วิธีการเลือกซื้อหุ้นที่มี Margin of Safety ในยามที่ตลาดผันผวน

ในเวลาที่ตลาดหุ้นผันผวน และมีสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น หลายคนน่าจะกลับมาทบทวนเกี่ยวกับผลลัพธ์จากการลงทุนของตัวเอง โดยเฉพาะนักลงทุนที่ขาดทุน ซึ่งวิธีการปกป้องเงินลงทุนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก ก็ได้มีนักลงทุนหลายท่านได้เคยให้คำแนะนำไว้ แต่นักลงทุนที่ให้คำแนะนำได้อย่างน่าสนใจ ก็คงจะหนีไม่พ้น เบนจามิน เกรแฮม (1894-1976)  ปรมาจารย์ด้านการลงทุนที่ใช้การวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐานระดับโลก

หลักสำคัญที่เกรแฮม เน้นย้ำอยู่เสมอของการเป็นนักลงทุนแบบคุณค่า คือ “เป็นนักลงทุน อย่าเป็นนักเก็งกำไร” ที่สำคัญจะต้องรู้จักรับมือกับความผันผวนของตลาดหุ้นให้เป็น และต้องรู้จักการซื้อหุ้นที่มีส่วนต่างความปลอดภัย หรือ Margin of Safety

การซื้อหุ้นที่มีส่วนต่างความปลอดภัย หรือ Margin of Safety คือ การซื้อหุ้นที่มีลักษณะอย่างไร ?

หลายคนน่าจะเคยอ่านและสงสัยว่าต้องซื้อหุ้นแบบไหน ถึงจะเรียกว่ามี Margin of Safety ในขั้นตอนนี้ นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ด้านการประเมินมูลค่าพื้นฐานของกิจการก่อน แล้วหลังจากนั้นจึงนำราคาที่ประเมินได้ มาเทียบกับราคาตลาด ถ้าราคาหุ้นในตลาด ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก นั่นแปลว่า เราก็มีโอกาสที่เราจะทำกำไรได้สูงขึ้น และโอกาสที่จะขาดทุนก็ลดน้อยลง

ในภาวะที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นมานานแบบนี้ ยังจะหาหุ้นที่มี Margin of Safety ได้อีกหรือ ?

ปัจจุบัน ราคาหุ้นในตลาดหลายตัววิ่งแซงมูลค่าที่แท้จริงขึ้นไปค่อนข้างมาก ฉะนั้นแล้ว มีบางคนได้ให้ความเห็น พัฒนาแนวคิดนี้ต่อ โดยการปรับตัวเลขสมมติฐานที่นำมาใช้ในการประเมินมูลค่า โดยใช้ตัวเลขพยากรณ์ต่าง ๆ เช่น ประมาณการรายรับสุทธิ อัตราการเติบโตในอนาคต เป็นต้น แต่ทั้งนี้ การที่ใช้ตัวเลขในอนาคตมาคำนวณได้ เราจะต้องรู้จักธุรกิจ หรือหุ้นที่จะเข้าไปลงทุนเป็นอย่างดี เพราะการซื้อหุ้นที่เราไม่รู้จัก ถือว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง  แต่ตรงนี้ก็ต้องขอเตือนว่า การหยิบตัวเลขในอนาคตมาใช้ มันคือการซื้อความหวังในอนาคต ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการลงทุน ฉะนั้นแล้วจึงต้องควรระวังเป็นอย่างมากถ้าคิดจะใช้ตัวเลขในอนาคต ก็อย่าให้ความคาดหวังมาบังตา

ปกติแล้วต้องใช้วิธีการประเมินมูลค่าแบบไหนมาเทียบหาหุ้นที่มี Margin of Safety บ้าง

การวิเคราะห์และประเมินมูลค่าหุ้นนั้นมีอยู่มากมายหลายวิธี โดยทั่วไปแล้ววิธีที่เป็นที่นิยมในการใช้ ได้แก่ ส่วนลดกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow), อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไร (P/E), อัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (P/B) มูลค่ากิจการจากการทดแทน (Replacement Approach), และอัตราผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend Yield) โดยใช้ตัวเลขในอดีตและปัจจุบันมาคำนวณ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมแต่ละตัวมีโครงสร้างและรูปแบบธุรกิจแตกต่างกัน เราจึงควรแยกแยะและคัดกรองไปทีละอุตสาหกรรม

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องนำมาปรับใช้อย่างมาก คือ การพิจารณาว่าอุตสาหกรรมหรือธุรกิจนั้น ๆ กำลังอยู่ในฝั่งพระอาทิตย์ขึ้น หรือพระอาทิตย์ตกดิน จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หลายธุรกิจปรับตัวไม่ทัน และเสียโอกาสไปมาก บางรายถึงขั้นต้องปิดกิจการ ทั้ง ๆ ที่ในอดีต ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่มีความมั่งคง และเป็นกิจการที่เติบโตดี ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็สร้างโอกาสใหม่ ๆ และธุรกิจใหม่ขึ้นมาอีกมากมาย

ถ้าหากว่าเรายังไม่แน่ใจ หรือยังแยกธุรกิจได้ไม่ชัดเจนว่าธุรกิจใดอยู่ฝั่งพระอาทิตย์ขึ้นหรือฝั่งพระอาทิตย์ตก เราอาจจะใช้เกณฑ์การพิจารณาธุรกิจที่มีความได้เปรียบในอุตสาหกรรม หรือมีความได้เปรียบในมิติอื่น ๆ เช่น

  • ธุรกิจมีต้นทุนต่ำกว่าคนอื่น ๆ
  • ธุรกิจที่ได้สัมปทาน หรือได้สิทธิพิเศษอื่น ๆ
  • ธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์ หรือมีความแตกต่างจากยี่ห้ออื่นได้อย่างโดดเด่น หรือเป็นที่ 1 ในใจลูกค้า
  • ธุรกิจที่เจ้าของไม่ต้องลงทุนมาก เพื่อรักษายอดขาย เป็นต้น

และประเด็นสุดท้าย ที่จะไม่พูดถึงก็คงไม่ได้ สำหรับการหาหุ้นที่มี Margin of Safety คือ ตัวเลขสำคัญตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า “หนี้สิน” ท่ามกลางภาวะที่อัตราดอกเบี้ยกำลังเปลี่ยนเป็นขาขึ้น บริษัทที่มีหนี้มากก็จะเหนื่อยมากหน่อย หากธนาคารปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น และแม้ว่าธนาคารจะไม่ได้ปรับดอกเบี้ย หุ้นของบริษัทที่มีหนี้มากเหล่านั้นก็จะมีความเสี่ยงสูง ถ้าการบริหารรายได้และกระแสเงินสดไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือไม่สามารถสร้างรายได้ ได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ จะนำไปสู่การประสบปัญหาทางการเงินได้ในที่สุด

ที่มาบทความ: โพสต์ทูเดย์

SaveSave

SaveSave