best-dtac-q1-2560-fb

“เปลี่ยนมาลื่นกับอั้มนะคะ”

วลีติดหูที่ดังอย่างระเบิดระเบ้อในช่วงประมาณหกเดือนที่ผ่านมาที่มาจากการเปลี่ยนโฉมครั้งใหม่ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ซึ่งทำการเปิดตัวพรีเซนเตอร์ใหม่เป็นดาราซูเปอร์สตาร์ของเมืองไทยอย่างอั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ

เรื่องนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ครั้งสำคัญของ DTAC เพราะแต่เดิมดูเป็นบริษัทที่ไม่ค่อยใช้การตลาดเชิงรุกหรือสร้างเสียงฮือฮามากเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับคู่แข่งคนสำคัญอย่าง AIS และ TRUE ที่เลือกใช้ดาราชื่อดังมาเป็นพรีเซนเตอร์โดยเสมอมา

เกิดอะไรขึ้นกับ DTAC ?

แนวโน้มของของรายได้ของ DTAC เป็นขาขึ้นตั้งแต่ 2007 – 2013 ก่อนจะเริ่มต้นลดลงหลังจาก 2013 เป็นต้นมา ในขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 2007 – 2014 ก่อนจะเริ่มต้นลดลงในปี 2014 เป็นต้นมาเช่นกัน

ในปี 2007 DTAC รายงานกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,841 ล้านบาท
ในปี 2008 DTAC รายงานกำไรสุทธิอยู่ที่ 9,329 ล้านบาท
ในปี 2009 DTAC รายงานกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,628 ล้านบาท
ในปี 2010 DTAC รายงานกำไรสุทธิอยู่ที่ 10,892 ล้านบาท
ในปี 2011 DTAC รายงานกำไรสุทธิอยู่ที่ 11,813 ล้านบาท
ในปี 2012 DTAC รายงานกำไรสุทธิอยู่ที่ 11,285 ล้านบาท
ในปี 2013 DTAC รายงานกำไรสุทธิอยู่ที่ 10,569 ล้านบาท
ในปี 2014 DTAC รายงานกำไรสุทธิอยู่ที่ 10,729 ล้านบาท
ในปี 2015 DTAC รายงานกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,893 ล้านบาท
ในปี 2016 DTAC รายงานกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,086 ล้านบาท

ในขณะที่ไตรมาสล่าสุดของปี 2017 ประกาศกำไรสุทธิออกมาที่ 229 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 81.30% yoy แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 663.33%

รายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องส่วนหนึ่งเกิดจากการสูญเสียส่วนแบ่งทางตลาดในเชิงหมายเลขผู้ใช้บริหารให้กับคู่แข่งสุดหินอย่าง TRUE และ AIS ซึ่งถึงแม้ว่าแนวโน้มค่าใช้จ่ายต่อหมายเลขของ DTAC จะดูดีมากขึ้นแต่ก็ไม่อาจจะสามารถชดเชยจำนวนหมายเลขผู้ใช้บริการที่ลดลงได้

อัตรากำไรสุทธิของ DTAC ลงมาทำจุดต่ำสุดที่ปี 2016 ที่ประมาณ 2.52% เท่านั้น ในขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2017 ก็ยังทำได้ไม่ค่อยดีอยู่ที่ 1.16% ซึ่งในภาพรวมถือว่าต่ำกว่าช่วงก่อนที่เคยสูงลอยอยู่ที่เลข 2 หลักมาก

การเปลี่ยนวิถีทางการตลาดของ DTAC ครั้งนี้ตอบได้ยากว่าจะนำพาบริษัทไปถึงจุดไหน เพราะถึงแม้ว่าจะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่ค่อนข้างสูง แต่ก็แน่นอนว่าการเดินหมากครั้งนี้ก็สร้างแรงกระเพื่อมได้เป็นอย่างดี อย่างน้อย “เปลี่ยนมาลื่นกับอั้มนะคะ” ก็กลายเป็นคำพูดในติดอยู่ในหูของคนไทยหลายคนอยู่พักหนึ่ง

ถึงแม้ว่ากำไรของ DTAC จะดูไม่ค่อย “ลื่น” นักในช่วงเวลาปลายปีที่ผ่านมา แต่จากพัฒนาการในไตรมาสแรกของปี 2017 ก็พูดได้ว่าเป็นไปอย่างน่าลุ้น เพราะถึงแม้ว่ากำไรจะตกลงอย่างมากเมื่อเทียบปีต่อปี แต่ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสเช่นกัน

โปรดติดตามศึกชิงบัลลังก์เครือข่ายของสามยักษ์ใหญ่อย่างใกล้ชิด!!

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

เปิดโหมด Risk-On!