ทำความรู้จัก "มัดแมน": ผู้ที่นำ Greyhound, Dunkin' Donuts, Au Bon Pain และ Baskin-Robbins มามัดรวมกัน

ถ้าพูดถึงร้านอาหารอย่าง Greyhound Cafe, Another Hound Cafe, Dunkin’ Donuts, Au Bon Pain และ Baskin-Robbins คาดว่าทุกคนคงรู้จักกันดี

ร้านเหล่านี้มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ร้านอาหารเหล่านี้ในประเทศไทยถูกดำเนินงานโดย บริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) หรือ MM นั่นเอง

MM เป็นบริษัทประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยธุรกิจที่ประกอบหลักๆ คือร้านอาหารและเครื่องดื่ม แบ่งเป็น 3 ธุรกิจ

รายได้รายธุรกิจของ MM ปี 2560 มีดังนี้

ธุรกิจ ดำเนินการโดย รายได้ (ล้านบาท) สัดส่วน ร้อยละ
ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
ภายใต้สิทธิ์แฟรนไชส์
GDT, ABP, GS  1,886  63.5%
ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง
MM, GHC, SLVH 936 31.5%
ธุรกิจไลฟ์สไตล์ GHF 148 5%

โดยบริษัทของ MM มีรายละเอียดการทำธุรกิจดังนี้

บริษัท
GDT ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ (Master Franchise Agreement) จาก Dunkin’ Donuts Franchised Restaurants LLC
ABP ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ (Master Franchise Agreement) จาก ABP Corporation (ประเทศสหรัฐอเมริกา) หรือร้าน Au Bon Pain นั่นเอง
GS ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ (Master Franchise Agreement) จาก Baskin Robbins Franchising LLC (ประเทศสหรัฐอเมริกา)
GHC เจ้าของร้าน Greyhound Café / Another-Hound Cafe และยังมีร้านอาหาร M-Kitchen, Le Grand Vefour
GHF ธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่น สำเร็จรูป ทั้งสุภาพบุรษและสุภาพสตรี

จุดเด่นและจุดอ่อนของ MM

จุดเด่นของ MM คือ การเป็นเจ้าของร้านอาหารที่มีชื่อเสียงหลายร้าน ซึ่ง MM ไม่ได้เสียเวลาสร้างแบรนด์ใหม่ เพราะไปขอซื้อแฟรนไชส์จากบริษัทต่างชาติเหล่านี้มา ทำให้ MM สามารถมีแบรนด์ที่ดีภายในเวลาไม่นาน

แต่จุดอ่อนของ MM ก็คือ การที่รายได้สัดส่วนเกิน 60% มาจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มภายใต้สิทธิ์แฟรนไชส์ ถ้าบริษัทต่างชาติเปลี่ยนการดำเนินงานลงมาบุกตลาดไทยเอง และทำการยกเลิกสัญญาแฟรนไชส์กับ MM ก็จะส่งผลกระทบในแง่ลบ

ประวัติการดำเนินงานของ MM (ที่มา: SET Opp Day 1Q2560)

MM มีการขอสิทธิ์แฟรนไชส์จากบริษัทต่างประเทศมาโดยตลอด และจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2560

รายได้และจำนวนร้านของ MM (ที่มา: SET Opp Day 1Q2560)

รายได้ของ MM มีการเติบโตขึ้นต่อเนื่องทุกปี ตามการเปิดตัวของสาขาใหม่ที่มีมากขึ้น

โดยธรรมชาติของธุรกิจร้านอาหารจะมีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin หรือ GPM) ค่อนข้างสูง MM เองก็มี GPM% สูงเกือบ 60% เช่นกัน แต่ก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการบริหารและขายที่สูง คือ ค่าเช่าพื้นที่ร้าน ค่าพนักงานประจำร้าน จึงยังทำให้ MM มีผลขาดทุนอยู่ในปี 2560 นั่นเอง

เมื่อเปรียบเทียบอัตรากำไรขั้นต้นของ MM กับคู่แข่ง

อัตรากำไรขั้นต้น % ปี พ.ศ. 2560
MM  56.5%
M (ร้านอาหาร MK สุกี้)  66.2%
MINT (ร้านอาหาร Sizzler, Swensens ฯลฯ)  55.1%
CENTEL (ร้านอาหาร Ootoya, Pepper Lunch ฯลฯ)  40.7%
AU (ร้านขนมหวาน After U)  65.2%

โดยสรุปแล้ว MM เป็นบริษัทไทยที่ดำเนินธุรกิจร้านอาหารแนวตะวันตก ซึ่งทำให้คนไทยได้ลิ้มลองอาหารตะวันตกคุณภาพดีได้ในประเทศไทย ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่า MM จะสามารถพลิกฟื้นกลับมาทำกำไรได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรศึกษาปัจจัยรอบด้านประกอบกันไปก่อนตัดสินใจลงทุนครับ

ข้อมูลอ้างอิง:

https://www.finnomena.com/stock/MM

http://www.dcs-digital.com/setweb/downloads/2560q1/20170609_mm.pdf

https://www.set.or.th/set/factsheet.do?symbol=MM&ssoPageId=3&language=th&country=TH

https://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=MM&ssoPageId=5&language=th&country=TH

—————————-

Vithan Minaphinant

Securities Investment Analyst (IA)

ตรวจทานบทความ


คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต

ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด

ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้

SaveSave

SaveSave

SaveSave

iran-israel-war