ในตลาดหุ้นไทย มีหุ้นหลายตัวที่ดำเนินธุรกิจซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) เช่น CPF (บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด มหาชน), TU (บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด มหาชน) และ TVO (บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด มหาชน) บริษัทเหล่านี้มีมูลค่าการตลาดสูงและเป็นที่รู้จักของนักลงทุนไทย

วันนี้เลยอยากมาแชร์กันถึงเรื่องน่ารู้ก่อนลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์กันครับ

แนวคิดสำคัญคือ Scarcity Premium

แนวคิดนี้เกิดจากความกลัวว่าสินค้าจะขาดแคลน เลยมีการซื้อของแพงขึ้นเพื่อที่จะได้ของ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าจะมีนักเก็งกำไรเข้ามาเล่นด้วย ซึ่งจะมีผลต่อราคาได้เช่นกัน

สินค้าโภคภัณฑ์แบบอาหารจะถูกจัดหมวดเป็น Soft Commodity ตัวอย่างก็เช่น ข้าว น้ำตาล ถั่วเหลือง ซึ่งสามารถเน่าได้ โดยธรรมชาติของสินค้าเกษตรคือ เวลามีราคาดี ชาวไร่ก็จะแห่กันปลูก ผลผลิตก็จะเยอะจนราคาลง

นอกจากสินค้าเกษตรแล้วยังมีกลุ่มเนื้อสัตว์อีกด้วยคือ ไก่ หมู กุ้ง และปลา

สินค้าโภคภัณฑ์มีการแบ่งออกเป็นหลายประเภท วันนี้จะขอยกตัวอย่างมาบางส่วน

ถั่วเหลือง: หุ้นในกลุ่มนี้คือ TVO หรือ บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน)

1) สภาพอากาศมีผลกับถั่วเหลืองมาก ซึ่งส่งผลให้ราคาปรับตัวขึ้นหรือลงแรง หากอากาศแย่ ผลผลิตก็จะลด แต่ถ้าอากาศดีผลผลิตก็จะล้น

2) น้ำมันปาล์มและน้ำมันพืชเป็นสินค้าทดแทนกัน ถ้าราคาน้ำมันปาล์มแพง คนจะหันมาใช้น้ำมันถั่วเหลืองซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นกับ TVO หลักๆ ในปี 2559

3) ประเทศไทยผลิตถั่วเหลืองได้ไม่ถึง 5% ของปริมาณที่ต้องการบริโภค เพราะต้นทุนการปลูกแพง สู้ผลตอบแทนของพืชเศรษฐกิจเช่นยางกับข้าวไม่ได้

สามารถดูราคาถั่วเหลืองได้ที่ CME

https://www.cmegroup.com/trading/agricultural/grain-and-oilseed/soybean.html

น้ำตาล: หุ้นในกลุ่มนี้คือ BRR หรือ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน)

1) เวลาผลิตน้ำตาลจะมีผลผลิตพลอยได้คือกากน้ำตาลที่ใช้ทำเอทานอล (Ethanol) หรือพวกน้ำมัน E85 และ E20 นอกจากนี้บริษัทก็ขายไฟฟ้าเช่นกัน เพราะกากอ้อยสามารถใช้ผลิตไฟฟ้าได้

2) เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา มีการลอยตัวราคาขายปลีกน้ำตาลในประเทศ ทำให้เป็นไปตามกลไกตลาด

3) ค่าความหวานของอ้อยมีผลกับคุณภาพของน้ำตาล ยิ่งหวานยิ่งดี ซึ่งระดับความหวานก็อาจจะขึ้นอยู่กับแหล่งที่ใช้ปลูกด้วย

สามารถดูราคาตลาดน้ำตาลได้ที่ Nasdaq

https://www.nasdaq.com/markets/sugar.aspx

ส่วนสินค้าเนื้อสัตว์ก็มีการแบ่งออกเป็นหลายประเภท แต่หลัก ๆ คือไก่และกุ้ง ที่ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่

ไก่: หุ้นในกลุ่มนี้คือ CPF หรือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), GFPT หรือ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน)

1) ไก่แปรรูปจะมีอัตรากำไรสูงกว่าไก่สดแช่แข็ง สิ่งที่บริษัทสามารถทำได้คือเน้นขายไก่แปรรูป ถ้ามีไก่เหลือค่อยขายเป็นไก่สดแช่แข็งทีหลัง

2) ไทยมีระบบเลี้ยงไก่ที่ดีมาก ซึ่งประสิทธิภาพจะสูงกว่าประเทศอย่างบราซิล

3) ไทยต้องนำเข้าไก่ปู่ย่าพันธุ์จากต่างประเทศ ไม่มีพันธุ์ของตัวเอง เป็นเพราะว่าใช้เวลาเลี้ยงนาน ก็เลยใช้ทางลัดด้วยการนำเข้าแทน

สามารถดูราคาตลาดไก่ได้ที่ USDA

https://www.indexmundi.com/commodities/?commodity=chicken

กุ้ง: หุ้นในกลุ่มนี้คือ CPF

1) ไทยเคยเลี้ยงกุ้งกุลาดำ แต่ตอนนี้เป็นกุ้งกุลาขาวแทนเพราะทนกว่า เลี้ยงง่ายกว่า

2) ประเทศไทยเคยโดนโรค EMS หรือโรคตายด่วนทำให้กุ้งตายไปเยอะมาก แต่อินเดียไม่โดนเพราะว่าจับกุ้งตามธรรมชาติ ไม่ได้เลี้ยงในบ่อซึ่งเป็นแหล่งผลิตเชื้อ EMS

3) ปี 2553 ไทยผลิตกุ้งเยอะที่สุดในโลก แต่เจอ EMS ไป คนเลยเลิกเลี้ยง บางรายขาดทุน ตอนนี้ก็ยังผลิตได้ไม่เท่าเดิม

สามารถดูราคาตลาดกุ้งได้ที่ US Department of Commerce, NOAA

https://www.indexmundi.com/commodities/?commodity=shrimp

ทั้งนี้ทั้งนั้น การขึ้นลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนที่ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของ สินค้าโภคภัณฑ์ชนิดนั้น ๆ ซึ่งปัจจัยก็มีความแตกต่างกันออกไป

แม้อุตสาหกรรมสินค้าโภคภัณฑ์จะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ แต่นักลงทุนก็ควรทำความเข้าใจและศึกษาหุ้นนั้น ๆ เป็นอย่างดีก่อนตัดสินใจลงทุน เพราะถ้าไม่ได้ศึกษาและไม่มีความเข้าใจในสินค้าโภคภัณฑ์นั้น ๆ มากพอก็อาจเกิดการขาดทุนได้ครับ

ข้อมูลอ้างอิงจาก

กลุ่มหลักสูตร “Turn Pro 2: การวิเคราะห์รายอุตสาหกรรม”: วิเคราะห์หุ้นอาหารและเครื่องดื่ม วันที่ 30 กันยายน 2560

—————————-

Vithan Minaphinant

Securities Investment Analyst (IA)

ตรวจทานบทความ


คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด

ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้

SaveSave

SaveSave

SaveSave

iran-israel-war