แจ้งเตือน

กลับสู่หน้าหลัก

First Jobber ควรมีความรู้การเงินด้านใดบ้าง?

เขียนโดย พี่หมอนักลงทุน

ตลอดการเรียนมหาวิทยาลัย บางคนอาจไม่ได้เรียนอะไรเกี่ยวกับพื้นฐานการเงินเลย พี่หมอก็เช่นกัน แต่เมื่อเรียนจบมา เริ่มทำงาน มีรายได้ ต้องใช้ความรู้พื้นฐานด้านการเงินทันที วันนี้พี่หมอจะขอแบ่งปัน Step ความรู้ทางการเงินที่ควรศึกษา ที่เราอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมดทุกเรื่องครับ

1. พื้นฐานการออมและการลงทุน

เริ่มต้นจากการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้เรารู้ว่าในแต่ละเดือน เราได้รายรับจากทางใด มีรายจ่ายจำเป็น/ไม่จำเป็นอย่างไร มีกระแสเงินสดเพียงพอหรือไม่ มีเงินออมในแต่ละเดือนเท่าไร โดยควรออมก่อนแล้วค่อยใช้ในแต่ละเดือน

มูลค่าเงินตามเวลา คือ จำนวนเงินที่มีมูลค่าแตกต่างกันระหว่างปัจจุบันกับอนาคต โดยมีปัจจัยเกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนและระยะเวลามาเป็นตัวกำหนดมูลค่าของเงินนั้น เช่น เงิน 100 บาทในวันนี้ จะมีมูลค่ามากกว่าเงิน 100 บาทในอนาคต เพราะเราสามารถนำเงินไปสร้างผลตอบแทนได้ตั้งแต่วันนี้ หัวข้อนี้ ไม่จำเป็นต้องศึกษาลึกถึงการคำนวณ

เศรษฐศาสตร์พื้นฐาน เน้นศึกษาปัจจับทางเศรษฐกิจมหาภาค ที่ส่งผลต่อการลงทุนที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Systematic risk) ที่เกิดขึ้นกับทุกอุตสาหกรรม เช่น นโยบายการเก็บภาษีนิติบุคคล/มูลค่าเพิ่ม อัตราดอกเบี้ยนโยบาย แนวโน้มการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ

2. พื้นฐานภาษี การลดหย่อนภาษี การยื่นภาษีด้วยตนเอง

เรื่องที่จำเป็นมากหลังจากเรามีรายได้ เรามีหน้าที่เสียภาษี บางบริษัทให้เขียนใบ ล.ย.01. แบบแจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อน ได้ บางบริษัทไม่ได้ ข้อดีของใบ  ล.ย.01. คือ เราจะไม่โดนหักเสียภาษี ณ ที่จ่ายตามค่าลดหย่อนที่เรากรอกไว้ ได้เงินสดนำไปทำให้งอกเงยได้ก่อน แต่ข้อเสีย คือ ต้องวางแผนการใช้เงินให้ดี ไม่เช่นนั้นจะไม่มีเงินจ่ายภาษีปลายปี

ต่อมาคือวางแผนลดหย่อนภาษี โดยคำนวณจากรายได้พึงประเมิน และวางแผนทยอยซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ใช้ลดหย่อนภาษี เช่น ประกันชีวิต SSF RMF เป็นต้น ควรวางแผนว่าจะลดหย่อนเท่าไร และเก็บหลักฐานต่างๆไว้ เผื่อกรมสรรพากรเรียกดูหลักฐาน

การยื่นภาษีด้วยตนเอง บางคนอาจมองว่าไม่จำเป็น แต่พี่หมอคิดว่าสำคัญ เพราะเพิ่มความสะดวกสบาย ไม่ต้องไปติดต่อสรรพากรเอง วิธีการก็ไม่อยาก เพียงต้องเตรียมข้อมูลไว้ให้ครบ เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) เอกสารค่าลดหย่อนต่างๆ เป็นต้น

