รูปที่ 1 วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) และดัชนี S&P 500 l Source : Bloomberg
FINNOMENA Investment Team มีมุมมองหรือธีมการลงทุนในครึ่งปีหลังว่า โลกกำลังสิ้นสุดภาวะขาขึ้นของดอกเบี้ย (The End Of Rising Interest Rate Era) กลยุทธ์ในการลงทุน FINNOMENA Investment Team ยังคงยึดมั่นในการกระจายความเสี่ยงอย่างสูงสุด (Maximum Diversification)
จากการที่ครึ่งปีแรก ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นจากท่าทีผ่อนคลายของสงครามการค้าไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลต่อภาคการส่งออกและอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี กดดันให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องมีท่าทีเชิงผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การเพิ่มสภาพคล่อง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
FINNOMENA Investment Team แนะนำคงสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจากผลกระทบของประเด็นการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศออกมาลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์ยังปรับลดคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนในช่วงที่เหลือของปี
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะชะลอตัว มีปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบจากประเด็นการค้าที่ตึงเครียดมานับตั้งแต่ปี 2018 ทาง FINNOMENA Investment Team ยังคงมุมมองสงวนท่าทีในการเพิ่มน้ำหนักในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง เพราะถึงแม้ FINNOMENA Investment Team เริ่มเห็นความเสี่ยงและสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจบ้าง แต่เนื่องจากธนาคารกลางสำคัญทั่วโลก (นำโดย Fed, ECB, BOJ และ PBOC) ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมาโดยตลอดอาทิเช่น การยุติมาตรการ QT ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed), ท่าทีการผ่อนคลายทางการเงินของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) หรือแม้กระทั่งการเพิ่มสภาพคล่องของธนาคารกลางประเทศจีน (PBOC) เป็นต้น ทำให้ตลาดยังมีความคาดหวังว่า เศรษฐกิจอาจจะกลับมาฟื้นตัวได้ หากตลาดตอบรับมาตรการกระตุ้นที่ถูกจังหวะและถูกเวลา
ทั้งนี้ หากธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยจริงตามที่ตลาดคาดการณ์ FINNOMENA Investment Team แนะนำปรับลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ Yield Play เป็นสิ่งที่ควรทำ เนื่องจากตลาดรับรู้ข่าวและคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยไปมากแล้ว โดยมองว่า ตลาดหุ้นจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นในระยะสั้น ซึ่งเป็นจังหวะในการเพิ่มสินทรัพย์เสี่ยงในการลงทุนแบบ Tacitical Allocation ในสัดส่วน 5-10% ของพอร์ตการลงทุน
นับตั้งแต่ย่างเข้าปี 2019 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นทั่วโลกสามารถปรับตัวขึ้นในช่วง 4 เดือนแรก ทั้งนี้ปัจจัยกระตุ้นที่ชัดเจนก็คือ ตลาดซึมซับข่าว และรับรู้ว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาส 1/2019 ออกมาที่ 3.1% ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก แต่ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นนั่นยั่งยืนกลับมีน้อยมากในช่วงที่ผ่านมาอย่าง การขยายตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ชะลอลง, แนวโน้มยอดขายในช่วงที่เหลือของปีโดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีก็เริ่มถูกปรับลดประมาณการ ประกอบกับความไม่แน่นอนของการเจรจาในประเด็นการค้ากลับมาอีกครั้งในเดือนพ.ค.
