แจ้งเตือน

กลับสู่หน้าหลัก

การวางแผนการเงินของแพทย์จบใหม่

เขียนโดย พี่หมอนักลงทุน

ว่ากันว่าอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่มั่นคง ทั้งด้านสายอาชีพและรายได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็แลกมาด้วยสุขภาพกับการทำงานหนัก อดหลับ อดนอน ห่างไกลครอบครัว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เฉลี่ยเงินเดือนเริ่มต้นก็มากกว่าอาชีพอื่นจริง ไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็ไม่ถึงกับยากจน

พี่หมอเป็นแพทย์จบใหม่เมื่อสิบปีก่อน ไม่มีความรู้และประสบการณ์เรื่องการออมเงิน การลงทุนเลย จึงเริ่มศึกษาด้วยตนเอง จากหนังสือ สื่อออนไลน์ต่างๆ แต่ก็ยังขาดความรู้อีกมาก จึงตัดสินใจเรียนต่อบริหารธุรกิจ เอกการเงิน จึงอยากนำความรู้มาถ่ายทอดให้แพทย์จบใหม่ และแพทย์ท่านอื่นๆ

Phase 1 เริ่มต้นชีวิตแพทย์

จากชีวิตนักศึกษาที่ยังไม่มีรายได้ เราจะเริ่มมีรายได้จากการทำงานเป็นครั้งแรก เงินเดือน (Base Salary) ตอนเป็นแพทย์ใช้ทุนของโรงพยาบาลรัฐบาล ไม่ได้มากนัก ตามอัตราของราชการ เงินที่ได้เยอะคือเงินค่าอยู่เวรนอกเวลาราชการ และเงินตรวจคลินิกนอกเวลาราชการ หลังจากน้องๆมีรายได้แล้ว ควรวางแผนการเงินดังนี้

  1. แบ่งเงินเดือนส่วนหนึ่ง ตอบแทนบุพการี

  2. รู้จักสมการการออม รายรับ – เงินออม = รายจ่าย หมายถึง ได้เงินเดือนมาแล้ว ให้หักเงินออมที่คิดว่าจะออมต่อเดือนไปก่อนที่จะนำออกมาใช้จ่าย เช่น ได้เงินเดือน 50,000 บาท จะออม 20% คือ 10,000 บาท ก็นำเงินส่วนนี้ เป็นเงินออมต่อเดือน เปอร์เซ็นการออมที่แนะนำสำหรับแพทย์จบใหม่คือ 10-20%

  3. ทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เพื่อให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น จะทราบถึงรายจ่ายจำเป็น รายจ่ายไม่จำเป็น รายจ่ายคงที่ (Fixed Cost) ที่ต้องจ่ายทุกเดือน

  4. การทำบัตรเครดิต เชื่อว่าน้องๆหลายคน สมัครบัตรกันตั้งแต่จับฉลากแพทย์ใช้ทุน ตั้งแต่ได้ใบประกอบวิชาชีพ โดยยังไม่ต้องมีสลิปเงินเดือน พี่หมอมีมุมมองว่า บัตรเครดิต สามารถใช้ได้ ถ้ามีวินัยการเงินที่ดี ต้องมีเงินสดเพียงพอ ก่อนการรูดบัตรเครดิต การมีเครดิต ทำให้เราจ่ายเงินออกไปช้าลง ตามหลักการทางการเงิน เงินเข้าให้รีบเอาเข้ากระเป๋าให้เร็วที่สุด เงินออกให้จ่ายออกไปให้ช้าที่สุด ดังนั้น การจะซื้อของราคาแพงที่มีโปรโมชั่น 0% 10 เดือน ไม่ได้เป็นข้อห้าม แต่ต้องมั่นใจว่า เรามีเงินสดกำไว้ในมือเพียงพอแล้ว ก่อนที่จะรูดออกไป แล้วนำเงินสดไปทำให้เกิดดอกผล ก่อนที่จะจ่ายออกไป

  5. การวางแผนภาษี เมื่อมีรายได้ จะมาพร้อมกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องจ่าย หลักการคือ ให้วางแผนภาษี คำนวณรายรับที่พึงได้ต่อปี และวางแผนลดหย่อนภาษี ว่าจะมีอะไรลดหย่อนได้บ้าง และวางแผนว่าจะซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินใด ในเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่การเลี่ยงภาษี