3. การทำประกันชีวิต

เพราะชีวิตคือความไม่แน่นอน ควรวางแผนตั้งแต่อายุยังน้อย ประกันชีวิตมีหลายแบบ เผื่อหลายจุดประสงค์ แต่ที่สำคัญคือ การทำเพื่อคุ้มครองชีวิต ทำในวงเงินที่เหมาะสม ค่าเบี้ยประกันไม่แพงจนเกินไป สามารถจ่ายได้ในระยะยาว ประกันบางชนิด ถ้าทำตั้งแต่อายุน้อย เบี้ยประกันจะเท่าเดิมไปตลอด

ประเด็นสำคัญคือต้องศึกษาข้อกำหนดของกรมธรรม์ให้ครบถ้วน เช่น จำนวนปีที่จ่ายเบี้ยประกัน การเวนคืนกรมธรรม์ การกู้เงินจากกรมธรรม์ ระยะเวลารอคอยของประกันสุขภาพ เป็นต้น

สำหรับการซื้อประกันแบบทั่วไปเพื่อลดหย่อนภาษี ลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาทตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่นับรวมกับประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

4. การซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย

หลังจากทำงานมาได้สักพัก มนุษย์เงินเดือนจำนวนหนึ่งจะได้ยินคำว่า “ซื้อดีกว่าเช่า“ เริ่มอยากมีบ้าน/คอนโดเป็นของตนเอง ในยุคก่อน COVID-19 ระบาด เป็นยุครุ่งเรืองของวงการอสังหาริมทรัพย์ มีบ้าน/คอนโดโครงการใหม่ๆเปิดตัวจำนวนมาก พร้อมโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าจองและซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน

แต่การซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยนั้นแตกต่างกัน มีปัจจัยที่ควรพิจารณาหลายด้าน เช่น ทำเลที่ตั้ง สถานที่ทำงานในอนาคต บ้านที่อาศัยเดิม การเดินทาง บริษัทผู้สร้าง ราคาขาย จำนวนเงินดาวน์ ความสามารถในการกู้ของเรา เป็นต้น

คำแนะนำส่วนตัวของพี่หมอคือ ซื้อบ้าน/คอนโดเมื่อมีความพร้อม เลือกตามความต้องการจริง อยู่เองจริงๆ เก็บเงินดาวน์ให้ได้ 20-30% ขึ้นกับบุคคล คำนวณค่างวดที่ส่งแล้วมั่นใจว่าสามารถส่งได้ เลือกธนาคารที่ยืดหยุ่นเรื่องดอกเบี้ย จะซื้อคอนโดแบบ Pre-sale หรือสร้างเสร็จแล้วก็ได้

5. สินทรัพย์เพื่อการลงทุน (Investment Assets)

สินทรัพย์ทางการเงินมีให้เลือกลงทุนหลายอย่าง ขอแบ่งทีละกลุ่มดังนี้

5.1 ประเภทสถานะเจ้าหนี้ เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ระยะสั้น ระยะยาว สินทรัพย์ประเภทนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอน บัญชีฝากประจำ มีการคุ้มครองเงินต้น ก็จะได้ผลตอบแทนต่ำเช่นกัน ต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่จะได้เงินต้นคืน เพราะว่าเราจะเสียสภาพคล่องส่วนนี้ไป

ตราสารหนี้ พี่หมอคิดว่ายังไม่เหมาะสมกับ First Jobber เพราะว่าใช้เงินลงทุนเริ่มต้นสูง (ขั้นต่ำ 100,000 บาท) และต้องใช้ความรู้ในการวิเคราะห์บริษัท อุตสาหกรรมที่ไปลงทุน

5.2 ประเภทสถานะเจ้าของ คือ ตราสารทุน (หุ้น) และ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