เมื่อเข้าสู่เดือนพ.ค. ความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจคือจีนและสหรัฐฯ ได้ปะทุขึ้น โดยประธานาธิบดี Donald Trump ของสหรัฐฯ ใช้ประเด็นการขาดดุลการค้าเพื่อขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศจีน อย่างไรก็ตาม หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้ Executive Order จำกัดการทำธุรกิจ ซึ่งพุ่งเป้าไปยังบริษัท Huawei ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีสัญชาติจีน ทำให้ประเด็นหลักภายใต้ความขัดแย้งทางการค้าได้เปิดเผยออกมาอย่างชัดเจน โดยเป็นเรื่องของความเป็นผู้นำในโลกโดยเฉพาด้านเทคโนโลยีและ AI
หนึ่งในความกังวลซึ่งสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินทั่วโลกเมื่อปี 2018 คือ ความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แต่เมื่อทั่วโลกเจอความขัดแย้งประเด็นด้านการค้า ซึ่งเสี่ยงจะไปกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) เมื่อรวมกับราคาน้ำมันดิบที่ย่อตัวลงมาเมื่อไตรมาส 4/2018 ช่วยลดแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อ และเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเงินเฟ้อในอนาคต ก็ส่งผลให้ธนาคารกลางที่สำคัญทั่วโลกเปลี่ยนท่าทีมาดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้ง และเพิ่งจะมาชัดเจนจริงๆ ว่าจะผ่อนคลายมากขึ้นก็ในช่วงเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมานี่เอง
จากการศึกษาของ Bloomberg พบว่าผลพวงจากการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 25% ไปก่อนหน้านี้ ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกโดยตรง ทำให้คาดการณ์ว่าตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ของประเทศจีน สหรัฐฯ และโลกจะลดลง 0.8%, 0.5% และ 0.5% ในช่วกลางปี 2021 ตามลำดับ
แม้ผลการพบปะกันนอกรอบระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่การประชุม G-20 จะออกมามีแนวโน้มที่ผ่อนคลายมากขึ้น ด้วยการเปิดทางให้คณะทำงานเจรจากันอีกครั้ง อย่างไรก็ตามความขัดแย้งเบื้องหลังยังคงอยู่ ทั้งในเชิงสมดุลอำนาจของโลก ทรัพย์สินทางปัญญา และการขาดดุลทางการค้า เมื่อประกอบกับท่าทีแข็งกร้าวและชัดเจนของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีการใช้กลยุทธ์การเจรจาแบบสุดโต่ง และกระแสชาตินิยมที่เพิ่มขึ้นในจีน จะส่งผลให้การกระทบกระทั่งยังเกิดขึ้นควบคู่กับความพยายามเจรจาต่อไป ซึ่งประเด็นนี้ จะนำมาซึ่งความเสี่ยงและความผันผวนให้กับตลาดทุนเป็นระยะ
โอกาสที่จะอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเหนือกว่ากรอบการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางเป็นไปได้ยาก FINNOMENA Investment Team มองว่า ธนาคารกลางจะพุ่งความสนใจไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องกังวลกับอัตราเงินเฟ้อว่าจะกลับมาเร่งตัวอีกหรือไม่ในครึ่งปีหลัง เนื่องจากพบสัญญาณและความเสี่ยงที่ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศแกนหลักยังคงชะลอตัว
เมื่อไม่ต้องกังวลกับอัตราเงินเฟ้อ นโยบายผ่อนคลายการเงินที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือ ธนาคารกลางทั่วโลกจะยุติการขึ้นดอกเบี้ยหลังจากนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าเศรษฐกิจจะไม่ชะลอรุนแรงไปมากกว่าระดับปัจจุบัน และเปิดโอกาสให้ผู้ดำเนินนโยบายสามารถใช้เครื่องมือคือลดดอกเบี้ยนโยบายในจังหวะที่เห็นว่าจำเป็น ดังนั้น FINNOMENA Investment Team คาดว่าธนาคารกลางของหลายประเทศจะดำเนินทุกมาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นในระยะสั้นด้วยเช่นเดียวกัน แต่หาก FINNOMENA Investment Team เห็นการลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3 ครั้ง นั่นอาจเป็นสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยก็เป็นไปได้ จึงจำเป็นต้องจับตาใกล้ชิด โดยเฉพาะนับตั้งแต่ไตรมาส 1/2020 เป็นต้นไป
