รีวิวกองทุน WE-TENERGY: เมื่อโลกต้องเปลี่ยนการใช้พลังงาน เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น

มาพบกันกับอีกหนึ่งกองทุน IPO อย่าง WE-TENERGY ซึ่งลงทุนในธีม “การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงาน (Energy Transition)” จากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างมลภาวะให้กับโลก เปลี่ยนเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาดและยั่งยืนขึ้น รายละเอียดกองนี้จะเป็นอย่างไรไปดูกัน

ทำไมธีม Energy Transition ถึงน่าสนใจ

รีวิวกองทุน WE-TENERGY: เมื่อโลกต้องเปลี่ยนการใช้พลังงาน เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น

เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงคิดถึงคำว่า “โลกร้อน” เป็นคำแรก ๆ เราต่างก็ได้ยินสภาวะนี้มานานแล้ว การที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แบบผิดปกตินั้น เป็นเหตุมาจากการที่มนุษย์ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่สร้างก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2) เพิ่มขึ้น (เพิ่มขึ้นสุด ๆ ในช่วงที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือ Industrial Revolution) ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์นี่ ก็เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจกที่ห่อหุ้มโลกเราอยู่

จริง ๆ แล้วก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่สิ่งแย่ เป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่โลกเรามี เพราะก๊าซเรือนกระจก คือกลุ่มก๊าซในชั้นบรรยากาศโลกที่เปรียบเสมือนฟิลเตอร์ช่วยคุมไม่ให้อุณหภูมิของโลกเหวี่ยงแรงเกินไป ในตอนกลางวันก๊าซนี้จะดูดความร้อนไว้ เพื่อค่อย ๆ ปล่อยในตอนกลางคืน กระบวนการนี้ช่วยให้ในวัน ๆ หนึ่งโลกเราไม่หนาวหรือร้อนกะทันหันฉับพลันจนมนุษย์ปรับตัวไม่ทัน

ก๊าซเรือนกระจกนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือแบบตามธรรมชาติ กับแบบที่มาจากภาคอุตสาหกรรม โดย CO2 นี่นับเป็น 75% ของก๊าซเรือนกระจกเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อกิจกรรมทางอุตสาหกรรมของมนุษย์เพิ่มขึ้น การปล่อย CO2 ก็มากขึ้นตาม ทำให้เกิดการสะสมความร้อนมากตามมา ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน หรือถ้าให้เรียกแบบครอบคลุมกว่า ก็คือ “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตโดยรวม

แต่เหล่าประเทศพัฒนาแล้วต่าง ๆ ก็ไม่นิ่งนอนใจ เหล่ารัฐบาลต่างสนับสนุน

  • สหรัฐฯ: กลับเข้าสู่ Paris Agreement ที่ให้ความสำคัญกับการควบคุมอุณหภูมิโลก สะท้อนผ่านประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่มีแผนลงทุน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม
  • จีน: ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ตั้งเป้าว่าในปี 2060 จะไม่มีการปล่อยก๊าซ CO2 เลย และมีแผนสนับสนุนเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมในอีก 5 ปีข้างหน้า
  • สหภาพยุโรป: อีกหนึ่งภูมิภาคที่ตั้งเป้าว่าจะไม่ปล่อยก๊าซ CO2 เลยในปี 2050 ตอนนี้ก็มีการเพิ่มเงินสนับสนุนสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก เป็นผลมาจาก Paris Agreement และแผน European Green Deal
  • และยังมีอีกหลาย ๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร ที่ตั้งเป้าลดก๊าซ CO2 เช่นกัน

3 ปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุน Energy Transition

  • ประชากรที่เพิ่มขึ้น: ปัจจุบัน (ก.พ. 2021) ประชากรโลกอยู่ที่ 7.8 พันล้านคน ข้อมูลจากเว็บ Our Word in Data คาดการณ์ว่าในปี 2050 ประชากรทั่วโลกจะอยู่ระดับ 9.7 พันล้านคน และในปี 2100 จะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านคน
  • ความต้องการบริโภคพลังงานที่เพิ่มขึ้น: ผลจากข้อที่แล้ว ยิ่งมีคนมากขึ้น ยิ่งเศรษฐกิจเติบโตขึ้น พลังงานก็ยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น แต่ถ้าจะให้พึ่งเชื้อเพลิงที่ทำให้โลกร้อนต่อไปก็คงไม่ไหว
  • เป้าหมายลด CO2: จากที่แต่ละประเทศตั้งปณิธานกันว่าจะช่วยกันลดการปล่อยก๊าซ CO2 ก็จะยิ่งช่วยให้แต่ละธุรกิจต้องหาวิธีใช้พลังงานแบบใหม่ ๆ ที่ไม่ทำร้ายโลก ซึ่งปัจจุบันนั้น CO2 จากอุตสาหกรรมนั้นนับเป็น 70% ของการปล่อย CO2 ทั้งหมด แน่นอนว่านี่เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจพลังงานสีเขียวที่จะเข้ามาช่วยลดสัดส่วนตรงนี้

