แจ้งเตือน

กลับสู่หน้าหลัก

SSFX ซื้อดีไหม กองไหนดี

เขียนโดย พี่หมอนักลงทุน

เป็นคำถามที่พี่หมอได้รับมาหลังไมค์เยอะมากในช่วงนี้ ซื้อดีไหม ซื้อกองไหนดี ซื้ออย่างไร เราไปทำความรู้จักกับ SFFX กันเลย

Section1: Introduction เกริ่นนำ

1. SSF คืออะไร ต่างจาก SSFX อย่างไร

กองทุน SSF (Super Saving Funds) คือ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ที่ลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท รวมถึงตราสารหนี้(หุ้น)และกองทุนรวม ต่างจาก LTF แบบเดิม ที่กำหนดให้ลงทุนในหุ้นสามัญภายในประเทศ และ SSFX หรือ SSF แบบพิเศษคล้าย SSF แบบธรรมดา แต่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65%

2. ซื้อได้เท่าไร (วงเงินลดหย่อนภาษี)

SSFX ซื้อได้ไม่เกิน 200,000 บาท โดยไม่รวมกับวงเงินของ SFF แบบปกติ บางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มีโปรโมชั่นซื้อ SSFX ครบทุก 50,000 บาท จะแถมกองทุนตลาดเงินหรือกองทุนรวมทองคำให้ 100 บาท (คิดเป็นผลตอบแทน 0.2%) เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักลงทุนซื้อ SSFX ให้ครบทีละ 50,000 บาท ในบลจ.เดียวกัน

3. ระยะเวลาการลงทุนของ SSF และ SFFX

10 ปี แบบนับวันชนวัน เช่น ซื้อ 1 มิถุนายน 63 ขายได้ 1 มิถุนายน 73 ต่างกับ LTF แบบเดิมที่นับแบบปีปฎิทิน

4. ซื้อได้ถึงเมื่อไร

SSFX มีช่วงระยะเวลาการซื้อ 1 เมษายน ถึง 30 มิถุนายน 63 (เหลือเวลาอีก 1 เดือนเท่านั้น) แต่ SFF สามารถซื้อได้ถึงสิ้นปี 2567

Section2: ซื้อดีไหม เหมาะกับใคร ซื้ออย่างไร

เหมาะกับผู้มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีในปี 2563 ที่ต้องการลดหย่อนภาษี โดยเฉพาะผู้ที่มีฐานภาษีมาก (ตั้งแต่ฐาน 15%ขึ้นไป) โดยต้องรับความผันผวนของตลาดหุ้นได้

โดยแพทย์จบใหม่(หรือ First Jobber อื่น) จะเริ่มทำงานเดือนแรกคือ มิถุนายน ต้องคำนวณรายได้ทั้งปี หลังจากหักค่าลดหย่อนต่างๆ ว่ายังต้องเสียภาษีอีกหรือไม่ ถ้ารายได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาท ไม่จำเป็นต้องซื้อ แต่รายสุทธิของแพทย์จบใหม่มักจะ 150,000 บาท อยู่ดี จึงควรซื้อ SFFX กี่บาทก็ได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

ส่วนแพทย์ใช้ทุน แพทย์เฉพาะทางที่ฐานภาษีสูง พี่หมอแนะนำให้ซื้อเต็มวงเงิน 200,000 บาท โดยกระจายการลงทุนเป็นไม้ๆ ไม้ละ 20,000-50,000 บาท แล้วแต่สะดวก เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง อย่าซื้อวันเดียว 200,000 บาท เพราะราคาปิด (NAV) ของ SSFX ที่ลงทุนในหุ้น >65% จึงมีความสัมพันธ์มากกับราคาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) โดยเฉพาะบางกองของ SSFX ที่ลงทุนในหุ้น >80%

ส่วนตัวพี่หมอใช้วิธี ไปสมัครเปิดบัญชีหน่วยลงทุนในบลจ. ที่สนใจจะลงทุนก่อน แล้วดูภาพรวมตลาดในช่วงบ่ายว่าราคาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ อยู่ในระดับที่เราพึงพอใจจะลงทุนหรือไม่ ถ้าพอใจ ก็ซื้อ SSFX ผ่าน Mobile Application ของ บลจ.นั้น ก่อน 15.30 น. (บลจ.ส่วนใหญ่ปิดรับคำสั่งที่ 15.30 น.) เพื่อให้ได้ราคาปิด (NAV) ในวันนั้น แต่บางบลจ ยังไม่สามารถซื้อผ่าน Mobile Application ได้ (หมายเหตุการดูดัชนี SET index ก่อน 15.30 น. ไม่ได้หมายความว่าดัชนีตอนปิดตลาดจะเหมือนกับที่เราดูตอน 15.30 น.)

