ส่อง 8 'หุ้นสิงคโปร์' ศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 1 ในเอเชีย

หลังจากที่เราได้พาไป ส่อง 8 ‘หุ้นเกาหลี’ ยักษ์ใหญ่ แห่งแดนโสมขาว, ส่อง 8 ‘หุ้นเวียดนาม’ เสือตัวใหม่แห่งเศรษฐกิจเอเชีย และ ส่อง 8 ‘หุ้นอังกฤษ’ ยักษ์ใหญ่ของเศรษฐกิจเมืองผู้ดี ไปแล้ว วันนี้เป็นคิวของ “หุ้นสิงคโปร์” กันบ้าง

“ประเทศสิงคโปร์” ถือเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจมากที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยล่าสุดเพิ่งขึ้นแท่นเป็น “ศูนย์กลางทางการเงิน” อันดับ 1 ในเอเชีย แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างฮ่องกงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ไม่ได้โดดเด่นแค่ในอุตสาหกรรมการเงินเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของสิงคโปร์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

บทความนี้จึงขอชวนทุกคนมาดู 8 หุ้น (บริษัท) สิงคโปร์ ที่คัดมาเน้น ๆ แล้วว่าแต่ละบริษัทมีความน่าสนใจ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจมากที่สุดในอาเซียน

เจาะลึก 8 ‘หุ้นสิงคโปร์’ ศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 1 ในเอเชีย

ส่อง 8 'หุ้นสิงคโปร์' ศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 1 ในเอเชีย

DBS Group

ส่อง 8 'หุ้นสิงคโปร์' ศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 1 ในเอเชีย

‘DBS Group’ เป็นบริษัทโฮลดิ้งด้านการลงทุนที่ดำเนินการผ่านบริษัทย่อย ‘DBS Bank’ ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านการธนาคารพาณิชย์และบริการทางการเงินต่าง ๆ เปิดให้บริการแก่ลูกค้าทั่วโลก โดยเน้นไปที่ภูมิภาคเอเชียเป็นส่วนใหญ่ ประเทศที่มีสาขาและสำนักงานของ DBS Bank ตั้งอยู่ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เวียดนาม และไทย เป็นต้น 

DBS Bank ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 1968 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ Marina Bay Financial Centre ในย่าน Marina Bay ประเทศสิงคโปร์ โดยเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแง่ของมูลค่าสินทรัพย์รวม และยังเป็นบริษัทที่มูลค่าตลาดสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในสิงคโปร์ ด้วยมูลค่าตลาดกว่า 59.29  พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ต.ค. 2565) บริษัทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Singapore Exchange Limited: SGX) ภายใต้สัญลักษณ์หุ้น ‘D05’ และให้บริการทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้าสถาบันผ่าน 3 ภาคส่วนหลัก ได้แก่

  • Consumer Banking/Wealth Management: ให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้ารายย่อย ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของธนาคาร เช่น บัญชีกระแสรายวันและบัญชีออมทรัพย์ เงินฝากประจำ สินเชื่อและไฟแนนซ์บ้าน บัตรเดบิต/เครดิต การลงทุน และผลิตภัณฑ์ประกันภัย เป็นต้น
  • Institutional Banking: ให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าสถาบัน ซึ่งรวมถึงสถาบันการเงินของธนาคารและที่ไม่ใช่ธนาคาร รัฐวิสาหกิจ บริษัทขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง
  • Treasury & Markets (T&M): ให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย ตลาดเงิน เครดิต ตราสารทุน สินค้าโภคภัณฑ์ พันธบัตร อนุพันธ์ และหลักทรัพย์

โดยในเดือนพฤศจิกายน ปี 1998 DBS Bank ได้เข้าซื้อกิจการ ‘POSBank’ (ชื่อเดิม Post Office Savings Bank) ด้วยมูลค่ากว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสาขาและเครือข่าย ATM ที่กว้างขึ้น รวมถึง และผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่มีความหลากหลายกว่าเดิม ทำให้ DBS Bank มีส่วนแบ่งการตลาดที่โดดเด่น เป็นการตอกย้ำตำแหน่งของ DBS Bank ในฐานะธนาคารเพื่อรายย่อยที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์