สร้างแผนและเปิดบัญชีกองทุนรวมกับ FINNOMENA สะดวก รวดเร็ว เปิดออนไลน์ ไม่ต้องส่งเอกสารให้ยุ่งยาก พร้อมเลือกซื้อกองทุนกว่า 1,000 กอง จาก 22 บลจ. ครอบคลุมทุกบลจ. ในประเทศไทย สร้างแผนและเปิดบัญชี คลิก: https://finno.me/open-plan

ลงทุนในการเปลี่ยนแปลงโลก ผ่านกองทุน WE-TENERGY

รีวิวกองทุน WE-TENERGY: เมื่อโลกต้องเปลี่ยนการใช้พลังงาน เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น

WE-TENERGY หรือชื่อเต็มคือ กองทุนเปิด วี นิว ทรานซิชั่น เอนเนอร์จี เป็นกองทุนใหม่สด ๆ ร้อน ๆ จากบลจ. วี  เสนอขายครั้งแรก 18-24 กุมภาพันธ์ 2021 นี้ ซึ่งจะลงทุนในกองทุนต่างประเทศอย่าง BNP PARIBAS ENERGY TRANSITION FUND อีกทีหนึ่ง โดยกองทุน WE-TENERGY จะป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

รายละเอียดกองทุน BNP PARIBAS ENERGY TRANSITION FUND

กองทุนลงทุนสไตล์ Active นั่นก็คือผู้จัดการมุ่งเน้นเอาชนะดัชนีชี้วัด ปรับเปลี่ยนหุ้นตามสถานการณ์ตลาด อีกทั้งยังจัดพอร์ตแบบ High Conviction นั่นคือ เมื่อไรก็ตามที่กองทุนมองว่าอุตสาหกรรมหรือประเทศใดมีความน่าสนใจมากหรือน้อย เขาสามารถปรับน้ำหนักการลงทุนให้มากกว่า หรือน้อยกว่าปกติได้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กองทุนมีโอกาส Outperform ได้

3 ธีมการลงทุนหลัก ๆ

Decarbonising

ลงทุนในธุรกิจที่ช่วยลดการปล่อย CO2 หรือธุรกิจที่สร้างพลังงานหมุนเวียนและการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ อุปกรณ์ผลิตพลังงานลม การผลิตแบตเตอรี่ เป็นต้น

Digitalising

ลงทุนในธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในภาคส่วนพลังงาน หรือธุรกิจที่เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานให้ดียิ่งขึ้น เช่น วัสดุที่ช่วยประหยัดพลังงาน วัสดุพลังงานทดแทน เป็นต้น

Decentralizing

ลงทุนในธุรกิจที่ข้องเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานในภาคส่วนพลังงาน รวมถึงด้านการขนส่งและการจัดเก็บพลังงานด้วย เช่น รถยนต์ไฟฟ้า วัสดุทางเลือกที่เกี่ยวกับการขนส่ง เครือข่ายพลังงานอัจฉริยะ เป็นต้น

รีวิวกองทุน WE-TENERGY: เมื่อโลกต้องเปลี่ยนการใช้พลังงาน เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น

รีวิวกองทุน WE-TENERGY: เมื่อโลกต้องเปลี่ยนการใช้พลังงาน เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น

ตัวอย่างหุ้นที่ลงทุน (ข้อมูลสัดส่วน ณ วันที่ 29 มกราคม 2021)

PLUG POWER (4.48%): บริษัทผู้พัฒนาและผลิตแบตเตอรี่พลังงานไฮโดรเจนที่ใช้กันในอุปกรณ์และรถยนต์ที่ต้องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะพวกรถยกของในโรงงาน ที่พอใช้แบตเตอรี่แบบไฮโดรเจนแล้วก็ทำให้การทำงานลื่นไหลขึ้น ไม่มีสะดุด บริษัทมีลูกค้าเป็นบริษัทรายใหญ่ ๆ เช่น Amazon, BMW, Carrefour และ WalMart เป็นต้น

GENERAL MOTORS (4.35%): บริษัทผลิตรถยนต์ที่หลายคนคุ้นชื่อกันดี สาเหตุหลักที่ GM ได้เข้ามาอยู่ในพอร์ตการลงทุน ก็คือ การตั้งเป้าว่าภายในปี 2025 สัดส่วนโมเดลรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องนับเป็น 40% ของโมเดลรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ทั้งหมด สอดคล้องไปกับธีมการลงทุน บวกกับยอดขายรถเริ่มฟื้นตัวหลังช่วงโควิด-19 แปลว่าเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณฟื้นบ้างแล้ว

SUNNOVA ENERGY (3.80%): บริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดหาเงินทุน การติดตั้ง และการให้บริการต่าง ๆ ขายสินค้าอย่างแผงพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ที่บ้าน มีลูกค้าอยู่ทั่วสหรัฐฯ มีตัวอย่างสินค้าที่น่าสนใจคือ Adaptive Home ซึ่งสามารถปรับการรับแหล่งพลังงานและการใช้พลังงานได้แบบ Real-Time ในเดือนธันวาคม 2020 บริษัทมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 4.15 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ

BYD (3.28%): บริษัทผลิตแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนมือถือ และรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนที่ตอนแรกก็ยังผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันอยู่ แต่เริ่มมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2008 นอกจากรถยนต์แล้ว ยังมีรถบรรทุกไฟฟ้าและรถบัสไฟฟ้าที่เผลอ ๆ ได้รับความนิยมมากกว่ารถยนต์ เพราะมีการใช้งานในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังสร้างระบบรถรางไฟฟ้าไร้คนขับอย่าง Skyrail ที่มีโอกาสสร้างรายได้ในอนาคต

แม้ว่าจำนวนหุ้นทั้งหมดที่กองทุนถือ จะมีมากถึง 101 หุ้น แต่กองทุนก็ไปเน้นกลยุทธ์ High Conviction ผ่านน้ำหนักที่ลงทุนในประเทศและอุตสาหกรรมต่าง ๆ แทน เมื่อดูรูปด้านล่าง จะเห็นได้ว่า สัดส่วนของกองทุนในบางประเทศ/อุตสาหกรรม มีความต่างจากดัชนีค่อนข้างเยอะทีเดียว

รีวิวกองทุน WE-TENERGY: เมื่อโลกต้องเปลี่ยนการใช้พลังงาน เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น

ลงทุนในสหรัฐฯ เป็นหลัก แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่าดัชนี และมีการกระจายไปลงทุนในจีนมากกว่าดัชนี
ข้อมูล ณ วันที่ 29 มกราคม 2021
ที่มา: Fund Factsheet

รีวิวกองทุน WE-TENERGY: เมื่อโลกต้องเปลี่ยนการใช้พลังงาน เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น

เน้นลงทุนในอุตสาหกรรม Industrial และ Utility ในสัดส่วนที่สูงกว่าดัชนีมาก
ข้อมูล ณ วันที่ 29 มกราคม 2021
ที่มา: Fund Factsheet

ผลการดำเนินงานย้อนหลัง

รีวิวกองทุน WE-TENERGY: เมื่อโลกต้องเปลี่ยนการใช้พลังงาน เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น

ผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุน BNP PARIBAS ENERGY TRANSITION FUND
ข้อมูล ณ วันที่ 29 มกราคม 2021
ที่มา: Fund Factsheet

ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ผลตอบแทนย้อนหลังถือว่าโดดเด่น ยิ่งในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมาด้วยแล้ว พุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัดอย่าง MSCI ACWI จุดหนึ่งที่น่าสังเกตคือหากเทียบเป็นรายปีแล้ว กองทุนเพิ่งจะมา Perform เหนือดัชนีสุด ๆ ก็ปี 2020 นี่ละ โดยก่อนหน้านั้นยังไม่ได้โดดเด่นเท่าไรนัก ค่อนข้าง Underperform ด้วยซ้ำ เพราะก่อนหน้านี้กองทุนลงทุนในพลังงานแบบเก่า ๆ (เช่น หุ้นน้ำมัน) แต่ในช่วงปลายปี 2019 มีการเปลี่ยนผู้จัดการกองทุน และเปลี่ยนธีมการลงทุน จากพลังงานแบบเก่า สู่การเปลี่ยนผ่านไปยังพลังงานสะอาดทำให้ผลตอบแทน Outperform แรงมาก

ทว่าหากเทียบกับผลการดำเนินงานย้อนหลังแบบปักหมุดแล้ว ก็จะเจอว่ากองทุนทำผลงานได้ค่อนข้างดี ถ้าลงทุนตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว จะได้ผลตอบแทนเกือบถึง 200% แน่ะ

รีวิวกองทุน WE-TENERGY: เมื่อโลกต้องเปลี่ยนการใช้พลังงาน เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น

Maximum Drawdown ของกองทุนหลัก
ข้อมูล ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 202
ที่มา: FINNOMENA

ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ในฝั่งของ Maximum Drawdown เนื่องจากกองทุนมีความ Thematic หรือลงทุนเฉพาะธีมสูงมาก แม้จะเปลี่ยนผู้จัดการกองทุนและธีมการลงทุนแล้ว เมื่อมีสถานการณ์อะไรที่มากระทบ จึงส่งผลเชิงลบค่อนข้างแรง เช่น ในปี 2015 ติดลบแรงกว่าดัชนีถึง 20% เลยทีเดียว แม้จะเปลี่ยนผู้จัดการกองทุนแล้ว ก็ยังติดลบแรงกว่าดัชนีถึง 10% แสดงให้เห็นว่ากองนี้มีความผันผวนที่ต้องพิจารณา ถือว่าแลกกับโอกาสรับผลตอบแทนที่สูง

ความเสี่ยงของกองทุน

  • ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน: เนื่องจากกองทุนลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ซึ่งจะป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
  • ความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของอุตสาหกรรม: เพราะกองทุนเน้นลงทุนในธีมการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทางเลือก จึงอาจจะเจอความเสี่ยงเฉพาะของอุตสาหกรรม เนื่องจากไม่ได้กระจายการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ หากใครกลัวความเสี่ยง อาจจะต้องใช้วิธี Asset Allocation กระจายเงินลงทุนในภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย (แต่ถ้าใครสายซิ่ง จะลงกองนี้เน้น ๆ ก็ไม่ว่ากัน)
  • ความเสี่ยงด้านนโยบายจากรัฐบาล: แม้ว่าโอกาสจะเกิดขึ้นไม่มาก แต่ก็เป็นไปได้ว่าหากรัฐบาลถัด ๆ ไปกลับลำนโยบายขึ้นมา เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการเลือกตั้งกลับมา เอาพลังงานถ่านหินและฟอสซิลกลับมาใช้ ก็จะสร้างแรงกดดันต่อ Energy Transiton
  • ความเสี่ยงด้านหุ้นขนาดเล็ก: ส่วนใหญ่กองทุนลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-เล็ก เรื่องของกำไรจึงไม่สม่ำเสมอ หากเกิดวิกฤตขึ้น บริษัทที่ไม่มีกำไรก็อาจจะได้รับผลกระทบค่อนข้างแรง

กองธีม ESG ที่ใกล้เคียงกับ WE-TENERGY: K-CHANGE-A(A), MRENEW-A, T-ES-GGREEN, T-GLOBALENERGY

อ่านเพิ่มเติม รีวิวกองทุน K-CHANGE-A (A) กองทุนผลตอบแทนเยี่ยมที่ให้คุณ “ช่วยโลก” ได้ เพียงแค่ลงทุน

อ่านเพิ่มเติม รีวิวกองทุน MRENEW: นับหนึ่งช่วงเวลาที่พลังงานกับความยั่งยืนมาบรรจบกันอย่างลงตัว

อ่านเพิ่มเติม รีวิวกองทุน T-ES-GGREEN และ MRENEW-D: เขียวทั้งพอร์ตกับ 2 กองทุน 2 สไตล์

รายละเอียดอื่น ๆ ของ WE-TENERGY

  • ขั้นต่ำการซื้อครั้งแรก 5,000 บาท ครั้งถัดไป 1 บาท
  • ค่าธรรมเนียมการขาย (ขาเข้า) 1.605%
  • ค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน (ขาออก) ยกเว้น
  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ 1.605%
  • รวมค่าใช้จ่ายกองทุน 1.95275%

เพื่อนผู้ใจดี

สร้างแผนและเปิดบัญชีกองทุนรวมกับ FINNOMENA สะดวก รวดเร็ว เปิดออนไลน์ ไม่ต้องส่งเอกสารให้ยุ่งยาก พร้อมเลือกซื้อกองทุนกว่า 1,000 กอง จาก 22 บลจ. ครอบคลุมทุกบลจ. ในประเทศไทย สร้างแผนและเปิดบัญชี คลิก: https://finno.me/open-plan

Sources

https://www.bnpparibas-am.lu/intermediary-fund-selector/fundsheet/equity/bnp-paribas-funds-energy-transition-classic-d-lu0823414718/?tab=overview
https://www.weasset.co.th/th/fund/summary/we-tenergy
https://actionforclimate.deqp.go.th/
https://ngthai.com/science/25344/greenhouse-gases/
https://www.blognone.com/node/101115
https://www.magcarzine.com/byd-vs-tesla-007/
https://en.wikipedia.org/wiki/Plug_Power
https://www.byd.com/en/Rail.html
https://ourworldindata.org/future-population-growth


คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน  | กองทุนนี้ลงทุนกระจุกตัวในหมวดพลังงานทางเลือก  ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย  | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”