เศรษฐกิจและกองทุนหุ้นอินเดีย ในยุค COP26

ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลกหรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกลว์ สก็อตแลนด์ ทาง นาเรนดรา โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้สัญญากับที่ประชุมว่าจะนำพาให้อินเดียลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนเหลือร้อยละศูนย์ภายในปี 2070 รวมถึงจะเปลี่ยนให้อินเดียหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมด ภายในปี 2030

นอกจากนี้ ภายใต้การสนับสนุนของบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทางรัฐบาลอินเดียยังจะได้รับเงินกู้มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์จากประเทศพัฒนาแล้ว ในการทำให้ข้อสัญญาดังกล่าวของโมดิต่อการประชุม COP26 เป็นจริงขึ้นมา

หันมาพิจารณาภาพเศรษฐกิจอินเดีย ณ ช่วงเวลานี้ จะพบว่ามีจุดเด่นอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตของจีดีพีในปี 2021 ที่คาดว่าจะเท่ากับร้อยละ 9.5 จากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ แม้ว่าจุดด้อยที่มีมาอย่างยาวนาน คือภาคสถาบันการเงินที่ยังไม่พัฒนาเทียบเท่ากับประเทศตะวันตก รวมถึงระบบสาธารณูปโภคและการขนส่งที่ยังค่อนข้างจะล้าหลังกว่าหลายประเทศ โดยจุดเด่นของเศรษฐกิจอินเดียในช่วงนี้ ที่มีอยู่ค่อนข้างมากจนสามารถดึงเม็ดเงินต่างชาติเข้าสู่ตลาดหุ้นอินเดียกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ มีดังต่อไปนี้

เศรษฐกิจและกองทุนหุ้นอินเดีย ในยุค COP26

รูปที่ 1 ข้อมูลอัตราส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพี กับดัชนีความเพียงพอของเงินสำรองของทางการสำหรับเงินสกุลต่างประเทศของไอเอ็มเอฟของประเทศตลาดเกิดใหม่

  1. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคที่โดดเด่น จะเห็นได้จากไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีที่ต่ำเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ผนวกกับความเพียงพอของเงินสำรองของทางการสำหรับเงินสกุลต่างประเทศที่สูง ดังรูปที่ 1 นอกจากนี้ เศรษฐกิจอินเดียยังมีอัตราเงินเฟ้อที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริหารจัดการได้
  2. เศรษฐกิจอินเดียไม่ได้พึ่งพาภาคต่างประเทศมากนัก โดยที่มูลค่าการส่งออกและนำเข้าเมื่อคิดต่อจีดีพีอยู่ที่ราวร้อยละ 20 กว่า ๆ เท่านั้น อีกทั้งไม่ได้พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบมากสักเท่าไรหรือคิดเป็นเพียงแค่ร้อยละ 1 กว่า ๆ ต่อจีดีพีเพียงเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ ทำให้การหดตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศตะวันตก ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจอินเดียเพียงแค่ระยะเวลาไม่นานนัก

เศรษฐกิจและกองทุนหุ้นอินเดีย ในยุค COP26

รูปที่ 2 จำนวนครั้งของการสร้างเซอร์ไพร์สในการประชุมด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ระหว่างปี 2006-2021

  1. ในส่วนของนโยบายการเงิน จะพบว่าธนาคารกลางอินเดียถือว่าเป็นแบงก์ชาติที่สร้างเซอร์ไพร์สในการประชุมด้านนโยบายการเงินอยู่บ่อยครั้งมาก ดังรูปที่ 2 ซึ่งถือว่าจะทำให้เป็นการสร้างยอดมูลค่าการเทรดให้กับตลาดหุ้น รวมถึงในส่วนนโยบายการคลังเอง แม้ว่าจะมีอัตราส่วนหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีไม่ได้ต่ำมาก ทว่าทางไอเอ็มเอฟก็ยังสนับสนุนให้ใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลในระยะสั้นเพื่อสู้กับวิกฤตโควิด จึงทำให้นโยบายทั้งคู่ส่งผลดีต่อตลาดทุนในช่วงนี้

