาปัจจัยในด้านต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนและเตรียมกลยุทธ์รับมือพร้อมสร้างผลตอบแทนจากวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้

“ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ” ประโยคนี้อาจไม่ใช่ประโยคขายฝันแต่อย่างใด พิสูจน์ได้จากนักลงทุนหลาย ๆ ท่านที่พลิกชีวิตได้จากวิกฤติในตลาดหุ้นและสร้างผลตอบแทนได้อย่างงดงามในวันที่เลวร้ายที่สุด

ฟ้าหลังฝนย่อมงดงามเสมอ… 

Be prudent, rational and stay positive for opportunities 🙂

อ่านบทความฉบับเต็มได้ ที่นี่

คำเตือน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน