Rebalancing Portfolio ทำตอนไหนดี และทำไมต้องทำ?

หลายวันที่ผ่านมา ผมเจอคำถามว่า

“พี่ค่ะ ช่วยอธิบาย Re-balancing Portfolio อย่างง่ายให้ฟังหน่อย และ ควรทำตอนไหนบ้าง”

ผมเองก็ตอบแบบง่ายไปว่า  

มันคือ ใช้วิธีการที่เรียกว่า “ซื้อของถูกเข้า ขายของแพงออก” จุดประสงค์ไม่ใช่เพราะผลตอบแทนดีที่สุด แต่เป็นเพราะ ต้องการให้ความเสี่ยงของ Portfolio กลับมาสู่ระดับเดิมที่วางแผนไว้

ก่อนการทำ Re-balancing portfolio เราจะต้องมีการกำหนดสัดส่วนการลงทุน หรือ การทำ Asset Allocation ซึ่งการทำ Asset Allocation ก็อาจจะมาจาก ระยะเวลาของเป้าหมาย หรือ ความเสี่ยงที่รับได้

ในบทความนี้จะไม่ขอลงรายละเอียด ผมจะขอยกตัวอย่างตามรูป เป็นการจำลองสถานการณ์

Rebalancing Portfolio ทำตอนไหนดี และทำไมต้องทำ?

ปี 2014

สมมติให้ พอร์ตมีเงินอยู่ 100,000 บาท ตอนต้นปีที่ 2014 จัดพอร์ตแบบ 70% ลงทุนในหุ้น และ 30% ลงทุนในตราสารหนี้ สมมติให้ลงทุนใน SET Index

ปี 2015

SET Index ให้ผลตอบแทน 29% (คิดคร่าวๆ) และ ตราสารหนี้ให้ผลตอบแทน 2% (สมมติ) พอร์ตจะมีเงินอยู่ 121,000 โดยมีสัดส่วน หุ้น 75% และตราสารหนี้ 25% จึงทำการ Re-balancing Portfolio คือ การขายหุ้นส่วนเกิน 5% แล้วไปซื้อ ตราสารหนี้ อีก 5% สัดส่วนจะกลับมาเหมือนเดิม คือ หุ้น 70% และ ตราสารหนี้ 30%

ปี 2016

SET Index ให้ผลตอบแทน -23% (คิดคร่าวๆ) และ ตราสารหนี้ให้ผลตอบแทน 2% (สมมติ) พอร์ตจะมีเงินอยู่ 102,259 โดยมีสัดส่วน หุ้น 64% และตราสารหนี้ 36% จึงทำการ Re-balancing Portfolio คือ การขายตราสารหนี้ส่วนเกิน 6% และ ซื้อ หุ้นส่วนขาด 6% สัดส่วนจะกลับมาเหมือนเดิม คือ หุ้น 70% และ ตราสารหนี้ 30%

การปรับ Re-balancing Portfolio จะช่วยให้พอร์ตของเรามีความเสี่ยงอยู่ระดับเดิม

Rebalancing Portfolio ทำตอนไหนดี และทำไมต้องทำ?
ข้อมูลจาก  TFPA Bulletin ฉบับที่ 2 ปี 2556
เป็นข้อมูล จาก บ. Morning Star ที่ทำการวิจัยการลงทุนย้อนหลัง ปี 2546-2555

จากรอบสีเขียว จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่ ทำ rebalancing portfolio การลงทุน ปี 2546 – 2555 จะได้ผลตอบแทน 13.53% และความเสี่ยงอยู่ที่ 15.38% โดยปีที่ติดลบสูงสุดจะติดลบ -30.12% ขณะที่ ถ้าทำ rebalancing portfolio ทุกปี จะได้ผลตอบแทน 12.44%  และความเสี่ยงอยู่ที่ 11.48% โดยปีที่ติดลบสูงสุดจะติดลบ -18.66%

ดังนั้นจุดมุ่งหมายของ การทำ Re-balancing Portfolio  คือ จัดการเรื่องความเสี่ยง ให้กลับมาสู่ระดับเดิมที่วางแผนไว้

ควรทำ Rebalancing ตอนไหน?

1. กำหนดเป็นระยะเวลา เช่น 1 ปี ให้ทำการ rebalancing หนึ่งครั้ง

2. กำหนดเป็น  Threshold ของสัดส่วนของ Assets Allocation เช่น  จะปรับเมื่อ >= -+10% เดิมจัดสัดส่วนการลงทุน ยกตัวอย่าง สัดส่วนการลงทุนเดิมเป็น หุ้น 70% ตราสารหนี้ 30% ในสภาวะตลาดกระทิง ทำให้สัดส่วนการลงทุนเป็น หุ้น 80% ตราสารหนี้ 20% ก็ให้ rebalancing

Rebalancing portfolio ไม่ยากอย่างที่คิด ขอให้ลงทุนอย่างมีความสุข

-WealthGuru-

iran-israel-war