OCBC Bank

ส่อง 8 'หุ้นสิงคโปร์' ศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 1 ในเอเชีย

‘Oversea-Chinese Banking Corporation’ หรือ ‘OCBC Bank’ เป็นบริษัทในสิงคโปร์ที่ดำเนินธุรกิจด้านการเงินการธนาคารแบบครบวงจร ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1932 มีสำนักงานใหญ่ชื่อว่า ‘OCBC Center’ ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ โดยเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแง่ของมูลค่าสินทรัพย์รวม ด้วยมูลค่าตลาดกว่า 36.90 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ต.ค. 2565) บริษัทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Singapore Exchange Limited: SGX) ภายใต้สัญลักษณ์หุ้น ‘O39’ โดยมีการให้บริการผ่าน 4 ภาคส่วนหลัก ได้แก่

  • Global Consumer/Private Banking: นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินที่หลากหลายให้แก่ลูกค้า
  • Global Wholesale Banking: ให้บริการลูกค้าสถาบัน ตั้งแต่องค์กรขนาดใหญ่และภาครัฐ ไปจนถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
  • Global Treasury and Markets: ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การซื้อขายตราสารหนี้และอนุพันธ์ รวมถึงนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการลงทุนและการป้องกันความเสี่ยงของลูกค้า
  • Insurance: กลุ่มประกันภัยให้บริการทั้งผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและประกันทั่วไปแก่ลูกค้า โดยส่วนใหญ่เน้นไปที่ลูกค้าในสิงคโปร์และมาเลเซีย

OCBC Bank มีบริษัทย่อยในเครือมากกว่า 10 บริษัท ตัวอย่างเช่น

  • OCBC Securities: เป็นบริษัทหลักทรัพย์ในเครือของ OCBC Bank และเป็นบริษัทสมาชิกของ Singapore Exchange Securities Trading Limited (SGX-ST) และ Singapore Exchange Derivatives Trading Limited (SGX-DT) ก่อตั้งขึ้นในปี 1986 โดยเป็นหนึ่งในบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ชั้นนำในสิงคโปร์ที่ให้บริการด้านหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบ
  • Great Eastern Holdings: ในปี 2004 OCBC ได้เข้าซื้อกิจการ ‘Great Eastern Holdings’ โดยเป็นบริษัทประกันชีวิตที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในสิงคโปร์ ซึ่งนอกจากจะดำเนินธุรกิจในประเทศสิงคโปร์แล้ว ยังมีการดำเนินงานในประเทศจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไนอีกด้วย
  • Lion Global Investors (LGI): เปิดตัวในเดือนกันยายน ปี 2005 หลังจากการควบรวมกิจการของ OCBC Bank และ Great Eastern Holdings โดยเป็นหนึ่งในบริษัทจัดการสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารกว่า 49.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565)
  • Bank of Singapore: OCBC เข้าซื้อกิจการ ING Asia Private Bank (ชื่อเดิมของ Bank of Singapore) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2010 โดยเป็นธนาคารเอกชนในเครือของ OCBC Bank ที่เน้นให้บริการแก่บุคคลที่มีรายได้สูงและครอบครัวที่ร่ำรวยของจีน ยุโรป ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ตะวันออกกลาง ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย รวมถึงชาวอินเดียที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ทั่วโลก

UOB

ส่อง 8 'หุ้นสิงคโปร์' ศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 1 ในเอเชีย

‘United Overseas Bank’ หรือ ‘UOB’ เป็นธนาคารในสิงคโปร์ที่มีเครือข่ายสาขาและสำนักงานมากกว่า 500 สาขาทั่วโลก รวมกว่า 19 ประเทศ ทั้งในทวีปเอเชียแปซิฟิก ยุโรป และอเมริกาเหนือ เช่น ฮ่องกง บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย และไทย เป็นต้น โดยมีสาขาอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่

UOB ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1935 ด้วยชื่อ ‘United Chinese Bank (UCB)’ มีสำนักงานใหญ่ชื่อว่า ‘UOB Plaza’ ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ โดยเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแง่ของมูลค่าสินทรัพย์รวม ด้วยมูลค่าตลาดกว่า 30.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ต.ค. 2565) และได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Singapore Exchange Limited: SGX) ภายใต้สัญลักษณ์หุ้น ‘U11’