จากการที่นักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิ และมีมุมมองต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่แย่ลงซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้า FINNOMENA Investment Team มีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์ที่ได้รับประโยชน์ระยะยาวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอาศัยกลยุทธ์ Regional/Sector Selection เน้นหุ้นในกลุ่มธุรกิจที่มีคุณภาพสูง มีส่วนแบ่งการตลาดขนาดใหญ่ พร้อมความผันผวนในระดับต่ำกว่าตลาด
รูปที่ 2 ตัวเลข U.S. Manufacturing PMI และ U.S. Non-Manufacturing PMI I Source : Bloomberg
ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นทั่วโลก โดยตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) อยู่ที่ 3.1% ในไตรมาสแรกของปี 2019 ปรับตัวขึ้นมาจาก 2.2% เมื่อไตรมาสที่ 4 ปี 2018 อย่างไรก็ตาม Fed ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สำหรับปี 2019 อยู่ที่ 2.1% สะท้อนมุมมองการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
สำหรับภาคบริการและบริโภคภายใน (Services and Goods) ซึ่งมีสัดส่วนเกินกว่า 50% ของ GDP ได้รับปัจจัยหนุนจากภาคแรงงานที่แข็งแกร่งด้วยตัวเลขอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี ที่ระดับ 3.6% และอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริโภคยังเป็นภาคส่วนที่หนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และกระตุ้นภาคบริการไปด้วยเช่นกัน สะท้อนผ่านตัวเลข Retail Sales และ Consumer Spending ขยายตัวมาโดยตลอด
แม้ตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะย่อตัวลงมาเล็กน้อยแต่ยังยืนในกรอบ 95 – 100 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบทศวรรษ เช่นเดียวกับตัวเลข ISM Non-Manufacturing PMI ซึ่งอยู่ระดับ 56.9 จุด สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อภาคส่วนดังกล่าวในอนาคต
รูปที่ 3 ตัวเลขอัตราการว่างงานและอัตราตำแหน่งเปิดใหม่ l Source : Bloomberg
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อตลาดการเงิน และไม่สร้างแรงกดดันด้านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว โดยตัวเลข U.S. Core CPI คงอยู่ที่ระดับ 2.0% (YoY)
ส่วนตัวเลข Core PCE ซึ่งเป็นตัวเลขที่ Fed ใช้อ้างอิงอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.6% (YoY) ต่ำกว่าระดับเป้าหมายของ Fed ที่ 2.0% (YoY) เพียงเล็กน้อย
ด้านสถานการณ์และผลกระทบประเด็นการค้า โดยแม้สหรัฐฯ และจีนตกลงเริ่มการเจรจาการค้ารอบใหม่ หลังการพบกันของประธานาธิบดีของทั้งสองชาติ ในการประชุม G-20 ช่วยลดความเสี่ยงระยะสั้นต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากมาตรการที่ประกาศใช้ไปก่อนหน้าจะเริ่มปรากฏออกมาซึ่งสะท้อนผ่านตัวเลขที่เกียวข้องซึ่งหดตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น ตัวเลขการส่งออก ประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน ดังนั้นจึงยังต้องจับตาสถานการณ์และผลกระทบไปจนกว่าทั้งสองชาติจะบรรลุข้อตกลงที่ชัดเจน
รูปที่ 4 มุมมองอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการ FOMC l Source : Bloomberg
หลังปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 4 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ตลาดการเงินไม่สามารถทนรับนโยบายการเงินเแบบเข้มงวด (Restrictive Monetary Policy) ประกอบกับเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัว ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จึงต้องหันกลับมาดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยในการประชุมคณะกรรมการ FOMC เดือนมิถุนายน เผยแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายผ่าน Dot Plot แสดงมุมมองการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นของคณะกรรมการ FOMC เมื่อเทียบกับการประชุมเมื่อเดือนมีนาคม
ด้วยแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ตลาดการเงินมีความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยจากผลต่าง (Fed Fund Futures) และ (Eurodollar Futures) สะท้อนว่านักลงทุนในตลาดคาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม ปี 2020 เช่นเดียวกับตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
