Asset Class คืออะไร?: คำศัพท์การลงทุนที่นักลงทุนต้องทำความรู้จัก

ไม่ว่าใครที่ก้าวเข้ามาในโลกการลงทุนแล้วก็ต้องเคยได้ยินคำว่า “Asset Class” แต่คำนี้มันหมายความว่าอะไร? และเกี่ยวกับการลงทุนอย่างไร? มาร่วมหาคำตอบไปด้วยกันในบทความนี้เลย รับรองว่าหากได้รู้จักคำนี้แล้วคุณจะเข้าใจโลกการลงทุนได้มากขึ้นอีกแน่นอน

Asset Class คืออะไร?

Asset Class คืออะไร?: คำศัพท์การลงทุนที่นักลงทุนต้องทำความรู้จัก

Asset Class คือ การจัดกลุ่มสินทรัพย์ที่มีลักษณะและพื้นฐานคล้ายคลึงกันมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาพคล่อง ความเสี่ยง และผลตอบแทน

อ่านความหมายแล้วก็อาจจะยังเห็นภาพค่อยไม่ชัดเท่าไร ขอนำของใช้ในชีวิตประจำวันมายกตัวอย่างเพื่อให้ได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เช่น โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์บ้าน แล็ปท็อป โทรทัศน์ วิทยุ กล้องถ่ายรูป เครื่องเล่น MP3 ฯลฯ อุปกรณ์เหล่านี้ส่วนใหญ่มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน สามารถใช้กล้องถ่ายรูปและโทรศัพท์มือถือในการถ่ายภาพ สามารถใช้แล็ปท็อป เครื่องเล่น MP3 หรือวิทยุเล่นเพลงได้ แต่อุปกรณ์แต่ละชนิดก็มีความโดดเด่นที่ไม่เหมือนกัน และสามารถตอบสนองผู้ใช้งานในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

Asset Class มีกี่ประเภท?

Asset Class คืออะไร?: คำศัพท์การลงทุนที่นักลงทุนต้องทำความรู้จัก

  • เงินสด (Cash) คือ เงินที่อยู่ในรูปแบบของสกุลเงินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เหรียญกษาปณ์ ธนบัตร เงินฝากธนาคารประเภทต่าง ๆ โดยในที่นี่จะรวมไปถึงรายการเทียบเท่าเงินสด (Cash equivalents) ด้วย ซึ่งหมายถึง เงินลงทุนในระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง พร้อมจะเปลี่ยนแปลงเป็นเงินสดได้ตลอดเวลา เช่น ตั๋วเงิน หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยสถาบันการเงิน
  • ตราสารหนี้ (Fixed Income) ตราสารทางการเงินชนิดหนึ่งที่แสดงถึงการกู้ยืม โดยผู้ถือตราสารหนี้จะมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” หรือ “ผู้ให้กู้” ส่วนผู้ออกตราสารหนี้จะมีสถานะเป็น “ลูกหนี้” หรือ “ผู้กู้” เมื่อครบกำหนด ผู้ถือตราสารหนี้จะได้รับเงินต้นคืนพร้อม “ดอกเบี้ย” ที่เป็นผลตอบแทนจากการถือตราสารหนี้ โดยตราสารหนี้ในที่นี้ยังรวมไปถึง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรเทศบาล หุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทต่าง ๆ  และตราสารตลาดเงิน เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม ตราสารหนี้ คืออะไร? พร้อมเคล็ดลับการลงทุนตราสารหนี้ที่พลาดไม่ได้!

  • อสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) คือ ที่ดินและทรัพย์สินที่ติดกับที่ดินซึ่งรวมถึงส่วนต่อเติมถาวรที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น เช่น บ้าน อาคาร อพาร์ทเม้นท์ คอนโดมิเนียม ฯลฯ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกรรมสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของที่ดินอีกด้วย
  • หุ้น (Stocks) หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า ตราสารทุน (Equity) เป็นตราสารที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของบริษัทซึ่งออกโดยบริษัทต่าง ๆ เพื่อเป็นการระดมเงินทุนไปใช้ในการดำเนินกิจการ ผู้ที่ถือตราสารทุนจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจาก “ส่วนต่างของราคา (Capital Gain)” รวมไปถึงผลตอนแทนจาก “เงินปันผล (Dividend Yield)”
  • สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ไม่ว่าจะผลิตที่ใดและใครเป็นผู้ผลิตก็ตาม สินค้าโภคภัณฑ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ซึ่งได้แก่ Hard Commodity คือสินค้าที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เช่น ถ่านหิน ทองคำ น้ำมัน เป็นต้น และ Soft Commodity คือสินค้าที่เกิดจากการผลิตของมนุษย์ เช่น สินค้าทางการเกษตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ข้าวโพด ข้าวสาลี เป็นต้น

