เมื่อวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท ควรรับมืออย่างไร? แล้วเอาเงินไปไว้ไหนดี?

สถาบันคุ้มครองเงินฝากปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท หมายความว่าอย่างไร? แล้วเราจะเอาเงินไปไว้ที่ไหนได้บ้างนอกจากการฝากเงินในธนาคาร? ใครที่กำลังมีข้อสงสัยนี้อยู่ บทความนี้จะตอบคำถามคาใจเหล่านั้นให้เอง

แต่ก่อนที่จะไปหาคำตอบเรามาทำความรู้จัก “สถาบันคุ้มครองเงินฝาก” กันก่อนว่าเขาเป็นใครและมีหน้าที่อะไร

สถาบันคุ้มครองเงินฝากคือใคร?

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ปี 2551 เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินในสถาบันการเงิน โดยเฉพาะผู้ฝากเงินรายย่อยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในกรณีที่สถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้ความคุ้มครองถูกปิดกิจการ ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากอย่างรวดเร็วภายใต้วงเงินและภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนเงินฝากที่มีจำนวนเกินวงเงินจ่ายคืนดังกล่าว จะได้รับคืนเพิ่มเติมจากการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ปิดกิจการ

หน้าที่หลักของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก 

  1. คุ้มครองเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงิน โดยจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากโดยเร็วเมื่อสถาบันการเงินปิดกิจการ
  2. เก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครอง เพื่อสะสมไว้เป็นกองทุนคุ้มครองเงินฝาก สำหรับใช้ในการจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากเงินตามวงเงินและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หากสถาบันการเงินใดถูกปิด
  3. ชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกปิด และนำเงินที่ได้รับจากการชำระบัญชี จ่ายคืนให้แก่ผู้ฝากในกรณีที่มีเงินฝากเกินวงเงินที่กำหนด

ผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน

ตรวจสอบรายชื่อสถาบันการเงินที่ได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ที่ รายชื่อสถาบันการเงินที่ได้รับการคุ้มครอง

เมื่อวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท ควรรับมืออย่างไร? แล้วเอาเงินไปไว้ไหนดี?

ที่มา: สถาบันคุ้มครองเงินฝาก

ซึ่งล่าสุดสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 5 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน (ไม่ใช่ต่อ 1 บัญชี) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2564 เป็นต้นไป

ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เช่น 

คุณฝากเงินในธนาคาร A จำนวน 3,000,000 บาท และธนาคาร B อีกจำนวน 3,000,000 บาท (รวมกันทุกบัญชี) หากธนาคาร A และ B ปิดกิจการด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ทางสถาบันคุ้มครองเงินฝากเขาจะคืนเงินที่คุณฝากให้ธนาคารละ 1,000,000 บาท สรุปก็คือ 2 ธนาคารรวมกันได้เงินฝากคืนจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากทั้งหมด 2,000,000 บาท ส่วนเงินฝากที่เกินวงเงินคุ้มครองอีก 4,000,000 บาท ก็ไปรอกันอีกทีหลังจากธนาคารขายสินทรัพย์ในการชำระบัญชีแล้ว (ตรงนี้สคฝ.ใช้คำว่า ‘มีโอกาส’ นั่นหมายความว่าไม่ได้คอนเฟิร์มว่าจะได้คืนนะ..)

เห็นแบบนี้แล้วหลาย ๆ คนคงตกใจไม่น้อย เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ธนาคารซึ่งเราฝากเงินปิดกิจการไป คนที่ฝากเงินเกิน 1,000,000 บาท ก็คงกลุ้มกันแน่ ๆ แล้วถ้ายิ่งฝากเงินไว้เกิน 1,000,000 บาทเยอะ ๆ ยิ่งแล้วใหญ่ คำถามคือ แล้วเราจะเอาเงินไปไว้ที่ไหนได้บ้างนอกจากการฝากเงินในธนาคาร? (แถมบางที่ก็อาจจะคาดหวังผลตอบแทนได้สูงกว่าดอกเบี้ยธนาคารเสียด้วย) อ่านต่อในหัวข้อถัดไปได้เลย

