fear-greed-index-web

ความกลัว (Fear) และความโลภ (Greed) เป็นอารมณ์ที่ขับเคลื่อนตลาดอยู่เบื้องหลังมาอย่างยาวนาน เชื่อว่าในวิกฤตไวรัสครั้งนี้ การที่ราคาขึ้นลงผันผวนสูงก็เป็นผลจากอารมณ์ทั้งสองอย่างนี้แน่นอน

Fear กับ Greed เป็นอารมณ์ที่อยู่ในสัญชาตญาณของมนุษย์ เหมือนอารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อะไรทำนองนั้น เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นอารมณ์ที่รุนแรง ที่ทำให้เราสละการใช้เหตุผลและการควบคุมตนเองออกไปได้

fear-greed-index-1อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลาด
ที่มา: http://dezan.vachnganviet.co/psychological-stock-cycle-chart/

เมื่อมามองในมุมของตลาด เมื่อคนโลภ คนจะแห่ไปอยู่ฝั่งซื้อ ซึ่งทำให้ราคาของสิ่งต่างๆ สูงขึ้น สูงกว่ามูลค่าที่มันควรจะเป็น ส่วนเวลาที่คนกลัว คนก็จะแห่ไปอยู่ฝั่งขาย ทำให้ราคาตกฮวบ และอาจจะต่ำกว่ามูลค่าของมันจริงๆ

ถ้าเกิดมันมีเครื่องมือที่ช่วยบ่งบอกได้ว่า ในเวลานี้ตลาดกำลังกลัวหรือโลภ ก็จะทำให้นักลงทุน (ที่ยังมีสติอยู่) สามารถตัดสินใจได้ดีขึ้นในสภาวะตลาดต่างๆ ซึ่งกลายเป็นที่มาของอินดิเคเตอร์ที่มีชื่อว่า Fear & Greed Index

Fear & Greed Index คืออะไร

Fear & Greed Index พัฒนาขึ้นมาโดย CNN Money ของอเมริกา

fear-greed-index-2หน้าตาของ Fear & Greed Index

ความหมายของ “ดัชนี (Index)” คือ ตัวเลขที่คำนวณขึ้นมาเพื่อบ่งชี้ถึงอะไรบางอย่าง เช่น S&P500 บ่งชี้ถึงผลการดำเนินการของบริษัทใหญ่ 500 บริษัทแรกของอเมริกา หรือ PMI บ่งชี้เศรษฐกิจของภาคการผลิตและบริการ เป็นต้น (ตัวเลข index พวกนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีหน่วย)

สำหรับ Fear & Greed Index ก็สร้างขึ้นมาเพื่อบ่งชี้ว่าคนส่วนใหญ่ที่มีส่วนรวมในตลาด ณ ขณะนั้น กำลังโลภหรือกลัว โดยแบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา คือ รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี

ทำไมต้องดู Fear & Greed Index

จากความเห็นของผม นักลงทุนควรดู Fear & Greed Index ไว้ประกอบการการตัดสินใจด้วยเหตุผล 3 ข้อ คือ

  1. จากที่เกริ่นไว้ตอนต้น ว่าความโลภและความกลัวเป็นอารมณ์ที่รุนแรงที่ชักนำการตัดสินใจของคน และความเป็นเหตุเป็นผลอาจจะใช้ไม่ได้กับตลาดอีกต่อไปเมื่อคนโลภมากๆ หรือกลัวมากๆ
  2. ตลาดไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยคนคนเดียว เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจอารมณ์ของคนหมู่มากจะช่วยประกอบภาพการวิเคราะห์ตลาดของเราได้
  3. ในเวลาที่ตลาดเริ่มโลภ ราคาอาจจะสูงขึ้นได้อีก ส่วนในเวลาที่ตลาดเริ่มกลัว ก็บ่งชี้ว่าราคาอาจจะลงได้อีกเช่นกัน แต่ถ้าเกิดตลาดเริ่มโลภ หรือกลัวถึงขีดสุด กรณีนั้นอาจจะเกิดการกลับตัวได้ ซึ่งจะทำให้เราระมัดระวังในการซื้อขายมากขึ้น

fear-greed-index-3Fear & Greed Index ในช่วงที่ผ่านมา

Index ตัวนี้คำนวณยังไง

ส่วนตัวรู้สึก Index ตัวนี้ค่อนข้างพิเศษ เพราะเป็นการวัดอารมณ์ของคนให้ออกมาเป็นตัวเลข เลยเป็นเรื่องน่าสนใจที่เราจะมาดูวิธีคำนวณ Index ตัวนี้กันครับ

