Club Fund Day – ep 6 : อยากซื้อ “กองทุนหุ้น” เลือกยังไง?
ติดตาม FINNOMENA PODCAST


หากคุณอยากลงทุนในหุ้น แต่รู้สึกว่าไม่เข้าใจ ไม่รู้จะเริ่มศึกษาจากตรงไหน หรือ รู้สึกว่าการลงทุนในหุ้นนั้นเสี่ยงเกินไป ไม่รู้จะซื้อที่ราคาไหน ขายที่ราคาไหน วิเคราะห์ไม่เป็น การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นอาจจะตอบโจทย์มากกว่า เนื่องจากมีผู้จัดการกองทุนคอยนำเงินของเราไปกระจายการลงทุนตามนโยบายของกองทุน

แล้วกองทุนรวมหุ้นมีกี่ประเภท?

แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร?

เราจะเหมาะสมกับกองทุนแบบไหน?

บทความนี้มีคำตอบค่ะ

กองทุนรวมหุ้นคืออะไร?

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับนิยามของกองทุนรวมหุ้นก่อน เป็นกองทุนที่นำเงินของนักลงทุนไปลงทุนในตราสารทุน หรือ หุ้น ไม่ต่ำกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ซึ่งค่อนข้างมีความเสี่ยง มีความผันผวนสูง จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในระยะยาว (มากกว่า 3-5 ปี) และสามารถยอมรับผลขาดทุนได้

กองทุนรวมหุ้นมีกี่ประเภท?

หากแบ่งตามนโยบายการลงทุน จะแบ่งได้ 4 ประเภท ดังนี้

กองทุนรวมหุ้นในประเทศ

เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นไทย สามารถแบ่งเป็นกองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

โดยกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่จะเป็นการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีพื้นฐานดี มีงบการเงินแข็งแกร่ง แต่มักจะมีการเติบโตของธุรกิจที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากธุรกิจได้เติบโตจนความมั่นคงสูงแล้ว จึงมีการจ่ายเงินปันผลในสัดส่วนที่มากออกมาแทน ดังนั้นจึงเหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ต้องการกำไรส่วนต่างจากราคากองทุนมากนัก แต่จะเน้นรับเงินปันผลแทน

กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็กจะเป็นการลงทุนหุ้นของบริษัทที่มีการเติบโตที่สูง จึงอาจจะไม่มีสัดส่วนการจ่ายเงินปันผลที่สูงมากนัก เนื่องจากบริษัทต้องเอากำไรไปลงทุนทำธุรกิจต่อ หากเป็นบริษัทที่มีการเติบโตมากต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะสามารถเป็นหุ้นขนาดใหญ่ในอนาคตได้ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงและความผันผวนของราคามากกว่า เหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ต้องการรับเงินปันผล แต่ต้องการกำไรส่วนต่างจากราคากองทุน

ตัวอย่างกองทุนรวมหุ้นในประเทศ

  • กองทุน TSF-A ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทย โดยลงทุนในหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง โดยเน้นเลือกลงทุนเพียง 10-15 ตัว พร้อมทั้งมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะสมตามสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

อ่านเพิ่มเติม รีวิวกองทุน TSF-A: กองทุนหุ้นไทยพื้นฐานแข็งแกร่ง

  • กองทุน M-MIDSMALL ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กท่ีจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ/หรือ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และมีแนวโน้มการเจริญเติบโตสูงในระยะ ปานกลางถึงระยะยาว

กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ

เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นของประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น ลงทุนในประเทศสหรัฐฯ, กลุ่มยุโรป, จีน (รวมถึงฮ่องกงและไต้หวัน), ญี่ปุ่น, ประเทศที่พัฒนาแล้ว (สหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศในทวีปยุโรป), ประเทศที่กำลังพัฒนา (ทวีปเอเชีย ละตินอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา), เอเชีย, อินเดีย และอาเซียน

ส่วนใหญ่กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศจะเป็นในลักษณะของ Feeder Fund ซึ่งก็คือการที่กองทุนไทยไปลงทุนในกองทุนของต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว เป็นการเพิ่มโอกาสในการหาผลตอบแทนให้กับนักลงทุน เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะไม่ได้อยู่ในช่วงขาขึ้นและขาลงพร้อมๆ กัน หากมีการจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม จะทำให้พอร์ตไม่ติดลบหนักในช่วงขาลงของเศรษฐกิจโลก แต่จะมีค่าธรรมเนียมในการซื้อขายที่สูงขึ้น

ตัวอย่างกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ

  • กองทุน K-USA-A(A) มีนโยบายลงทุนส่วนใหญ่ในหุ้นของบริษัทสหรัฐอเมริกาไม่น้อยกว่า 70% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ​