ตราสารหนี้

ตราสารหนี้ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยแต่ต้องการรับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากธนาคาร ลักษณะการลงทุนในตราสารหนี้นั้นจะแสดงถึง “การกู้ยืม”  โดยผู้ถือตราสารหนี้จะมีสถานะเป็น ‘เจ้าหนี้’ หรือ ‘ผู้ให้กู้’ ส่วนผู้ออกตราสารหนี้จะมีสถานะเป็น ‘ลูกหนี้’ หรือ ‘ผู้กู้’ เราในฐานะที่เป็นผู้ให้กู้ก็จะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของ “ดอกเบี้ย” จนกว่าจะครบกำหนดไถ่ถอนก็จะได้ “เงินต้น” คืนด้วย

ตราสารหนี้หากแบ่งตามประเภทผู้ออกจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ 

  1. ตราสารหนี้ภาครัฐ หรือ พันธบัตร (Government Bond) เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
  2. ตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือ หุ้นกู้ (Corporate Bond) ซึ่งออกโดยบริษัทเอกชนต่าง ๆ เพื่อเป็นการระดุมทุน

อย่างไรก็ตาม ที่บอกไปว่าความเสี่ยงน้อยก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลย ต้องระวังความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ด้วยหากซื้อหุ้นกู้เอกชน แนะนำว่าให้ตรวจสอบดี ๆ ว่าบริษัทที่เราจะซื้อหุ้นกู้นั้นมีความมั่นคงและสามารถชำระดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นคืนเราได้ตามระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่

ส่วนผลตอบแทนเฉลี่ยของตราสารหนี้อยู่ที่ 2-5% ก็สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นมาหน่อย แต่ต้องดูให้ดีเพราะผลตอบแทนของตราสารหนี้บางทีก็แพ้อัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นควรนำอัตราเงินเฟ้อมาคำนวณด้วยว่าได้คุ้มเสียไหม

อ่านเพิ่มเติม ตราสารหนี้ คืออะไร? พร้อมเคล็ดลับการลงทุนตราสารหนี้ที่พลาดไม่ได้!

ทองคำ

“ทองคำ” เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่แสดงถึงความมั่งคั่งร่ำรวยมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน  การลงทุนในทองคำสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น ลงทุนทางตรงโดยการซื้อทองคำจากหน้าร้านเลยทั้งทองคำแท่งหรือรูปพรรณ ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในทองคำ ลงทุนผ่านสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) หรือจะเป็นการออมทองคำผ่านโบรกเกอร์ที่ให้บริการก็ได้เช่นกัน ทองคำถือเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องค่อนข้างสูงเนื่องจากสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย มีค่าความผันผวนต่ำกว่าสินทรัพย์เสี่ยงชนิดอื่นและมีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์อื่นต่ำมาก จึงนิยมนำมากระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน

อ่านเพิ่มเติม 3 เรื่องต้องรู้ก่อนลงทุนทองคำแท่ง

หุ้น

“ตราสารทุน” หรือ “หุ้น” คงเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่หลาย ๆ คนคุ้นหน้าคุ้นตากันแล้ว ลักษณะการลงทุนในหุ้นนั้นจะแสดงถึงการเป็น “เจ้าของกิจการ” หมายความว่าหากเราซื้อหุ้นตัวนั้น ๆ เราก็จะมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการนั่นเอง โดยจะมีสิทธิ์เท่าไรก็ตามสัดส่วนการถือครองเลย ซึ่งตรงนี้จะทำให้เรามีสิทธิ์ในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นด้วย

สำหรับผลตอบแทนที่ได้จากหุ้นจะเรียกว่า ‘ส่วนต่างราคา (Capital Gain)’ รวมไปถึง ‘เงินปันผล (Dividend Yield)’ ในกรณีที่บริษัทนั้น ๆ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลด้วย

ผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นอยู่ที่ประมาณ 7.77% (ข้อมูลผลตอบแทนรวมตลาดหุ้นไทย (SET TRI) ย้อนหลัง 10 ปี l ที่มา:ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ณ วันที่ 31 มี.ค. 64) เยอะหน่อย แต่อย่าลืมว่าผลตอบแทนจากการลงทุนยอมแปรผันตรงกับความเสี่ยง หมายความว่ายิ่งผลตอบแทนสูงความเสี่ยงก็จะยิ่งมากขึ้นตามกันไป ควรศึกษาเบื้องลึกเบื้องหลังของหุ้นตัวนั้น ๆ ที่เราสนใจว่าธุรกิจเขาเป็นอย่างไร งบการเงินต่าง ๆ ก่อนลงทุน (เพราะดอยมันหนาวมาก)

กองทุนรวม

กองทุนรวมเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความน่าสนใจมาก เพราะเสน่ห์ของกองทุนรวมคือการที่นักลงทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์แบบที่เรียกได้ว่าเกือบครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น ตราสารหนี้ ทองคำ หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ เรียกได้ว่ามัดรวมเกือบทุกสินทรัพย์ไว้ใน “กองทุนรวม” ที่เดียวจริง ๆ

อีกหนึ่งจุดเด่นของกองทุนรวมคือ แต่ละกองทุนจะมี “ผู้จัดการกองทุน” คอยบริหารดูแลเงินที่นักลงทุนระดมทุนมาลงทุน ซึ่งจะต่างกับการลงทุนในหุ้นรายตัวที่เราต้องมาศึกษาดูตัวเลขทางการเงินของบริษัทนั้น ๆ เอง  แต่การมีผู้จัดการกองทุนก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องศึกษาก่อนลงทุนในกองทุนรวมนะ ความเสี่ยงของกองทุนรวมนั้นจะขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุน ดังนั้นควรศึกษานโยบายการลงทุนและความเสี่ยงต่าง ๆ รวมไปถึงค่าธรรมเนียมกองทุนก่อนลงทุน

ประเภทของกองทุนรวม

  • ความเสี่ยงระดับที่ 1: กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ ได้แก่ ตั๋วเงิน และตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี
  • ความเสี่ยงระดับที่ 2: กองทุนรวมตลาดเงินต่างประเทศ ได้แก่ ตั๋วเงิน และตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปีที่ลงทุนในต่างประเทศ
  • ความเสี่ยงระดับที่ 3: กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ที่มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • ความเสี่ยงระดับที่ 4: กองทุนรวมตราสารหนี้ ได้แก่ ตราสารหนี้ทั้งที่ออกโดยภาครัฐและเอกชน
  • ความเสี่ยงระดับที่ 5: กองทุนรวมผสม ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ตราสารหนี้ รวมถึงสินทรัพย์อื่น ๆ
  • ความเสี่ยงระดับที่ 6: กองทุนรวมตราสารทุน เน้นลงทุนในหุ้นเป็นหลัก ทั้งหุ้นในประเทศและต่างประเทศ
  • ความเสี่ยงระดับที่ 7: กองทุนรวมตามหมวดอุตสาหกรรม ยังคงเป็นประเภทกองทุนที่ลงทุนในหุ้นแต่เจาะจงกลุ่มอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่ม Healthcare 
  • ความเสี่ยงระดับที่ 8: กองทุนรวมทางเลือก เช่น ทองคำ น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ

สำหรับกองเด็ดของแต่ละประเภทกองทุน นักลงทุนสามารถเข้าไปดูได้ที่ FINNOMENA Pick ซึ่งเป็นกองทุนแนะนำจาก FINNOMENA ที่คัดสรรมาแล้วว่าเป็นกองทุนที่ทำผลงานได้ดีในกลุ่มสินทรัพย์นั้น ๆ (Best-In-Class) ที่มีมากกว่า 40 กลุ่มเลยทีเดียว