รูปที่ 5 วัฏจักรและพฤติกรรมการปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed l Source : Bloomberg
จากการศึกษาวัฏจักรและพฤติกรรมการปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในอดีตนับตั้งแต่ปี 1980 จนถึงปัจจุบัน พบว่าการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed มักปรับขึ้นเมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงหรือสูงกว่าระดับเป้าหมายเป็นหลัก ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยโดยส่วนใหญ่จะพิจารณาบนพื้นฐานการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านตัวเลข GDP ตลาดแรงงานในประเทศ โดยไม่พิจารณาหรือสนใจตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ
FINNOMENA Investment Team มองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมวันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม ที่จะถึงนี้เลย แต่ยังคงต้องเฝ้าติดตามนโยบายจากปธน.ทรัมป์ ว่าจะกลับมาใช้นโยบายการคลังต่อเนื่องอีกหรือไม่ ซึ่งหากยังดำเนินนโยบายต่อ จะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ และธนาคารกลางสหรัฐฯ เองอาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีกต่อเนื่อง
รูปที่ 6 Eurozone Consumption Expenditure Value & Growth l Source : Bloomberg
ภาพรวมตลาดของภูมิภาคยุโรปยังได้มีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกและภายใน โดยความไม่แน่นอนในประเด็นการค้าที่สหรัฐฯ พุ่งเป้ามายังภาคยานยนต์ของยุโรป สร้างความกังวลต่อภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก สะท้อนผ่านตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว 6 เดือนต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นผู้การบริโภคปรับตัวลง โดยเฉพาะในประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป
ขณะเดียวกันความไม่แน่นอนในกรณี Brexit จากการปราศจากผู้นำการเจรจาที่ชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากการลาออกของนาง Theresa May นายกฯ อังกฤษ กระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการบริโภคและการลงทุนในสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน
ในส่วนภาคการบริโภคยังมีความแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานที่ยังขยายตัวพร้อมอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวนับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงยังต้องติดตามผลกระทบต่อภาคส่วนนี้
ด้วยปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวไปข้างต้น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงท่าทีผ่อนคลายทางการเงิน ทั้งถ้อยแถลงจากประธานธนาคารกลางยุโรป และมาตรเพิ่มสภาพคล่องด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ธนาคารพาณิชย์ในยุโรป (TLTRO-III) อย่างไรก็ตาม การที่นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะหมดวาระการทำงาน ส่งผลให้การกำหนดทิศทางของนโยบายการเงินต้องชะลอไปจนกว่าจะได้ประธานธนาคารกลางยุโรปท่านใหม่
FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าธนาคารกลางยุโรปยังต้องคงนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป หนุนมุมมองเชิงบวกต่อตลาดการลงทุน อย่างไรก็ตาม จากความไม่แน่นอนทั้งภายนอกและภายใน เช่นเดียวกับพื้นฐานของเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ FINNOMENA Investment Team ยังคงแนะนำชะลอการลงทุนในภูมิภาคยุโรป
รูปที่ 7 อัตราการขยายตัวของ GDP ของประเทศในเอเชีย l Source : Tradingeconomics