  6. เงินสำรองฉุกเฉิน อยากให้สะสมเงินสำรองฉุกเฉิน แม้จะเป็นอาชีพที่มั่นคง เสี่ยงต่อการโดน Lay off น้อยกว่าอาชีพอื่น แต่อยากให้ฝึกเก็บเงินสำรองฉุกเฉินให้เป็นนิสัย โดยเก็บเงินตามค่าใช้จ่ายที่คาดว่าต้องใช้ในแต่ละเดือน ให้อยู่ได้ 3-6 เดือน โดยที่ยังไม่มีรายรับเข้ามาใหม่

  7. รถหรือบ้าน แพทย์จบใหม่ มักเกิดคำถามว่าจะซื้อบ้านหรือรถก่อนกันดี ประเด็นนี้ไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แต่พี่หมอให้มุมมองไว้ว่า ขณะที่เราใช้ทุน และเรียนต่อเฉพาะทาง ถ้ายังไม่มีความแน่นอนในสถานที่ทำงานในอนาคต การซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ อาจไม่ใช่คำตอบ อีกประเด็นคือ รถ เมื่อซื้อแล้วมีแต่ราคาจะลดลง สมชื่อ แต่ถ้ารถจำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ การไปทำงานของเรา ผู้เขียนถือว่า รถเป็นสินทรัพย์ในการลงทุนอย่างนึง

  8. การลงทุนในระยะแรก หลังจากมีเงินออมจำนวนหนึ่ง ที่เป็นเงินเย็น ไม่จำเป็นต้องใช้อะไร ขอให้เริ่มจากการศึกษาหาความรู้ด้านการเงินด้วยตนเองก่อน ซึ่งจากประสบการณ์ วงการแพทย์ไม่ชอบหาความรู้ในส่วนนี้ ชอบสูตรสำเร็จ ว่าให้ทำอย่างไร ซื้ออะไร ตอนไหน ซึ่งพี่หมอไม่แนะนำ

Phase 2 เรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง

หลังจากใช้ทุนในโรงพยาบาลระยะเวลาหนึ่ง ก็ถึงเวลาเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง 3-5 ปี แล้วแต่สาขา บางคนอาจเรียนแพทย์ต่อยอดอีก 1-2 ปี ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่กลับมาเป็นนักเรียนอีกครั้ง จำเป็นต้องทุ่มเวลาเพื่อการเรียน การรักษาคนไข้ รายรับที่ได้ จะมาจาก 1) เงินเดือนจากโรงพยาบาลต้นสังกัด 2) เงินเวรเหมาจ่าย ซึ่งรวมกันแล้วไม่มาก เมื่อเทียบกับตอนเป็นแพทย์ใช้ทุน

ดังนั้นจึงต้องวางแผนให้ตนเองมีเงินสำรอง ตั้งแต่ระยะเวลาเป็นแพทย์ใช้ทุน เพื่อให้ตอนมาเรียนต่อ ไม่ต้องลดคุณภาพการใช้ชีวิต

การวางแผนการเงินในระยะนี้ คือ

  1. แบ่งเงินเดือนส่วนหนึ่ง ตอบแทนบุพการี เหมือนเดิม แต่อาจลดสัดส่วนลงตามรายได้ อธิบายพ่อแม่ให้เข้าใจ

  2. มีวินัยในการออม ลดสัดส่วนลงได้ อาจเหลือ 5-10% ของรายรับ แต่ยังคงต้องมีวินัยในการออม

  3. ทำบัญชีรายรับ รายจ่าย แต่อาจลดความละเอียดลง ทำเป็นภาพรวมรายสัปดาห์แทนได้

  4. การวางแผนภาษี ช่วงนี้ แม้รายได้จะไม่เยอะ แต่ยังคงต้องเสียภาษี ยังคงต้องวางแผนภาษี ช่วงอายุนี้ แนะนำการทำประกันชีวิต (ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท ) และกองทุน SSF (Super Saving Funds) หรือ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (ซึ่งพี่หมอจะมีบทความเรื่อง SSF มาให้อ่านเร็วๆนี้) ยังไม่แนะนำกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

  5. การลงทุน ช่วงนี้ไม่เหมาะกับการลงทุนในตราสารทุน (หุ้น) เพราะมีเวลาติดตามข่าวสารน้อย ต้องเรียนและดูแลคนไข้เป็นหลัก แนะนำการลงทุนในกองทุนรวม (Mutual Fund) ที่มีผู้จัดการกองทุนคอยดูแล และการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือ DCA (dollar-cost averaging)

