แจ้งเตือน

กลับสู่หน้าหลัก

วิเคราะห์ Work from home ทำให้ “รวยขึ้น” หรือ “จนลง”

เขียนโดย พ่อบ้านหาตังค์

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้หลาย ๆ หน่วยงาน รวมถึงบริษัทต่าง ๆ พากันออกมาตรการให้กับพนักงานของแต่ละที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ หรือที่เราเรียกกันว่า “work from home” (WFH) นั่นเอง

อย่างที่บริษัทของผมเองก็ถือว่าเป็นมาตรการวัดใจเลยทีเดียว เพราะถึงแม้จะเป็นมาตรการเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราว (แต่อาจจะกินเวลายาวนานหลายเดือน) หากพนักงานสามารถทำงาน WFH กันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นแปลว่า อนาคตบริษัทอาจจะพิจารณาให้ WFH เป็นหนึ่งในรูปแบบการทำงานที่อนุญาตให้พนักงานเลือกได้ น่าจะดีไม่ใช่น้อยสำหรับคนที่ชอบ WFH

แต่แล้วผมก็เห็นคนตั้งกระทู้ถามใน Pantip ว่า จริง ๆ แล้ว WFH เป็นสาเหตุที่ทำให้เรา “สิ้นเปลืองเพิ่มขึ้น” หรือ “ประหยัดเงินมากขึ้น” กันแน่?

จะว่าไปแล้ว…ในประเด็นนี้เองที่ทำงานผมเองก็มีพูดถึงกันไม่น้อยเลย เพราะแต่ละคนที่มีปัจจัยความพร้อมที่ไม่เหมือนกัน จะเผชิญกับเงื่อนไขของค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไป ผมจึงคิดว่าก่อนที่เราจะสามารถสรุปได้ว่า Work from home (WFH) สิ้นเปลืองหรือประหยัดนั้น เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่า “คุณเป็น WFH สายไหน”…และแบบที่คุณเป็นนั้นมันกำลังจะทำให้คุณ “รวยขึ้น” หรือ “จนลง” กันแน่?

 

แบบที่ 1 WFH สายคนโสด

สายนี้มักจะพบเห็นได้ทั่วไป และมักจะเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากซะด้วยสิ จุดเด่นของกลุ่มนี้ คือมักจะพักอาศัยในลักษณะที่เป็นคอนโด หรือไม่ก็อพาร์ตเม้นท์ หอพักต่าง ๆ กลุ่มนี้ ถ้าโดยปกติเขาพักไม่ไกลจากที่ทำงานอยู่แล้ว เรื่องค่าเดินทางจะไม่มีผลกระทบ ไม่เพิ่มขึ้นและไม่ลดลง แต่ถ้าปกติคนกลุ่มนี้ต้องเสียค่าเดินทาง เช่น ค่า BTS หรือค่ามอเตอร์ไซด์รับจ้าง เฉลี่ย ๆ ต่อวันประมาณ 100 บาท ถ้า WFH ทั้งเดือน ก็จะสามารถประหยัดได้ถึง 2,200 บาท เลยทีเดียว

ค่าใช้จ่ายอีกส่วนที่ดูแล้วกลุ่มนี้น่าจะประหยัดได้เยอะ ก็คือค่าแต่งตัว จากการ Video Call กับเพื่อนร่วมงานเห็นได้ชัดเลยว่าหลายคนประหยัดค่าเครื่องสำอางค์ 😀 ค่าทำผม (จริง ๆ แล้วร้านตัดผมโดนสั่งปิดตามการควบคุมโรค T T) หรือแม้กระทั่งค่าซักรีดเสื้อผ้าต่าง ๆ เพราะถ้าเราไม่ได้ออกไปไหน แต่งตัวอยู่บ้านเสื้อยืดก็พอแล้ว ค่าใช้จ่ายก้อนนี้ก็น่าจะประหยัดไปได้อีกส่วนหนึ่ง (ที่สำคัญโสดอยู่คนเดียว จะต้องแต่งตัวไปอวดใครกันล่ะ)