นอกจากนี้กองทุนยังสามารถ “ลดหย่อนภาษีได้” อีกด้วย โดยนักลงทุนสามารถลงทุนใน SSF หรือ RMF เพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษีสิ้นปีได้ ซึ่งความพิเศษนี้ทุกสินทรัพย์ที่กล่าวไปข้างต้นทำไม่ได้แต่ ‘กองทุนรวมทำได้’ ไม่ธรรมดาจริง ๆ

อ่านเพิ่มเติม ความรู้เกี่ยวกับ SSF และ RMF

สำหรับการซื้อขายกองทุนรวมก็สะดวกขึ้นเยอะ จากที่แต่ก่อนต้องวิ่งวุ่น ยื่นเอกสารปึกหนาตามธนาคารต่าง ๆ กว่าจะเสร็จเรื่องก็หมดวันแล้ว แต่ในปัจจุบันเราสามารถซื้อขายกองทุนรวมผ่านแอปพลิเคชันได้แล้ว ซึ่งแน่นอนว่า FINNOMENA ก็ตั้งใจตอบโจทย์นักลงทุนตรงนี้ โดยนักลงทุนสามารถทำธุรกรรมทุกอย่างได้ผ่านแอปพลิเคชันของ FINNOMENA ตั้งแต่การเปิดบัญชีซื้อขายกองทุนที่ทำได้เองที่บ้าน ไม่ต้องส่งเอกสาร แถมอนุมัติรวดเร็วภายใน 1-2 วันทำการ ไปจนถึงการซื้อขายกองทุนรวมเลย ซึ่ง FINNOMENA ก็มีกองทุนกว่า 1,000 กองทุนจากทั้งหมด 19 บลจ.มาให้นักลงทุนได้เลือกกัน

อ่านเพิ่มเติม วิธีสร้างแผนการลงทุนพร้อมเปิดบัญชีซื้อขายกองทุนกับ FINNOMENA แบบ Step by Step

ใครที่เริ่มสนใจในกองทุนรวมบ้างแล้วและอยากรู้จักสินทรัพย์นี้ให้มากขึ้น เรามี E-Book ให้ดาวน์โหลดฟรี! เพียงแค่สมัครเป็นสมาชิกกับ FINNOMENA เท่านั้น

ดาวน์โหลดได้ที่ E-Book คัมภีร์มหากาพย์กองทุนรวม สำหรับมือใหม่ อ่านครบ จบที่เดียว

หากใครยังลังเลที่จะเปิดบัญชีลงทุนกองทุนรวมกับ FINNOMENA ลองสมัครสมาชิกและดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน FINNOMENA มาใช้งานดูก่อนก็ได้ ดาวน์โหลดฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้ง iOS และ Andriod หรือจะอ่านบทความที่แปะลิงก์ไว้ด้านล่างเพิ่มเติมก็ได้ว่าเราขนความพิเศษอะไรมาให้ลูกค้า FINNOMENA บ้าง ซึ่งรับประกันได้เลยว่าจัดหนักจัดเต็มมากจริง ๆ

อ่านเพิ่มเติม พาซื้อกองทุนรวมผ่าน FINNOMENA พร้อมความพิเศษต่าง ๆ ที่หาไม่ได้จากที่อื่น

เมื่อวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท ควรรับมืออย่างไร? แล้วเอาเงินไปไว้ไหนดี?

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับทั้งนักลงทุนมือใหม่และมือเก๋ากันทั่วหน้า อย่างไรก็ตาม ขอฝากทิ้งท้ายไว้ว่า การที่จะเริ่มลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ ควรศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจในสินทรัพย์นั้น ๆ ก่อนเสมอ หาเป้าหมายการลงทุนของคุณให้เจอ ลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะกับเป้าหมายการลงทุนและความเสี่ยงที่คุณรับได้ ซึ่งนั่นจะทำให้การลงทุนของคุณมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

— planet 46.

อ้างอิง


คำเตือน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน