แจ้งเตือน

กลับสู่หน้าหลัก

วิกฤตครั้งแรกของนักลงทุนวัย 2X

เขียนโดย ChoCooLism

“ต้มยำกุ้ง 1997” “แฮมเบอร์เกอร์ 2007-2008” “COVID-19 2020” วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องได้เจอในชั่วชีวิตหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณคงเคยได้ยินนักลงทุนที่มีชื่อเสียงเล่าถึงประสบการณ์ที่ตนเองผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาได้ สำหรับบางคนวิกฤตครั้งที่ผ่าน ๆ มาทำให้ขาดทุนอย่างมหาศาล กลายเป็นคนมองการลงทุนในแง่ลบ แต่สำหรับคนที่คิดต่าง วิกฤต คือ โอกาสดีที่ไม่ได้มีบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี และวิกฤตก็ยังเป็นบทเรียนสำคัญหน้าหนึ่งในชีวิตคนเราอีกด้วย

ตัวผมเองตั้งแต่เริ่มเข้าวงการ (การลงทุน) มายังไม่เกิดวิกฤตใหญ่ขึ้นสักครั้งเดียว ก็มีบ้างที่หุ้นบางกลุ่มบางตัวตกแรง ๆ ด้วยสาเหตุต่าง ๆ นานา แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต จนกระทั่งมาถึงปี 2020 (วิกฤต) ครั้งแรกของผมก็เกิดขึ้นจนได้และวิกฤตครั้งนี้ก็ส่งผลกระทบต่อเรื่องการเงินของผมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

1.เงินเก็บที่เอาออกมาใช้ไม่ได้

ก่อนหน้านี้ผมจะเก็บเงินที่มีแผนอาจจะใช้ในเวลาอันใกล้ (ที่ไม่เกี่ยวกับเงินสำรองฉุกเฉิน) ไว้กับกองทุนรวมตราสารหนี้หลายกองโดยแยกตามเป้าหมาย (เช่น เที่ยวต่างประเทศ ซื้อของที่อยากได้ ฯลฯ) ด้วยความหวังว่าจะได้ผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ทว่าสิ่งที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น ซึ่งก็คือ การประกาศเลิกกองทุนรวมตราสารหนี้ ของ บลจ. แห่งหนึ่ง ตั้งแต่ลงทุนในกองทุนรวมมาผมไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อนเลย 

ความโชคร้ายก็คือ ผมต้องรอทางกองทุนทยอยคืนเงินทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะครบซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาสักแค่ไหน โชคยังดีที่ผมไม่ได้มีเหตุต้องรีบใช้เงินในส่วนนี้และยังมีเงินสำรองฉุกเฉินอยู่พอสมควร ผมก็เลยแค่เซ็ง ๆ และรู้สึกเสียดายกองทุนดี ๆ ที่จำเป็นต้องประกาศเลิกไปอย่างน่าเสียดาย เหตุการณ์นี้ตอกย้ำให้ผมรู้ซึ้งในคำเตือนที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” ซึ่งก็มีความเสี่ยงจริง ๆ แม้จะความเสี่ยงต่ำอย่างกองทุนตราสารหนี้ก็ไม่เว้น อะไรก็เกิดขึ้นได้

2. Panic Sell: ไม่เจอกับตัวคงไม่รู้สึก

ผมเคยคิดว่าตัวเองก็อยู่ในตลาดหุ้นมาพอสมควร น่าจะใจนิ่งพอ แต่ในช่วงแย่ที่สุดของวิกฤตในไตรมาสแรกของปีนี้ผมก็รู้สึกถึงความไม่แน่นอนของสภาวะตลาดจนห้ามใจไม่ไหวไปสั่งสับเปลี่ยนกองทุนหุ้น อสังหาริมทรัพย์ (fund of property fund) และตราสารหนี้ต่างประเทศ ส่วนหนึ่งออกไปยังกองทุนความเสี่ยงต่ำสุด ๆ ด้วยความกลัวขาดทุนหนัก

ผลของความกระต่ายตื่นตูมของผมในครั้งนี้ปรากฎว่า หลังจากผ่านช่วงที่แย่ที่สุดไปได้จากที่ติดตัวแดงหลายเปอร์เซ็นต์ จนน่าใจหาย บางกองก็ฟื้นตัวกลับเป็นเขียวได้ แต่บางกองก็ยังติดตัวแดงอีกเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ผมเข้าใจเลยว่าถ้าไม่ได้เจอกับตัวเองก็คงไม่เข้าใจ กลายเป็นเรื่อง “รู้งี้ไม่น่าทำแบบนั้นเลย” เพิ่มมาอีกหนึ่งเรื่องในชีวิต

หลังจากผ่านเรื่องที่ได้เล่าไปข้างต้นมาแล้ว ผมรู้สึกว่าเหมือนตัวเองได้เติบโตไปอีกขั้นหนึ่ง ได้เลื่อนเป็นนักลงทุน level สูงขึ้นจากการโต้คลื่นลูกแรกในฐานะนักลงทุนตัวเล็ก ๆ แม้ว่าอาจจะยังรับมือได้ไม่ดีนักเพราะมันเป็นครั้งแรก แต่เชื่อว่าผ่านครั้งนี้ไปก็คงมีภูมิต้านทานที่จะรับมือได้ดีขึ้นหากมีอะไรไม่คาดคิดเกิดขึ้นอีกในภายภาคหน้า 

บทเรียนที่ผมได้รับในครั้งนี้ก็คือ 

1. ของมันต้องมีที่ทุกคนจำเป็นต้องมีจริง ๆ คือ เงินสำรองฉุกเฉินที่พร้อมใช้ทุกเวลา และเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากคือ ดีที่สุดแล้ว ผลตอบแทนน้อยหน่อยไม่เป็นไรขอแค่ใช้ได้ทุกเมื่อก็พอ

2. การลงทุนต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ถ้ามีแล้วก็ควรทำตามแผน ในกรณีตัดสินใจปรับพอร์ตกะทันหันแบบผมส่วนหนึ่งก็เกิดจากการไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะทำอะไรกับเงินส่วนนั้นกันแน่ ประกอบกับตกใจกับสภาวะตลาด เพราะฉะนั้นอย่าลืมตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนการลงทุนทุกครั้งนะครับ 

ส่งต่อเรื่องราวการเงินการลงทุนของคุณ

อ่่านเรื่องราวอื่นๆ