UOB ให้บริการโซลูชันทางการเงินที่หลากหลายในทั่วโลกผ่าน 3 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งได้แก่

  • Group Retail (GR): นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ทั้งการฝากเงิน ประกันภัย บัตรเดบิต/เครดิต การบริหารความมั่งคั่ง การลงทุน สินเชื่อ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการค้า
  • Group Wholesale Banking (GWB): นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายแก่ลูกค้า ซึ่งรวมถึงการจัดหาเงินทุน บริการด้านการค้า และการบริหารเงินสด เป็นต้น
  • Global Markets (GM): นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินหลากหลายประเภท ซึ่งรวมถึงการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย สินเชื่อ และหุ้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการตลาดและการบริหารจัดการเงินทุนและสภาพคล่อง

โดยมีการดำเนินธุรกิจ 3 กลุ่มดังกล่าวผ่านบริษัทย่อยในเครือ ได้แก่ Far Eastern Bank Limited, UOB Bullion and Futures Limited, UOBBF Clearing Limited, United Overseas Insurance Limited, UOB Asia Investment Partners Pte. Ltd., UOB Asset Management Ltd., UOB-SM Asset Management Pte. Ltd. และ UOB Venture Management Private Limited

Singtel

ส่อง 8 'หุ้นสิงคโปร์' ศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 1 ในเอเชีย

‘Singapore Telecom’ หรือ ‘Singtel’ เป็นกลุ่มบริษัทโทรคมนาคมของสิงคโปร์ ให้บริการด้านโทรคมนาคมและบริการด้านดิจิทัลที่หลากหลาย เช่น บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์ ตลอดจนบริการโทรทัศน์แบบที่สถานีส่งเก็บเงินจากผู้รับ (Pay TV) เป็นต้น โดยเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ด้วยมูลค่าตลาดกว่า 27.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ต.ค. 2565) ให้บริการทั่วโลก ทั้งในทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย และแอฟริกา มีฐานลูกค้ามากกว่า 770 ล้านรายใน 21 ประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2565)

Singtel ก่อตั้งขึ้นในปี 1894 ภายใต้ชื่อ ‘Private Telephone Exchange’ โดยในปี 1989 ได้มีการปรับโครงสร้างบริษัทและเปลี่ยนชื่อเป็น Singapore Telecom หรือ Singtel ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจไปสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น ในเดือนตุลาคม 1993 Singtel กลายเป็นบริษัทมหาชน และได้ประกาศการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนกว่า 1.1 พันล้านหุ้น โดยปัจจุบันหุ้นของ Singtel มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Singapore Exchange Limited: SGX) ภายใต้สัญลักษณ์หุ้น ‘Z74’

Singtel ให้บริการโซลูชันเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจรผ่าน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่

  • Mobile: ดำเนินงานจัดหาระบบโทรคมนาคมและให้บริการที่เกี่ยวข้องโทรศัพท์มือถือและบรอดแบนด์ ผ่านบริษัทย่อย ได้แก่ Singtel Mobile Singapore Pte Ltd, Optus Mobile Pty Limited และ Virgin Mobile (Australia) Pty Limited
  • ICT: ดำเนินการจัดหา ให้บริการ และให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่านบริษัทย่อย ได้แก่ NCS, Alphawest และ Uecomm
  • Digital: ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับด้านดิจิทัล เช่น บริการโฆษณาบนมือถือ พัฒนาและจัดการพอร์ทัลออนไลน์ ผ่านบริษัทย่อย ได้แก่ Amobee, Pixable, DataSpark, Singtel Digital Media Pte Ltd (STDM), Singtel Idea Factory Pte Ltd และ Singtel Innov8 Pte Ltd
  • Internet and TV: ให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์ รวมถึงโทรทัศน์แบบที่สถานีส่งเก็บเงินจากผู้รับ (Pay TV) ผ่านบริษัทย่อย ได้แก่ SingNet, Optus Broadband Pty Limited, Optus Vision Pty Limited, Optus Internet Pty Limited และ Vividwireless Group Limited