ค่าใช้จ่ายที่เห็นได้ชัดเจนมาก ๆ ว่าคนกลุ่มนี้น่าจะสิ้นเปลืองมี 2 ค่าด้วยกัน

  1. ค่ากิน
    เป็นค่าใช้จ่ายที่เรามักจะเห็นเพื่อนฝูงบ่นกันเป็นอันดับแรก ๆ เพราะช่วงแรกของการปรับตัว ทุกคนจะตื่นเต้นกับการกักตัว กลัวจะไม่มีของกิน กลัวจะหาซื้อของกินไม่ได้ เกิดการกว้านซืัอ…ใช่ครับ! กว้านซื้อของกิน จนไม่มีที่จะเก็บ บางคนซื้อของกินเยอะมาก จนไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรกิน และกินให้หมดทันก่อนที่ของจะเน่าเสียหรือไม่ ทำไมของกินถึงเปลืองน่ะเหรอ เพราะการซื้อแบบมากเกินกว่าปกติ ทำให้เราใช้เงินเยอะ ข้อนี้เห็นได้ไม่ยาก แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ “เมื่ออยู่บ้าน เรามักจะตามใจปาก และกินแทบตลอดเวลา” ช่างแตกต่างจากตอนอยู่ที่ออฟฟิศซะเหลือเกิน แถมทุกวันนี้ยังมีบริการ Delivery ส่งถึงที่ ที่พร้อมจะมาเรียกเก็บเงินคุณ (ไม่ได้เก็บถึงที่นะ) แต่เก็บผ่านมือถือคุณเลยต่างหาก

  2. ค่าไฟ
    เป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่พิสูจน์กันได้ด้วยบิลเรียกเก็บค่าไฟตอนสิ้นเดือน ถ้าใครจ่ายค่าไฟผ่านการไฟฟ้าฯ ก็อาจจะตื่นเต้นน้อยหน่อย แต่ถ้าใครจ่ายค่าไฟผ่านหอพักที่อาจจะมีอัตราพิเศษที่แตกต่างหรือคิดเป็นยูนิต ก็อาจจะทำให้เห็นถึงความแตกต่างของเดือนก่อน ๆ กับเดือนที่ทำงานจากที่บ้านได้เป็นอย่างดี และยิ่งช่วงนี้ที่เข้าหน้าร้อนด้วยแล้วนั้น ครั้นจะหวังพึ่งแอร์ออฟฟิศ ก็คงไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป

“ดูแล้วคนโสดที่อยู่คนเดียวน่าจะเปลืองค่ากินกับค่าไฟมากเป็นอันดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้”

ค่าใช้จ่ายสุดท้ายของคนโสดที่ผมเกือบลืมพูดถึง และมักจะเห็นสาว ๆ แชร์กันบนเฟสบุ๊คบ่อย ๆ ก็คือค่าช้อปปิ้งออนไลน์นั่นเอง ถึงแม้ตัวจะไม่ได้อยู่ในห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าต่าง ๆ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้ง Shopaholic ได้นั่นเอง แต่เอาจริง ๆ นะครับ ผมคิดว่าค่าใช้จ่ายก้อนนี้ไม่ว่าจะ Work from home หรือ Work from office เราก็ช้อปปิ้งกันอยู่ดีไม่ใช่เหรอครับ?

 


แนวนี้จะเรียกว่าคนมีคู่ หรือมีครอบครัวก็ได้ครับ แต่ถ้ามีครอบครัวก็น่าจะเป็นครอบครัวขนาดเล็กที่มีเพียงพ่อแม่ลูก หรือสมาชิกรวมกันไม่เกิน 3–4 คน ซึ่งคนที่ทำงานส่วนใหญ่ในสายนี้ก็จะมีเพียง 1–2 คนแค่นั้น คนกลุ่มนี้ที่พักอาศัยก็น่าจะคล้าย ๆ คนโสด แต่แนวโน้มจะเป็นคอนโดที่มีขนาดห้องใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อยที่สอดคล้องกับจำนวนสมาชิก หรือบางคนก็จะอยู่อาศัยเป็นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นทาวน์โฮมหรือบ้านเดี่ยวตามหมู่บ้านจัดสรร หรือชุมชนต่าง ๆ

กลุ่มนี้ที่น่าสนใจคือเรื่องของค่าเดินทาง ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้มีที่พักอยู่ในตัวเมือง แน่นอนว่าส่วนใหญ่ก็จะเลือกพักตามชานเมือง และอาศัยขับรถเข้าเมืองมาพร้อม ๆ กันทั้งสามีภรรยา หรือพร้อมลูก ๆ เพื่อส่งเข้าโรงเรียน ถ้าคนกลุ่มนี้ WFH สิ่งแรกที่จะประหยัดก็คือค่าเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมันรถ ค่าทางด่วน ค่าสึกหรอในการดูแลรถยนต์ บางคนอาจจะรวมถึง ค่าเช่าที่จอดรถประจำเดือนแต่ละเดือนด้วย เรียกได้ว่ามีค่าใช้จ่ายราว ๆ 3,000 ถึง 5,000 บาท ที่จะสามารถประหยัดได้เลยทีเดียว

ค่าใช้จ่ายอีกหนึ่งอย่างของคนกลุ่มนี้ที่น่าจะประหยัดได้ และเห็นผลชัดมาก ๆ ก็คือค่ากินครับ ยิ่งถ้าครอบครัวไหนคุณแม่บ้าน หรือคุณพ่อบ้าน ทำอาหารเก่ง ทำอาหารเป็น จัดสรรวัตถุดิบได้อย่างคุ้มค่า แน่นอนเลยว่าจะประหยัดได้เยอะมาก ๆ ไม่ต้องเปรียบเทียบอะไรมาก ถ้าคิดง่าย ๆ ว่าข้าวไข่เจียว 1 จาน ต้นทุนอาจจะไม่ถึง 10 บาท แต่พอไปกินข้าวไข่เจียวนอกบ้าน ราคาก็สามารถขยับได้ถึง 30 บาท ประหยัดได้เยอะมาก ๆ เลยทีเดียว

แต่ตรงกันข้าม ถ้าทำอาหารไม่เป็น และใช้วัตถุดิบอย่างสิ้นเปลือง ก็อาจจะทำให้เปลืองค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน ที่สำคัญ สมาชิกครอบครัวขนาดนี้ถ้าสั่งอาหารเป็นกล่อง ๆ หรืออาหารจานเดี่ยวให้มา Delivery ที่บ้านแทบทุกวันหรือมื้อเว้นมื้อก็จะเป็นการเปลืองค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะค่าจัดส่ง (Delivery Fee)

แน่นอนว่าสายนี้ก็จะมีค่าไฟที่เปลืองขึ้นมาเช่นเดียวกัน แต่ถ้าลองคิดถึงความเย็นสบายของคนในบ้านตลอดเดือนเมษายน ค่าใช้จ่ายนี้ก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าที่ทำให้เราสามารถนั่งดูซีรี่ส์สบาย ๆ ตลอดเวลากักตัว หรือตลอดเวลาที่ทำ Social Distancing กับคนอื่นนั่นเอง

 


สายนี้ดูน่าจะเป็นกลุ่มที่ประหยัดมากที่สุดก็ว่าได้ โดยทั่วไปแล้วกลุ่มนี้มักจะมีขนาดผู้อยู่อาศัยภายในบ้านประมาณ 4–5 คนขึ้นไป และอาจจะมีถึง 3 เจนเนอเรชั่นภายในบ้านหลังเดียวกันด้วยเนี่ยสิ ความปวดหัวเรื่องสิ้นเปลืองหรือประหยัดแทบจะหมดไปในทันที แต่คำถามแรกที่จะโผล่มาก็คือ “Work from home” คืออะไร? หลาย ๆ คนที่ทำงานจากที่บ้านท่ามกลางครอบครัวใหญ่ อาจจะต้องเผชิญการแย่งชิงพื้นที่ออฟฟิศส่วนตัวภายในบ้าน มุมไหนนะถึงจะเป็นโต๊ะทำงานของเรา หลายคนไม่พ้นใช้โต๊ะรับปรทานอาหารภายในบ้านเป็นมุมทำงานประจำ เป็นมุม Conference call กับเพื่อนร่วมงาน ดังนั้นค่าใช้จ่ายก้อนแรก ก็คือ

“โอกาสซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่มาแล้ว”

ทั่วไปก็จะเริ่มแค่เก้าอี้ที่มีล้อ พนักพิงปรับระดับได้ ความสูงของเก้าอี้ก็ปรับได้ เพื่อให้เข้ากับโต๊ะที่บ้าน บางทีเก้าอี้ตัวนี้อาจจะสบายกว่าที่นั่งที่ทำงานประจำอีกด้วย บางคนอาจจะไม่จบที่เก้าอี้ ก็จะตามไปต่อถึงโต๊ะทำงานที่เป็นพื้นที่ส่วนตัว (ต้องบอกก่อนว่า กรณีนี้คือคนที่บ้านพอจะมีพื้นที่ให้แทรกเฟอร์นิเจอร์ใหม่ลงไปได้ด้วยนะครับ) ผมคงไม่ลงราคานะครับ แต่ก็แตะ ๆ หลักพันอยู่ไม่ใช่น้อย เฉลี่ย ๆ ก็น่าจะแถว ๆ 3,000–7,000 บาท

ต้องยอมรับว่าครอบครัวใหญ่ ถ้าไม่ได้นั่งแยกห้องกันชนิดที่เรียกว่า “คนละห้อง” แล้วก็เปิดแอร์กันคนละห้อง แต่อาจจะนั่งบริเวณที่ใกล้ ๆ กัน แล้วเปิดแอร์ในช่วงหน้าร้อนร่วมกัน WFH สายนี้ค่าไฟดูจะไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ เพราะว่าต่อให้เราไม่อยู่บ้านไปทำงานที่ออฟฟิศ แต่คนที่บ้านอากง อาม่า ลูก ๆ หลาน ๆ ที่ปิดเทอมก็คงจะเปิดแอร์อยู่ดี ดังนั้นค่าไฟของกลุ่มนี้ไม่น่าจะแตกต่างมากนัก