ประเด็นการค้านอกจากจะสร้างแรงกดดันต่อ Supply Chain ของประเทศจีน ยังส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม Semiconductor ที่มีฐานการผลิตหลักในเอเชีย ที่ยอดขายมีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อภาคการส่งออกในหลายประเทศและส่งผลเสียต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชีย ได้มีความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตราการผ่อนคลายทางการเงิน และการเพิ่มสภาพคล่องในระบบต่อเนื่อง เช่น การที่ธนาคารแห่งชาติจีน (PBOC) เพิ่มสภาพคล่องโดยการปรับลด RRR Ratio ในส่วนธนาคารกลางอินเดีย (RHB) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาแล้วถึง 3 ครั้ง ในปีนี้ แตะระดับ 5.75% เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง
แม้เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียได้รับปัจจัยหนุนในเชิง Momentum หลังท่าทีสงครามการค้ามีแนวโน้มผ่อนคลายในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ประกอบกับท่าทีเชิงผ่อนคลายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง หนุนเม็ดเงินเข้าลงทุนภูมิภาคเอเชีย FINNOMENA Investment Team แนะนำคงสัดส่วนการลงทุนเพื่อรับปัจจัยหนุนดังกล่าว
รูปที่ 8 สภาพคล่องที่เพิ่มสูงขึ้นจาก BOJ ไม่สามารถเร่งการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อ l Source : Tradingeconomics
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เสริมสภาพคล่องในระบบอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการ QQE เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อให้เป็นไปตามกรอบเป้าหมาย 2% อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% จากความกังวลในภาคการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัว
ความเสี่ยงจากการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตา แม้ท่าทีออกมาโทนผ่อนคลายต่อกัน แต่ยังเป็นปัจจัยที่ยากต่อการคาดการณ์ ประกอบกับนโยบายการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากระดับ 8% เป็น 10% ในปลายเดือนตุลาคมนี้ จะเพิ่มแรงกดดันต่อการบริโภคภายในประเทศ จึงยังต้องจับตาทิศทางการปรับใช้นโยบายดังกล่าวว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี
ประกอบกับค่าเงินเยนที่กลับมาแข็งค่าจากความกังวลต่อไม่แน่นอนของการเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ซึ่งกระทบต่อรายได้ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น
หากคุณคิดจะลงทุนเพิ่มในกองทุนรวม นี้คือสิ่งที่คุณไม่อยากพลาด! สมัครสมาชิกตอนนี้เพื่อรับโพยกองทุนเด็ดที่แนะนำ อัพเดททุกเดือนจาก FINNOMENA
กดที่นี่เพื่อรับโพยกองทุนFINNOMENA Investment Team ยังคงแนะนำลดสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นเนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองต่างประเทศและข้อจำกัดของมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจ
รูปที่ 9 ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (Dollar Index), ปริมาณการถือครองทองคำของกองทุน SPDR, ปริมาณการถือครองทองคำของกองทุน ETF ทั้งหมด และราคาทองคำ l Source : Bloomberg
Dollar Index ปรับตัวลดลงมาทดสอบระดับ 96 จุด หลุดแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จากความคาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันธนาคารกลางทั่วโลกทยอยสะสมทองคำเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น สอดคล้องกับการถือครองทองคำของกองทุน ETF ทองคำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุระดับแนวต้านที่ 1,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แตะระดับราคาสูงที่สุดในรอบกว่า 6 ปี และสามารถยืนเหนือระดับ 1,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อย่างแข็งแกร่ง FINNOMENA Investment Team ยังแนะนำคงสัดส่วนการลงทุนในทองคำเพื่อลดความผันผวนของผลตอบแทนพอร์ตลงทุนโดยรวม
รูปที่ 10 อัตราการว่างงานและอัตราการขยายของค่าจ้าง สหรัฐฯ, จีน และ สหภาพยุโรป l Source : Bloomberg
ตลาดแรงงานของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั้งสหรัฐฯ จีน และยุโรป มีแนวโน้มที่แข็งแกร่ง จากอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ยังคงลดลงและอัตราค่าจ้าง (Wage Growth) ที่ยังขยายตัว ส่งผลดีต่อการบริโภคภาคครัวเรือนที่หนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Cofidence) เริ่มปรับตัวลดลง สะท้อนความมั่นใจในการใช้จ่ายที่ลดลงด้วยแรงกดดันจากการกีดกันทางการค้า ทำให้การบริโภคในบางประเทศเริ่มชะลอตัว อาทิเช่น การหดตัวของการบริโภคในประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป
อย่างไรก็ตาม หลังสองชาติมหาอำนาจของโลกตกลงกลับมาเจรจากันใหม่อีกครั้งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนมุมมองที่ดีด้านการบริโภค ขณะเดียวกันการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ทำให้รายได้จากการส่งออกของประเทศสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และราคาสินค้านำเข้าจะลดลง อาทิเช่น ประเทศจีน ซึ่งส่งผลดีต่อการบริโภคภายในเช่นกัน
รูปที่ 11 ปริมาณการส่งออกของประเทศสหรัฐฯ ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย l Source : International Energy Agency
ราคาน้ำมันกลับมาเผชิญความผันผวนอีกครั้งหลังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ปรับลดประมาณการความต้องการน้ำมันดิบปีนี้มาที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับการเร่งขยายกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิต Shale Oil จากสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดอุปทานส่วนเกินเป็นอีกปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันดิบ
อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกกลางที่ทวีความรุนแรง จากข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ซึ่งกระทบการภาคผลิตและส่งออกน้ำมัน ประกอบกับการพิจารณาลดกำลังการผลิตจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC) หลังการประชุม G-20 โดยมีเป้าหมายเพื่อควบปริมาณการผลิตให้สมดุลกับความต้องการ ทั้งสองปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสปรับตัวขึ้น
FINNOMENA Investment Team มองว่าราคาน้ำมันจะยังเคลื่อนไหวในกรอบราคาประมาณ 50-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และต้องจับตาปัจจัยใหม่ที่ส่งผลต่อความต้องการน้ำมันดิบซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ อาทิเช่น มุมมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปริมาณการค้าโลก เป็นต้น
รูปที่ 12 Thai & Singapore REITs & Property Fund Yield Spread l Source : Bloomberg
มุมมองการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว ท่าทีธนาคารกลางในเชิงผ่อนคลาย ส่งผลให้การลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังจะอยู่ภายใต้มุมมองการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลดีต่อกองทุนอสังหาฯ และ REITs
ในส่วนของ REITs ในไทยยังได้รับแรงหนุนจาก Sector ค้าปลีกและสำนักงาน ที่ยังมีแนวโน้มการเติบโตพร้อมกับอัตราการปันผลที่น่าสนใจในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน สำหรับ Sector ค้าปลีก คาดการณ์ว่า Supply ที่เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จะน้อยลงอย่างมากในอนาคต ขณะที่พฤติกรรมในชีวิตประจำวันของประชากรไทยยังเอื้อต่อ Sector ค้าปลีก เช่น การพักผ่อนรับประทานอาหารในห้างสรรพสินค้าช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
ในส่วน Sector สำนักงานมีคาดการณ์ว่า Supply ในระยะสองปีต่อจากนี้จะมีอย่างจำกัด เช่นเดียวกับความต้องการเช่าที่ยังเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราพื้นที่ว่างของสำนักงานให้เช่า (Vacancy rate) ลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ค่าเช่าสำนักงานยังปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อด้วยอัตรา 3.1% (YoY) สำหรับสำนักงาน Grade A CBD
ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาส่วนต่างระหว่างอัตราเงินปันผลและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี อยู่ที่ระดับ 3% ส่วนตัวเลขดังกล่าวของ REITs สิงคโปร์ ลดลงมาที่ระดับต่ำที่สุดของค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี สะท้อนความน่าสนใจที่ลดลงเมื่อเทียบกับความเสี่ยงของสินทรัพย์ประเภท REITs (Risk Premium)