นอกจากนี้ยังมีภาคส่วนอื่น ๆ เช่น Singapore Post Limited ดำเนินการและจัดหาบริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์, Telescience Singapore Pte Ltd ผู้จัดจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์โทรคมนาคม และ Viewers Choice Pte Ltd ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการเช่ารถยนต์และการขายปลีกสินค้าทั่วไป เป็นต้น โดย Singtel ยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ‘Intouch Holdings’ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในประเทศไทยอย่าง ‘AIS’ ด้วยสัดส่วนกว่า 24.99% อีกด้วย (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ต.ค. 2565)

Sea Group

ส่อง 8 'หุ้นสิงคโปร์' ศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 1 ในเอเชีย

‘Sea Group’ เป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำที่เน้นการดำเนินงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 โดย ‘Forrest Li’ นักธุรกิจมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยเป็นอันดับที่ 11 ของสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CEO ของ Sea Group

บริษัทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (New York Stock Exchange: NYSE) ภายใต้สัญลักษณ์หุ้น ‘SE’ โดยมีดำเนินธุรกิจใน 3 ภาคส่วน ได้แก่ เกมออนไลน์ บริการชำระเงินทางดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซ โดยมีรายละเอียดของแต่ละภาคส่วนดังนี้

  • Garena: เปิดตัวในปี 2009 เป็นผู้พัฒนาและนำเสนอเกมออนไลน์บนมือถือและคอมพิวเตอร์พีซีชั้นนำที่มีการดำเนินงานทั่วโลกในกว่า 130 ประเทศ โดยเป็นผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายเกมสุดฮิตอย่าง ‘Free Fire’ เกมแนว Battle Royale บนมือถือที่มียอดการดาวน์โหลดมากที่สุดทั่วโลกในปี 2019-2021 และยังเป็นเกมมือถือที่ทำรายได้สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และละตินอเมริกา นอกจากนี้ Garena ยังเป็นเจ้าภาพจัดงาน e-Sports ทั่วโลก ตั้งแต่การแข่งขันระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับมืออาชีพ โดย Sea จัดเป็นบริษัทวิดีโอเกมที่ใหญ่ที่สุดหนึ่งในสิบของโลกในแง่ของมูลค่าตลาด
  • SeaMoney: ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 เป็นผู้ให้บริการชำระเงินและสินเชื่อที่หลากหลายแก่ลูกค้าบุคคลและธุรกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล Shopeepay และ SPayLater โดยมีความตั้งใจในการทำให้ชีวิตของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดีขึ้นด้วยบริการทางการเงินผ่านเทคโนโลยที่ SeaMoney นำเสนอ มีการดำเนินงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
  • Shopee: แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เปิดตัวครั้งแรกในสิงคโปร์เมื่อปี 2015 และเติบโตขึ้นจนกลายเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะเปิดให้บริการประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วยังเปิดให้บริการในไต้หวันอีกด้วย Shopee มุ่งเน้นการมอบประสบการณ์ชอปปิ้งออนไลน์ที่ง่าย ปลอดภัย รวดเร็ว และสนุกสนานแก่ผู้บริโภค นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย รองรับการชำระเงินแบบบูรณาการ โดยเป็นแอปฯ ที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดในโลกในหมวด Shopping ในปี 2021 (นับรวมทั้ง Google Play และ App Stores) โดย Sea จัดเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดหนึ่งในสิบของโลกในแง่ของมูลค่าตลาด

Wilmar International

ส่อง 8 'หุ้นสิงคโปร์' ศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 1 ในเอเชีย

‘Wilmar International’ เป็นบริษัทโฮลดิ้งด้านการลงทุนและแปรรูปอาหารของสิงคโปร์ ดำเนินธุรกิจครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อาหารของสินค้าเกษตร ตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูป และการจัดจำหน่าย ด้วยโรงงานผลิตมากกว่า 500 แห่ง และสำนักงานขายในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ทำให้ Wilmar กลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านสินค้าเกษตรของเอเชียด้วยมูลค่าตลาดกว่า 15.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ต.ค. 2565) ซึ่งแม้แต่ ‘Unilever’ หนึ่งในผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่มียอดขายสูงสุดในโลก ยังเป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ของ Wilmar ด้วย

