ลดหย่อนภาษี ปี 2566: ทุกเรื่องที่ต้องรู้ รวบรวมมาให้แล้ว!

ในวันเงินเดือนออก ใครเคยเปิดดูในสลิปเงินเดือนบ้างว่าเราโดนหักภาษีไปเท่าไร? ใครที่ไม่เคยให้ลองเปิดอีเมลเช็กดู เพราะหากเอามารวมดูจริง ๆ แล้ว ปีหนึ่งเราอาจจะเสียภาษีมากกว่าที่คิดไว้ก็ได้

ได้ยินแบบนี้ หลายคนอาจจะกังวล และเริ่มสนใจการวางแผนภาษี อยากรู้ว่ามีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยให้เราประหยัดภาษีได้?

บทความนี้ Finnomena ขอไขข้อสงสัยเหล่านั้นให้ พร้อมรวบรวมรายการลดหย่อนภาษี ปี 2566 ที่ทุกคนต้องรู้มาไว้ให้แล้ว หาคำตอบได้ที่นี่ ครบจบในที่เดียว!

อ่านเพิ่มเติม สรุปวิธีคำนวณภาษี: รายได้เท่าไรต้องเสียภาษีเท่าไร?

รับบริการผู้แนะนำการลงทุนกองภาษีส่วนตัวจาก Finnomena ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
👉 ลงทะเบียน คลิก >>> https://finno.me/taxplanner-services

การวางแผนภาษีสำคัญอย่างไร? ทำไมถึงต้องวางแผนภาษีทุกปี

ขอแบ่งเป็น 2 เหตุผลหลัก ๆ ดังนี้

  1. สามารถวางแผนการเงินได้รัดกุมและเป็นระบบมากขึ้น: ช่วยให้การเสียภาษีถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
  2. ยิ่งวางแผนภาษีเร็ว ยิ่งประหยัดภาษีได้มาก: ทำให้เราได้เงินภาษีคืน และประหยัดเงินในกระเป๋าของตัวเองได้มากขึ้น

ทั้งนี้ค่าลดหย่อนภาษีที่กฎหมายได้ระบุไว้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นเราในฐานะผู้เสียภาษีจึงควรหมั่นติดตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขในทุกปี เพื่อที่จะได้วางแผนลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และเซฟงบในกระเป๋าไปได้อีกมาก

สรุปรายการลดหย่อนภาษี ปี 2566

1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

ลดหย่อนภาษี ปี 2566: ทุกเรื่องที่ต้องรู้ รวบรวมมาให้แล้ว!

ประกอบด้วย

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้ (ได้สูงสุด 1 คน)
  • ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท (ทั้งนี้การตั้งครรภ์ลูกแฝดจะนับว่าเป็นครรภ์เดียว) หากทั้งสามีและภรรยายื่นภาษีทั้งคู่ จะให้สิทธิลดหย่อนนี้แก่ภรรยาเท่านั้น โดยสามีสามารถลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้
  • ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท โดยจะต้องเป็นบุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว และต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาอยู่ หรือในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
    • กรณีมีเฉพาะบุตรชอบด้วยกฎหมาย: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้ตามจำนวนบุตรจริง
    • กรณีมีเฉพาะบุตรบุญธรรม: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท สูงสุด 3 คน
    • กรณีมีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม: ให้ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน และหากบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่ถ้าบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1-3 สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้
  • ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส จำนวนคนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน กล่าวคือ สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท (และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม) โดยบิดามารดาจะต้องมาอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้
  • ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพ จำนวนคนละ 60,000 บาท และผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ รวมถึงจะต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ

ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพลภาพเป็นบิดามารดา บุตร หรือคู่สมรสของตนเอง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสองส่วน ตัวอย่างเช่น คู่สมรสไม่มีรายได้และเป็นผู้พิการ สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาท (ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท และค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ 60,000 บาท)

2. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

ลดหย่อนภาษี ปี 2566: ทุกเรื่องที่ต้องรู้ รวบรวมมาให้แล้ว!

ลดหย่อนภาษี ปี 2566: ทุกเรื่องที่ต้องรู้ รวบรวมมาให้แล้ว!