สินทรัพย์ในแต่ละคลาสจะมีความสัมพันธ์กันน้อยมากจนในบางคลาสมีความสัมพันธ์ระหว่างกันในเชิงลบ ซึ่งโดยปกติแล้วผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมักจะแนะนำให้นักลงทุนผสมผสานการลงทุนใน Asset Class 3 ประเภทหลักซึ่งได้แก่ หุ้น พันธบัตร และเงินสด ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก “หุ้น” มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในขณะที่ “พันธบัตร” จะให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนหลายท่านยังคงแนะนำให้มีการสำรอง “เงินสด” ไว้ซึ่งในที่นี้รวมถึงการลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินที่มีสภาพคล่องสูง หรือการฝากเงินไว้ในบัญชีธนาคารที่มีดอกเบี้ยเพื่อเป็นเงินสำรองฉุกเฉินในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นซึ่งโดยปกติแล้วจะอยู่ที่ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่าย

ข้อดีข้อเสียของสินทรัพย์ 3 ประเภทหลัก

  • เงินสด (Cash) ถือเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยที่สุดในการรักษาเงินลงทุนของคุณและเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องมากที่สุด อย่างไรก็ตามการถือเงินสดอาจจะต้องพบกับผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อและผลตอบแทนในระยะยาวมักจะต่ำกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ
  • พันธบัตร (Bond) ส่วนใหญ่แล้วจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินสดในระยะยาวเนื่องจากผู้ถือหุ้นกู้มักจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนของกองทุนออมทรัพย์หรือกองทุนตลาดเงิน อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ที่ผู้ถือหุ้นกู้จะสูญเสียเงินลงทุน
  • หุ้น (Stocks) มีศักยภาพในเอาชนะอัตราเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดีในระยะยาว อย่างไรก็ตามในระยะสั้นราคาหุ้นอาจผันผวนได้มากซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียเงินลงทุนครั้งใหญ่หากนักลงทุน

อย่างไรก็ตามสินทรัพย์ในแต่ละคลาสจะไม่สามารถทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ และไม่มีสินทรัพย์ประเภทไหนที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น สภาพคล่อง ความเสี่ยง และความเป็นไปได้ในการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว

ท้ายที่สุดแล้ววัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) คือการช่วยให้นักลงทุนสามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนในระยะยาวได้ด้วยความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เหมาะสมกับนักลงทุนแต่ละท่าน

เนื้อหาส่วนหนึ่งโดย Franklin Templeton

เรียบเรียงและจัดทำโดย planet 46

รายละเอียดเพิ่มเติม ความร่วมมือระหว่าง FINNOMENA x Franklin Templeton

FINNOMENA x Franklin Templeton : https://finno.me/ftxfinnomena​

FINNOMENA x Franklin Templeton Investor Base : https://finno.me/investorbase​

ข้อสงวนสิทธิ์

  1. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ให้บริการการให้คำแนะนำทั่วไปแก่ FINNOMENA ในการออกแบบพอร์ตการลงทุน (Asset Allocations)
  2. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ไม่รับผิดใด ๆ ต่อบุคคลภายนอก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการ เว็บไซต์ หรือเนื้อหาใด ๆ ที่ได้จัดทำหรือปรากฏในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอกนั้น อีกทั้ง Franklin Templeton ไม่ได้ให้คำรับรอง รับประกัน หรือเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายในเนื้อหาหรือความถูกต้องของข้อมูลในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอก และไม่รับผิดต่อสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น
  3. ในกรณีที่มีความแตกต่างกันระหว่างเอกสารภาษาอังกฤษกับการแปลเป็นภาษาไทย ให้ยึดถือตามเอกสารภาษาอังกฤษ

แหล่งข้อมูล

https://www.franklintempleton.com/investor/tools-and-resources/investor-education/investing-basics/asset-class-101