รูปที่ 13 อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี l Source : Bloomberg
นับตั้งแต่ต้นปี ตราสารหนี้ Investment Grade และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 3 ปีขึ้นไป ปรับตัวขึ้นมากกว่า 8% ขณะที่ตราสารหนี้กลุ่ม High Yield ให้อัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่ 7% ซึ่งเป็นผลมาจากแรงซื้อในตราสารหนี้กลุ่ม High Yield นับตั้งแต่ช่วงต้นปี จากความคาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องสู่ระดับใกล้เคียง 2% สะท้อนความคาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระดับหนึ่งแล้ว
FINNOMENA Investment Team แนะนำติดตามการตอบสนองของตลาดต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด เพิ่มความระมัดระวังต่อการปรับตัวลงของราคาตราสารหนี้ที่อาจเกิดขึ้นหากเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวทำให้อาจไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยตามที่คาดไว้
รูปที่ 14 Fund Flow ไหลเข้าหุ้นไทยหนุนดัชนีปรับตัวขึ้น l Source : Bloomberg
ตลอดต้นปีที่ผ่านเศรษฐกิจไทยเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศ ฉุดการส่งออกหดตัว นำโดยกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และแผงวงจรไฟฟ้า ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวหลังกลุ่มนักท่องเที่ยวลดลง แต่การเบิกจ่ายภาครัฐในงบประมาณปี 2562 และการบริโภคในประเทศยังคงเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกให้ขยายตัว 2.8% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า
ที่ประชุม กนง. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยประจำปี 2562 เหลือ 3.3% จาก 3.8% สะท้อนความจำเป็นของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ให้ความเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง
ส่วนตลาดหุ้นไทย (SET) ยังได้รับแรงหนุนทั้งการเพิ่มน้ำหนักของ MSCI Emerging market และเม็ดเงินจากต่างชาติ (Fund Flow) ประกอบกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ ส่งให้ค่าเงินบาทมีความเป็น Safe Haven ทำให้มีเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยครึ่งปีแรกสุทธิกว่า 40,000 ล้านบาท และตราสารหนี้ไทยสุทธิที่ 125,000 ล้านบาท
ด้วยปัจจัยเชิง MomentumFINNOMENA Investment Team แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกองทุนหุ้นไทยอีก 10% ของพอร์ตลงทุน ตามทิศทาง fund flow และสัญญาณ bullish ในทางเทคนิคหลังปรับตัวขึ้นยืนเหนือ 1,680 จุดได้เป็นแรงหนุนให้นักลงทุนที่รอจังหวะกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยอีกครั้ง
โดยสรุป FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่า ครึ่งปีหลัง 2019 เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในอัตราที่น้อยลง (Economic soft landing) เนื่องจากท่าทีประนีประนอมของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังไม่ยุติ ส่งผลให้ตลาดการลงทุนโดยรวมยังคงมีความผันผวน แต่ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นจากความคาดหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจจากธนาคารกลางหลักๆของโลก FINNOMENA Investment Team ยังคงยึดมั่นการกระจายลงทุนขั้นสูงสุด ควบคู่ไปกับการลงทุนแบบ Selective Play เพื่อสร้างผลตอบแทนสูงสุด ในช่วงที่ตลาดผันผวน
พอร์ตเพื่อเป้าหมายชนะเงินฝาก และชนะเงินเฟ้อ เป้าหมายระยะยาว 3 – 5% ต่อปี (ไม่ใช่การการันตี)
คำแนะนำประจำเดือนกรกฎาคม 2562: แนะนำคงสัดส่วนการลงทุนต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายน จากการกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ 65% และกองทุนรวมกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 15% ซึ่งช่วยลดความผันผวนพร้อมรับโอกาสสร้างผลตอบแทนในอนาคตแล้ว