อ่านเพิ่มเติม รีวิวกองทุน K-USA-A กองทุนคุณภาพดี ตัวแทนการลงทุนในชาติอเมริกา

  • กองทุน K-CHINA-A(D) มีนโยบายที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ตั้งถิ่นฐานหรือดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่ในจีน รวมถึงหุ้นจีน A-shares

อ่านเพิ่มเติม รีวิวกองทุน K-CHINA-A(D): โตไปกับ “พลังเงิน” ของคนจีน จุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้จีนก้าวขึ้นสู่มหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก

  • กองทุน Principal VNEQ-A มีนโยบายลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือมีธุรกิจหลักในประเทศเวียดนามที่เชื่อว่ามีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต

อ่านเพิ่มเติม รีวิวกองทุน Principal VNEQ-A: กองทุนผลตอบแทนโดดเด่น รับโอกาสเติบโตของประเทศเวียดนาม

กองทุนรวมหุ้น Sector

เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง เช่น Healthcare, พลังงงาน หรือ เทคโนโลยี เป็นต้น จะค่อนข้างมีความผันผวนสูง เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวโยงกับนโยบายของรัฐบาลด้วย จึงเหมาะกับนักลงทุนที่มีความสนใจในการเติบโตของอุตสาหกรรมนั้นๆ และต้องการลงทุนในระยะยาว

ตัวอย่างกองทุนรวมหุ้น Sector

  • กองทุน UCHI มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านเฮลท์แคร์ (Healthcare) ของประเทศจีน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องหรือได้รับประโยชน์จากการพัฒนานวัตกรรมด้านเฮลท์แคร์ (Healthcare Innovation) ของประเทศจีน

อ่านเพิ่มเติม รีวิวกองทุน UCHI: การผนึกกำลังของเทคโนโลยีและสุขภาพในประเทศจีน

  • กองทุน MFTECH มีนโยบายลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องหรือได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมการให้บริการทางการเงิน (Financial Services) หรือเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) รวมถึงบริษัทที่สร้างรายได้หรือประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการวิจัย การพัฒนา การผลิต และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมการบริการด้านการเงิน

อ่านเพิ่มเติม รีวิวกองทุน MFTECH: ก้าวไปอีกขั้นกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมการเงิน

  • กองทุน MRENEW-A มีนโยบายลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน (sustainable energy companies) ทั่วโลก

อ่านเพิ่มเติม รีวิวกองทุน MRENEW: นับหนึ่งช่วงเวลาที่พลังงานกับความยั่งยืนมาบรรจบกันอย่างลงตัว

กองทุนรวมหุ้นดัชนี

เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในดัชนีตลาดหุ้นของแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีกลยุทธ์เป็นแบบ Passive ซึ่งก็คือการลงทุนในสัดส่วนเดียวกันกับดัชนีตลาด จึงทำให้ได้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับตลาด ไม่สามารถชนะตลาดอย่างขาดลอยได้ เหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ค่อยชอบความเสี่ยง ได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับตลาดก็เพียงพอแล้ว

ตัวอย่างกองทุนรวมหุ้นดัชนี

  • กองทุน SCBSET50 มีนโยบายลงทุนในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี SET50 ซึ่งจะจำลองการเคลื่อนไหวของดัชนี SET50 เพื่อให้กองทุนมีผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราผลตอบแทนของดัชนี SET50 มากที่สุด
  • กองทุน TMBUS500 มีนโยบายลงทุนในในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุนที่มุ่งเน้นลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี S&P 500 เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ได้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 กลยุทธ์การลงทุนของกองทุนจะใช้นโยบายในการบริหารเชิงรับ (Passive Investment Strategy)

จะเห็นได้ว่ากองทุนรวมหุ้นแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน

แล้วกองทุนแบบไหนดีที่สุดล่ะ?

คำตอบคือ “ไม่มีกองทุนแบบไหนที่ดีที่สุดค่ะ”

อ้าว ทำไมเป็นแบบนั้น?

เพราะดีของคนหนึ่ง อาจจะไม่ดี ไม่เหมาะสมกับอีกคนหนึ่ง เนื่องจากมีเป้าหมายการลงทุนและการยอมรับความเสี่ยงที่ต่างกัน

ดังนั้นนักลงทุนควรที่จะมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน และทำการอ่านหนังสือชี้ชวนให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุนค่ะ


ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี

App Spotify
https://finno.me/spotify

App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast

Apple podcast
https://finno.me/applepodcast

App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud

Podbean
https://finno.me/podbean

Youtube
https://finno.me/youtubepodcast