ทั้งนี้ เมื่อหันมาพิจารณาผลตอบแทนของการลงทุนตลาดหุ้นอินเดียในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าเป็นตลาดที่มีผลตอบแทนสม่ำเสมอที่สุดแห่งหนึ่ง โดยที่ผลตอบแทนช่วงเวลา 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือนและ 1 ปี ล้วนแล้วเป็นบวกทั้งหมด แม้ว่าหากพิจารณาจากค่า P/E ในตอนนี้ ถือว่าไม่ได้ถูกแต่อย่างใด แม้ว่าจะพิจารณาจากบริบทของตลาดเกิดใหม่ก็ตามที อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ปัจจัยเศรษฐกิจที่ถือว่ามีเสถียรภาพที่สูง จึงทำให้ตลาดหุ้นอินเดียก็ยังเป็นที่จับตาอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ผมเลยขอนำเสนอกองทุนรวมอินเดียที่ในมุมมองผมแล้ว ถือว่าน่าสนใจอยู่ 4 กอง ดังนี้

กองทุนแรก เป็นกองทุนอินเดียประเภท Active ที่เน้นทำผลตอบแทนให้ชนะดัชนี เป็นของบลจ. AssetPlus ชื่อว่า ASP-INDIA โดยกองทุนแม่มีชื่อว่า UTI India Dynamic Equity USD ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนอินเดียที่เก่าแก่กองหนึ่ง สไตล์การบริหารจัดการสมชื่อกับกองแม่ คือมีการซื้อขายเปลี่ยนหุ้นบ่อยมาก ซึ่งจุดดีคือมีความพยายามจะทำกำไรหลังจากราคาหุ้นสูงขึ้นมา อีกทั้งมีการทำกำไรจากธีมการลงทุนใหม่ ๆ อยู่ตลอด อย่างไรก็ดี จุดที่ถือว่าไม่เด่นมากคือผลตอบแทนอาจจะมีความผันผวนในบางช่วงจากการที่ซื้อขายหุ้นบ่อย ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก ผลตอบแทนก็จะเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งที่ผ่านมา ก็สามารถทำผลตอบแทนได้ดีอย่างค่อนข้างสม่ำเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาว

กองทุนที่สอง เป็นกองทุนอินเดียประเภท Active ที่เน้นทำผลตอบแทนให้ชนะดัชนี เป็นของบลจ.บัวหลวง ชื่อว่า B-BHARATA โดยกองทุนแม่มีชื่อว่า RAMS Equity Portfolio Fund India โดยเป็นกองทุนที่เน้นถือหุ้นที่มีศักยภาพสูงในขณะที่ราคาไม่แพง รวมถึงการจับจังหวะการลงทุนเป็นหลัก โดยผลตอบแทนถือว่าทำได้ดีอย่างค่อนข้างสม่ำเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเวลาต่ำกว่า 1 ปีและระยะเวลาปานกลาง

ส่วนกองทุนที่สามและสี่ เป็นกองทุนอินเดียประเภท Passive ที่เน้นทำผลตอบแทนให้ใกล้เคียงดัชนี เป็นของ บลจ.กสิกรไทยและ บลจ. ทิสโก้ ชื่อว่า K-INDX และ TISCOIN ตามลำดับ โดยกองทุนแม่มีชื่อว่า iShares India 50 ETF (Nifty) และ ishares MSCI India ซึ่งมีดัชนีอ้างอิงเป็น Nifty50 กับ Sensex30 ตามลำดับ

อ่านเพิ่มเติม รีวิวกองทุนหุ้นอินเดีย ครบจบในที่เดียว!

MacroView

ที่มาบทความ: http://www.macroviewblog.com/blog/economics/indiaeconfund/