กระจายเงินลงทุนในหลายสินทรัพย์เพื่อสะสมมูลค่าเงินลงทุนบนเป้าหมายผลตอบแทน 8% ต่อปี หรือ 2 เท่าตัวใน 10 ปี (ไม่ใช่การการันตี) และพยายามปกป้องความเสี่ยงในตลาดขาลงในปีที่ปัจจัยพื้นฐานไม่ดี
และ
การจัดพอร์ตแบบ Global Equity Allocation ที่จะลงทุนในกองทุนรวมไปเกิน 5 กองทุน เน้นการลงทุนเชิงรุก มีความถี่ในการปรับพอร์ตสูง และมีนโยบายการตัดขาดทุนที่เข้มข้น เป็นระบบ ตั้งเป้าหมายผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 10-15% ต่อปี หรือ 4 เท่าตัวใน 10 ปี (ไม่ใช่การการันตี)
คำแนะนำประจำเดือนกรกฏาคม 2562 : แนะนำคงสัดส่วนการลงทุนเดิมเช่นเดียวกับเดือนมิถุนายน ที่มีคำแนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกองทุนหุ้นไทย ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนของตราสารหนี้และสินทรัพย์ทางเลือก ยังสามารถสร้างผลตอบแทนพร้อมกับลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนโดยรวมได้ โดยที่ FINNOMENA Investment Team จะยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เสมอ
พอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ เป้าหมายผลตอบแทน 6-7% ต่อปี และจ่ายกระแสเงินสดเป็นรายเดือน (Passive Income) ในอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 4-5% ต่อปี (ไม่ใช่การการันตี)
คำแนะนำประจำเดือนกรกฏาคม 2562 : แนะนำคงสัดส่วนการลงทุนต่อเนื่อง จากความสามารถในการจ่ายกระแสเงินสดเฉลี่ยได้ตามเป้าหมายที่มากกว่า 4.00% ภายใต้ความผันผวนระดับต่ำ จากการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ไปพร้อมๆกับกองทุนผสมที่มีการปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เสมอ
ลงทุนเพื่อเป้าเก็บเงินก้อนหรือเป้าเกษียณ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีการวางเป้าหมายการลงทุน และ จัดพอร์ตตามวัตถุประสงค์ ตั้งใจสร้างวินัยการออม และทยอยลงทุนสะสมเป็นรายเดือน
คำแนะนำประจำเดือนกรกฏาคม 2562 : แนะนำคงสัดส่วนการลงทุน ในแง่จังหวะการลงทุน (Market Timing) สามารถเข้าลงทุนได้เลย เนื่องจากมีการควบคุมความผันผวนของพอร์ตการลงทุนโดยรวม 2 วิธีการด้วยกันคือ กระจายลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์และกระจายการลงทุนด้วยการ DCA
พอร์ตการลงทุนสำหรับผู้ที่ตั้งใจจะสร้าง 1 ล้านบาทแรก ในชีวิตเหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ เพิ่งเริ่มต้นลงทุน มีความตั้งใจในการสร้างวินัยการลงทุน และทยอยลงทุนสะสมเป็นรายเดือน
คำแนะนำประจำเดือนมกราคม 2562 : แนะนำคงสัดส่วนการลงทุนต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม ในแง่จังหวะการลงทุน (Market Timing) สามารถเข้าลงทุนได้เลย เนื่องจากมีการควบคุมความผันผวนของพอร์ตการลงทุนโดยรวม 2 วิธีการด้วยกันคือ กระจายลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์และกระจายการลงทุนด้วยการ DCA
FINNOMENA Investment Team
โปรดทราบ สำหรับลูกค้าฟินโนมีนาที่ลงทุนใน FINNOMENA PORT และได้รับบทความนี้ แต่ยังไม่ได้รับอีเมลและ/หรือ Notification ในการแจ้งสัดส่วนเงินในการเข้าลงทุน อาจเกิดจาก 1) ท่านอยู่ระหว่างการทำรายการซื้อขายกองทุน ซึ่งทางฟินโนมีนาจะแจ้งเตือนอีกครั้งภายใน 1 สัปดาห์หลังจากการทำรายการซื้อขายเสร็จสิ้น หมายเหตุ หากท่านไม่ประสงค์ที่จะรอรับการแจ้งเตือน ท่านสามารถดูรายละเอียดของพอร์ตการลงทุนที่แนะนำผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นของฟินโนมีนาพร้อมปรับพอร์ตเข้าลงทุนได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE ID: @finnomenaport |
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต| ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน
หากคุณคิดจะลงทุนเพิ่มในกองทุนรวม นี้คือสิ่งที่คุณไม่อยากพลาด! สมัครสมาชิกตอนนี้เพื่อรับโพยกองทุนเด็ดที่แนะนำ อัพเดททุกเดือนจาก FINNOMENA
กดที่นี่เพื่อรับโพยกองทุน1stM, Advance, Article, Exclusive, FINNOMENA CHANNEL, FINNOMENA PORT, FINNOMENA PORT Strategy, FINNOMENA PORT Strategy Video, GAR, GCP, GIF, Goal, Long Content, PORT Strategy, Product Info, Top5