Section3: ซื้อกองไหนดี

Section นี้ยากที่สุด พี่หมอไม่สามารถตัดสินใจแทนทุกคนได้ แต่สามารถบอกว่า กองทุน SSFX ประเภทต่างมีแบบไหนบ้าง และเหมาะกับใคร มีกองไหนบ้าง แต่ไม่ใช่การชี้ชวนให้ลงทุน

ประเภทที่ 1 ลงทุนตามดัชนีหุ้น (Passive Investment) หมายถึง SSFX ที่ลงทุนในหุ้น และบริหารจัดการแบบเชิงรับ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีหุ้นที่ใช้อ้างอิง เช่น SET ,SET50, SET100 เป็นต้น ทำให้มีข้อดี คือต้นทุนค่าธรรมเนียมบริหารจัดการถูกกว่ากองที่เป็น Active Investment ตัวอย่าง SFFX ประเภทนี้ คือ PRINCIPAL SET50 SSFX, PHATRA SET50 ESG SSFX, SCBSET SSFX, KFS100SFFX

ประเภทที่ 2 ลงทุนในหุ้นไทย ‘ไม่ต่ำกว่า 80%’ ของ NAV หมายถึง กลุ่มที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยเต็มที่ ‘ไม่ต่ำกว่า 80%’ ทำให้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับ SET index ค่อนข้างมาก และมีความเสี่ยงที่มากตามมาเช่นกัน ถ้าในอนาคตอีก 10 ปี ตอนที่ขายกอง SSFX ตลาดเป็นขาขึ้น SET index มากกว่าตอนที่ซื้อ ก็มักจะได้กำไรตาม แต่ถ้าเกิดวิกฤติทางการเงินรอบใหม่ ก็อาจจะขาดทุนได้เช่นกัน ตัวอย่าง SFFX ประเภทนี้ คือ T-ES-EQDSSFX, TEGSSFX,SCBEQ-SSFX,UOBEQ-SSFX, BEQSSF

ประเภทที่ 3 ลงทุนในหุ้นไทย ‘ไม่ต่ำกว่า 65%’ ของ NAV หมายถึงกลุ่มที่มีนโยบาย การลงทุนกระจายความเสี่ยงออกจากหุ้น โดยไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่นตราสารทุนในต่างประเทศ กองทุนรวม กลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือตราสารหนี้ เป็นต้น ขึ้นกับนโยบายการลงทุนที่ถูกออกแบบมาของแต่ละบลจ. ซึ่งจะบอกใน Fund Factsheet  ตัวอย่าง SFFX ประเภทนี้ คือ K-SUPSTAR-SSFX,PRINCIPAL IPROPEN-SSF, LHSMARTD-SSFX, BM70SSF

ประเภทที่ 4 ลงทุนในหุ้นไทย 70-30 หมายถึง กลุ่มที่ออกแบบมาให้เป็นคล้ายกองทุนผสมที่มีการลงทุนในตราสารทุน(หุ้น) ในสัดส่วนประมาณ 70% และที่เหลืออีก 30% เป็น ตราสารหนี้ ที่เป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ต่างจากประเภทที่ 3 ที่จะลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็ได้ ตัวอย่าง SFFX ประเภทนี้ คือ SCB70-SSFX, KT70/30S-SSFX

สรุปพี่หมออยากให้น้องๆศึกษา Fund Factsheet ของแต่ละกองทุนอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุนใน  SSFX ศึกษาถึงนโยบายการลงทุน ค่าธรรมเนียม เงินขั้นต่ำในการซื้อขาย นโยบายปันผล แล้วเลือกกระจายการลงทุนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ สามารถประเมินได้ที่ (https://www.set.or.th/education/th/online_classroom/risk.html)

ส่งท้าย พี่หมอหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับน้องๆนะครับ อยากให้พี่หมอเขียนเรื่องอะไรอีก ติดตามพี่หมอได้ทางเพจ facebook.com/investdoctor/ แล้ว Comment บอกกันได้เลยครับ

พี่หมอนักลงทุน

Update: นักลงทุนสามารถซื้อกองทุน SSF-RMF กับ FINNOMENA ได้แล้ว
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและเริ่มต้นลงทุนได้ที่ https://finno.me/tax-saving-fund1452

ส่งต่อเรื่องราวการเงินการลงทุนของคุณ

อ่่านเรื่องราวอื่นๆ