ประกอบด้วย

  • เงินประกันสังคม สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และถ้าหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
  • เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)
  • เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) สำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือธุรกิจ Social Enterprise ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป สามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนได้ โดยลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  • กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท – สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุน Thai ESG ได้ที่ กองทุน Thai ESG คืออะไร? ลดหย่อนภาษีแบบใหม่ เทียบกับ SSF RMF ต่างกันอย่างไร
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท – สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุน RMF ได้ที่ “RMF” คืออะไร? ทบทวนเงื่อนไขพร้อมกองทุนแนะนำ!
  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท – สามารถอ่านเรื่องกองทุนรวม SSF เพิ่มเติมได้ที่ คัมภีร์มหากาพย์กองทุน SSF กองไหนดี ต้องซื้อไหม ซื้อได้เท่าไร? สุดยอดกองทุนลดหย่อนภาษีปี 2565
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ

*** สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อนประกันชีวิตและการลงทุนในการวางแผนเกษียณ ได้แก่ กองทุน RMF กองทุน SSF กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมด ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ***

สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันชนิดต่าง ๆ และสิทธิประโยชน์ทางการลดหย่อนภาษีได้ที่ สรุป ซื้อประกันแบบไหน ได้ลดหย่อนภาษี? สิทธิประโยชน์และเงื่อนไขที่ต้องรู้

3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

ลดหย่อนภาษี ปี 2566: ทุกเรื่องที่ต้องรู้ รวบรวมมาให้แล้ว!

ประกอบด้วย

  • เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง นำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป

สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้ที่ บริจาคอะไร ลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า !

4. ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

ลดหย่อนภาษี ปี 2566: ทุกเรื่องที่ต้องรู้ รวบรวมมาให้แล้ว!

ประกอบด้วย

  • โครงการช้อปดีมีคืน 2566 สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 40,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 ตามที่จ่ายจริง โดย 30,000 บาทแรกเป็นค่าซื้อสินค้าและบริการที่มีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ และอีก 10,000 บาท ต้องมีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น สินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือ (รวมถึง E-Book)
  • ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว คอนโด ห้องชุด และอาคาร เป็นต้น สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

รูปแบบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ 2 แบบ คือ ภ.ง.ด.90 (สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน) และ ภ.ง.ด.91 (สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมอื่น) และจะต้องเตรียมเอกสารดังนี้

  • หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) – สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับใบ 50 ทวิ
  • รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา
  • เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี

สถานที่สำหรับการยื่นภาษี

  • ยื่นภาษีด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
  • ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านระบบ E-Filing ของ กรมสรรพากร https://efiling.rd.go.th/rd-cms/ – สามารถอ่านวิธียื่นภาษีออนไลน์เพิ่มเติมได้ที่ วิธียื่นภาษีออนไลน์ ฉบับมือใหม่ทำตามได้ง่ายสุด ๆ
  • ยื่นภาษีผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax โดยต้องทำการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรก่อน จึงจะสามารถยื่นผ่านแอปพลิเคชันได้

กรณียกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  • กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้พิการ และมีบัตรประจำตัวคนพิการว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
  • กรณีเป็นผู้สูงอายุ และมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
  • กรณีมีเครดิตภาษีเงินปันผล สำหรับคนที่ลงทุนในหุ้น สามารถใช้ยกเว้นภาษีได้ตามสัดส่วนที่ได้รับจากเงินปันผล

และทั้งหมดนี้ก็คือ รายการลดหย่อนภาษีสำหรับปี พ.ศ. 2566 ที่ทาง Finnomena ได้รวบรวมมาให้

การวางแผนภาษีมีความสำคัญเพราะจะช่วยให้เราสามารถวางแผนการเงินได้อย่างรัดกุมและเป็นระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตามรายการลดหย่อนภาษีแต่ละประเภทไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ลดหย่อนภาษีเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น กองทุนประหยัดภาษี SSF และ RMF ที่นอกจากจะนำค่าซื้อไปลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังสร้างโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนได้ด้วย

สุดท้ายแล้ว อยากจะฝากไว้ว่าการวางแผนภาษีไม่จำเป็นต้องทำทีเดียวตอนสิ้นปี เราสามารถเริ่มวางแผนภาษีได้เลยตั้งแต่ต้นปี ซึ่งตอนนี้ Finnomena Funds เปิดให้ลงทุนในกองทุนประหยัดภาษีอย่าง SSF และ RMF แบบ DCA ได้แล้ว สร้างแผน DCA ครั้งเดียว ลงทุนให้ทุกเดือนอัตโนมัติ ไม่ต้องตั้งรายการใหม่ทุกเดือน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://finno.me/9-step-ssf-rmf-dca-web

กองทุนลดหย่อนภาษีปีนี้ มาซื้อที่ฟินโนมีนา ฟันด์ เปิดบัญชีที่เดียว ซื้อ SSF-RMF ได้หลากหลาย บลจ. พร้อมโปรโมชันพิเศษ ดูรายละเอียดได้ที่ https://finno.me/tsf-23-ws

Finnomena Admin