การลงทุนหุ้นในปัจจุบัน ไม่ยาก เปิดบัญชีตาม บลจ. ต่างๆได้ง่าย ใช้เงินเริ่มต้นลงทุนน้อย มีหนังสือ บทความ website ให้ศึกษาข้อมูลก่อนเริ่มลงทุนมากมาย ก่อนลงทุน ควรศึกษาให้เข้าใจและเริ่มลงทุนด้วยเงินเริ่มต้นไม่มาก และเป็นเงินเย็น ที่ไม่ใช่เงินสำรองฉุกเฉิน (Emergency Fund)

หา Style การลงทุนของเราให้เจอ จริตของเราเหมาะกับแบบไหน รู้จักลงทุนในระยะยาว และรู้จัก Stop Loss เหล่านี้จะทำให้เรามีความสุขกับการลงทุน

5.3 สินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ น้ำมัน ค่าเงินต่างๆ ต้องใช้ประสบการณ์ในการลงทุนมากขึ้น ไม่แนะนำสำหรับมือใหม่

การลงทุนในทองคำที่แนะนำคือ การออมทอง เหมือนกับการ DCA ซื้อทองเฉลี่ยในทุกเดือน จะต่างกับการซื้อทองคำแท่ง Online ซึ่งใช้เงินลงทุนเริ่มต้นสูงกว่า (ส่วนใหญ่เริ่มลงทุนที่ 5 บาท)

5.4 กองทุนรวม (Mutual Fund) ตามความหมายของตลาดหลักทรัพย์ คือการระดมเงินลงทุนจากคนจำนวนมากและนำไปจดทะเบียนให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา โดยเงินที่ได้รับนั้นจะมี “ผู้จัดการกองทุน” ที่เป็นมืออาชีพ นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามนโยบายของแต่ละกองทุน ให้ได้รับผลตอบแทนที่งอกเงย แล้วนำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้ลงทุนแต่ละรายตามสัดส่วนที่ลงทุน ฟังแล้วดูดี มีคนดูแลเงินของเราให้ แต่กองทุนรวมก็มีหลายประเด็นต้องพิจารณาเช่นกัน

กองทุนรวมมีการแบ่งหลายประเภท เช่น ตามระดับความเสี่ยง ตามสินทรัพย์ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ไปลงทุน หรือประเทศที่ลงทุน ทั้งนี้การเลือกว่าจะลงทุนในกองไหนดี มีความละเอียดอ่อน จะยังไม่ขอกล่าวถึงในบทความนี้ แต่เน้นให้กระจายความเสี่ยง มี Asset allocation ที่ดี และเน้นลงทุนระยะยาว

6. การวางแผนเกษียณ (Retirement Plan)

หลายคนถามว่า ต้องวางแผนตั้งแต่วันที่เริ่มทำงานปีแรกเลยหรือ คำตอบคือ ใช่ การวางแผนเร็ว ทำให้เรารู้เป้าหมายเร็ว หาทางที่จะไปถึงเป้าหมายได้หลายวิธี และมีเวลาสำหรับความผิดพลาด และเริ่มใหม่

การวางแผนเกษียณเป็นเรื่องไม่ไกลตัว มีปัจจัยที่ต้องคำนึงหลายด้าน เช่น อายุขัยที่คาด, Lifestlye การใช้ชีวิต, รายรับ-รายจ่ายที่คาด, เงินเฟ้อ, ผลตอบแทนของการลงทุนใน Portfolio เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับ First Jobber สำหรับน้องๆ ลองศึกษาเองเบื้องต้นได้ แต่ถ้ารู้สึกว่ายากเกินไปก็สามารถปรึกษานักวางแผนการเงิน (Financial Planner) ได้

หัวข้อเหล่านี้พี่หมอนำมาเกริ่นเบื้องต้น เพื่อกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการศึกษาความรู้ทางการเงิน ยังไม่ได้ลงลึกไปในรายละเอียดของแต่ละหัวข้อ ในโอกาส หน้าจะเลือกบางหัวข้อมาเขียนบทความต่อไป ขอกำลังใจด้วยครับ

พี่หมอนักลงทุน
facebook.com/investdoctor/

ส่งต่อเรื่องราวการเงินการลงทุนของคุณ

อ่่านเรื่องราวอื่นๆ