Wilmar ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 1991 โดย ‘Kuok Khoon Hong’ นักธุรกิจชาวสิงคโปร์ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานและ CEO ของ Wilmar International ปัจจุบันบริษัทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Singapore Exchange Limited: SGX) ภายใต้สัญลักษณ์หุ้น ‘F34’ รวมถึงเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ (OTC) ผ่าน OTC Market Group (Pink Sheets) ภายใต้สัญลักษณ์ ‘WLMIY’

ส่วนงานของบริษัทประกอบด้วย 3 ภาคส่วนหลักคือ ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ไร่และโรงสีน้ำตาล ซึ่งดำเนินงานผ่านบริษัทในเครือที่มีมากกว่า 300 บริษัท โดยมีรายละเอียดของแต่ละภาคส่วนดังนี้

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร: แปรรูป สร้างแบรนด์ และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่รับประทานได้ ซึ่งรวมถึงน้ำมันพืชที่ผลิตจากปาล์มและเมล็ดพืชน้ำมัน น้ำตาล แป้ง ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ไขมันชนิดพิเศษ ขนมขบเคี้ยว เบเกอรี่ และผลิตภัณฑ์จากนม
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม: แปรรูป ขายสินค้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากปาล์มและลอริกที่บริโภคไม่ได้ สินค้าเกษตร โอลีโอเคมี น้ำมันแก๊ส และไบโอดีเซล
  • ส่วนงานไร่และโรงสีน้ำตาล: ปลูกปาล์มน้ำมันและโรงสีน้ำตาล ซึ่งรวมถึงการเพาะปลูกและการสีน้ำมันปาล์มและอ้อย

นอกจากนี้ยังมีภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงบริการด้านโลจิสติกส์และท่าเทียบเรือ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านการลงทุนอีกด้วย

ตัวอย่างสินค้าในเครือของ Wilmar International
ที่มา: https://www.wilmar-international.com/our-businesses/food-products/consumer-products

Singapore Airlines

ส่อง 8 'หุ้นสิงคโปร์' ศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 1 ในเอเชีย

‘Singapore Airlines’ เป็นสายการบินประจำชาติของประเทศสิงคโปร์ ดำเนินธุรกิจด้านการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางอากาศ มีศูนย์กลางอยู่ที่ท่าอากาศยานชางงีสิงคโปร์ (Singapore Changi Airport) ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสายการบินที่ดีที่สุดในโลกโดย Skytrax  และยังถูกจัดให้เป็นสายการบินระหว่างประเทศที่ดีที่สุดโดย Travel + Leisure ต่อเนื่องกันกว่า 27 ครั้ง โดยมีเครื่องบินให้บริการในฝูงบินมากกว่า 180 ลำ ครอบคลุมกว่า 110 จุดหมายปลายทาง

Singapore Airlines ก่อตั้งขึ้นปี 1974 ในชื่อ ‘Malayan Airways’ ซึ่งเป็นสายการบินประจำชาติของมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยเกิดจากการเป็นเจ้าของร่วมกันของรัฐบาลทั้งสองประเทศ ก่อนจะแยกตัวออกเป็น Singapore Airlines เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1972 หลังจากที่รัฐบาลของทั้งสองประเทศตัดสินใจจัดตั้งสายการบินแห่งชาติของประเทศตนเอง ปัจจุบัน Singapore Airlines ได้มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Singapore Exchange Limited: SGX) ภายใต้สัญลักษณ์หุ้น ‘C6L’

นอกจากธุรกิจสายการบินแล้ว Singapore Airlines ยังขยายฐานลูกค้าไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบิน โดยมีบริษัทในเครือของ Singapore Airlines Group มากกว่า 20 บริษัท เช่น 