ค่ากินของสายนี้ก็จัดว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ “ประหยัดต่อขนาด” แบบสุด ๆ เราอยากทานอาหารหลายชนิดได้ เพราะมีคนพร้อมจะช่วยเราหาร และทำให้เรามีอาหารที่หลากหลายภายในบ้าน ต่อให้สั่งของ Delivery เมื่อเทียบกับค่าส่ง และค่าน้ำมันที่ต้องออกไปซื้อของเองนอกบ้าน ก็จะเห็นว่ายิ่งมีสมาชิกร่วมหารค่าใช้จ่ายมากด้วยเท่าไหร่ ความคุ้มค่ายิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

ความคุ้มค่าอีกหนึ่งอย่างสำหรับคนสายนี้ ก็คือการประหยัดค่าเดินทาง การเพิ่มเวลาให้กับคนในครอบครัว และการใช้เวลาร่วมกันที่มากขึ้น เหมือนกับชดเชยเวลาที่เคยขาดหายไปจากการเดินทางในภาวะปกติ รวมถึงบางคนอาจจะมีเวลาออกกำลังกายมากขึ้นอีกด้วย เรียกได้ว่าความคุ้มค่านี้ไม่ได้มีดีแค่ตัวเงิน แต่มีดีถึงความคุ้มค่าทางด้านสายสัมพันธ์ครอบครัวและสุขภาพของเราอีกด้วย

 


หรือบางคนอาจจะเรียกสายนี้ว่าเป็น Freelance ก็ได้ เพราะไม่ว่าจะก่อนหน้าที่จะมี COVID-19 หรือไม่ ฉันก็ WFH ตลอดเวลาอยู่แล้ว หากใครเป็นคนสายนี้อยู่แล้ว ก็มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เสมอตัว” ดูแล้วไม่ได้มีอะไรที่ประหยัดขึ้น หรือสิ้นเปลืองเพิ่มขึ้น เพราะไม่ต่างอะไรจากสภาวะปกติ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายทางด้านการกิน การเดินทาง (ซึ่งตอนนี้ไม่ต้องเดินทางอะไร ต้องอยู่บ้านเฉย ๆ) ค่าไฟ (ที่ปกติก็อาจจะเปิด ๆ ปิด ๆ เป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว รู้อยู่แล้วว่าตัวเองใช้จ่ายเท่าไหร่ คนกลุ่มนี้จึงดูเป็นกลุ่มคนที่เสมอตัวที่สุดก็ว่าได้

แต่ถึงแม้คนกลุ่มนี้จะไม่ได้เห็นความแตกต่างอะไรนักในแง่การเงิน แต่เชื่อเหลือเกินว่าสิ่งที่คนกลุ่มนี้จะสังเกตเห็น (และคนอื่น ๆ ก็เห็น) ก็คือ ค่าฝุ่นที่ลดลง จากการลดใช้รถยนต์นั่นเอง หรือจริง ๆ แล้วต่อให้ไม่ได้มีโรคระบาดอะไร การทำงานจากที่บ้าน (WFH) อาจจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในอนาคตที่เราจะช่วยกันลดมลภาวะในอากาศต่าง ๆ หรือถ้าพูดให้ถูกจุดก็คือ ถ้าเราช่วยกันลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ก็จะสามารถช่วยกันลดมลพิษทางอากาศได้อีกทางหนึ่งด้วย และนั่นอาจจะทำให้เราประหยัดค่าเครื่องฟอกอากาศได้ด้วยนะครับ (สุดท้ายก็มีสิ่งที่ประหยัด โผล่มาให้เห็น ><)

สุดท้ายนี้ สิ่งที่น่าสนใจท่ามกลางภาวะวิกฤติการระบาดของไวรัส COVID-19 คือ ความประหยัดจากการทำ WFH ของบางคนที่มีเงินเหลือเก็บ และสามารถนำไปร่วมทำบุญ บริจาค ช่วยเหลือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เขารับบริจาคกันอยู่ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ผมเชื่อว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ”

ขอเป็นกำลังใจให้กับเหล่าคนทำงานหาตังค์ด้วยกันทุกคนนะครับ

#เราจะผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน

ฝากกดไลค์ กดติดตามและให้กำลังใจเพจ พ่อบ้านหาตังค์ ด้วยนะครับ ^^


#พ่อบ้านหาตังค์ #คิดจะพักคิดถึงภาระ
#husbandmakesmoney

ส่งต่อเรื่องราวการเงินการลงทุนของคุณ

อ่่านเรื่องราวอื่นๆ