อยากซื้อหุ้นโรงพยาบาลลงทุนยาว ๆ ต้องเริ่มอย่างไรบ้าง

อย่างที่เรารู้กันดีว่า “สังคมผู้สูงอายุ” ใกล้เราเข้ามาทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์อย่างผมที่มีพรรคพวก หรือประชากรในวัยนี้ราว 9-10 ล้านคน ก็กำลังกลายเป็นคนชราในอนาคตอีก 10-20 ปีข้างหน้า

เมื่อเราต่างรู้กันว่า โรงพยาบาล เป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต เราก็ควรมองหา #หุ้นโรงพยาบาล มาประดับพอร์ตการลงทุนของเราไว้บ้าง

ตัวผมเองก็เริ่มสะสมหุ้นโรงพยาบาลอีกครั้ง หลังจากเคยขายไปเพราะคิดว่า … ค่ารักษาพยาบาลแพงเกินไปแล้ว แต่ข้อเท็จจริงก็คือ มันอาจแพงได้อีก

แล้วเราจะเริ่มต้นอย่างไรดี จะซื้อหุ้นตัวไหนดี ?

สำหรับคนคิดจะเริ่มลงทุนหุ้นกลุ่มนี้อาจสับสน เพราะมีหุ้นโรงพยาบาลหลายตัว แต่ละตัวก็น่าลงทุนทั้งนั้น มาดูกันดีกว่าว่า ถ้าเราคิดจะลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ ต้องดูอะไรบ้าง

อยากซื้อหุ้นโรงพยาบาลลงทุนยาว ๆ ต้องเริ่มอย่างไรบ้าง

ประการแรก “ประเภทของหุ้นโรงพยาบาล”

ก่อนอื่นเลย ผมขอแบ่งหุ้นโรงพยาบาลออกเป็นสองประเภทคร่าว ๆ ได้แก่ โรงพยาบาลที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ เช่น BDMS BH และประเภทที่สอง คือ โรงพยาบาลที่เน้นลูกค้าท้องถิ่น เช่น VIBHA CHG เป็นต้น

หลายคนอาจแย้งว่า มันคลุมเครือ แต่ข้อเท็จจริงก็คือ โรงพยาบาลแต่ละแห่งเขาก็มีนโยบายจับลูกค้าที่เน้นเป็นพิเศษ

การที่เราตั้งใจจะเลือกว่าจะลงทุนกับโรงพยาบาลประเภทไหนนั้น จะทำให้เราสามารถจับจุดวิเคราะห์ได้ถูก เพราะหากเป็น รพ. ที่เน้นต่างชาติ เราก็ต้องดูภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ เป็นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น หุ้นโรงพยาบาล ที่จับลูกค้ากลุ่มตะวันออกกลาง พอประเทศในกลุ่มมีปัญหาเศรษฐกิจ ก็มาใช้บริการน้อยลงนั่นเองครับ

ประการที่สอง … “ดูตัวเลขทางการเงิน”

ตัวเลขทางการเงินที่เราดูกันหลัก ๆ ก็คือ ความถูกแพงของราคาหุ้นเมื่อเทียบกับกำไร หรือ PE , มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น เมื่อเทียบกับราคา หรือ P/BV , อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ ROE

การเปรียบเทียบจากตัวเลขทางการเงิน ช่วยบอกเราคร่าว ๆ ได้ว่า หุ้นตัวไหนถูก หรือแพง และหุ้นตัวไหนให้ผลตอบแทนกลับมาดีกว่ากัน โดยเราอาจเปรียบเทียบเบื้องต้นกับหุ้นหลาย ๆ ตัวก่อน จากนั้นเมื่อเลือกมาได้ ค่อยมาเจาะดูย้อนหลังก็สามารถทำได้ครับ

ประการที่สาม … “ดูการเติบโต”

โรงพยาบาลหลายแห่งมีเป้าหมายการเติบโตแตกต่างกัน ผมขอยกตัวอย่างโรงพยาบาลที่เคยเติบโตจากกลยุทธ์ ดังต่อไปนี้

1) กลยุทธ์การเติบโต ด้วยการควบรวมกิจการ … กลยุทธ์นี้เคยใช้ได้ผลดีในอดีตที่ผ่านมา โรงพยาบาลที่อยากโตเร็ว ๆ ก็ใช้วิธีการซื้อโรงพยาบาลอื่น แล้วนำมาปรับปรุงใหม่ สวมแบรนด์ของเขาเข้าไป ซึ่งต้องบอกว่าได้ผลดีในช่วงที่ผ่านมา

2) กลยุทธ์สร้างโรงพยาบาลใหม่ในพื้นที่เฉพาะ … กลยุทธ์นี้ต้องอาศัยเวลา ต้องก่อสร้างโรงพยาบาลตั้งแต่เริ่มต้น สร้างเสร็จก็ต้องรอให้คนไข้เต็ม จนเลยจุดคุ้มทุน ใครที่ถือหุ้นโรงพยาบาลที่ขยายตัวจากการสร้างตึกใหม่ ก็ต้องรอกันหน่อย เพราะหลังจากสร้างเสร็จก็มีค่าเสื่อมราคา ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามมามากมาย

3) กลยุทธ์จับกลุ่มเฉพาะทาง … กลยุทธ์นี้น่าสนใจยิ่ง มีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งจับกลุ่มคนจีนที่อยากมีลูก ทำตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งก็ได้ผลดี ทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้น และมากไปกว่านั้น เขายังไปเปิดศูนย์เฉพาะทางที่เมืองจีนกันเลยทีเดียว ใช่ครับโรงพยาบาลที่ผมกล่าวถึงคือ EKH นั่นเอง

4) กลยุทธ์อื่น ๆ … ยังมีกลยุทธ์อีกมากมายหลายรูปแบบ เข่น สร้างศูนย์พักคนชรา รับลูกค้าประกันสังคม และอื่น ๆ เป็นต้น

ข้อสรุป และข้อคิดก็คือ…

หากเราคิดจะเริ่มต้นลงทุนหุ้นโรงพยาบาล ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง เราก็เห็นชัด ๆ อยู่แล้วว่าอนาคตสังคมผู้สูงอายุมาแน่ ๆ แต่ด้วยความแพงของหุ้นกลุ่มนี้ทำให้หลายคนตัดใจซื้อไม่ลง ก็ต้องพิจารณากันเอาเองครับว่า จะกลั้นใจซื้อลงหรือไม่ หรือจะรอต่อไปดีนะ ลองคิดกันดูนะครับ …

นายแว่นลงทุน

คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน


**สนใจลงทุนในพอร์ต RUNNING for Growth พอร์ตกองทุนรวมหุ้นซึ่งจัดโดยนายแว่นลงทุน คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเลย >>
https://www.finnomena.com/port/naiwaen