Phase 3  จบแพทย์เฉพาะทาง

หลังจากจบแพทย์เฉพาะทาง ส่วนใหญ่ก็กลับไปทำงานในโรงพยาบาลต้นสังกัด หรือทำงานในโรงพยาบาลเอกชน ระยะนี้เป็นระยะที่สร้างรายได้ จบใหม่ ไฟแรง มีรายรับเข้ามามาก แนะนำวางแผนการเงินดังนี้

  1. แบ่งเงินเดือนส่วนหนึ่ง ตอบแทนบุพการี เหมือนเดิม และเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น ระยะนี้ พ่อแม่หลายคนเริ่มเข้าสู่ระยะเกษียณ ซึ่งตามมาด้วยโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่คาดคิด ต้องเผื่อเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับดูแลบุพการีด้วย

  2. มีวินัยในการออม ในสัดส่วนที่มากขึ้น จะมากน้อยแล้วแต่บุคคล

  3. ควบคุมรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เพราะการลดรายจ่าย ง่ายกว่าการเพิ่มรายได้ ให้ลดกิเลส ลดความอยากได้ อยากมี อยากเป็นลง คิดให้เยอะ ก่อนที่จะซื้ออะไรสักอย่างนึง

  4. ทำบัญชีรายรับ รายจ่าย แบบละเอียดอีกครั้ง เพื่อหารอยรั่วที่ป้องกันได้

  5. การวางแผนภาษี ช่วงนี้เป็นช่วงที่จ่ายภาษีมากที่สุด ตามฐานรายได้ แนะนำประกันชีวิต กองทุน SSF (Super Saving Funds) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ประกันแบบบำนาญ ประกันสุขภาพ (รายละเอียดค่อนข้างมาก ขอเจาะลึกในบทความต่อไป)

  6. การลงทุน ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีเวลาศึกษาหาข้อมูลตลาด เศรษฐกิจ ปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการลงทุนมากขึ้น เป็นเวลาที่เหมาะกับการการลงทุนในตลาดหุ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ตลาดตราสารหนี้ ลงทุนในทองคำแท่ง โดยใช้การจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) คือ การวางแผนกระจายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) หลายประเภทที่แตกต่างกันไปเพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุนระยะยาว (Long – term Investment Goal) ลงทุนตามความเสี่ยงที่ตนเองยอบรับได้ โดยใช้กองทุนรวม (Mutual Fund) เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายการลงทุนระยะยาว แต่ถ้าเราไม่มีเวลาติดตาม Portfolio อาจใช้บริการของ Private Wealth ก็ได้ (ซึ่งทาง FINNOMENA Private Wealth มีบริการแนะนำการลงทุนในกองทุนรวม สำหรับการลงทุน 3 ล้านบาทขึ้นไป โดยจะดูแลตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย วางแผน และการแนะนำพอร์ตที่เหมาะกับนักลงทุน)

  7. วางแผนชีวิต เป็นช่วงที่ต้องคิดเรื่องการแต่งงาน การมีบุตร การซื้อบ้าน คอนโด เปลี่ยนรถ เป็นต้น หลักการคือ การเงินต้องวางแผน ต้องคิดล่วงหน้า การเป็นหนี้ ไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่ต้องเป็นหนี้ที่มีประโยชน์ เพื่อการดำรงชีวิต ให้สนใจเรื่องดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย การ Refinance ให้ประหยัดดอกเบี้ยมากที่สุด

  8. การวางแผนการเกษียณ เป็นช่วงที่ต้องคิดเรื่องการวางแผนเกษียณแต่เนิ่นๆ เพราะการวางแผนเร็ว ทำให้การทำงานของดอกเบี้ยทบต้น มีประโยชน์สูงสุด

เหล่านี้เป็นเพียงมุมมองของพี่หมอ ในการแบ่งปันประสบการณ์ ไม่ใช่ Guideline ที่ต้องทำตาม จุดประสงค์คือ อยากนำความรู้ทางการเงินมาเผยแพร่กับเพื่อนแพทย์ โดยแพทย์ที่เป็นนักวางแผนการเงิน

พี่หมอนักลงทุน
facebook.com/investdoctor

ส่งต่อเรื่องราวการเงินการลงทุนของคุณ

อ่่านเรื่องราวอื่นๆ