  • SIA Engineering: ผู้นำในด้านการให้บริการบำรุงรักษา ซ่อมแซม และทดสอบเครื่องบิน ซึ่งให้การดูแลเครื่องบินมากกว่า 80 สายการบินจากทั่วโลก ก่อตั้งขึ้นในปี 1992
  • Singapore Airlines Cargo (SIA Cargo): ดำเนินการขนส่งสินค้าและจัดเก็บสัมภาระบนเครื่องบินโดยสาร ก่อตั้งขึ้นในปี 2001
  • Scoot: สายการบินราคาประหยัด (Low Cost Airlines) ในเครือของสิงคโปร์แอร์ไลน์ ให้บริการเที่ยวบินจากสิงคโปร์ไปออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และไทย
  • SilkAir: สายการบินเต็มรูปแบบ (Full Service Airlines) ในเครือของสิงคโปร์แอร์ไลน์ที่บินสู่จุดหมายปลายทางกว่า 40 แห่งทั่วเอเชียแปซิฟิก ด้วยสภาพแวดล้อมบนเครื่องบินที่พร้อมให้การต้อนรับและพนักงานต้อนรับที่เป็นมิตร ทำให้ SlikAir เป็นสายการบินฟูลเซอร์วิสที่ได้รับรางวัลมากมายตลอดหลายปี

Grab Holdings

ส่อง 8 'หุ้นสิงคโปร์' ศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 1 ในเอเชีย

‘Grab Holdings’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘Grab’ เป็นบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติของประเทศสิงคโปร์ ผู้พัฒนา ‘Grab Superapp’ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ให้บริการเรียกรถ แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ จัดส่งอาหารและพัสดุสิ่งของ โดยให้บริการกว่า 480 เมืองใน 8 ประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

Grab Holdings มีจุดเริ่มต้นมาจากความตั้งใจในการสร้างแอปพลิเคชันจองแท็กซี่บนมือถือสำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกับที่มีในสหรัฐฯ ของ ‘Anthony Tan’ เพื่อยกระดับให้การโดยสารแท็กซี่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น จึงได้เปิดตัวแอปฯ ‘My Teksi’ ในประเทศมาเลเซียในปี 2012 ร่วมกับ ‘Tan Hooi Ling’ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Co-founder และ Chief Operating Officer (COO) ของ Grab Holdings ด้วยทุนเริ่มต้นจำนวนกว่า 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2014 ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่ประเทศสิงคโปร์และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Grab’ ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ และได้จดทะเบียนในตลาดหลักแนสแด็ก (NASDAQ) ภายใต้สัญลักษณ์หุ้น ‘GRAB’

GrabTaxi ได้เริ่มขยายตลาดสู่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มจากฟิลิปปินส์ในเดือนสิงหาคม ปี 2013 รวมถึงประเทศสิงคโปร์และไทยในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2014 มีการเปิดตัว GrabTaxi ในเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม และเมืองจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซียในเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน ซึ่งนอกจาก GrabTaxi แล้ว Grab  ยังคงขยายฐานลูกค้าโดยการเปิดตัว ‘GrabCar’ ในเดือนพฤษภาคมปี 2013 โดยเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการขนส่งที่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแทนรถแท็กซี่ เพื่อแก้ไขปัญหารถแท็กซี่ขาดแคลนในช่วงเวลาเร่งด่วน ในเดือนพฤษภาคม ปี 2018 Grab  ได้เปิดตัวบริการส่งอาหารในชื่อ ‘GrabFood’ และในเดือนตุลาคมของปีเดียวกันยังได้เปิดตัวบริการจัดส่งของในชื่อ ‘GrabExpress’ อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีบริการ ‘GrabBike (Win)’ บริการเรียกวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ‘GrabRent’ บริการให้เช่ารถยนต์พร้อมคนขับรถ ‘GrabVan’ บริการเช่ารถตู้ ‘GrabRotdaeng’ บริการเช่ารถสองแถวที่เปิดให้บริการเฉพาะในเชียงใหม่เท่านั้น ‘GrabPay’ บริการด้านการเงิน โดยเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลสำหรับจ่ายค่าโดยสาร รวมถึงค่าอาหารและค่าจัดส่งบนแอปฯ ของ Grab

ลงทุนหุ้นสิงคโปร์ผ่านกองทุนรวม

แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีกองทุนไทยที่ลงทุนในหุ้นสิงคโปร์โดยตรงแต่ก็มีกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีการจัดสรรการลงทุนในประเทศสิงคโปร์อยู่เหมือนกัน โดยในบทความนี้เราขอหยิบกองทุนที่ให้น้ำหนักลงทุนในประเทศสิงคโปร์เกิน 20% ของ NAV มาพูดถึง 3 กองทุน ได้แก่ กองทุน KT­-ASEAN-­A, I-ASEAN STAR 10 และ K-AEC