Fear & Greed Index ทาง CNN Money สร้างขึ้นโดยรวมเอาปัจจัย 7 ข้อเข้าด้วยกัน ไล่ให้ฟังไวๆ คือ

  1. Stock Price Momentum:
    เอาตัวเลขของ S&P 500 ในเวลานั้น เทียบกับ Moving Average 125 วันของมัน ถ้าสูงกว่าแสดงว่าตลาดโลภ ต่ำกว่าแสดงว่าตลาดกลัว
  2. Stock Price Strength:
    จำนวนหุ้นที่ขึ้นสูงกว่าราคา 52-week เทียบกับจำนวนหุ้นที่ลงต่ำกว่าราคา 52-week ใน New York Stock Exchange (NYSE)
  3. Stock Price Breadth:
    เทียบปริมาณการซื้อหุ้นกับปริมาณการขายหุ้น ดูจาก McClellan Volume Summation Index
  4. Put and Call Options:
    เอาปริมาณการซื้อ Put Option (เก็งว่าราคาจะลง) ส่วนด้วย Call Option (เก็งว่าราคาจะขึ้น)
  5. Junk Bond Demand:
    เปรียบเทียบ yield spread ของ Investment Grade Bonds (ตราสารหนี้เสี่ยงต่ำ) กับ Junk Bonds (ตราสารหนี้เสี่ยงสูง) สามารถอ่านเรื่อง yield เพิ่มเติมได้ที่ลิงก์นี้ครับ
  6. Market Volatility:
    อันนี้ค่อนข้างตรงตัวว่าดูจาก VIX หรือ Volatility Index ซึ่งบ่งชี้ความผันผวนของตลาด สามารถอ่านเรื่อง VIX เพิ่มเติมได้ที่ลิงก์นี้ครับ
  7. Safe Haven Demand:
    เปรียบเทียบผลตอบแทนของ stock เทียบกับ bond ปกติแล้วหุ้นจะให้ผลตอบแทนดีกว่า bond แต่ถ้าเริ่มลงมาต่ำกว่าแสดงว่าลงทุนเริ่มกลัวความเสี่ยงจึงเริ่มขายหุ้นออกไป

ตัวเลขทั้ง 7 ตัวนี้จะถูกนำมาเปลี่ยนเป็นสเกลตั้งแต่ 0-100 แล้วเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักแบบเท่าๆ กัน จนได้ออกมาเป็นตัวเลขสุดท้าย คือ Fear & Greed Index ซึ่งถ้าได้ค่าเท่ากับ 50 แสดงว่าตลาดอยู่ในสภาวะ Neutral ส่วนถ้ายิ่งน้อยก็ยิ่ง Fear ยิ่งมากก็ยิ่ง Greed

Fear & Greed Index ในวิกฤตไวรัส Covid-19 (ข้อมูลวันที่ 17 มี.ค.63)

มาดูกันว่าในช่วงที่ตลาดได้รับผลกระทบจากทั้งไวรัสและจากสงครามน้ำมันอะไรต่างๆ Fear & Greed Index บอกอะไรเราบ้าง

fear-greed-index-4

แตะหลักหน่วยไปเรียบร้อยแล้วครับ แสดงว่าช่วงนี้ตลาดอยู่ในสภาวะตื่นตระหนกมาก จึงมีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เปลี่ยนไปถือสินทรัพย์ปลอดภัย หรือมีการเก็งราคาว่าตลาดจะลงไปอีก สุดท้ายตัวเลขต่างๆ ถูกคำนวณออกมาและสะท้อนอยู่ใน Fear & Greed Index ว่า คนส่วนใหญ่กำลังอยู่ในอารมณ์กลัวครับ

ส่งท้าย

Index เป็นเพียงอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการวิเคราะห์ตลาด แต่ไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้ฟันธงทิศทางตลาด เราควรดูปัจจัยหรือตัวเลขอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจด้วยครับ สุดท้ายขอยกคำพูดของ Warren Buffett ที่สามารถใช้เตือนสตินักลงทุนได้เป็นอย่างดีครับ

“Be fearful when others are greedy and greedy when others are fearful”

ช่วงนี้รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ

เขียนโดย TUM SUPHAKORN