KT­-ASEAN-­A

นโยบายการลงทุน: ลงทุนในกองทุน JPMorgan Funds – ASEAN Equity Fund เป็นกองทุนหลัก (Master Fund) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยกองทุน KT­-ASEAN-­A จัดเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงระดับ 6

กองทุนหลักมีนโยบายลงทุนหุ้นของบริษัทที่มีภูมิลําเนาอยู่ในหรือมีผลการดําเนินงานหลักของบริษัทมาจากประเทศที่เป็นสมาชิกในกลุ่มอาเซียน ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนบางประเทศ อาจถูกพิจารณาให้เป็นประเทศตลาดเกิดใหม่

ส่อง 8 'หุ้นสิงคโปร์' ศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 1 ในเอเชีย

การจัดสรรการลงทุนในต่างประเทศของกองทุน KT-ASEAN-A (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2565)
ที่มา: https://am.jpmorgan.com/gb/en/asset-management/adv/products/jpm-asean-equity-a-acc-usd-lu0441851309#/portfolio

กลยุทธ์ในการบริหารจัดการลงทุน: มุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management)

ค่าธรรมเนียมกองทุน: การจัดการ – 0.80% / Front-end Fee และ Switching-in – 1.50% / รวม – 1.09%

มูลค่าขั้นต่ำของการซื้อครั้งแรกและครั้งถัดไป: 1,000 บาท

ซื้อกองทุน KT­-ASEAN-­A คลิก

I-ASEAN STAR 10

นโยบายการลงทุน: ลงทุนในตราสารหนี้และหุ้นในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม เป็นต้น แต่ไม่รวมถึงหุ้นไทย โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยกองทุน I-ASEAN STAR 10 จัดเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงระดับ 5

กลยุทธ์ในการบริหารจัดการลงทุน: มุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management)

ส่อง 8 'หุ้นสิงคโปร์' ศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 1 ในเอเชีย

การจัดสรรการลงทุนในต่างประเทศ 5 อันดับแรกของกองทุน I-ASEAN STAR 10
ที่มา: I-ASEAN STAR 10 Fund Factsheet (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2565)

ค่าธรรมเนียมกองทุน: การจัดการ – 2.1400% / Front-end Fee และ Switching-in – ไม่มี / รวม – 3.6241%

มูลค่าขั้นต่ำของการซื้อครั้งแรก: 10,000 บาท

มูลค่าขั้นต่ำของการซื้อครั้งถัดไป: 1,000 บาท

ซื้อกองทุน I-ASEAN STAR 10 คลิก

K-AEC

นโยบายการลงทุน: ลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยกองทุน K-AEC จัดเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงระดับ 6

กลยุทธ์ในการบริหารจัดการลงทุน: มุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management)

ส่อง 8 'หุ้นสิงคโปร์' ศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 1 ในเอเชีย

การจัดสรรการลงทุนในต่างประเทศของกองทุน K-AEC
ที่มา: K-AEC Fund Factsheet (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2565)

ค่าธรรมเนียมกองทุน: การจัดการ – 2.1400% / Front-end Fee และ Switching-in – 1.50% / รวม – 2.4559%

มูลค่าขั้นต่ำของการซื้อครั้งแรกและครั้งถัดไป: 500 บาท

ซื้อกองทุน K-AEC คลิก

ใครพร้อมจะเติบโตไปกับเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 1 ในเอเชียแล้วก็เปิดบัญชีกับ FINNOMENA เพื่อเริ่มลงทุนได้เลย!

อยากลงทุนหุ้นสิงคโปร์ผ่านกองทุนรวม แต่ยังไม่รู้ว่าจะใส่เข้าพอร์ตเท่าไรดี? รับบริการผู้แนะนำการลงทุนส่วนตัวจาก FINNOMENA ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 500,000 บาท เท่านั้น
👉 ลงทะเบียน คลิก >>> https://finno.me/finnomena-x-service

— planet 46.

อ้างอิง


คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | กองทุนลงทุนกระจุกตัวในอุตสาหกรรมและประเทศที่ลงทุน จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”